ซีรีส์ Hospital Playlist เป็นผลงานของผู้กำกับฯ ชินวอนโฮ (Shin Won Ho) ที่เคยรังสรรค์ผลงานผ่านซีรีส์ตระกูล Reply และ Prison Playbook อันแสนอบอุ่น เห็นความเป็นคนธรรมดาที่แตกต่างกันเข้ามาปฏิสัมพันธ์และโลดแล่นในช่วงเวลาต่างๆ ของประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ ผลงานของชินวอนโฮจะมีลักษณะไม่หวือหวาแต่ลึกซึ้งกินใจ เพราะเล่นกับความเป็น ‘คนธรรมดา’ ที่ไม่ค่อยพบในอุตสาหกรรมซีรีส์ไทยเท่าไรนัก

Hospital Playlist เป็นเรื่องราวว่าด้วยแพทย์ 5 คน ที่ได้มาเป็นเพื่อนกัน และปัจจุบันได้มาทำงานในโรงพยาบาลยุลเจ ในฐานะอาจารย์แพทย์ ประกอบด้วย อีอิกจุน (ศัลยศาสตร์ทั่วไปและผ่าตัดด้านการปลูกถ่ายตับ) จ็องว็อน (กุมารศัลยศาสตร์) จุนวาน (ศัลยกรรมทรวงอกและหัวใจ) ซ็อกฮย็อง (สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา) และแช ซงฮวา (ประสาทศัลยศาสตร์) ซึ่งแต่ละคนมีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้ที่เข้ามา ผ่านเหตุการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป

บทความชิ้นนี้จะทำการสำรวจและตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ ‘หัวใจ’ และอารมณ์ความรู้สึกของ ‘คน’ ในซีรีส์ว่า ถ้าเป็นตัวเราอยู่ในสถานการณ์นั้นเราจะทำอย่างไร ทั้งในฐานะหมอและคนไข้ 

หมายเหตุ: การอธิบายต่อไปจะมียกตัวอย่างบางส่วนมาประกอบ ท่านใดยังไม่ได้ดู อาจจะไปดูก่อนใน Netflix แล้วกลับมาอ่าน หรืออ่านก่อนเพื่อจะได้นำไปตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ ก็ได้ทั้งสองแบบ

หัวใจแห่งความเข้าใจ 

ฉากที่ผู้เขียนประทับใจมากๆ ฉากหนึ่ง คือเคสของหมออีอิกจุน ที่มีคนไข้มารักษาซึ่งมีกำหนดกลับบ้านเรียบร้อยแล้ว ก่อนกลับทั้งครอบครัวได้มาขอบคุณหมออีอิกจุนและลากลับ พร้อมบอกว่าจะพาลูกชายไปทานจาจังมยอน แต่เมื่อกลับบ้านกลับประสบอุบัติเหตุ จนแพทย์ทำการรักษา และวินิจฉัยว่าคนไข้อยู่ในสภาวะสมองตาย และเขาได้มีเจตจำนงในการบริจาคอวัยวะอยู่แล้ว นำไปสู่การผ่าตัดบริจาคอวัยวะ โดยที่หมออิกจุนเป็นผู้กำกับดูแลการผ่าตัด ซึ่งมีโรงพยาบาลคังอุนมารอผ่าตัดรับอวัยวะ

ความจริงการผ่าตัดจะต้องเริ่มเวลา 23.50 น. แต่หมออีอิกจุนได้ถามหมอที่มาจากโรงพยาบาลคังอุนว่าจะต้องรีบรับอวัยวะหรือไม่ ถ้าไม่จะขอเลื่อนการผ่าตัดไปอีกสิบนาที พร้อมบอกเหตุผลว่า “วันนี้เป็นวันเด็ก ผมไม่อยากให้ลูกของเขาจะต้องมานั่งร้องไห้ทุกวันเด็ก และไม่ได้สนุกกับวันเด็กเหมือนกับคนอื่นๆ” ฉากนี้จบลงด้วยการประกาศต่อภรรยาคนไข้ว่า ผู้บริจาคอวัยวะได้จากไปเมื่อเวลา 00.05 น.

ฉากนี้สะท้อนให้เห็น ‘หัวใจแห่งความเข้าใจ’ แก่คนที่อยู่เบื้องหลังที่ต้องดำเนินชีวิตต่อไป เราอาจตั้งคำถามได้ว่า การที่ฉากนี้เข้าใจถึงชีวิตของเด็กที่ต้องใช้ชีวิตอีกยาวไกล ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนของอนาคตนั้น เขาไม่ควรที่จะมาต้องเสียใจในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำโดยตรง หากเช่นนั้นในสังคมเรา ถ้าหากผู้ใหญ่มี ‘หัวใจแห่งความเข้าใจ’ แก่เด็ก (อนาคต) มากขึ้น เด็กเหล่านี้อาจจะมีความเจ็บปวดน้อยลงจากสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ก่อขึ้นก็เป็นได้ และโลกเราคงน่าอยู่ขึ้น ถ้ามี ‘หัวใจแห่งความเข้าใจ’ มากยิ่งขึ้น

หัวใจแห่งความเท่ากัน 

จะขอยกตัวอย่างของหมอจุนวาน ซึ่งเป็นเคสคนไข้หัวใจเต้นช้ากว่าปกติและหัวใจหยุดเต้นไป คนไข้คนนี้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นเยื่อบุหัวใจอักเสบ มีแบคทีเรียเติบโตที่ลิ้นหัวใจ (ลิ้นหัวใจเสื่อม) จึงทำให้หมอจุนวานสงสัยว่าหัวใจคนไข้แย่ขนาดนี้แล้วทำไมถึงไม่ยอมมาโรงพยาบาล ต่อมาพยาบาลได้อธิบายว่าน่าจะเป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะตอนกลางวันคนไข้ทำงานบรรจุของอยู่ที่บริษัทขนส่ง ส่วนกลางคืนทำงานอยู่ที่ตลาดปลา ขณะที่พ่อของเขาทำงานไซต์ก่อสร้างอยู่ที่ต่างจังหวัด 

เคสนี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมว่า คนที่ไม่มีเงินจะไม่สามารถมีสุขภาพดีเท่ากับคนมีเงินในกรณีป่วยเป็นโรคเดียวกันได้ แต่สุดท้ายหมอจุนวานก็ตัดสินใจผ่าตัด และอธิบายให้พ่อของคนไข้ว่าจะต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม เมื่อหมอจุนวานอธิบายจบ พ่อของคนไข้ที่มาพร้อมชุดทำงานไซต์ก่อสร้างได้ขอร้องให้หมอเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมที่แพงที่สุดในโลกให้ลูกชายของเขา

หากเราจะตั้งคำถามกับเคสนี้ คงจะเป็นเรื่องดีที่คนทุกคนในสังคมจะได้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ตัวเราอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆ เพราะทุกคนก็ล้วนแต่มี ‘หัวใจแห่งความเท่ากัน’ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นการเรียกร้องสิทธิ์ของคนที่เขาควรจะมีเหมือนคนอื่นๆในสังคม เราจึงควรเคารพสิทธิ์นั้น และไม่ควรไปดูถูกเหยียดหยาม

หัวใจแห่งความหวัง 

ยกตัวอย่างเคสของหมอซ็อกฮย็อง ที่พบกับคนไข้ป่วยเป็นโรคในกลุ่มต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid Syndrome) ที่นำมาสู่สภาวะแท้งซ้ำซาก เป็นผลให้คนไข้คนนี้เสียใจมาก เพราะแท้งลูกไปแล้ว 2 ครั้ง หรือกรณีเคสของหมอซงฮวา ที่คนไข้ประกอบอาชีพตำรวจ แต่ต้องผ่าตัดสมอง และรู้สึกหมดหวังกับชีวิต เพราะกลัวกลับไปทำอาชีพเดิมไม่ได้อีกแล้ว 

ทั้งสองกรณีนี้ได้นำคนดูไปสู่ ‘หัวใจแห่งความหวัง’ คือการพยายามให้คนไข้ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่หลีกหนีไม่ได้ก่อน (การผ่าตัดสมองไม่มีทางกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์) และหลังจากนั้นจึงกระตุ้นให้คนไข้มีศรัทธาและความหวังในการกลับมาดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า เหมือนดังที่หมอซ็อกฮย็องกล่าวกับคนไข้ว่า “ทำไมการแท้งจึงเป็นความผิดของคนไข้ล่ะครับ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่ากับใครก็ตาม เมื่อตอนนี้เรารู้แล้วว่าเป็นอะไร เรามาหาทางป้องกันเรื่องนี้กันดีกว่า” 

ฉะนั้น ‘หัวใจแห่งความหวัง’ จึงเป็นเรื่องของพลังแห่งการทนทุกข์ที่มนุษย์ได้มาผ่านศรัทธา ซึ่งทุกสังคมควรมีความหวังถึง แม้บางสังคมมองแล้วน่าจะหมดหวังก็ตาม

หัวใจแห่งความรัก

ยกตัวอย่างเคสของหมอจ็องว็อน กับหมอคยออุล (แพทย์ประจำบ้าน) แสดงให้เห็นถึงรักแท้แบบที่ อาแล็ง บาดียู (Alain Badiou) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสนิยามไว้ กล่าวคือหมอคยออุลได้ตกหลุมรักหมอจ็องวอนที่เป็นลูกชายเจ้าของโรงพยาบาล และมีเจตจำนงที่จะลาออกไปใช้ชีวิตเป็นบาทหลวงตามพี่น้องของเขาทุกคน (ดังที่เพื่อนของหมอจ็องวอนกล่าวไว้ว่า ใครจะชนะใจเขาได้ต้องชนะพระเจ้าก่อน) แต่หมอคยอุลก็ยังจะเลือกตกหลุมรัก ซึ่งนับเป็นการกระทำที่กล้าหาญ เพราะการตกหลุมรักคือการที่เรายอมรับความเสี่ยง ไม่ว่าผลที่เกิดมาจะเป็นอย่างไร 

จนในที่สุดหมอคยออุลก็ตัดสินใจไปสารภาพรักแก่หมอจ็องว็อน สำหรับอาแล็ง บาดียูแล้ว การเผชิญหน้าเป็นองค์ประกอบสำคัญของความรัก ที่อาจกลายเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของคนสองคนที่มีรักอย่างชนิดเฉียบพลันและรุนแรง ซึ่งในเคสนี้ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์อย่างรุนแรงดังคำกล่าวของหมอคยออุลว่า “แทนที่จะอยู่ข้างพระเจ้า ช่วยอยู่ข้างฉันเถอะนะคะ” ซึ่งการกระทำของรักแท้นี้ชนะได้แม้กับพระเจ้า เช่นนั้นแล้ว รักแท้ที่นำมาสู่ความกล้าหาญอาจจะนำไปสู่การชนะระบบที่อยุติธรรมที่กดทับในสังคมเราที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็ได้

ซีรีส์ Hospital Playlist จะพาเราไปสำรวจ ‘หัวใจของคน’ ในด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเองและสังคมที่เรากำลังดำรงอยู่ โดยหวังว่าคนในสังคมจะมีหัวใจที่อบอุ่นมากขึ้น เมื่อดูซีรีส์เรื่องนี้จบ

อ้างอิง

คงกฤช ไตรยวงศ์, ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล (บรรณาธิการ). (2559). ความหวังกับจินตนาการทางมนุษยศาสตร์ : รวมบทความจากการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์

สรวิศ ชัยนาม. (2562). ทำไมต้องตกหลุมรัก : Alain badiou ความรัก และ the lobster (สุชานาฎ จารุไพบูลย์, แปล.). กรุงเทพฯ : Illuminations Editions

Tags: ,