1
“ขี้เกียจจังเลยนะ”
ภาพของเจ้าไข่แดงสีเหลืองแวววาว ที่มาพร้อมกับบุคลิกและท่าทางสุดแสนจะขี้เกียจ กลายเป็นไวรัลเรียกเสียงหัวเราะจนฮิตติดลมบนทั่วหน้าฟีดโซเชียล หลังซีรีส์แนวไลฟ์แอ็กชันเรื่อง Gudetama: An Eggcellent Adventure หรือในชื่อภาษาไทย กุเดทามะ: ไข่ขี้เกียจผจญภัย ออกฉายในแพลตฟอร์มสตรีมมิงเน็ตฟลิกซ์ (Netflix)
เรื่องย่อของซีรีส์นี้ เป็นการโฟกัสไปที่สองคาแรกเตอร์หลักอย่างเจ้าไข่ขี้เกียจ ‘กุเดทามะ’ (Gudetama) และลูกเจี๊ยบสุดน่ารักน่าหยิก ‘ชากิปิโยะ’ (Shakipiyo) ที่ทั้งคู่ต้องออกทำภารกิจตามหาแม่ไก่ผู้ให้กำเนิด หลังฟักออกมาจากแผงไข่ในตู้เย็นของร้านซูชิแห่งหนึ่ง (แม้ตัวกุเดทามะจะไม่ค่อยเต็มใจเท่าไร) โดยมีสติกเกอร์คิวอาร์โค้ดเป็นเบาะแสเพียงชิ้นเดียว
อย่างไรก็ดี ระหว่างทางการผจญภัย นอกจากเรื่องราวเปิ่นๆ ทุลักทุเล ให้คนดูเอาใจช่วยแล้ว กุเดทามะและชากิปิโยะยังได้เจอกับบทเรียนอันล้ำค่าจากผู้คนมากหน้าหลายตา และบรรดาไข่หลากเมนูที่ถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหาร
ซึ่งบทเรียนที่ล้ำค่านั้น หาใช่การต้องเป็นคนที่เลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ หรือเป็นฉันที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้ ตามแบบฉบับภาพยนตร์และแอนิเมชันประเภท Coming of Age แต่กลับเป็นการ ‘ปล่อยวาง’ และ ‘ขี้เกียจ’ เสียบ้าง ชีวิตจึงจะได้พบกับหนทางอื่นๆ แม้บทสรุปอาจไม่สวยงามดั่งใจปรารถนาก็ตาม
2
ผู้เขียนคงไม่ต้องสาธยายเนื้อหาสำคัญทั้งหมด เพราะซีรีส์ Gudetama: An Eggcellent Adventure มีความยาวทั้งหมดแค่ 10 ตอน ตอนละ 9-12 นาที เรียกว่าหยิบน้ำ หยิบขนมมานั่งดูเพลินๆ ได้เลย
อย่างที่เกริ่นไว้ว่าการผจญภัยของกุเดทามะ (ให้เสียงพากย์ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นโดย ชุนซุเกะ ทาเคอุจิ และเสียงพากย์ภาษาไทยโดย คมสรร รัตนากรบดี) และชากิปิโยะ (ให้เสียงพากย์ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นโดยเซอิรัน ฟุคุชิมะ และเสียงพากย์ภาษาไทยโดย ‘บีมเซนเซย์’ สิษฐารัตน์ ปี่ทอง) ล้วนแฝงไปด้วยข้อคิดนับตั้งแต่ต้นเรื่อง
ฉากแรกที่เราเห็นกุเดทามะดิ้นดุ๊กดิ๊กฟักออกมาจากไข่ไล่เลี่ยกับชากิปิโยะ ทั้งสองต่างก็มีความคิดที่ต่างกันออกไป เจ้าไข่ขี้เกียจช่างขี้เกียจสมชื่อ ฉันจะนอนและไม่สนใครทั้งนั้น ส่วนลูกเจี๊ยบตัวจ้อยกลับมีเป้าหมายชัดเจน นั่นคือการออกตามหาแม่บังเกิดเกล้า จึงเป็นที่มาของบทสนทนาดังต่อไปนี้
ชากิปิโยะ: “นายไม่มีความฝันเลยหรอ, โหย! เธอโอเคกับสิ่งที่เป็นอยู่แล้วจริงๆ เหรอ”
กุเดทามะ: “คงสถานะเดิม อนาคตมืดหม่น ไว้พรุ่งนี้ค่อยเอาจริง”
บริบทเพียงผิวเผินเหมือนเป็นการโต้ตอบของเด็กสองคน แต่ถ้าเราดูเรื่องราวต่อไปเรื่อยๆ อาจสะท้อนให้เห็นบริบทตลกร้ายของโลกแห่งความเป็นจริง ที่เด็กๆ ยุคใหม่ล้วนถูกเคี่ยวเข็ญให้มองหาเป้าหมายชีวิตไวๆ ต้องตั้งใจเรียน ขยันทำการบ้าน เข้าโรงเรียนกวดวิชา มิเช่นนั้นจะถูกมองเป็นคนเหลาะแหละ ไร้แก่นสาร เผลอแป๊บเดียววัยเด็กของพวกเขาก็ถูกช่วงชิง และกลายเป็นแรงกดดันเงียบๆ ในจิตใจ
สำนักงานคณะรัฐมนตรีฯ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยในปี 2021 ว่า มีเยาวชนเสียชีวิตสูงที่สุดในรอบ 35 ปี (หรือนับตั้งแต่ปี 1986) จากการฆ่าตัวตาย สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะเกิดความเครียดจากอัตราการแข่งขันด้านการศึกษาที่สูงมากๆ
สอดคล้องกับเรื่องราวหลังทั้งคู่หลุดมาจากตู้เย็น ก็ได้พบกับบรรดาเมนูไข่ที่ถูกนำไปแปรสภาพเป็นเมนูอาหารประเภทต่างๆ อาทิ ซูชิไข่หวาน พุดดิ้ง ไข่ตุ๋น ฯลฯ ซึ่งเมนูไข่ต่างพากันถามโต้ตอบกันไปมาว่า “อัตลักษณ์คืออะไร” เพราะถูกตอกปอกเปลือกไม่ทันไรก็โดนนำไปต้มผัดแกงทอด แทบไม่ได้ค้นหาหรือรู้จักตนเองเลย
ซึ่งหากเปรียบเด็กเป็นไข่อย่างกุเดทามะหรือเพื่อนๆ การปล่อยให้พวกเขาได้ ‘ขี้เกียจ’ แบบพอเหมาะ น่าจะเป็นผลดีกว่าการกดดันรีบเร่งนำไปทำอาหาร และอาจทำให้พวกเขาได้พบกับ ‘อัตลักษณ์’ หรือ ‘รสชาติ’ แสนอร่อยในแบบตนเองก็เป็นได้
3
การผจญภัยของกุเดทามะและชากิปิโยะยังตั้งอยู่บนเส้นเรื่องของคำว่า ‘เร่งรีบ’ เพราะหลังฟักออกมาไม่ถึงอาทิตย์ เจ้าไข่ขี้เกียจเริ่มเกิดอาการ ‘บูด’ ที่หากไม่เจอแม่หรือถูกกิน ก็จะกลายเป็นไข่เน่าโดยปริยาย
และเมื่อเจอกับคุณไข่ดิบเน่า ‘กุเรทามะ’ (Guretama) ผู้เป็นตัวอย่างไข่ที่หาตัวตนไม่พบ จนสุดท้ายเน่าเสีย สํามะเลเทเมาดื่มโชยุไปวันๆ (ที่ผู้แต่งหยิบกิมมิกของผู้ใหญ่ติดเหล้า เบียร์ มาใช้) ยิ่งทำให้ความหวาดหวั่นมากขึ้นไปอีก แต่บทสรุปไข่ขี้เกียจของเราจะเน่าจริงหรือไม่ อยากให้ลองไปติดตามกันเอาเอง
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจนอกจากการพบเจอเพื่อนพ้อง ข.ไข่ ทั้งหลาย ยังรวมถึงการพบปะกับมนุษย์วัยกลางคนอาชีพต่างๆ ไล่ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (รับบทโดย ซารุโทกิ มินากาวะ) ที่กำลังประสบกับปัญหาความนิยมดิ่งเหว จนถึงนักเขียนบทละครโทรทัศน์แนวไซไฟ (รับบทโดย อากิโยชิ นากาโอะ) กับผู้ช่วยสาว (รับบทโดย เซเรนา โมโตลา) ที่กำลังรีดเค้นหัวสมอง เพื่อคิดบทไปนำเสนอแก่สถานี
ทั้งสองอาชีพที่มีภาระหน้าที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่กลับมีสิ่งเดียวที่เหมือนกันคือ ‘ทิฐิ’ อยากจะเป็นจะเป็นที่ดีในสายตาคนรอบข้าง เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงาน จนเกิดความกดดันทำให้เสียตัวตนไป โดยเฉพาะนักเขียนบทฯ ที่กดดันจนมองเห็นว่ากุเดทามะเป็นแค่ไข่แดงธรรมดา
แต่รู้ไหมว่าทางแก้ของปัญหาคืออะไร คำตอบง่ายนิดเดียวคือ ‘ปล่อยวาง’ เรามีสิทธิ์ที่จะโฟกัส ตั้งเป้าหมายให้กับงานตรงหน้า ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมาบางครั้งอาจไม่ได้ดั่งใจตลอด การปล่อยวางและรับรู้ว่าสิ่งที่ทำเต็มที่แล้วในแบบของเราเป็นทางออกที่ดีที่สุด ฉะนั้นพักผ่อนสักหน่อย แล้วค่อยปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อไปก็ไม่เห็นจะเสียหาย
ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เคยผิดพลาด ก็สามารถนำประสบการณ์มาเล่าเตือนใจสอนเด็กๆ ได้ เช่นฉากหนึ่งที่นายกฯ สอนกุเดทามะว่า
“ฉันมีอะไรอยากจะบอกเธอ อย่าปล่อยให้ตัวเองเน่าเหมือนอย่างที่ฉันเป็นเชียวล่ะ”
4
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจคือ คาแรกเตอร์กุเดทามะที่ดีไซน์โดย เอมิ นากาชิวะ (Emi Nagashima) ในปี 2013 และกลายเป็นคาแรกเตอร์อยู่บนสินค้าของแบรนด์ซานริโอ (Sanrio) ค่ายเดียวกับน้องเหมียว ‘เฮลโลคิตตี้’ กระต่ายสุดคิวต์ ‘มายเมโลดี้’ หรือเพนกวินจอมกวน ‘แบดแบตซ์มารุ’ มากกว่า 1,700 โปรดักต์ แท้จริงไม่ได้เกิดจากความตั้งใจผลักดันของแบรนด์ในทีแรก
ความจริงแล้วซานริโอตั้งใจให้ ‘คิริมิจัง’ (Kirimichan) ที่เป็นเนื้อปลาแซลมอนบุคลิกรื่นเริงเป็นตัวชูโรง หลังจากที่ค่ายมีการจัดประกวดภายในให้นักเขียนดีไซน์คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนตัวใหม่ โดยคิริมิจังเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยอันดับสองกุเดทามะ ทว่าเมื่อนำออกไปขายแก่แฟนๆ เจ้าไข่ขี้เกียจกลับได้รับความนิยมถล่มทลาย ถึงขั้นที่ในปี 2022 นี้ ขึ้นแท่นคาแรกเตอร์ทำเงินแก่ซานริโอเป็นอันดับ 3
(ขวา) คาแรคเตอร์กุเดทามะ และ (ซ้าย) คาแรคเตอร์คิริมิจัง
สาเหตุหลักที่กุเดทามะเป็นที่นิยม มาจากคาแรกเตอร์ที่โดนใจชาวญี่ปุ่นตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน ที่ล้วนอยู่ในสังคมแห่งการแข่งขัน คาแรกเตอร์ไข่ขี้เกียจจึงเปรียบได้กับตัวตนและความต้องการที่พวกเขาเก็บซ่อนไว้ในใจ โดยชื่อของกุเดทามะมาจากคำสองคำในภาษาญี่ปุ่น ได้แก่ ‘กูเดกูเดะ’ (Gudegude – ぐでぐで) ที่แปลว่า ขี้เกียจ กับคำว่า ‘ทามาโงะ’ (Tamago – たまご) รวมกันจึงกลายเป็นคำว่า กุเดทามะ (Gudetama – ぐでたま) ที่แปลว่า ไข่ขี้เกียจ
“ตอนที่ฉันกินข้าวหน้าไข่ดิบอยู่บนโต๊ะอาหารที่บ้าน ฉันเห็นสีแวววาวของไข่ พานนึกถึงคุณค่าโภชนการที่ล้นเหลือของมัน แต่พอมองดูภาพลักษณ์ตรงหน้ากับรู้สึกเฉยเมย ไร้แรงดึงดูด ทำให้ฉันเกิดปิ๊งไอเดียนำไปเสนอเป็นคาแรกเตอร์ให้กับทางซานริโอ
“ฉันได้ยินฟีดแบ็กมาจากแฟนๆ ว่า ตัวละครกุเดทามะทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจ และพูดแทนพวกเขาว่า คุณไม่ต้องกังวล วันนี้ไม่ต้องพยายามแล้ว รวมไปถึงบั้นท้ายเต่งตึงที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนชอบทั่วโลกค่ะ (หัวเราะ)” เอมิ นากาชิวะ ผู้ให้กำเนิดกุเดทามะเผย
สุดท้ายนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่าชีวิตมนุษย์คือการแข่งขัน และสิ่งต่างๆ ก็ล้วนเกิดขึ้นได้เพราะการแข่งขันเช่นกัน ไม่ว่าจะเครื่องบิน ยานอวกาศ เทคโนโลยีสมาร์ตโฟน ฯลฯ แต่อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการพักผ่อน การรู้จักขี้เกียจหรือหยุดพักเสียบ้าง ก็เพื่อให้ร่างกายได้รีเฟรชก่อนออกลุยกันต่อในวันพรุ่งนี้ ไม่งั้นคงได้หน้าบึ้งตึง หัวสมองระเบิดจริงไหม
ว่าแล้วผู้เขียนก็ต้องขอตัวลาไปพักผ่อนก่อน ขอให้ความขี้เกียจสถิตย์อยู่กับเราทุกคน พักให้เต็มที่ก่อนจะต้องออกลุยกันในปีหน้า โชคดีและสวัสดีครับ
Tags: Gudetama, กุเดทามะ, Netflix, เน็ตฟลิกซ์, Screen and Sound