หากเราจะมองหา ‘ภาพแทน’ คนดังที่เป็นเหยื่อของสังคมและสื่อมวลชนอเมริกัน หนึ่งในคนที่สะท้อนประเด็นนี้ได้ชัดเจนที่สุดคือ บริตนีย์ สเปียร์ส หลังจากโด่งดังจนกลายเป็นปรากฏการณ์จากอัลบั้ม …Baby One More Time (1997) และ Oops!… I Did It Again (2000) ตามมาด้วยชีวิตที่พังยับเยินจากสื่อจนเธอโกนหัวโชว์สาธารณชนเมื่อปี 2007 ไล่เรื่อยมาจนปี 2019 ที่เกิดการเดินขบวนประท้วงทวงหาความยุติธรรมให้เธอในนามของ #FreeBritney และล่าสุด ชื่อของเธอขึ้นพาดหัวอีกครั้งในฐานะ ‘เหยื่อ’ จากการปรักปรำของสื่อนานนับสิบปี

คำถามคือ สำหรับคนทั่วไปเรามีภาพจำต่อบริตนีย์แบบไหน ใช่เด็กสาวที่ใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียนเต้นกลางห้องโถง ชุดสีแดงแนบเนื้อ หรือชุดแอร์โฮสเตสสีฟ้าในตำนาน ป็อปควีนที่ทรงอิทธิพล และเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกันช่วงปี 2000 หรือเป็นคนดังกับข่าวอื้อฉาว ภาพกำร่มเตรียมฟาดปาปารัสซี หรือนาทีที่เธอตัดสินใจโกนหัวท่ามกลางสายตานับสิบคู่เมื่อปี 2007

เกิดอะไรขึ้นกับราชินีเพลงป็อปที่โด่งดังสุดขีดเมื่อสองทศวรรษก่อน ภาพจำของเราที่มีต่อเธอนั้นมันจริงแค่ไหน หรืออาจจะเป็นเพียงสิ่งที่แท็บลอยด์สร้างขึ้นมาและทำลายชีวิตหญิงสาวคนหนึ่งจนขาดวิ่น สารคดี Framing Britney Spears (2021) เป็นสารคดีความยาวเพียง 74 นาทีจากซีรีส์ The New York Times Presents ที่จับจ้องไปยังประเด็นต่างๆ ในสังคมไม่ว่าจะ The Killing of Breonna Taylor ที่สำรวจการตายของ บรีออนนา เทย์เลอร์ หญิงผิวดำที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงโดยไม่มีข้อกล่าวหา หรือ Hurricane of Fire สารคดีเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลียต้นปี 2020

Framing Britney Spears พาคนดูย้อนกลับไปมองความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ของบริตนีย์และ ‘ภาพลักษณ์’ ของการเป็นหญิงสาวชาวอเมริกันแสนสดใส ไร้เดียงสา ติดดิน และเป็นที่รักของผู้คน ก่อนจะต้องรับมือกับชื่อเสียงที่ถาโถมราวกับพายุคลั่งในยุคสมัยที่เส้นแบ่งเรื่องความเป็นส่วนตัวยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อใหญ่ในการถกเถียง แต่ที่น่าตื่นตระหนกกว่านั้นคือ การที่บริตนีย์ต้องเผชิญกับอคติทางเพศผ่านคนรอบตัว ปาปารัสซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อมวลชนกระแสหลัก

เหตุการณ์ที่กลายเป็นตราประทับความหยาบคาย จนถูกตั้งคำถามว่ามันเป็นยุคสมัย และเป็นสังคมแบบไหนที่ปล่อยให้มีคำถามเช่นนี้ออกอากาศได้ คือเมื่อบริตนีย์ถูกถามว่า “เธอเคยมีเซ็กซ์แล้วหรือยัง” และบริตนีย์ตอบกลับไปอย่างไม่เต็มใจ และมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “ยังค่ะ ฉันตั้งใจจะมีเซ็กซ์เมื่อแต่งงานแล้ว” (จนเมื่อหนังออกฉาย ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ในรายการโทรทัศน์ของอเมริกาหลายต่อหลายรายการ ว่าอะไรทำให้คนเราย่ามใจถึงขนาดกล้าถามคำถามคุกคาม และไร้มารยาทเช่นนั้นต่อคนที่ไม่รู้จักได้)

ตลอดจนการคบกับ จัสติน ทิมเบอร์เลก ศิลปินดังฝ่ายชาย ยิ่งทำให้ชีวิตของทั้งคู่ตกอยู่ในการจับตาของสื่อมวลชน และหนักหนากว่านั้นที่เมื่อเลิกรากันแล้ว ทิมเบอร์เลกให้สัมภาษณ์แบบคะนองปากกับสื่ออีกเจ้าว่าเขาได้ ‘แอ้ม’ เธอแล้ว (หลังจากสารคดีเรื่องนี้ออกฉาย เขาถูกรุมประณามอย่างรุนแรงจนต้องออกมาขอโทษบริตนีย์ และแฟนๆ ของเธอ) ลามไปจนฝั่งการเมืองที่ เคนเดล เอห์รลิช อดีตภรรยาของผู้ว่าฯ เมืองแมรีแลนด์ ที่กล่าวลอยๆ ว่า “หากมีโอกาสที่จะยิง บริตนีย์ สเปียร์ส ทิ้ง ฉันจะไม่ลังเลเลย” ซึ่งความเลือดเย็นคือ รายการโทรทัศน์เปิดคลิปเสียงของเอห์รลิชให้บริตนีย์ฟังกลางรายการจนเธอหลั่งน้ำตา

จากนั้นมา สื่อมวลชนและปาปารัสซีก็ตามติดชีวิตบริตนีย์แบบที่ไม่ให้เธอพักหายใจ เนื่องจากทุกรูปที่ถูกถ่ายนั้น ขายได้ราวๆ หนึ่งล้านเหรียญฯ หรืออาจจะมากกว่านั้น บริตนีย์จึงไม่มีเขตแดนความเป็นส่วนตัว แม้กระทั่งพักผ่อนในบ้าน กล้องพร้อมเลนส์ขนาดยาวเท่าศอกก็ยังเจาะผ่านหน้าต่างไปจนเห็นเธอด้านใน จนเกือบจะพูดได้ว่าทุกแง่มุมในชีวิต ทั้งหน้าเวทีและหลังเวทีถูกนำมากางแผ่จนแทบไม่มีที่หายใจ โดยเฉพาะเมื่อเธอแต่งงานครั้งแรกแล้วหย่าภายในเวลา 55 ชั่วโมง ตามมาด้วยการแต่งงานอีกครั้งในปีเดียวกัน ชื่อของเธอไม่เคยห่างหายไปจากหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ หรือกระทั่งเมื่อเธอถูกประณามว่าเป็นแม่ที่แย่เพราะขับรถแล้วเอาลูกนั่งตัก หรือแค่ออกไปเที่ยวกับเพื่อน (ซึ่งเลวร้ายมากเพราะมันไปขีดกรอบ ‘ความเป็นแม่ที่ดี’ ของผู้หญิง) ตามมาด้วยความตึงเครียดสุดขีดที่ทำให้เธอตัดสินใจโกนผมตัวเองต่อหน้าปาปารัสซีนับสิบเมื่อปี 2007 และกลายเป็นภาพที่สะท้อนให้เราเห็นว่า ชีวิตใครคนหนึ่งนั้นถูกทำให้ย่อยยับโดยสื่อมวลชนมากแค่ไหน

ช่วงเวลาแห่งความพินาศเหล่านี้ บริตนีย์ถูกนำตัวไปรักษายังศูนย์การแพทย์เพื่อบำบัดอาการเครียดและเสพติด ศาลมีคำสั่งให้บริตนีย์อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ เจมี สเปียรส์ พ่อแท้ๆ ของเธอกับทนาย โดยทั้งสองคนมีอำนาจในการควบคุมดูแลทรัพย์สินของบริตนีย์ และนับตั้งแต่วันนั้นเรื่อยมาจนอีกสิบปี บริตนีย์ก็ไม่มีโอกาสได้ควบคุมจัดการชีวิตอีกเลย เป็นชนวนเหตุอันทำให้แฟนๆ ของป็อปสตาร์ลุกขึ้นเรียกร้องในนาม #FreeBritney เมื่อบริตนีย์ให้การผ่านทนายความส่วนตัวของเธอว่า ‘หวาดกลัวพ่อตัวเอง’ (แม้ว่าทนายฝั่งเจมส์ก็ออกมาโต้กลับเช่นกันว่า “ความรักที่เขามีให้ลูกสาวตลอดจนการอุทิศตนเพื่อปกป้องเธอนั้นเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดอยู่แล้ว”)

และแฟนๆ ตั้งข้อสังเกตว่า บริตนีย์อาจกำลัง ‘ส่งสัญญาณ’ อย่างลับๆ เพื่อขอความช่วยเหลือจากพวกเขา เป็นต้นว่า เธอโพสต์รูปดอกไม้ พร้อมแคปชั่นจากนิยายของ อรุณธตี รอย เรื่อง The God of Small Things ที่เล่าถึงฝาแฝดที่ชีวิตถูกทำลายอย่างย่อยยับ ภายใต้ความสัมพันธ์และเงื่อนไขของความรักกับความเป็นครอบครัว หรือเมื่อล่าสุดที่เธอสมัครแอคเคานต์ TikTok และมีแฟนเพลงคอมเมนต์ไว้ใต้คลิปว่า “หากต้องการความช่วยเหลือ คลิปหน้าให้สวมชุดสีเหลืองมานะบริตนีย์” ซึ่งปรากฏว่าคลิปถัดมาเธอสวมเสื้อสีเหลืองจริงๆ ทำให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพของบริตนีย์ยิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีก ขณะที่เจมส์ พ่อของศิลปินสาวนั้นกล่าวถึงคนกลุ่มนี้ว่า ‘เป็นพวกคลั่งทฤษฎีสมคบคิด’ ขณะที่ทนายของบริตนีย์ออกมาสวนว่า สำหรับบริตนีย์แล้ว การเคลื่อนไหวของแฟนๆ ในประเด็นนี้นั้นห่างไกลจากการเป็นแค่ทฤษฎีสมคบคิดอย่างมาก “บริตนีย์ดีใจและขอบคุณทุกคนนะ ที่สนับสนุนเธอกันขนาดนี้”

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ไม่มีแม้สักประเด็นเดียวที่หลุดรอดออกจากการพาดหัวของแท็บลอยด์หรือสื่อต่างๆ รายการโทรทัศน์ช่องใหญ่ๆ พากันเอาชะตากรรมของบริตนีย์ขึ้นมาวิเคราะห์เป็นฉากๆ ว่า อะไรทำให้เธอ ‘หลุด’ ไปได้ถึงขนาดนั้น เธอเป็นแม่ที่ดีจริงไหม เคยเป็นคนอ่อนโยนจริงๆ หรือเปล่า ข้ามไปถึงขั้นถากถาง และเยาะเย้ยชีวิตเธอด้วยความคะนองปากบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์กับ แมตต์ เลาเออร์ ที่พูดถึงเรื่องทางเพศและคุกคามเธอออกสื่อหน้าตาเฉย, ไดแอน ซอว์เยอร์ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมือนลากบริตนีย์มาถากถางตลอดสี่สิบนาที จนฝ่ายหลังร้องไห้ออกอากาศ หรือการที่มีปาปารัสซีหลายสิบชีวิต คอยตะครุบกระโปรงรถเพื่อถ่ายภาพ นำมาสู่คำถามว่าอะไรทำให้สื่อ ‘ย่ามใจ’ ละเมิดเธอได้ขนาดนี้

“เราขอโทษนะ บริตนีย์ เราสมควรต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับ บริตนีย์ สเปียร์ส ไม่ว่าเราจะเป็นต้นเหตุในการทำให้เธอตกต่ำหรือไม่ก็ตาม” นิตยสาร Glamour เขียนแคปชันในอินสตาแกรมใต้ภาพของบริตนีย์ และนี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของสื่ออเมริกันภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางความคิดและความเชื่อ สิ่งที่สื่อมวลชนทำกับบริตนีย์เมื่อยี่สิบปีก่อน หลายกรณีอาจหมายถึงการคุกคาม และสมควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา นับตั้งแต่การตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์เรื่องเชิงชู้สาว หรือกระทั่งความเป็นแม่ของเธอก็ตาม บทความของ Glamour เขียนว่า “เราต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะขณะที่เราสำรวจหาต้นเหตุความล่มสลายของบริตนีย์ เราก็พบว่าคำตอบนั้นคือเราเอง สิบปีเต็มกับภาพจากปาปารัสซี การสัมภาษณ์อันหยาบช้า กระทั่งตัวสารคดีเรื่องนี้เอง ถือกำเนิดขึ้นมาจากความกระหายของสื่อสาธารณะโดยแท้จริง”

คำถามคืออะไรที่ทำให้สื่อมวลชนในยุคนั้น กล้าทำกับบริตนีย์ในลักษณะที่ไม่เกิดขึ้นกับป็อปสตาร์หญิงคนอื่นๆ เป็นไปได้ว่าเพราะเส้นทางการโด่งดังของบริตนีย์นั้นชวนให้สื่อมวลชนรู้สึกว่าพวกเขารุมเธอได้ ทั้งสถานะอดีตพิธีกรเด็กจากดิสนีย์ หรืออัลบั้มแรกที่มีภาพลักษณ์เป็นเด็กสาวไม่ประสา ตลอดจนบุคลิกอ่อนน้อมของเธอที่ปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ในโทรทัศน์ แม้กระทั่งเมื่อเจอคำถามที่ไม่อยากตอบ บริตนีย์จะพยายามประนีประนอมสถานการณ์นั้นอย่างสุดความสามารถทุกครั้ง (แม้ในวันที่ถูกถามว่า “เคยมีเซ็กซ์แล้วหรือยัง” ออกสื่อก็ตามที เธอยังอุตส่าห์ตอบคำถามทั้งยังบอกว่า “ขอบคุณสำหรับคำถามนะคะ”) เธอจึงดำรงตำแหน่ง ‘หวานใจชาวอเมริกัน’ (America’s Sweetheart) มาเนิ่นนานโดยไม่เปิดฉากโต้กลับหรือทุ่มเถียง บริตนีย์จึงกลายเป็นเหยื่อของสื่อ โดยเฉพาะแท็บลอยด์อย่างสมบูรณ์แบบ

บริตนีย์อาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและบาดเจ็บจากสื่อเหล่านี้อย่างชัดเจนที่สุด น่าเศร้าที่ไม่ได้มีแค่เธอเท่านั้นที่ต้องเผชิญ ป็อปสตาร์ถัดจากเธอ ไม่ว่าจะเป็น จัสติน บีเบอร์, เทย์เลอร์ สวิฟต์, เซเลนา โกเมซ หรือใครก็ตามที่มีเส้นทางการเติบโตใกล้เคียงกับเธอ ที่เริ่มต้นอาชีพในอุตสาหกรรมนี้ตอนที่อายุยังไม่เยอะมากนัก มีภาพลักษณ์เยาว์วัยอ่อนต่อโลก และเมื่อเริ่มเติบโตขึ้น อันหมายถึงเมื่อพวกเขาพวกเธอบรรลุนิติภาวะเป็นผู้ใหญ่ เริ่มใช้ชีวิตของตัวเอง ทั้งปาร์ตี้ ออกเดตหรือสร้างครอบครัว ก็จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะ ‘พลั้งพลาด’ อะไรไหม มีพฤติกรรมอะไรที่จะหลุดออกไปจากธรรมเนียมหวานใจชาวอเมริกันที่ต้องหัวอ่อน เป็นที่รัก และพินอบพิเทาทุกคนเสมอหรือเปล่า ด้านหนึ่ง สารคดีเรื่องนี้จึงชวนตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมคนดังที่สื่อมวลชนพากันสร้าง และหลอมรวมมานับทศวรรษ ตลอดจนอคติทางเพศ การละเมิดความเป็นส่วนตัวอีกหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งการสร้างวัฒนธรรมเสพรูปปาปารัสซีที่เติบใหญ่ในอเมริกา

ไม่เกินไปเลย หากเราจะสรุปภาพรวมว่า ชะตากรรมของ บริตนีย์ สเปียร์ส คือผลลัพธ์จากการกระชากทำลายของสื่อ นับตั้งแต่วันแรกที่เธอปรากฏตัวในอุตสาหกรรมดนตรี เธอถูกจับจ้องในฐานะนักร้อง ในฐานะคนดัง ในฐานะแม่ แต่แทบไม่มีครั้งไหนเลย ที่เธอจะถูกจับจ้องในฐานะมนุษย์ที่สมควรได้รับการปฏิบัติ เห็นอกเห็นใจเท่าเทียมกันกับคนอื่นๆ จนเมื่อถึงจุดหนึ่งของความเปราะบาง เธอก็แตกสลาย และกว่าจะหวนกลับมาคืนบัลลังก์อีกครั้งนั้นก็กินเวลาอยู่พักใหญ่ เธออาจจะถูกทำลายแต่เธอไม่เคยพ่ายแพ้ มากไปกว่านั้น เรี่องราวของเธอในสารคดี Framing Britney Spears ยังกระตุ้นให้สื่อหัวใหญ่ๆ ในอเมริกาตื่นตัวถึงบทบาทและความรุนแรงอันมีต้นธารจากสื่อ ไม่ว่าพวกเขาจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม และอาจเป็นหมุดหมายอันดีในการตระหนักถึงบทบาท และความรับผิดชอบของสื่อมวลชนในศตวรรษที่ 21 นี้

 

 

ที่มาภาพ

https://medium.com/mancing-belanak-enak/official-hd-framing-britney-spears-2021-free-movies-3fb8f4560916

Tags: ,