***บทความมีส่วนเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง Barbarian (2022) 

ไม่แปลกเลยที่ไม่กี่วันหลังหนังออกฉายทางสตรีมมิ่ง จะมีคนออกแบบโปสเตอร์ให้หนังเฮอร์เรอร์เรื่อง Barbarian (2022) เสียใหม่ให้กลายเป็นหนังหวานแหวว เพราะยี่สิบนาทีแรกของเรื่องนั้นปูมาราวกับเป็นหนังโรแมนติก-คอเมดีที่ว่าด้วยหญิงสาวกับชายหนุ่มแปลกหน้าจำเป็นต้องอาศัยอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน… แต่หลังจากนั้นหนังก็เดินหน้าตะลุยสู่การเป็นหนังเขย่าขวัญตรงตามชื่อเรื่อง Barbarian หรือความป่าเถื่อนแบบให้ต้องมาครุ่นคิดว่าครึ่งแรกของเรื่องนี่มันฝันไปหรือยังไงกันนะ

เทสส์ (จอร์จีนา แคมป์เบลล์) หญิงสาวที่ออกเดินทางมายังดีทรอยต์เพื่อเตรียมสัมภาษณ์งาน เธอจองเช่าบ้านผ่านระบบออนไลน์ทั้งยังจ่ายเงินไปแล้ว แต่มาถึงวันจริง เธอกลับพบว่าบ้านเช่าเจ้านั้นมีคนอยู่แล้ว คีธ (บิลล์ สการ์สการ์ด) หนุ่มหน้าตาดีที่ยืนยันว่าเขาจองบ้านหลังนี้ผ่านระบบออนไลน์เหมือนกัน ทั้งสองจึงเดากันว่าระบบคงขัดข้องหรืออะไรสักอย่างทำให้เกิดการจองซ้อนกันขึ้น ความที่ข้างนอกมืดมิดทั้งฝนยังตกหนัก คีธจึงเชื้อเชิญให้เทสส์นอนค้างที่บ้านในห้องนอน และอาสาซักผ้าปูที่นอนให้ใหม่ เชื้อเชิญให้เทสส์ดื่มไวน์เป็นเพื่อนกันกลางดึก แน่นอนว่าแรกเริ่มนั้นเทสส์ระแวดระวังตัวอย่างมาก ก่อนจะค่อยๆ ผ่อนคลายขึ้นเมื่อเห็นว่าแท้จริงแล้วคีธก็ดูไม่มีพิษมีภัยอะไร ความสัมพันธ์ฉันมิตรของทั้งสองจึงเกิดขึ้นภายในข้ามคืนนั้นเอง

เมื่อเทสส์ตื่นมาตอนเช้า เธอกลับพบว่าคีธออกจากบ้านเพื่อไปทำงานแล้ว หากแต่เมื่อเธอออกไปพ้นนอกรั้วบ้านเพื่อเตรียมตัวไปสัมภาษณ์งาน เทสส์จึงได้เห็นว่าบริเวณโดยรอบ (ซึ่งเธอไม่ทันสังเกตเมื่อคืนเนื่องจากความมืด) เต็มไปด้วยความสกปรก บ้านข้างๆ เธอร้างไร้คนอยู่ ทั้งยังไม่มีวี่แววว่าในรัศมีหลายสิบเมตรถัดจากนี้จะมีสิ่งมีชีวิตใดอาศัยอยู่แม้แต่นิด

สิ่งหนึ่งที่หนังคิดถูกและน่าจะผ่านการคำนวณมาแล้วอย่างดี คือการแคสต์เอาบิลล์ สการ์สการ์ด นักแสดงหนุ่มชาวสวีเดนผู้มักไปปรากฏตัวในหนังเฮอร์เรอร์อยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นภาพจำ ไม่ว่าจะเป็นตัวตลกชวนขนหัวลุกจาก It (2017), ชายหนุ่มปริศนาจากซีรีส์ Castle Rock (2018–2019) ดังนั้นการปรากฏตัวของเขาในบท ‘หนุ่มหล่อแสนธรรมดาในหน้าหนังเฮอร์เรอร์’ จึงสร้างบรรยากาศไม่ไว้วางใจให้แก่คนดูโดยง่าย และเป็นหนึ่งในกับดักของหนังที่ทำให้คนระแวดระวังว่าคีธคือคนร้าย ผ่านบทสนทนาเมื่อเขาถามเทสส์เรื่องส่วนตัว การเชื้อเชิญให้เธอดื่มไวน์เป็นเพื่อน เสียงละเมอกลางดึก หรือประเด็นที่ว่าเขาอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้มาก่อนเธอทั้งที่โดยรอบนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศชวนสะพรึง ซึ่งหากเป็นนักแสดงคนอื่นที่ไม่มีภาพจำของความเป็น ‘ชายหนุ่มผู้ชอบปรากฎตัวในบทเฮอร์เรอร์’ แบบสการ์สการ์ด ความหวาดระแวงก็อาจไม่เข้มข้นเท่านี้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม เทสส์สำรวจบ้านเช่าหลังน้อยและพบว่ามีห้องลึกลับอยู่ใต้ดิน ทั้งยังมีห้องที่เห็นแล้วชวนสยองทั้งเตียงเขรอะๆ, กล้องวิดีโอและรอยเลือดกรังบนผนัง ซึ่งหากนี่ยังฟังดูไม่หนักหนาพอ เธอยังพบว่ามีประตูลับทะลวงไปยังคุกใต้ดินที่สร้างไว้ราวกับเป็นอาณาจักรอีกแห่ง! และนี่เองที่หนังสลัดคราบกลิ่นอายความเป็นรอมคอมทิ้งหมดสิ้น และเดินหน้าเข้าสู่อีกเส้นเรื่องหนึ่ง เอเจ (จัสติน ลอง) นักแสดงหนุ่มที่ข่าวว่าเขาคุกคามทางเพศเพื่อนนักแสดงด้วยกันกำลังจะทำให้เขาชวดงาน มิหนำซ้ำเขายังต้องหาเงินก้อนใหญ่ให้เร็วที่สุดเพื่อมาดำรงชีวิต ทางออกเดียวที่เขาคิดได้คือการขายบ้านที่ปล่อยให้เช่าในดีทรอยต์ -หรือก็คือบ้านที่เทสส์กับคีธจองไว้- ชายหนุ่มจึงมุ่งหน้าไปสำรวจสภาพบ้านของตัวเอง เพื่อจะพบทางเดินลับไปยังคุกใต้ดิน และการปรากฏตัวของ ‘The Mother’ อันชวนขนลุกขนพอง!

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เมื่อหนังผลัดเปลี่ยนเส้นเรื่องจากเรื่องราวของคีธกับเทสส์ มาสู่เส้นเรื่องของเอเจ ก็ดูราวกับมันหาตรรกะใดมายันเส้นเรื่องไม่ได้เลย ประหนึ่งว่า แซค เคร็กเกอร์ ผู้กำกับอยากทำหนังเฮอร์เรอร์ที่มีตัวประหลาดสักเรื่องและคิดหาเหตุผลมาอุดรูรั่วไม่ได้ แทนที่ Barbarian จะเป็นหนังที่วิพากษ์สังคมแสนอันตรายที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ มันก็กลายเป็นหนังเฮอร์เรอร์สัตว์ประหลาดที่มีดาษดื่นทัวไปอย่างชวนเศร้า โดยในคุกใต้ดินที่สร้างขึ้นราวกับเป็นรังลับนั้นมี ‘The Mother’ สิ่งมีชีวิตแสนประหลาดที่สังหารมนุษย์และก็จับมนุษย์เพื่อไปเลี้ยงดูด้วยเหมือนกัน (ดูเหมือนไม่มีเหตุผลว่าทำไมเธอจึงเลือกฆ่าบางคน และไม่ฆ่าบางคนเอามาเลี้ยงเป็นลูก) 

หนังตัดสลับไปยังอีกเส้นเรื่องหนึ่งในอดีต แฟรงค์ (ริชาร์ด เบรค) ชายเจ้าของบ้าน (ซึ่งในเวลาต่อมาตกเป็นของเอเจ) ตระเวนหาซื้ออุปกรณ์สำหรับการทำคลอดและเด็กอ่อนที่เขาบอกว่า ‘กำลังจะเกิด’ ก่อนที่หนังจะค่อยๆ เผยว่าเขาไม่มีครอบครัวที่ไหน และใช้เวลาไปกับการเฝ้ามองหญิงสาวในละแวกบ้านเพื่อจะลักพาตัวพวกเธอมา ‘ทำลูก’ ในห้องใต้ดินบ้านตัวเอง! มิหนำซ้ำยังวิปริตถึงขั้นเอาเด็กที่เกิดจากหญิงสาวเหล่านั้นมาทำเมียจนก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตพิกลพิการอย่าง ‘The Mother’ โดยตัวหนังยังชี้ให้เห็นว่า ตัวแฟรงค์นั้นหมกมุ่นอยู่กับการมีบุตร (แต่ไม่ได้อธิบายว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น) เขาเปิดวิดีโอคู่มือเลี้ยงดูบุตรเก่าแก่ที่คงเปิดวนไปมาร่วมสิบปี เป็นฟุตเตจหญิงสาวกำลังให้นมบุตร และน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่เด็กซึ่งเกิดขึ้นในคุกใต้ดินนี้ (หรือคือ ‘The Mother’) ได้ดู ‘The Mother’ จึงไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป ไม่เข้าสังคม ไม่สวมเสื้อผ้า และถูกปลูกฝังให้มีแค่เรื่องว่าต้องเลี้ยงลูกอย่างเดียว ยังผลให้เธอคอยลักพาตัวเหยื่อ (รวมทั้งเทสส์และเอเจ) มาดูแลเป็นลูกเสมอ

หนังตั้งท่าว่าจะเป็นหนังที่วิพากษ์ความอันตรายที่รายล้อมรอบตัวผู้หญิง นับตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องเมื่อเทสส์บอกคีธว่า หากมีผู้ชายมาเคาะประตูกลางดึกเช่นนี้ เป็นตายร้ายดีเธอคงไม่ให้เขาเข้ามาในบ้านอย่างที่คีธให้เธอเข้ามาเป็นแน่ ซึ่งประเด็นไม่ใช่เรื่องว่าคีธดูไม่น่าไว้ใจ แต่เป็นเพราะเขาเป็นผู้ชายและเธอเป็นผู้หญิง ซึ่งน่าเสียดายมากที่หนังไม่ได้นำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้นอย่าง หากว่าคืนนี้มีผู้ชายมาเคาะประตูบ้าน คีธ (ซึ่งก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน) จะเปิดประตูให้อีกฝ่ายเข้ามาหรือไม่ เพราะอันที่จริง บรรยากาศความไม่ไว้วางใจและกลัวอันตรายเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้หญิง หากแต่ก็เกิดขึ้นกับผู้ชายได้เช่นกันในสังคมที่ปราศจากความปลอดภัยเช่นนี้

และยิ่งเมื่อหนังดำเนินมาถึงเส้นเรื่องของเอเจ เราคงพบว่าเขาเป็นชายที่ไม่น่าเอาใจช่วย ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองมีส่วนผิดทั้งจากข่าวล่วงละเมิดทางเพศ หรือการโยนเทสส์ให้ไปตายซึ่งเห็นกันคาตา ตลอดจนตัวละครแฟรงค์ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นตัวละครที่เลวร้ายที่สุดในเรื่อง เมื่อเขาก่ออาชญากรรมต่อเหล่าหญิงสาวแปลกหน้าโดยไม่มีความแค้นเคืองต่อกัน หนังจึงพูดถึงสังคมอันตรายที่เราต่างอาศัยอยู่ ทุกคนล้วนมีสิทธิตกเป็นเหยื่อการคุกคามจากคนที่รู้จักหน้าค่าตากัน (เช่น เอเจที่คุกคามทางเพศเพื่อนร่วมงาน) หรืออาจจะเป็นเหยื่ออาชญากรรมของคนที่เราไม่อาจรู้จักหน้าเลยก็เป็นได้ (เช่น กรณีของแฟรงค์ที่สุ่มหาหญิงสาวแปลกหน้า) 

กระนั้น ความที่หนังยังขาดๆ เกินๆ และคิดมาไม่ครบ ทำให้องค์สุดท้ายของหนังเต็มไปด้วยปริศนาที่คิดไม่ตก เช่นเรื่องที่ว่า แฟรงค์และ ‘The Mother’ ใช้ชีวิตในคุกใต้ดินมาได้อย่างไรนานนับสิบปี ยิ่งกับกรณีของแฟรงค์ที่สภาพร่างกายอ่อนแอสุดขีดแล้วเขากินอยู่อย่างไร ยังไม่ต้องพูดถึง ‘The Mother’ ที่ไม่อยู่ในลักษณะหากินเองได้โดยลำพัง (แม้จะมีพยานยืนยันว่าเธอออกจากบ้านมาบ้างในช่วงกลางดึกก็ตาม) อะไรทำให้เธอกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งขนาดฉีกร่างคนได้ด้วยมือเปล่า รถชนก็ไม่ตาย หรือหล่นจากที่สูงแล้วยังมีชีวิตรอด! เพราะตามตรรกะแล้วหากเธอเป็นผลจากการสมสู่ในครอบครัว เธอควรจะมีร่างกายที่อ่อนแอหรือไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ ขณะที่ความสามารถด้านสติปัญญาก็อาจพออนุโลมได้ว่าโตมาในบรรยากาศที่มีแค่ฟุตเตจสอนแม่ให้นมลูกล้อมรอบอย่างเดียว  ‘The Mother’ คงไม่อาจพูดหรือสื่อสารแบบอื่นได้

และตัวละครของ ‘The Mother’ นี่เองที่ชวนให้ครุ่นคิดถึงวิธีที่หนังมองความเป็นหญิง หากหนังจะวิพากษ์สังคมที่ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิง (และอันที่จริงก็ทุกเพศ) ก็กลับไปย้ำหัวตะปูเรื่องบทบาทความเป็นแม่ที่ผูกมากับความเป็นหญิงอย่างไม่จำเป็นผ่านตัวละคร ‘The Mother’ และการขับเน้นเรื่องสัญชาติญาณความเป็นแม่ของเธอ แน่นอนว่าเราไม่อาจบอกได้ว่าเธอมีสัญชาติญาณนั้นจริงหรือแค่เพราะโตมากับวิดีโอแม่ให้นมบุตร (หรืออาจจะทั้งสองอย่าง) แต่การดำรงอยู่และบทบาทของตัวละครนี้ก็ทำให้ทิศทางของหนังซึ่งพูดประเด็นอันตรายในสังคมและโลกที่ผู้หญิงต้องเผชิญ เป๋ไปอย่างน่าเสียดายในท้ายที่สุด

Tags: , , ,