ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในอินโดนีเซียพุ่งสูงถึง 832 คนแล้วนับแต่เกิดเหตุเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. แต่รองประธานาธิบดี ยูซูฟ กัลลา เตือนว่า ตัวเลขอาจสูงถึงพันคน
หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.4 แมกนิจูดที่เกาะสุลาเวสี หนึ่งในเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 150 ครั้ง และทำให้เกิดสึนามิบริเวณชายฝั่งสุลาเวสี ทำลายบ้านเรือน โรงแรม ศูนย์การค้าและมัสยิดมากมาย บางพื้นที่คลื่นสูงถึง 6 เมตร
แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในอินโดนีเซียนับแต่ปี 2004 เป็นต้นมา พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือเมืองดองกาลา ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ราว 300,000 คน แต่ยังไม่สามารถระบุความเสียหายได้เนื่องจากระบบการสื่อสารใช้การไม่ได้และถนนถูกตัดขาด
วันที่ 30 ก.ย. โฆษกหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติอินโดนีเซียแถลงว่า พื้นที่ได้รับผลกระทบใหญ่กว่าที่คาดคิดไว้มาก มีประชาชน 2.4 ล้านคนได้รับผลกระทบ อีกกว่า 17,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย
เมืองปาลู เป็นอีกเมืองที่พังพินาศจากภัยพิบัติครั้งนี้ ในตัวเมืองมีทั้งร่างผู้เสียชีวิตลอยอยู่ใกล้ชายฝั่ง ผู้รอดชีวิตติดอยู่บนหลังคา เกาะอยู่บนท่อนไม้ ประชาชนในพื้นที่บอกว่า มีร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมากอยู่บนชายหาดและลอยคออยู่ในน้ำทะเล
ขณะนี้ ทั้งเมืองปาลูและดองกาลายังไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนน้ำดื่มและน้ำมันหมด การเข้าถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก การค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ต้องทำด้วยมือเปล่าเท่านั้น
มีผู้วิจารณ์ว่า ที่จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มากมายขนาดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการข้อจำกัดของการเตือนภัย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจยกเลิกการแจ้งเตือนสึนามิ
โฆษกหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติอินโดนีเซียกล่าวระหว่างการแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ”ไม่มีเสียงเตือนหรือสัญญาณสึนามิเลย คนมากมายไม่รู้เรื่อง ดังนั้นผู้คนจึงยังทำกิจกรรมบนชายหาด รวมทั้งคนที่กำลังเตรียมงานเทศกาลชายหาดด้วย”
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนสึนามิในตอนแรก แต่ก็ยกเลิกการเตือนหลังจากที่เห็นว่าระดับน้ำลดลง ขณะที่หน่วยงานภัยพิบัติกล่าวว่า ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานในการดำเนินการแล้ว และ ‘ยุติ’ การแจ้งเตือนจากข้อมูลที่ได้รับจากเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำขึ้นน้ำลงที่ใกล้ที่สุดซึ่งอยู่ห่างจากเมืองปาลูประมาณ 200 กิโลเมตร
“เราไม่มีข้อมูลจากการสังเกตการณ์ที่เมืองปาลู ดังนั้นเราจึงใช้ข้อมูลเท่าที่มีและแจ้งประชาชนตามข้อมูลนั้น” ราห์มัต ตรีโยโน (Rahmat Triyono) หัวหน้าศูนย์แผ่นดินไหวและสึนามิกล่าว เขากล่าวว่า บันทึกของหน่วยตรวจวัดระดับน้ำที่ใกล้ที่สุดวัดความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลพบว่า มีความเปลี่ยนแปลงที่ ‘ไม่สำคัญ’ คลื่นสูงประมาณ 6 เซนติเมตร ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าเกิดคลื่นยักษ์ใกล้ปาลู
ส่วน วิโกริตา การ์นาวาติ (Dwikorita Karnawati) หัวหน้าศูนย์ธรณีฟิสิกส์กล่าวว่า หน่วยงานของเธอแจ้งเตือนสึนามิแล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะเกิดสึนามิขึ้นตอน 17.22 น. เป็นประกาศเตือน 15 นาทีล่วงหน้าว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้สามารถทำให้เกิดสึนามิได้ ต่อมาก็ยุติการแจ้งเตือนเมื่อ 17.36 น.
“เรายุติการแจ้งเตือนสึนามิ ตอนที่สึนามิเกิดขึ้น” การ์นาวาติกล่าว
วิดโจ คองโค (Widjo Kongko) ผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว DW ว่า การแจ้งเตือนควรกินเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จากแบบจำลองของเขา คาดว่าสึนามิจะมาถึงดองกาลาและปาลูภายใน 5-10 นาทีหลังแผ่นดินไหวครั้งแรก แต่เนื่องจากไม่มีสึนามิในดองกาลาและปาลูในช่วง 30 นาทีแรก ทางการจึงตัดสินใจยุติการเตือนภัย แต่จากนั้นไม่นาน สึนามิก็มา
หลังเหตุการณ์สึนามิปี 2004 มีความพยายามติดตั้งระบบวัดระดับน้ำทะเล เก็บข้อมูลคลื่นเสียงที่ทันสมัย และใยแก้วนำแสงแทนที่ระบบเตือนภัยเดิม แต่การทำงานที่ไม่ลงรอยกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และความล่าช้าทำให้โครงการประมาณ 1 พันล้านรูเปียะห์ หรือประมาณ 69,000 เหรียญสหรัฐไม่คืบหน้า ทำให้ต้นแบบที่พัฒนาโดยองค์กรวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับการติดตั้ง
นอกจากนี้ หลายประเทศ เช่น เยอรมนี สนับสนุนเงินทุนในการติดตั้งทุ่นที่เชื่อมโยงกับเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำทะเลเพื่อส่งข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้า แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตราเมื่อปี 2016 ก็แสดงให้เห็นว่าทุ่นส่วนหนึ่งใช้งานไม่ได้ เพราะขาดงบประมาณซ่อมบำรุง
หลุยส์ คอมฟอร์ต (Louise Comfort) ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติและหัวหน้าโครงการพัฒนาระบบเตือนภัยจากสหรัฐอเมริกาบอกว่า ระบบเตือนภัยสึนามิของอินโดนีเซียเป็นเครือข่ายของมาตรวัดระดับน้ำขึ้นน้ำลงที่มีอยู่ 134 สถานี ขณะเกิดเหตุ มาตรวัดระดับน้ำทำงาน แต่ทุ่น 22 แห่งใช้งานไม่ได้เลย อีกทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาอินโดนีเซียยกเลิกการแจ้งเตือนเร็วเกินไป เพราะพวกเขาไม่มีข้อมูลจากปาลู
องค์กรบรรเทาสาธารณภัยระหว่างประเทศเพิ่งเข้าพื้นที่ได้ในวันอาทิตย์ เฮลิคอปเตอร์จากกาชาดอินโดนีเซีย 2 ลำที่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือไปถึงดองกาลาแล้ว ทหารจากกรุงจาการ์ตาและเมืองอื่นๆ เริ่มเข้าช่วยเหลือ
ที่มา:
- https://www.theguardian.com/world/2018/sep/30/indonesia-tsunami-cries-for-help-from-rubble-amid-fears-thousands-dead
- https://edition.cnn.com/2018/09/30/asia/indonesia-earthquake/index.html
- https://www.theguardian.com/world/live/2018/sep/30/tsunami-indonesia-sulawesi-rescue-earthquake-deaths-live
- https://www.washingtonpost.com/world/death-toll-soars-past-800-in-indonesia-earthquake-tsunami/2018/09/30/70b8aeda-c417-11e8-9451-e878f96be19b_story.html?
- https://abcnews.go.com/Technology/wireStory/scores-die-indonesian-tsunami-warning-system-stalls-58183500
- https://www.dw.com/en/tsunami-kills-hundreds-in-indonesias-sulawesi-after-earthquake/a-45680574