ซีรีส์ ‘The Chair(2021)’ เรื่องราวของ คิม จียุน (Kim Ji-Yoon) หญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีวัยกลางคน ผู้ต้องเผชิญความยุ่งเหยิงหลังได้เลื่อนตำแน่งขึ้นเป็นหัวหน้าภาควิชาวรรณกรรมอังกฤษคนใหม่ของมหาวิทยาลัยเพมโบรค ได้รับคำชมล้นหลามจากการเสียดสีประเด็นละเอียดอ่อนในสังคมสหรัฐฯ หรือหยิบความแตกต่างระหว่างเจนเนอเรชันมายั่วล้อ รวมทั้งตีแพร่สารพัดปัญหาในแวดวงวิชาการอย่างตลกขบขันชนิดที่ใครเคยเจอจริงๆ คงขำไม่ออก  

The Chair (2021)

ด้านมิติตัวละครของคิมจียุนเองก็น่าสนใจ  เธอเป็นผู้หญิงยุคใหม่ที่มีแนวคิดก้าวหน้า และพยายามสร้างสมดุลในการเป็นแม่ การเป็นลูกสาว การเป็นหัวหน้าภาควิชา รวมถึงจัดการมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมงานที่กำลังก่อตัวเป็นความรัก

นอกจาก The Chair จะเป็นซีรีส์ดราม่าปนตลกร้าย การที่ตัวละครนำของเรื่องเป็นผู้หญิงเอเชีย ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามในวงการฮอลลีวูดที่ต้องการจะโละภาพจำแบบเดิมๆ ของนักแสดงหญิงเชื้อสายเอเชียทิ้งไป หลังถูกตีกรอบให้มีตัวตนอยู่ในฐานะความแฟนตาซีทางเพศหรือวัตถุทางเพศเสมอมา 

ประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงอย่างจริงจัง หลังเหตุกราดยิงร้านสปา 3 แห่งในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเอเชีย ทางผู้ต้องหาสารภาพว่าสาเหตุที่ทำลงไปเพราะมีปัญหาเสพติดการมีเซ็กซ์ ธุรกิจสปาเป็นสิ่งยั่วยุที่จำเป็นต้องกำจัด

คำสารภาพนี้ปลุกความเดือดดาลในหมู่คนเชื้อสายเอเชียให้ลุกฮือขึ้นมารณรงค์ผ่านแฮชแทก#StopAsianHate จากการถูกเหมารวมเกี่ยวกับเรื่องเพศ และกลายโจทย์ที่โลกภาพยนตร์ฮอลลีวูดต้องย้อนกลับมาทบทวนเรื่องนี้จริงจังว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตซ้ำความเชื่อนั้นต่อผู้หญิงเอเชียหรือไม่   

‘Yellow Peril’ แผลเก่าที่ถูกเปิด

ความเกลียดชังคนเอเชียฝังรากอยู่ในสังคมสหรัฐอเมริกามานาน ไม่ได้เพิ่งมาเกิดช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีคำว่า ‘Yellow Peril’ หรือ ‘ภัยเหลือง’ ถูกพูดถึงครั้งแรกในปี 1868 เพื่อใช้อธิบายความหวาดกลัวหรือดูแคลนคนเอเชีย หลังสหรัฐฯ อนุญาตให้ชาวจีนหลายหมื่นคนเข้ามาทำงานใช้แรงงานตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1850

ดร.เมลิสซา เมย์ บอร์จา (Melissa May Borja) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวัฒนธรรมอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน อธิบายว่า ผู้อพยพชาวยุโรปและชาวเอเชียเดินทางมาที่สหรัฐฯ เพื่อหวังจะยกระดับทางเศรษฐกิจทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น แต่ผู้อพยพชาวจีนถือเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่กว่า

“พวกเขาถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามทางเชื้อชาติต่อชาวอเมริกันผิวขาว พวกเขาถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจต่อแรงงานอิสระผิวขาว พวกเขาถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อโรค วาทศิลป์ต่อต้านจีนจำนวนมากอิงกับการวาดภาพคนจีนว่าสกปรกและเป็นพาหะนำโรคจากสัตว์ พวกเขายังถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามทางศาสนาและศีลธรรมในฐานะคนนอกศาสนาที่คุกคามคริสเตียนในอเมริกา” 

บอร์จาเสริมด้วยว่า ผู้หญิงจีนถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามรูปแบบหนึ่งในเรื่องเพศ “พวกเธอถูกมองว่าสำส่อนเหมือนโสเภณี”

ในปี 1875 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายห้ามรับผู้หญิงจีน ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบตะวันออกเข้ามาทำงานในประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ลามกและผิดศีลธรรม หรืออพยพเข้ามาเพื่อค้าประเวณี แนวคิดแบบเหมารวมเช่นนี้ผูกติดมากับการมีผู้หญิงชาวจีนบางส่วนเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมทางเพศราวช่วงกลางศตวรรษ 19 พวกเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งยังมีบันทึกไว้ด้วยว่าผู้หญิงจีนที่พยายามเข้าประเทศผ่านสถานีตรวจคนเข้าเมืองบริเวณเกาะแองเจิล อ่าวซานฟรานซิสโก ถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนอย่างป่าเถื่อน เลือกปฏิบัติ และก่อให้เกิดความอับอาย

เวลาผ่านไป การกีดกันและเหมารวมผู้หญิงเอเชียทำท่าว่าจะดีขึ้น แต่ความจริงแล้วแนวคิดเดิมที่ผู้ชายผิวขาวมีต่อผู้หญิงเอเชียยังคงถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งสงครามโลกครั้งที่สอง มาจนถึงสงครามเวียดนาม และสงครามฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ ก็ยิ่งตอกย้ำแนวคิดนี้ให้รุนแรงขึ้น

แนนซี หวัง หยวน (Nancy Wang Yuen) นักสังคมวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์ในภาพยนตร์ โทรทัศน์และสื่อสมัยใหม่ ให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้กับเว็บไซต์ TODAY ว่า การมีอยู่ของกองทัพอเมริกาในเอเชีย ตั้งแต่ญี่ปุ่น เวียดนาม ไปจนถึงฟิลิปปินส์ ส่งผลให้มีการยึดครองร่างกายของผู้หญิงเอเชียมากเท่ากับการยึดครองแผ่นดิน โดยบริเวณรอบๆ ฐานทัพทหารจะมี ‘เมืองค่าย’ (camp towns) ที่มีการขายบริการทางเพศจำนวนมาก แต่ด้วยอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างทหารอเมริกันและผู้ให้บริการทางเพศในเอเชีย พวกเธอจึงมักถูกโดนเอารัดเอาเปรียบ โดยตั้งอยู่บนฐานความคิดว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศไม่มีขอบเขตอย่างไรก็ได้กับผู้หญิงเอเชีย

‘ดอกบัว’ และ ‘พญามังกร’

เมื่อพูดถึงบทบาทของ ‘นักแสดงหญิงเอเชีย’ ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด สิ่งแรกที่คุณนึกออกคืออะไร?

โสเภณี,  ผู้หญิงเซ็กซี่ยั่วยวน, นางร้าย, หมอนวด, แม่บ้าน … ใช่ บทบาทของพวกเธอส่วนใหญ่มักวนเวียนอยู่แค่นั้น

ประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึง มีอิทธิพลอย่างมากต่อการนำเสนอภาพผู้หญิงเอเชียในโลกภาพยนตร์ฮอลลีวูด ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อตอบสนองแนวคิดของผู้ชายผิวขาว 

แอนนา เมย์ หว่อง (Anna May Wong) ถือเป็นนักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายจีนคนแรกที่ได้เล่นหนังฮอลลีวูด เธอแจ้งเกิดจากภาพยนตร์เงียบเรื่อง The Toll of the Sea (1922) แต่เรื่องที่ทำให้โด่งดังเป็นพลุแตกจนขึ้นแท่นไอคอนแฟชั่นแห่งยุคก็คือ The Thief of Baghdad (1924) 

แอนนา เมย์ หว่อง ในภาพยนตร์เรื่อง Piccadilly(1929)

แม้หว่องจะมีชื่อเสียง และมีความสามารถทางการแสดงอันน่าจดจำ แต่เธอก็เบื่อหน่ายกับฮอลลีวูดที่เสนอแต่บทบาทเดิมๆ ให้กับเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าไม่เป็นทาสสาวยั่วสวาท ก็มักจะเป็น ‘Dragon Lady’ หรือผู้หญิงเอเชียแนวร้ายๆ และผู้หญิงเอเชียลึกลับน่าค้นหา แต่ฆ่าคุณให้ตายได้ ในปี 1928 หว่องจึงตัดสินใจหันไปเป็นนักแสดงในยุโรป ด้วยความหวังว่าจะได้ออกจากกรอบที่ถูกตีไว้ แต่น่าเศร้าที่เธอก็ไม่อาจก้าวพ้นสิ่งที่เจอกับฮอลลีวูดได้มากนัก

หว่องเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารเมื่อปี 1933 ว่า “ฉันรู้สึกเบื่อมากกับบทที่ต้องเล่น ทำไมบนหน้าจอ คนจีนมักเป็นตัวร้ายของเรื่องเสมอ ฆาตกรโหดเหี้ยม  คนทรยศ หลอกลวง พวกเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น ด้วยอารยธรรมที่เก่าแก่กว่าตะวันตกหลายเท่า เรามีคุณธรรมของเราเอง เรามีจรรยาบรรณที่เข้มงวดของเรา มีเกียรติ ทำไมพวกเขาไม่แสดงสิ่งเหล่านี้บนหน้าจอ? ทำไมเราควรวางแผน ปล้น ฆ่าเสมอ? ฉันรู้สึกเบื่อหน่ายกับมันทั้งหมด”

ยุคของหว่องอาจผ่านมาเนิ่นนาน แต่เรายังเห็นฃผู้หญิงเอเชียถูกนำเสนอในสิ่งที่หว่องเคยเผชิญมาอยู่ไม่ขาด แถมสิ่งนั้นแพร่ขยายจากจอหนังมาสู่ตามท้องถนน  

หนึ่งในตัวอย่างเลวร้ายที่สุดก็คือภาพยนตร์เรื่อง Full Metal Jacket (1987) ของสแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ฉากผู้หญิงชาวเวียดนามเดินเข้าไปหาสองทหารชาวอเมริกันเพื่อเสนอขายบริการด้วยภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงว่า  “Me so horny … me love you long time.” (ฉันเ-ี่ยนมาก ฉันรักคุณมานานแล้ว) พลางลูบไล้ร่างกายของเธอไปด้วย พร้อมเสนอราคา 10 ดอลล่าห์สหรัฐฯ แล้วคุณจะได้ “everything” 

ฉากการเสนอขายบริการในภาพยนตร์เรื่อง Full Metal Jacket (1987)

ประโยค “Me so horny…me love you long time.” กลายเป็นที่จดจำและถูกนำมาใช้ในเชิงพูดคุกคามผู้หญิงเอเชียจนถึงปัจจุบัน แนนซี หวัง หยวน บอกว่าผู้หญิงเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทุกคนที่เธอรู้จัก เคยได้รับการเสนอซื้อบริการทางเพศจากผู้ชายตามท้องถนนที่มองหาความแปลกใหม่เหมือนในหนังเรื่อง Full Metal Jacket 

ประเด็นเรื่องบทบาทนักแสดงหญิงเอเชียในฮอลลีวูดถูกอธิบายเพิ่มเติมว่า มีการแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนคือ ‘นางพญามังกร’ (Dragon lady) และ ‘ดอกบัว’ (Lotus blossom) โดย เรเน่ ตาจิม่า-พีน่า (Renee Tajima-Peña) นักวิชาการชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Who Killed Vincent Chin? (1987) มองว่าตรงนี้มีส่วนทำให้เกิดภาวะไฮเปอร์เซ็กชวลต่อผู้หญิงเอเชีย เพราะเกิดขึ้นขนานกันไปกับเรื่องปรัมปรา และภาพจินตนาการที่คนขาวมีต่อคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ผู้ถูกมองว่าเป็นต้นแบบของชนกลุ่มน้อยหรือชาวต่างชาติตลอดกาล  ดอกบัวจึงเปรียบได้กับวัตถุทางเพศที่ยอมจำนนและปฏิบัติตาม ส่วนนางพญามังกรก็เป็นมารร้ายที่ชั่วช้าเลวทราม ยั่วยวนทางเพศ แต่ทั้งสองกรณีล้วนเป็นวัตถุทางเพศเหมือนกัน

Memoirs of a Geisha (2005)

เราอาจจะคุ้นชินกันดีกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มักนำเสนอผู้หญิงเอเชียลักษณะของ Dragon lady ส่วน Lotus blossom นั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ภาพยนตร์ประโลมโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อง Sayonara (1957) ว่าด้วยรักต้องห้ามของทหารหนุ่มอเมริกันรูปงามกับสาวญี่ปุ่นขี้อาย เพื่อตอกย้ำความเป็นวีรบุรุษของชายผิวขาวในฐานะผู้กอบกู้โลก รวมถึงความหลงใหลเสน่ห์ผู้หญิงเอเชียในฐานะ ‘ความแปลกใหม่’ และ ‘เชื่อฟัง’ ขณะเดียวกันก็สะท้อนอุดมคติของสังคมยุคนั้นว่าผู้หญิงต้องเป็น ‘ครึ่งคนใช้ ครึ่งภรรยา’ 

ด้านภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง Memoirs of a Geisha (2005) ที่อำนวยการสร้างโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ก็มีส่วนทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘เกอิชา’ ความเป็นจริงเกอิชาเป็นที่เคารพนับถือในวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับนำเสนอผ่านเลนส์สายตาคนตะวันตกที่เหมารวมว่าเกอิชาเป็นเพียงโสเภณีตามทัศนคติทางเพศของพวกเขา

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพจำผู้หญิงเอเชียในฐานะวัตถุทางเพศที่ฝังรากอยู่ในสังคมตะวันตกอย่างเหนียวแน่น เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถลุกลามไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรมได้ รายงานขององค์กร Stop AAPI Hate พบว่าช่วงมีนาคม 2020 ถึงกุมภาพันธ์ 2021 มีเคสที่เกิดจากความเกลียดชังคนเอเชียถึง 3,795 กรณี เป็นผู้หญิงกว่า 68% ขณะผู้ชายอยู่ที่ 29 % เท่านั้น

ผู้หญิงเอเชียในบทบาทที่เป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง

ความหวังว่านักแสดงหญิงเชื้อสายเอเชียจะหลุดพ้นจากการเป็น ‘ดอกบัว’ หรือ ‘พญามังกร’ มาเบ่งบานจริงจังในภาพยนตร์ Crazy Rich Asians (2018) ที่ดัดแปลงมาจากนิยายขายดี

Crazy Rich Asians (2018)

สำหรับคนไทยเราอาจรู้สึกว่าก็แค่พล็อตละครหลังข่าวดีๆ นี่เอง แต่การที่นักแสดงหลักและทีมงานเป็นคนเอเชียทั้งหมด คือปรากฎการณ์ที่ไม่ได้เห็นตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง The Joy Luck Club (1993) ประกอบกับสถานการณ์โลก ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจพลิกมาอยู่ฝั่งเอเชียด้วย Crazy Rich Asians จึงกวาดรายได้ไปมากกว่า 238.5 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ ทั้งที่ใช้ทุนสร้างเพียง 30 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ เท่านั้น 

หากไม่พูดถึงความสำเร็จด้านรายได้ Crazy Rich Asians ก็เปรียบเหมือนการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้คนเอเชียบนภาพยนตร์ฮอลลีวูด ว่าพวกเขาก็คือ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ เจ็บได้ ร้องไห้ได้ มีรัก โลภ โกรธ หลง สำเร็จ ล้มเหลว ไม่ใช่มีแค่ด้านเลวอย่างเดียว และเราก็เห็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมเอเชียจริงๆ ที่ไม่ได้ปรุงแต่งตามสายตาคนขาว

หลังจากนั้น ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ใช้นักแสดงหลักเป็นคนเชื้อสายเอเชียต่างทยอยมีมาเรื่อยๆ ไม่จะเป็น The Farewell (2019) หรือ Minari (2020) รวมถึงได้เห็นนักแสดงเอเชียสวมบทบาทที่หลากหลายมากขึ้นเช่นกัน เหมือนในซีรีส์วัยรุ่นเรื่อง Never Have I Ever (2020) กับการบอกเล่าภารกิจเสียตัวของ เดวี่ วิศวกุมาร (Devi Vishwakumar ) สาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียวัย 15 ปี ที่แก่นแท้จริงๆ อยูู่ตรงการพยายามสำรวจเรื่องเพศ นอกกรอบจากสภาพแวดล้อมที่กดเธอเอาไว้ เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง The Half of It (2020) ที่ถ่ายทอดความรักของสาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่บังเอิญตกหลุมรักผู้หญิงคนหนึ่งผ่านการเขียนจดหมาย และภาพยนตร์เรื่อง ​​To All the Boys (2018-2021) ที่มีออกมาถึง 3 ภาค ก็เป็นตัวแทนผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเกาหลีที่แม้จะให้ความสำคัญกับความรัก แต่ขอไม่เดินตามความคาดหวังของใคร 

Never Have I Ever (2020)

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไม่กี่ปีมานี้คลื่นการเปลี่ยนแปลงต่อตัวนักแสดงเอเชียเกิดขึ้นกับโลกภาพยนตร์ฮอลลีวูด เรามี โคลอี จาว (Chloe Zhao) ที่สร้างหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้กำกับหญิงเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลออสการ์ สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากหนังเรื่อง Nomadland (2020) ทว่ายังเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้นในการรื้อถอนคำว่า ‘ภัยเหลือง’ ให้สิ้นซาก 

พวกเราในฐานะคนดูก็อาจร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ผ่านการส่งเสียงแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราเงียบ ผู้หญิงเอเชียอาจต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวจากการถูกทำร้ายหรือถูกเหยียดหยามต่อไปไม่รู้จบ

อ้างอิง: 

https://edition.cnn.com/style/article/chloe-zhao-oscars-asian-women-hollywood/index.html

https://www.teenvogue.com/story/hollywood-hypersexualizing-asian-women

https://www.washingtonpost.com/arts-entertainment/2021/03/26/asian-women-hollywood-portrayals/

https://www.vox.com/22338807/asian-fetish-racism-atlanta-shooting

https://www.lofficielusa.com/film-tv/how-cinema-hypersexualizes-asian-women

Tags: , , , ,