สงครามเย็น ดนตรีแจ๊ซ และลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)
ดูผิวเผินอาจไร้ซึ่งความเชื่อมโยง แต่นี่คือ 3 สิ่งที่ โยฮัน กริมอนเปรซ (Johan Grimonprez) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเบลเยียม ตั้งใจถักทอร้อยเรียงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกันใน Soundtrack to a Coup d’Etat (2024) สารคดีที่กำลังถูกจับตามอง หลังติด 1 ใน 15 รายชื่อที่เข้าชิงรางวัลสารคดียอดเยี่ยมในพิธีประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97
นอกจากเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของ ‘คองโก’ ประเทศอาณานิคมของเบลเยียม โดยมี ‘แจ๊ซ’ เป็นศูนย์กลางในการเล่าเรื่อง ทั้งในฐานะเครื่องมือทางการทูตของมหาอำนาจ และจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพผ่านบุคคลสำคัญในแวดวง ไม่ว่าจะเป็น หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) นักดนตรีแจ๊ซผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล, แอบบีย์ ลินคอล์น (Abbey Lincoln) นักดนตรีแจ๊ซหญิงผู้กล้าหาญ และแม็กซ์ โรช (Max Roach) มือกลองแจ๊ซชั้นนำ
สารคดีเรื่องนี้ยังเย้ยหยันประวัติศาสตร์กระแสหลักในหน้าตำราเรียน ด้วยการหยิบยกมุมอีกด้านของสงครามเย็นคือ กระแสเรียกร้องการปลดแอกระบอบอาณานิคมของประเทศผู้ถูกกดขี่ ท่ามกลางบริบทการห้ำหั่นของ 2 มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ภายใต้ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ผู้นำโลกเสรี และนิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำโลกคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 1960
“มันคือกระดาษเปล่าที่ว่างบนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศผม”
กรีมอนเปรซให้สัมภาษณ์ในเทศกาลภาพยนตร์ลอนดอนปี 2024 ถึงเรื่องราวใน Soundtrack to a Coup d’Etat ที่ไม่ใช่แค่ย้ำเตือนโลกถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม แต่ยังเปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญอันสุ่มเสี่ยง (Moral Courage) เมื่อพลเมืองของอดีตเจ้าอาณานิคมเลือกลุกขึ้นมาเปิดโปงอดีตอันโสมมของประเทศตนเอง ที่เปรียบเสมือน ‘ซากไดโนเสาร์’ สำหรับเขา
****บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนหนึ่งของสารคดี
1
“เราจะฝังมัน ฝังมันให้ลึกลงไปในใต้ดินยิ่งดี!”
คือคำพูดของครุชชอฟระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) ครั้งที่ 15 ในปี 1960 นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เขาเดินทางมาเยือนสหรัฐอเมริกา ประเทศศัตรูคู่อาฆาต หลังเคยเดินทางมาประชุมครั้งแรกในปี 1959
ใครจะเชื่อว่า เหตุการณ์ในวันนั้นกลายเป็นข่าวใหญ่โตบนหน้าสื่อ หลังมีรายงานว่าในช่วงหนึ่งของการประชุม ผู้นำโซเวียต ‘ถอดรองเท้า’ ออกมาทุบโต๊ะประท้วง ลอเรนโซ ซูมูลอง (Lorenzo Sumulong) ผู้แทนจากฟิลิปปินส์ เพียงเพราะพูดจาดูถูกประเทศยุโรปตะวันออกว่า ไม่มีสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง
ขณะที่ประโยคติดปากของครุชชอฟตลอดการเป็นผู้นำอย่าง “เราจะฝังคุณ” (Мы вас похороним ซึ่งโลกตะวันตกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า We will bury you) ถูกตีความถึง ‘ชาติตะวันตก’ และ ‘สหรัฐฯ’ จนทำให้เกิดความตึงเครียดครั้งใหญ่ระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์
โผงผาง กักขฬะ ไร้อารยธรรม ไม่เหมือนผู้นำประเทศทุนนิยม อาจบอกได้ว่า นี่คือมโนสำนึกที่มวลชนและโลกตะวันตกวาดภาพต่อครุชชอฟมาตลอด แต่ในอีกมุมหนึ่งก็น่าฉงนยิ่งนักว่า เหตุใดผู้นำโซเวียตจึงด่าทอเช่นนั้น
นอกจากบริบทของประโยค ‘We will bury you’ ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กับมิตรสหายที่เชี่ยวชาญภาษารัสเซียในแวดวงเดียวกันว่า ธรรมชาติทางภาษารัสเซียมีลักษณะเฉพาะคือ การสลับกริยาไปไว้ข้างหน้าเพื่อเน้นความหมาย ดังนั้นครุชชอฟจึงไม่ได้เน้นไปที่ประธานอย่างคำว่าคุณ (вас) ซึ่งเป็นคำสุภาพ แสดงถึงความให้เกียรติคู่สนทนา แต่เน้นคำว่า ‘ฝัง’ ต่างหาก
เหตุการณ์ดังกล่าวยังเป็นบทเรียนครั้งสำคัญต่อวงการทูต สื่อมวลชน หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ จนกลายเป็นกรณีศึกษาเมื่อครั้งผู้เขียนยังร่ำเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า หากจะตีความอะไร ควรตรวจสอบบริบทก่อนหน้าเสียก่อน
เพราะหากย้อนดูเนื้อหาเต็มๆ ในสุนทรพจน์วันนั้น ผู้นำโซเวียตหมายถึงการเหยียดเชื้อชาติสีผิวในสหรัฐฯ เช่น เหตุการณ์ในรัฐมิสซิสซิปปี และเรียกร้องให้ยุติระบอบอาณานิคม โดยมีที่มาจากเหตุการณ์ในคองโก เมื่อ ปาทริซ ลูมูมบา (Patrice Lumumba) นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ถูกโค่นล้มอำนาจ ด้วยการรัฐประหารที่ได้รับสนับสนุนจาก CIA, MI6 รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของ UN จำนวน 2 หมื่นนายภายใต้การบัญชาการของ ดั๊ก ฮัมมาร์เฮิลด์ (Dag Hammarskjöld) เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น
และนี่คือสิ่งที่กรีซมอนเปรซเคยสงสัย จนหาคำตอบและถ่ายทอดออกมาบนสารคดีที่มีระยะเวลาจำกัด (แต่ยาวสำหรับใครที่สมาธิสั้น) ราว 2 ชั่วโมง 30 นาที ว่า เกิดอะไรที่คองโกกันแน่ และทำไมคองโกจึงสำคัญกับชาติมหาอำนาจ โดยสอดแทรก ‘ดนตรีแจ๊ซ’ แก่นหลักของเรื่อง จนคลับคล้ายคลับคลาว่า กำลังอ่าน ‘วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก’ ที่มีละครเพลงเคล้าคลอตลอดทั้งเรื่อง
2
ต่างจากสารคดีทุกเรื่องที่เคยชมมา
คือความรู้สึกแรกต่อ Soundtrack to a Coup D’Etat หลังฉากแรกของเรื่องเปิดด้วยเพลง Triptych: Prayer/ Protest/ Peace ในอัลบั้ม We Insist! Max Roach’s Freedom Now Suite (1960) เริ่มต้นเสียงกลองดังรัวสนั่นของ แม็กซ์ โรช (Max Roach) ขณะที่แอบบีย์ตะโกนร้องด้วยท่าทางที่รวดร้าว ทำให้เราเข้าใจทุกอย่างในพริบตา แม้บทเพลงจะปราศจากเนื้อหาหรือภาษาพูดก็ตาม
สารคดีพาเราเข้าสู่เรื่องราวในคองโกด้วยการเริ่มต้นจากสุนทรพจน์ของครุชชอฟ ก่อนจะเล่าเรื่องของลูมุมบา ชายร่างผอมผิวดำที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติและแอฟริกา เขาเป็นผู้ชายธรรมดาที่ออกมาเรียกร้องประเด็นความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและการศึกษา 1940 ด้วยท่าทีที่สงบนิ่ง ไม่ก้าวร้าว จนดึงดูดความสนใจจากเจ้าอาณานิคมอย่างเบลเยียม
แต่แล้วชีวิตของเขาก็ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อถูกจับในข้อหายักยอกเงินในงานไปรษณีย์ปี 1955 ลูมุมบาเผชิญกับคำดูถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา โดยเฉพาะประโยคว่า “ชาวยุโรปจะไม่เสิร์ฟอาหารที่มีสุนัขให้เขากิน” แสดงให้เห็นการตีตราและเหยียดเชื้อชาติ จนเมื่อได้รับการปล่อยตัว ลูมุมบาจึงกลายร่างเป็นนักปฏิวัติ ส่งเสียงต่อต้านระบอบอาณานิคมที่ยังไม่สิ้นสุด และก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ คนแรกของประเทศ หลังชนะการเลือกตั้งในปี 1960
ไม่ใช่แค่คองโกที่ต้องการอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม สารคดียังฉายภาพให้เห็นภูเขาน้ำแข็งที่ตำราเรียนไม่ได้เล่าว่า โลกยังเต็มไปด้วยประเทศอาณานิคมหลายแห่งที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อยอีกจำนวนมาก จนนำไปสู่การประชุมบันดุง (Bandung Conference) ระหว่างชาติเอเชียกับแอฟริกาในปีเดียวกันกับที่ลูมุมบาถูกคุมขัง เพื่อเรียกร้องให้ยุติระบอบอาณานิคม และในท้ายที่สุด การรวมตัวดังกล่าวได้ก่อกำเนิดขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM)
หนึ่งในเรื่องอันแสนเซอร์ไพรส์ที่สุดที่เราไม่เคยรู้มาก่อนคือ แอฟริกาหมายมั่นจะสร้าง ‘สหรัฐแอฟริกา’ (United States of Africa) แม้จะฟังดูล้อเลียนชื่อเต็มของสหรัฐฯ แต่นั่นคือความจริงที่ปรากฏบนสารคดี ผ่านการประชุมชาติแอฟริกันในปี 1958 ที่มีตัวตั้งตัวตีคนสำคัญอย่าง กวาเม อึนกรูมา (Kwame Nkrumah) อดีตประธานาธิบดีกานา
“ถ้าแอฟริกามีรูปร่างคล้ายปืน คองโกคือไกปืน”
เป็นประโยคอ้างอิงในสารคดีจาก ฟรานซ์ ฟานอน (Frantz Fanon) นักคิดสายมาร์กซิสต์ที่สนับสนุนกระแสรวมแอฟริกาเป็นหนึ่งที่ปลุกให้เราตื่นจากฝันการรวมชาติ เพราะแม้ภูมิรัฐศาสตร์โลกต่างหันเหไปที่เหตุการณ์ในคลองสุเอซ แต่คองโกสำคัญสำหรับชาติมหาอำนาจอย่างมหันต์ เพราะ ‘ทรัพยากรธรรมชาติ’ มหาศาล
ทั้งแร่โคบอลต์ที่ใช้ในการผลิตสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และรถยนต์ หรือแร่ยูเรเนียมในชินโคโลเว (Shinkolobwe) เหมืองแร่ที่โลกลืม ซึ่งเป็นที่มาของระเบิดปรมาณู 2 ลูกในฮิโรชิมาและนางาซากิ ที่แปรเปลี่ยนสมการสงครามไปตลอดกาลคือ การประกันความพินาศร่วมกัน (Mutual Assured Destruction: MAD) รวมถึงกระสุนปืนของสหรัฐฯ ที่สาดกระเซ็นลงในสงครามเวียดนาม
ต่อมาคองโกได้รับเอกราชจากเบลเยียมในปี 1960 โดยที่กษัตริย์ โบดวง (Baudouin) เดินทางมาประกาศด้วยตนเองว่า ประเทศอาณานิคมขอมอบเสรีภาพให้ปวงชน ขณะที่ลูมุมบาขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ตอบโต้ว่า ชาวคองโกต้องทนทุกข์ทรมานจากระบอบอาณานิคมมากแค่ไหน ว่ากันว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้กษัตริย์แห่งเบลเยียมผูกใจเจ็บผู้นำคองโก เพราะท่าทีแข็งกร้าวมาก
ไม่นานนัก เกิดเหตุการณ์จลาจลระหว่างกองทัพคองโกกับทหารผิวขาวเพียง 1 เดือนหลังประกาศเอกราช เบลเยียมฉวยโอกาสแทรกแซงคองโกและประกาศให้คาตังกา (Katanga) จังหวัดทางตอนใต้ที่เคยอยู่ในสถานะพิเศษของประเทศคือ ทรัพย์สินส่วนของพระมหากษัตริย์อย่าง พระเจ้าเลโอปอลด์ที่ 2 (Leopold II) โดยให้ โมเสส ซอมเบ (Moïse Tshombe) นักธุรกิจหน้าเลือดขึ้นเป็นประธานาธิบดี
ขณะนั้นลูมุมบาขอความช่วยเหลือจาก UN โดยมีฮัมมาร์เฮิลด์เป็นเลขาธิการ ผู้มีท่าทีไม่ชอบใจผู้นำคองโกเสียเท่าไร แม้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้เบลเยียมออกไปในคองโก และตั้งกองกำลังในคาตังกาแทน ทว่า UN ปฏิเสธที่จะเคลื่อนเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับเบลเยียมโดยตรง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวมีชาติตะวันตกหนุนเป็นกำลังสำคัญ
ในระหว่างเหตุการณ์ความรุนแรง ปรากฏว่า CIA ทำในสิ่งที่ใครคาดไม่ถึงคือ การใช้การทูตดนตรีแจ๊ซสร้างความชอบธรรมให้กับคาตังกา ด้วยการส่งอาร์มสตรองไปในประเทศที่เกิดใหม่ ถือเป็นกลวิธีเดียวกับการต่อสู้ทางวัฒนธรรมกับสหภาพโซเวียตในสงครามเย็นคือ การสร้างอำนาจโน้มนำ (Soft Power) ผ่านดนตรีด้วยการส่งนักร้องแจ๊ซชื่อดังไปแสดงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอาร์มสตรอง, นินา ซิโมน (Nina Simone), ดิซซี กิลเลสพี (Dizzy Gillespie) หรือดุก เอลลิงตัน (Duke Ellington) จน สจ๊วต เจฟฟรีย์ (Stuart Jeffries) คอลัมนิสต์ของ The Guardian อธิบายเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบันว่า กลยุทธ์ดังกล่าวน่าขันไม่ต่างจากการส่ง เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) หรือบียอนเซ (Beyoncé) ไปในตะวันออกกลาง เพื่อยุติสงครามและความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตามจุดจบของลูมุมบาก็มาถึง เมื่อเขาตัดสินใจหันไปจับมือกับครุชชอฟเพื่อขอความช่วยเหลือ ทำให้สหรัฐฯ ภายใต้ไอเซนฮาวร์และ CIA ที่กลัวว่า แร่ยูเรเนียมจะตกไปอยู่ในมือของโซเวียต รวมถึงการรวมตัวของชาติแอฟริกา ตัดสินใจลงดาบ ‘ลอบสังหาร’ ผู้นำคองโก พร้อมกับสนับสนุน โมบูตู เซเซ เซโก (Mobutu Sese Seko) ประธานาธิบดีคองโก ให้รัฐประหารขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ และขับไล่โซเวียตออกจากประเทศ
แม้สารคดีเปิดกว้างให้เราเลือกที่จะเชื่อ แต่กรีมอนเปรซก็มีหลักฐานมัดตัวชั้นดีคือ การนำฟุตเทจและคำสารภาพของบุคคลสำคัญออกมาเปิดโปงเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเรื่องของ ‘มิสเตอร์โจจากปารีส’ (Joe from Paris) สายลับของ CIA ที่ได้รับคำสั่งลอบสังหารลูมุมบาด้วย ‘ยาสีฟัน’ ขณะที่สายลับอังกฤษออกมาเล่าว่า ทำอย่างไรให้คองโกแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย พร้อมกับปิดจบว่า เขาได้รับคำสั่งจากไอเซนฮาวร์ให้ปลิดชีวิตของผู้นำคองโกจริงๆ
ท้ายที่สุดลูมุมบาจากโลกนี้ไปในวัย 35 ปี ท่ามกลางความปั่นป่วนของประเทศที่ไม่เคยสงบอีกเลย ขณะที่ดนตรีเป็นดังอาวุธทิ่มแทงศัตรู กลับกลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เมื่ออาร์มสตรองรู้ตัวว่า ตนเป็นเพียงของเล่นหลอกใช้เบี่ยงเบนความสนใจของ CIA เขาแสดงความโกรธแค้น พร้อมขู่ว่าจะหนีไปอยู่ประเทศกานา โดยในช่วงท้ายของสารคดี ปรากฏฟุตเทจเขาแสดงคอนเสิร์ตในกรุงอักรา (Accra) เมืองหลวงกานา พร้อมกับอึนกรูมาในฐานะผู้ชมที่ร้องไห้ระหว่างแสดงเพลง (What Did I Do to Be So) Black and Blue
Soundtrack to a Coup d’Etat ปิดจบด้วยการวนกลับมาของเพลง Triptych: Prayer/ Protest/ Peace และเสียงแผดร้องของแอบบีย์ พร้อมด้วยฟุตเทจอลหม่านกลาง UN เมื่อแอบบีย์กับโรชบุกที่ประชุมคณะมนตรีแห่งสหประชาชาติ (UNGA) เพื่อประท้วงการจากไปของลูมุมบา ทิ้งให้ผู้เขียนนั่งยิ้มมุมปาก อยากลุกขึ้นปรบมือให้กับทั้ง 2 คน รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ของกรีมอนเปรซที่เล่าเรื่องเสียดสีได้เจ็บแสบและแยบยล
3
แม้บทความจะมีความยาวขนาดนี้ แต่ผู้เขียนบอกได้อย่างเต็มปากว่า นี่เป็นเพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งเท่านั้น ซ้ำการเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนอาจช่วยให้เข้าใจบริบทในเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น เพราะสารคดียังมีเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ สอดแทรกตลอด 2 ชั่วโมง 30 นาที จนคิดว่า การไปดูครั้งที่ 2 เพื่อเก็บรายละเอียดคงจะดีไม่ใช่น้อย
ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของ อองเดร บลูแอง (Andrée Blouin) หัวหน้าฝ่ายพิธีการทางการทูต ผู้เขียนสุนทรพจน์ให้ลูมุมบา และผู้หญิงที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่า เป็นนางบำเรอของผู้นำทั่วแอฟริกา หรือภาพของ ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ผู้นำคิวบา สัญลักษณ์ของสังคมนิยมขนานแท้ ย่างเหยียบในดินแดนแห่งทุนนิยม รวมถึงนั่งจับเข่าคุยกับ มัลคอล์ม เอ็กซ์ (Malcom X) นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนผิวดำถึงเรื่องราวของลูมุมบา หรือแม้แต่บทบาทของสถาบันกษัตริย์เบลเยียมที่ยังเข้ามาแทรกแซงกิจการในคองโก โดยทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกันทั้งสิ้น
นอกจากนี้สิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ทุกคนได้สัมผัสด้วยตนเองคือ วิธีการเล่าเรื่องในสารคดีที่แตกต่างจากเรื่องอื่นอย่างสิ้นเชิง คิดไม่ถึงว่าในชีวิตนี้จะได้นั่งดูสารคดีเนื้อหาหนักๆ โดยมีดนตรีแจ๊ซประกอบบรรเลงตลอดเหมือนละครเพลง ที่มีทั้งการเสียดสี ความอึดอัด ความเศร้าโศก และความเป็นอิสระจากการกดขี่
ลองจินตนาการดูว่า คุณกำลังฟังสุนทรพจน์ของครุชชอฟต้านภัยอาณานิคมบน UN ด้วยท่าทีขึงขัง แต่แล้วเสียงทุบโต๊ะของเขานำมาถูกมิกซ์กับดนตรีแจ๊ซ อีกทั้งยังมีโควตคำพูดของผู้นำโซเวียตว่า แจ๊ซน่ารำคาญหู เป็นเพียงดนตรีของพวกกระฎุมพี
นั่นแหละคือรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของ Soundtrack to a Coup d’Etat ที่ผู้เขียนคิดว่า ผู้กำกับชาวเบลเยียมอาจใช้เสียดสีครุชชอฟว่า ผู้นำโซเวียตรู้สึกรำคาญ สหรัฐฯ ผู้นำโลกทุนนิยม มากแค่ไหน แต่เขาก็พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกของชาติตะวันตก ด้วยการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ
อีกส่วนหนึ่งที่กรีสมอนเปรซเซอร์ไพรส์มากๆ คือ การตัดเบรกโฆษณาเทสลาและไอโฟนในระหว่างที่ดูกำลังดูสารคดีเพลินๆ แม้จะทำให้ตกใจไม่น้อยว่ามาจากไหน แต่พอนึกไปนึกมาแล้ว กลับคิดได้ว่า เขากำลังสะท้อนภาพทุนนิยมปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาระบบทาสสมัยใหม่ (Modern Slavery) เมื่อที่มาที่ไปของเทคโนโลยีอันสูงส่ง มาจากการกดขี่และขูดรีดแรงงานเหมืองแร่ในคองโก ที่ทำงานตัวสายแทบขาดในสภาพแวดล้อมสุดอันตราย เพื่อแลกเศษเงินประทังความอยู่รอด
ขณะที่การสอดแทรกดนตรีแจ๊ซในสารคดีเปี่ยมไปด้วยความหมายทุกย่างก้าว แม้ผู้กำกับชาวเบลเยียมไม่มีความรู้ทางด้านดนตรีแจ๊ซเหมือนผู้ชม (รวมถึงผู้เขียน) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การตีความเพลง Wild Is the Wind ของซิโมน ที่มีเนื้อหาดั้งเดิมถึงความรักอันผิดพลาด แต่กรีซมอนเปรซคิดว่า เพลงนี้สื่อถึงสายลมที่พัดพาฝุ่นกัมมันตภาพรังสีจากระเบิดปรมาณู แต่ในอีกบริบทคือช่วงคองโกได้รับเอกราชในปี 1960 ซึ่งเริ่มด้วยท่อนเพลงที่ว่า “ชีวิตของฉันเริ่มต้นด้วยจูบของคุณ” Wild Is the Wind จะหมายถึง ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’
“ผมทำภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่มีแจ๊ซไม่ได้ ถ้าการเมืองคือเรื่องของการแบ่งแยกและเอาชนะ ดนตรีคือสิ่งที่รวมทุกคนเข้าด้วยกัน แม้จะเป็นเสียงกรีดร้องจากความโกรธ แต่ก็เป็นพลังแปรเปลี่ยนโลกนี้ได้เช่นกัน”
กรีซมอนเปรซให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษ The Guardian เพื่อตอกย้ำเราทุกคนว่า ดนตรีไม่ใช่เครื่องมือของอำนาจฉ้อฉล แต่เป็นพลังของอิสรภาพและนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง
ไม่ว่าใครจะให้มองสารคดีในแง่มุมใด แต่สิ่งที่ Soundtrack to a Coup d’Etat ทำสำเร็จ คือการถ่ายทอดเรื่องราวการกดขี่ในคองโก และแจ๊ซ ดนตรีที่กำเนิดจากการแบ่งแยกและเหยียดสีผิวในสหรัฐฯ ให้เป็นเรื่องเดียวกัน โดยที่แก่นสารไร้กาลเวลา เหมือนบทเพลงของอาร์มสตรองที่ยังโหยหวนอยู่ในใจใครหลายคน เมื่อความคิด ‘คนไม่เท่ากัน’ ไม่เคยหายไปจากโลกนี้
My only sin is in my skin
All my life through I’ve been so black and blue
I’m white inside, but that don’t help my case
อ้างอิง
https://press.oscars.org/news/97th-oscarsr-shortlists-10-award-categories-announced
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=612065968144580&set=pb.100080235475966.-2207520000&type=3
https://www.youtube.com/watch?v=rrtYw-qzQ3o&ab_channel=TheUpcoming
https://www.nytimes.com/2003/07/26/opinion/IHT-did-he-bang-it-nikita-khrushchev-and-the-shoe.html
https://www.historytoday.com/miscellanies/united-states-africa
https://russian7.ru/post/my-vas-pokhoronim-kak-vystuplenie-khr/
Fact Box
- โลกยังคงถกเถียงว่า ครุชชอฟถอดรองเท้าทุบโต๊ะเพื่อประท้วงจริงหรือไม่ เพราะจากฟุตเทจการประชุม UN และสารคดี แสดงให้เห็นว่า ผู้นำโซเวียต ‘กระทืบเท้า’ ระหว่างสุนทรพจน์หรือเพียงแค่ ‘ทุบโต๊ะ’ ประท้วงเท่านั้น ขณะที่สำนักข่าวฝั่งตะวันตกยืนยันว่า เขาทำพฤติกรรมเช่นนั้นจริงๆ
- สำหรับประโยค We will bury you นอกจากมิติและบริบททางภาษาที่ผู้เขียนกล่าวก่อนหน้าไปแล้ว นักภาษาศาสตร์บางส่วนยังวิเคราะห์นัยสำคัญของที่มาที่ไปผ่าน ‘รากเหง้า’ ของครุสชอฟ เมื่อผู้นำโซเวียตเกิดที่แคว้นดอนบาส (Donbas) ซึ่งธรรมชาติของคนในพื้นที่นี้คือ ชอบพูดจาหยอกล้อหรือใช้สุภาษิตเปรียบเปรยอยู่บ่อยครั้ง
- จริงๆ แล้ว สารคดีทิ้งสัญญะสำคัญมากมายที่หลายคนคาดไม่ถึง เช่น การใช้ ‘ปลาหมึก’ แทนภาพของสหภาพโซเวียตที่ขยายอำนาจ ตามโฆษณาชวนเชื่อของโลกทุนนิยม ขณะที่ ‘ช้างป่า’ ถูกใช้แทนประเทศคองโก