ในช่วงหนึ่งของชีวิต เราน่าจะเคยได้เจอเพื่อนที่แสนเป็นมิตร เพื่อนที่เป็นที่นิยมของคนรอบข้างโดยไม่ต้องพยายาม เพื่อนที่อยากเป็นที่รักของทุกคน ไปจนถึงเพื่อนที่ดูไม่อยากยุ่งเกี่ยวอะไรกับใครและไม่อยากให้ใครมายุ่งเกี่ยวด้วย ชีวิตของพวกเราทาบทับกันสั้นๆ และอาจต้องแยกย้ายจากกันไปเมื่อเติบโต หรือกับบางคนอาจกลายเป็นมิตรภาพยั่งยืนถาวร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวของพวกเขาได้เข้ามากระทบชีวิตเรา เช่นเดียวกับที่ชีวิตเราเข้าไปกระทบพวกเขา ฝากฝังร่องรอยไว้เนิ่นนานและอาจตลอดกาลสำหรับบางคน
Blue Again (2022) ภาพยนตร์เรื่องแรกของ ฐาปณี หลูสุวรรณ ซึ่งได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 27 บอกเล่าเรื่องราวของ เอ (ตะวัน จริยาพรรุ่ง) เด็กสาวลูกครึ่งตะวันตก-สกลนคร ที่หวังปลุกชีวิตธุรกิจย้อมผ้าครามที่บ้านเกิดของตัวเอง จึงเข้ามาเรียนออกแบบในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ โดยต้องต่อสู้ดิ้นรนเรื่องค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นหนึ่งในภาระหลัก เพื่อนคนเดียวที่เอมีในคณะคือ แพร (อสมาภรณ์ สมัครพันธ์) เพื่อนสาวร่างเล็กที่ดูอยากเป็นเพื่อนกับทุกคน
เส้นทางการเรียนของเอไม่ง่าย ปัญหาค่าใช้จ่ายทำให้เธอต้องดิ้นรนทำคะแนนให้ได้ดีเพื่อชิงทุนเรียนฟรี มิหนำซ้ำเมื่อเธอกลับไปยังบ้านเกิด ธุรกิจย้อมผ้าครามที่บ้านก็ดูไปได้ไม่สวยนักเมื่ออากาศหนาวเสียจนต้นครามตายและย้อมผ้าไม่ติด แม่ของเธอก็ดูโหยหาการได้ออกไปใช้ชีวิตยังที่แห่งใหม่ที่ไม่มีใครดูถูกเธออีกต่อไปว่าเป็นเมียฝรั่ง คนเดียวที่พอจะช่วยปลอบใจเธอได้บ้างคือ สุเมธ (ศรัณย์เมศ รัตนพงษ์) เพื่อนหนุ่มที่เติบโตในครอบครัวคาธอลิกแต่สนใจการสำรวจศาสนาอื่น
ความที่หนังมีความยาวเต็มร่วมสามชั่วโมง แม้ไม่มีช่วงให้เกิดความน่าเบื่อแต่ก็มีหลายครั้งที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงภาวะ ‘อยากเก็บทุกเรื่องราวเอาไว้’ ของผู้กำกับ เพราะดูราวกับว่าหลายฉากที่ตัวละครปรากฏตัวร่วมกันหรือสนทนากันในหนังนั้น เพียงเพราะผู้กำกับไม่อยากตัดออก หรืออยากเก็บไว้ราวกับเป็นบทบันทึกส่วนตัวที่หวงแหน และยังผลให้เส้นเรื่องกระจัดกระจายระหว่างทางอย่างน่าเสียดาย คล้ายว่าหนังสร้างเงื่อนปมบางอย่างให้ตัวละครเหล่านั้นแล้วปล่อยค้างคาไว้ซึ่งก็ไม่แน่ใจได้ว่าเป็นความจงใจหรือไม่ หรือตัวละครเหล่านั้นถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อปรากฏตัวในชีวิตของเอแล้วจากหายไปราวกับเป็นความสัมพันธ์ระยะสั้นแบบหนึ่งซึ่งพวกเราล้วนเคยต้องเผชิญ จนน่าเสียดายที่หนังให้เวลาและพื้นที่ไปกับเรื่องราวของตัวละครที่ค้างเติ่งเช่นนี้แทนที่จะไปให้กับเส้นเรื่องความสัมพันธ์ของเอกับตัวละครรอบตัวอันจะส่งผลต่อชีวิตและทัศนคติของเธอในภายหลัง
มากไปกว่านั้น หนังยังเลือกดำเนินเรื่องด้วยการให้ตัวละครพูดไดอะล็อกต่อกันยาวเหยียดจนน่าเสียดายว่าหากหนังเลือกเล่าด้วยงานภาพหรือฉากแต่ละฉากมากกว่านี้ หนังอาจไม่ดูแข็งทื่อมากนัก แม้ว่าจะมีบางฉากที่ได้ความพลิ้วของตัวนักแสดงช่วยเอาตัวรอดไปได้ก็ตามที ซึ่งทั้งหมดนี้ชวนให้กลับมาตั้งคำถามเดิมที่ว่า ความที่หนังมีท่าทีราวกับเป็นบันทึกส่วนตัวของผู้กำกับ เป็นไปได้หรือไม่ว่าบทสนทนายิบย่อยเหล่านี้คือหนึ่งในบทสนทนาที่เคยเกิดขึ้นและเจ้าตัวก็ไม่ปรารถนาจะตัดออก
หากแต่จุดแข็งของหนังที่ยังตราตรึงอยู่ในหัวใจแม้ดูหนังจบไปแล้วหลายวัน คือการถ่ายทอดเรื่องมิตรภาพได้อย่างเปี่ยมหัวใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของคนต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาใช้ชีวิตตัวคนเดียวในกรุงเทพฯ หนังไม่ได้เล่าว่าเอเป็นคนเปิ่นเป้อ บ้านนอกเข้ากรุงเหมือนละครหลังข่าว แต่เธอมีความผิดที่ผิดทางแบบเดียวกับที่คนเพิ่งหัดมาอยู่เมืองใหญ่ใหม่ๆ เป็น เธอไม่รู้ว่าทำไมรถจึงติดยาวนาน เข้ากับคนอื่นไม่ค่อยได้เพราะไม่ได้โตมาในแวดล้อมแบบเดียวกัน (ความ ‘เข้ากันได้’ นี้สะท้อนผ่านบทสนทนาระหว่างเอกับเพื่อนสาวลูกครึ่ง ซึ่งฝ่ายหลังบอกว่า เธอเข้ากับเพื่อนสาวอีกคนได้ดีเพราะ ‘คุยแบบเดียวกัน’)
คนเดียวที่ดูจะคุยกับเอได้คือสุเมธ เพื่อนชายที่ใช้ชีวิตในสกลนคร เขาก็เป็นเช่นเดียวกับเอคือฟังภาษาอีสานสำเนียงสกลนครเข้าใจ แต่พูดภาษากลาง คนทั้งสองจึงมีลักษณะเป็นอื่นจากชาวบ้านเป็นชั้นแรก และชั้นที่สองคือการที่เอเป็นลูกครึ่งทำให้หน้าตาเธอต่างจากคนอื่น ขณะที่สุเมธเองรู้สึกว่าเขาไม่เหมือนใครในบ้านที่นับถือคาธอลิกเพราะเขาหันเหไปสนใจศาสนาพุทธ ตัวละครทั้งสองจึงเชื่อมโยงกันผ่านความเปลี่ยวเหงาและเป็นอื่นในแบบที่คนอื่นรอบตัวอาจไม่รู้สึก
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ Blue Again งดงามมากขนาดนี้คือการเขียนตัวละครให้มีเลือดมีเนื้อ มีจิตวิญญาณ ตลอดทั้งเรื่อง คนดูน่าจะพบได้ตั้งแต่แรกๆ ว่าเอไม่ได้เป็นคนน่ารักนัก เธอเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ นับตั้งแต่ที่เพื่อนสาวลูกครึ่งตั้งข้อสังเกตว่าเอไม่ค่อยเข้าหาเพื่อนสนิทของเธอซึ่งเป็นคนเก่งของคณะตั้งแต่อยู่ปีหนึ่ง ซึ่งก็ดูเป็นเจตนาของเอเองในการจะเข้าหาหรือไม่เข้าหาใคร มีบุคลิกแบบคนที่มองคนอื่นเป็นขั้วตรงข้ามหรือเป็นศัตรูกลายๆ หรือการที่เธอไหว้วานให้เพื่อนสาวมาช่วยถ่ายแบบงานผ้าให้ และแม้อีกฝ่ายจะยืนกรานว่าแพ้กำไลโลหะ แต่เอก็ยืนยันให้เธอสวมเพื่อถ่ายงานไปก่อนจนเนื้อตัวแดงเป็นจ้ำ เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างเอกับแพร -ซึ่งดูจะเป็นเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวในคณะ- มันก็เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกถ่ายทอดด้วยสายตาชวนตั้งคำถามตลอดเวลา เพราะดูราวกับแพรเป็นเพียงคนเดียวที่ ‘วิ่งตาม’ ความสัมพันธ์นี้อยู่ เธอคือคนที่ช่วยเอทำงาน ออกแบบโลโก้ร้านค้า หรือแม้กระทั่งมองเอด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจเมื่ออีกฝ่ายดูเข้ากับเพื่อนร่วมคณะไม่ได้นัก
เราอาจจะมีเพื่อนแบบแพรในชีวิต -หรือเราอาจจะเคยเป็นคนอย่างแพรเสียเอง- คนที่อยากมีเพื่อน อยากมีคนรักเยอะๆ อยากเข้ากลุ่มกับใครสักคนเพื่อสร้างความทรงจำบางอย่างร่วมกัน และเมื่อเธอมาอยู่กับเอผู้ทำท่าราวกับเป็นปฏิปักษ์ต่อคนทั้งคณะ แพรจึงแทบไม่อาจเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในชนกลุ่มมากได้ เอไม่อยากไปออกทริปเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ต่างจังหวัดด้วยเหตุผลว่าเป็นทริปรักษ์โลกจอมปลอม ขณะที่แพรอยากไปด้วยเพราะเธออยากสานสัมพันธ์กับคนอื่นบ้าง ฝันร้ายของแพรคือการที่เธอต้องกลายเป็น ‘ตัวละครลับ’ ไม่มีใครมองเห็นตลอดกาล เป็นแบบนั้นแล้วอาจเป็นเอที่แม้ถูกต่อต้านแต่ก็มีคนมองเห็นยังจะดีเสียกว่า และความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็สั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเรื่องราวเดินทางมาถึงจุดแตกหัก
พร้อมกันนี้ หนังไม่ได้ถ่ายทอดว่ากลุ่มเพื่อนในคณะที่เอไปทะเลาะด้วยนั้นเป็นคนเลวร้าย พวกเขาเป็นคนที่ได้รับความนิยมโดยธรรมชาติ (หรือพูดอีกอย่างคือ ‘ไปไหนแสงก็ลง’) รุ่มรวยอารมณ์ขัน เป็นที่รักและหลายคนก็อาจจะมีความสามารถที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาห้อมล้อมเพื่อขอความช่วยเหลือ มองในมุมกลับ คนเหล่านี้ล้วนต้องอดทนความเอาแต่ใจของเอที่ต้องหาทางจัดการต้นครามและอากาศเย็นเยือกที่ไม่เป็นใจแม้สักนิด หนังจึงหาจุดสมดุลย์ของการทำให้ตัวละคร ‘ไม่เป็น’ ที่รักแต่ก็ไม่ได้เป็นที่เกลียดได้อย่างลงตัว อันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากว่าผู้กำกับไม่เข้าใจตัวละครและความเป็นมนุษย์มากพอ
ตัวละครหนึ่งที่หลายคนน่าจะรักมากคือ กัน เพื่อนที่ปรากฏตัวอยู่ในชั้นเรียนและวางตัวเหินห่างคนอื่นเสมอ และอีกเช่นกันที่เราอาจมีคนแบบนี้ในชีวิต คนที่ไม่ได้ใกล้ใครจนเกินไป ไม่มีเรื่องให้รักแต่ก็ไม่มีเรื่องให้ต้องเกลียดเขา การอยู่ลำพังตัวคนเดียวคือพื้นที่ปลอดภัยที่สุดของคนประเภทนี้ ยืนหยัดได้ด้วยตัวเองโดยไม่เรียกร้องความสนใจจากใคร -แม้กระทั่งในวันที่เอโดดเดี่ยว เขาอาจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเธอ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาสนิทสนมกันหรือเธอได้เข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของเขาแต่อย่างใด
Blue Again จึงเป็นหนังที่เล่าถึงมนุษย์ได้อย่างงดงามและมีชีวิต มันคือการสำรวจรูปแบบความสัมพันธ์ของผู้คนหลากใบหน้าที่เราเคยเผชิญ เราอาจเป็นเอในสายตาของคนอื่น เท่ากับที่เป็นแพรในสายตาของอีกคน หรือตัวละครในนี้อาจชวนเรานึกถึงใบหน้าเลือนรางของคนที่เราเคยรู้จักเมื่อนานมาแล้ว คนที่เป็นสุเมธ เป็นแพร เป็นเอหรือเป็นกันของเรา ผู้ห่างหายไปจากชีวิตเนิ่นนาน หรือกับบางกรณี -ก็อาจยังประคองความสัมพันธ์กันไว้ได้ในชีวิต
Tags: #ScreenandSound, BlueAgain, ฐาปณีหลูสุวรรณ, BusanInternationalFilm