***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์

หากถามถึงการ์ตูนมังงะที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เชื่อว่าวันพีซ (One Piece) ต้องเป็นหนึ่งในคำตอบแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงอย่างแน่นอน 

วันพีซ ผลงานการ์ตูนมังงะยอดฮิตจากปลายปากกาของ เออิจิโร โอดะ (Eiichirō Oda) ที่สรรสร้างตัวละครที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ และเรื่องราวการผจญภัยบนท้องทะเลของผองเพื่อนโจรสลัด

เผลอแป๊บเดียวก็เป็นเวลากว่า 26 ปี ที่การ์ตูนเรื่องนี้โลดแล่น ทั้งได้รับการโหวตให้เป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านสูงสุดตลอดกาล นับตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1997 ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ โชเนนจัมป์ (Shōnen Jump) กระทั่งปัจจุบันในปี 2023 ที่เนื้อเรื่องดำเนินสู่ตอนที่ 1091 

การเดินทางของกลุ่มหมวกฟาง จากมังงะสู่แอนิเมชัน และการมาถึงของฉบับไลฟ์แอ็กชัน

สำหรับคนที่เติบโตในปลายยุค 90s ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างยุคดิจิทัลกับแอนะล็อก การอ่านหนังสือการ์ตูนคือความบันเทิงชั้นดีที่หาได้ง่าย รอบรั้วโรงเรียนล้วนเต็มไปด้วยร้านเช่าหนังสือการ์ตูนที่เปิดกันเรียงราย ทุกเย็นภายในร้านเนืองแน่นไปด้วยเด็กนักเรียน ที่แวะเวียนมายืม-คืนหนังสือการ์ตูน และแน่นอนว่า วันพีซคือการ์ตูนที่ถูกยืมไปอ่านมากที่สุด 

และเชื่อว่าหากใครเคยผ่านประสบการเช่าหนังสือการ์ตูน สิ่งที่น่าเจ็บใจคือเมื่อเราอ่านเล่มที่ยืมมาจนครบ และกำลังจะยืมเล่มถัดไป แต่ปรากฏว่ามีคนยืมเล่นนั้นๆ ตัดหน้าเรา ดังนั้น สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ‘อดทนรอ’

ยิ่งหากใครตามอ่านจนถึงตอนล่าสุดแล้วใคร่อยากรู้ตอนใหม่ก่อนเพื่อน ในยุคนั้นจำต้องซื้อหรือขอยืม ‘ซี-คิดส์’ (C-Kids) นิตยสารรายสัปดาห์ ที่รวมการ์ตูนตอนใหม่จากหลายเรื่องไว้ในเล่มเดียว

ต่อมา  วันพีซทำเป็นการ์ตูนแอนิเมชันโดยบริษัท โตเอะ แอนิเมชัน (Tōei Animēshon) ก่อนที่บริษัทในไทยจะซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำมาฉายผ่านทางฟรีทีวี รวมถึงผลิตขายในรูปแบบซีดีและดีวีดี โดยวันพีซรูปแบบอานิเมะในตอนที่หนึ่งใช้ชื่อว่า ‘ฉันคือลูฟี่! ชายที่จะเป็นราชาโจรสลัด!’ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับที่ใช้ในตอนที่หนึ่งของเวอร์ชันมังงะ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพีซเวอร์ชันอานิเมะเริ่มมีเนื้อหาไล่เลี่ยทันมังงะ ฝั่งบริษัทโตเอะที่ไม่อยากให้ผู้ติดตามคอยนาน จึงขยายตอนพิเศษเพื่อยืดระยะเวลาออกไป แน่นอนว่าในช่วงแรกมีแฟนเดนตายเกิดความไม่พอใจบ้างประปราย แต่นั่นก็พอมีข้อดีอยู่บ้าง เพราะการเพิ่มเนื้อเรื่องก็สามารถขยายรายละเอียดปลีกย่อยที่เวอร์ชันมังงะไม่เคยเล่า

ต่อมาในปี 2000 บริษัทโตเอะตัดสินใจสร้างวันพีซเวอร์ชันภาพยนตร์เป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อเรียบง่ายว่า One Piece: The Movie ที่เพิ่มเนื้อเรื่องและเสริมตัวละครที่ไม่เคยปรากฏในมังงะ ก่อนที่เวอร์ชันภาพยนตร์จะถูกสร้างต่อเนื่องรวมกว่า 15 ตอน โดยล่าสุดคือ ‘One Piece Film: Red’ ที่สามารถเรียกเสียงฮือฮาจากแฟนคลับเฉกเช่นที่ผ่านมา

หลังจากในโลกแห่งมังงะและอานิเมะถึงจุดสูงสุด ต่อมา Tomorrow Studios และ Netflix ตัดสินใจร่วมซื้อลิขสิทธิ์ของวันพีซ เพื่อสร้างเป็นซีรีส์รูปแบบไลฟ์แอ็กชัน ทว่าในช่วงแรกแฟนการ์ตูนกลับแสดงท่าทีกังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคัดเลือกนักแสดงหรือการดำเนินเนื้อเรื่องก็ตาม เพราะที่ผ่านมา ค่ายหนังเจ้าดังที่ลงมือดัดแปลงเนื้อหาจากมังงะล้วนล้มเหลว สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น บรรดาแฟนบอยต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เกิดจาก ‘การไม่เคารพต้นฉบับ’ 

นัยหนึ่งความท้าทายนี้อาจทำให้ ‘ความฝัน’ ของผู้ที่อยากเห็นตัวละครที่รัก สามารถก้าวข้ามจากโลกการ์ตูนเพื่อกลายมาเป็นมนุษย์ นั่นทำให้ Netflix ออกมาป่าวประกาศว่า ทุกตอนของซีรีส์มีการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนจาก เออิจิโระ โอดะ อาจารย์ผู้เป็นเจ้าของต้นฉบับวันพีซ พร้อมยืนกรานชัดเจนว่า จะไม่ฉายซีรีส์เรื่องนี้จนกว่าอาจารย์โอดะจะพึงพอใจในคุณภาพงาน 

จึงไม่น่าแปลกใจสักเท่าไรที่ Netflix ทุ่มทุนสร้างถึงตอนละ 17.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เบ็ดเสร็จจำนวน 8 ตอน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ทันทีที่วันพีซไลฟ์แอ็กชันออกฉายไปไม่นาน ก็ได้กระแสตอบรับกลับมาดีเกินคาด และสามารถครองบังลังก์ซีรีส์ที่มีผู้รับชมมากที่สุดใน Netflix ขณะเดียวกันเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ก็ให้คะแนนซีรีส์เรื่องนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยในฝั่งผู้ชมให้คะแนนสดใหม่ที่ 94% ส่วนนักวิจารณ์ให้คะแนนสดใหม่ที่ 82% นับว่าดีที่สุดในภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันที่ดัดแปลงมาจากมังงะ

สาเหตุหลักที่ทำให้ซีรีส์ดังกล่าวประสบความสำเร็จ คงต้องยกความดีความชอบให้กับ มาร์ก จ็อบสต์ (Marc Jobst) และแมตต์ โอเวนส์ (Matt Owens) ผู้กำกับและมือเขียนบท ที่กล้าจะนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มหมวกฟางให้กระชับรวบรัด และกล้าที่ตีความคาแรกเตอร์ตัวละครใหม่ โดยไม่ทิ้งกลิ่นอายมิตรภาพกลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง

และที่ไม่เอ่ยชมไม่ได้ คือบรรดานักแสดงหลักไล่ตั้งแต่ อินากี โกดอย (Iñaki Godoy) ผู้รับบท มังกี้ ดี. ลูฟี่ ตัวเอกของเรื่องราวกับถอดแบบมาจากการ์ตูน ต่อมาคือ แม็กเคนยู อาราตะ (Mackenyu Arata) นักแสดงชาวญี่ปุ่นผู้รับบท โรโนโนอา โซโล ที่ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็เท่สมบทนักดาบผู้หยิ่งทนง ร่วมกับ เอมิลี รัดด์ (Emily Rudd) ผู้รับบทนามิ แมวขโมยสาวพราวสเน่ห์ และเจค็อบ โรเมโร (Jacob Romero) ผู้รับบทอุซป หนุ่มนักแม่นปืนผู้ใช้หนังสติ๊กและความขี้โม้เป็นอาวุธ รวมถึง ทาซ สกายเลอร์ (Taz Skylar) ในบทซันจิ เชฟหนุ่มที่ถูกตีความใหม่จากหนุ่มสุดหื่นกลายเป็นหนุ่มคารมดีลูกเล่นแพรวพราว แต่ไม่ทิ้งความอบอุ่น เรียกได้ว่าแค่ตัวละครก็คัดเลือกได้อย่างเหมาะสม

จากหน้ากระดาษสู่แอนิเมชัน กระทั่งการมาถึงของซีรีส์ไลฟ์แอ็กชัน แม้ว่าการเดินทางของกลุ่มหมวกฟางกว่า 26 ปี จะยังไม่สิ้นสุด แต่นั่นก็ทำให้หลายคนมีชีวิตอยู่ด้วยความคาดหวัง เพื่อรอถึงวันเฉลยบทสรุปการผจญภัยของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง ที่ข้ามผ่านจากช่วงยุคแอนะล็อกสู่ยุคดิจิตัล

ความฝัน ความหวัง และยุคสมัยอันผันแปรของเหล่าโจรสลัด 

“สมบัติของฉัน ถ้าอยากได้ก็เอาไปสิ ไปหาเอาเลย ฉันเอาทุกอย่างบนโลกไปไว้ที่นั่นหมดแล้ว”

คำพูดสุดท้ายของเจ้าแห่งโจรสลัด โกล ดี. โรเจอร์ (Gol D. Roger) ณ ลานประหารเมืองโลคทาวน์ เป็นดังสัญญาณประกาศสู่ยุคสมัยที่เหล่าโจรสลัดมุ่งสู่ทะเล เพื่อออกตามหาและไขว้คว้าสมบัติที่เรียกว่าวันพีซ 

สิ่งที่วันพีซฉบับไลฟ์แอกชันนำเสนอตั้งแต่ตอนที่ 1 จนถึงตอนที่ 8 คือการเอ่ยถึงนิยาม ‘ความฝัน’ และ ‘ความหวัง’ สอดคล้องกับต้นฉบับฝั่งมังงะ ที่นำเสนอความฝันของหลายตัวละคร ก่อนค่อยๆ พาผู้อ่านทำความเข้าใจกับความฝันเหล่านั้นว่ามีที่มาอย่างไร ยกตัวอย่างกรณีของลูฟี่ ที่มักป่าวประกาศความฝันของตนเองอยู่เสมอ นั่นคือ “ฉันจะเป็นราชาโจรสลัด” โดยมีสัญลักษณ์ความฝันคือ ‘หมวกฟาง’ ที่ได้จาก ‘แชงค์’ กัปตันแห่งกลุ่มโจรสลัดผมแดง ภายใต้สัญญาที่ว่า สักวันหนึ่งหากลูฟี่ได้เป็นเจ้าแห่งโจรสลัดจะต้องนำหมวกฟางมาคืนเขา

ทั้งนี้ บุคคลแรกที่ลูฟี่มีโอกาสพบเจอหลังเริ่มออกผจญภัย คือโคบี้ เด็กรับใช้บนเรือโจรสลัดที่อยู่อย่างไร้ความฝันมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี เมื่อโคบี้ได้สนทนากับชายผู้มีความฝันเป็นเจ้าแห่งโจรสลัด ก็รับรู้สิ่งสำคัญในการมีชีวิต นั่นคือ ‘อิสระ’ ที่เขาไม่เคยได้รับจากการเป็นลูกไล่บนเรือโจรสลัด ดังนั้น คำพูดดังกล่าวจึงทลายโซ่ตรวน พร้อมปลดแอก ‘ความฝัน’ และ ‘ความหวัง’ ในหัวใจของโคบี้ ไปโดยปริยาย

ถ้าถามว่าความฝันกับความหวังต่างกันอย่างไร

ความฝันในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงอาการขณะที่ร่างกายกำลังนอนหลับ แต่หมายถึงความปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากก้นบึ้งของหัวใจ เพราะความปรารถนาดังกล่าวมีความเป็นปัจเจก สุดแล้วแต่มนุษย์คนนั้นจะปราถนาเช่นไร แม้ไม่รู้ว่าความฝันเหล่านั้นจะเป็นจริงหรือไม่ แต่แน่นอนว่าการอธิบายความฝันไม่ใช่เรื่องยาก แต่การหาความฝันให้เจอกลับเป็นเรื่องที่ยากเสียยิ่งกว่า

กลับกัน ความหวังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล นักปรัชญาในโลกตะวันตกอาจตีความคำว่าความหวังต่างกันไป บ้างก็ว่าความหวังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ บ้างก็ว่าความหวังมีพื้นฐานจากความเป็นเหตุเป็นผล แต่สิ่งที่น่าสนใจคือบางคนมองความหวังว่า ไม่ต่างจากจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของมนุษย์ที่ต้องพัฒนา

ขณะเดียวกัน นักคิดทั้งหลายลงความเห็นว่า ความหวังอาจเป็นอารมณ์หรือความรู้สึกที่ไม่ได้มีสถานะทาง ‘ญาณวิทยา’ คือไม่ได้เป็นทั้งความเชื่อและความรู้ แต่ความหวังเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางปัญญาของมนุษย์เพื่อนำมนุษย์มุ่งหน้าไปสู่อนาคตเสมอ

อาจสรุปได้ว่า ทั้งความฝันและความหวัง คือสิ่งที่ผลักดันให้มนุษย์ก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อไขว่คว้าสิ่งสำคัญ แม้จุดประสงค์ของทั้งสองจะเหมือนกันราวกับฝาแฝด แต่จุดกำเนิดต่างอยู่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

กลับมาที่เรื่องวันพีซ เห็นได้ว่าในหลายฉาก ตัวละครสำคัญต่างมีความหวังต่อบางสิ่ง เช่น นามิที่ออกจากหมู่บ้านโคโคยาชิ เพื่อเก็บเงินให้ครบ 1 ร้อยล้านเบรี (หน่วยเงินในวันพีซ) เพื่อนำไปไถ่ถอนหมู่บ้านคืนจากกลุ่มโจรสลัดมนุษย์เงือก โดยเหตุการณ์ก่อนหน้านามิโต้แย้งกับลูฟี่ เพื่อห้ามไม่ให้โซโลประลองกับดราคูล มิฮอว์ค (Dracule Mihawk) ผู้เป็นนักดาบอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งลูฟี่เผยเหตุผลที่เขาไม่ไปขัดขวางการประลองดังกล่าว เพราะการเอาชนะมิฮอว์คคือความฝันของโซโล แม้สุดท้ายความพ่ายแพ้จะตกแก่ฝั่งเพื่อนรักเสียเอง

ในระหว่างสนทนาลูฟี่ถามนามิว่า เธอไม่มีความฝันบ้างเลยหรือ นามิตอบกลับทันควันว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำตามความฝันได้ แต่ภายหลังที่กลุ่มโจรสลัดมนุษย์เงือกผิดสัญญาพลันทำลายความหวังของนามิ ถึงกระนั้น ความหวังครั้งใหม่ของเธอกลับเป็นกลุ่มผองเพื่อนโจรสลัดหมวกฟาง ที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือพร้อมฝากหมวกฟางอันเป็นสัญลักษณ์ของความฝันไว้กับเธอ คล้ายสัญญะเชื่อมโยงระหว่าง ‘ความฝัน’ กับ ‘ความหวัง’ ที่ทำหน้าที่ร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบ

อีกประเด็นที่มักสอดแทรกในเรื่องวันพีซอยู่เสมอ คือการส่งต่อ ‘ความฝัน’ และ ‘ความหวัง’ สู่คลื่นลูกใหม่อยู่เสมอ ดังกรณีที่ตัวละครซันจิในวัยเด็กได้รับการช่วยเหลือจากเซฟขาแดง และหากย้อนเรื่องราวกลับไปในอดีต เซฟขาแดงคือผู้ที่มีความฝันในการตามหา ‘ออลบลู’ หรือ ‘ทะเลที่มีปลาทุกชนิดบนโลก’ แม้ใครหลายคนต่างหัวเราะเยาะว่าทะเลล้ำค่านั้นไม่มีอยู่จริง แต่ซันจิที่ได้รับไม้ต่อจากผู้มีพระคุณก็มั่นใจว่าความฝันนั้นมีอยู่จริง

ประเด็นดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น ในเหตุการณ์ที่เซฟขาแดงเอ่ยกับพลเรือโทการ์ป ที่ระดมพลกองทัพเรือไล่ล่าตัวลูฟี่ว่า “คลื่นลูกใหม่ต้องมาแทนที่ลูกเก่าอยู่เสมอ ความเปลี่ยนแปลงมาเสมอไม่ว่าจะมีใครต้องการไหม”

 ประโยคข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ความผันแปรคือ ‘สิ่งแน่นอน’ ที่ไม่ว่าใครเก่งกาจมาจากไหนก็มิอาจหลีกหนีพ้น ทว่าสิ่งที่จะอยู่ยงคือความฝันและความหวังที่พร้อมส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปไม่ว่าจะเป็นเช่นไรก็ตาม 

Tags: , , , , ,