นักวิทยาศาสตร์ได้ไขปริศนาลึกลับเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดกลุ่มหินยักษ์ หรือที่เรียกว่าหิน “ซาร์เซน” (Sarsen stones) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มหินของสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคกลางอย่าง “สโตนเฮนจ์” ได้สำเร็จแล้ว หลังได้รับคืนตัวอย่างแก่นหินหลักที่ถูกเก็บรักษาในสหรัฐอเมริกามายาวนานหลายทศวรรษ
การทดสอบทางธรณีวิทยาชี้ว่า หินทรายยักษ์สีเทา หรือ หินซาร์เซน จำนวน 50 ก้อน มีแหล่งกำเนิดร่วมกันอยู่ในบริเวณ West Woods ห่างออกจากสโตนเฮนจ์ไปประมาณ 25 กิโลเมตร และถูกเคลื่อนย้ายเพื่อมานำมาก่อสร้างสโตนเฮนจ์เมื่อราว 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความสูงถึง 9.1 เมตร และมีน้ำหนักมากที่สุดกว่า 30 ตัน ขณะที่หินสีน้ำเงินขนาดเล็กหรือ หิน “บลูสโตน” (Bluestones) ถูกนักวิทยาศาสตร์ไขปริศนาแหล่งกำเนิดของมันได้สำเร็จล่วงหน้าไปก่อนหลายปี โดยพบว่าหินบลูสโตนมีที่มาจากเทือกเขา Preseli ทางตอนใต้ของแคว้นเวลส์
การไขปริศนาแหล่งกำเนิดหินซาร์เซนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าหากทีมนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีไม่ได้รับคืนตัวอย่างแก่นหินหลักที่ถูกนำไปเก็บรักษาในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1958 ซึ่งต่อมาถูกนำมาสกัดและวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีเพื่อสืบหาความเชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิดหินท้องถิ่น โดยใช้วิธีฉายรังสีเอกซ์เรย์ไปที่หินซาร์เซนในสโตนเฮนจ์เพื่อตรวจสอบหาองค์ประกอบทางเคมีที่หินเหล่านี้มีร่วมกันมากที่สุด และนำตัวอย่างของหินที่ได้มาจากแหล่งกำเนิดหินทั่วประเทศ มาเทียบเคียงองค์ประกอบทางเคมีกับผลของตัวอย่างแก่นหินหลักที่เพิ่งถูกส่งกลับมา จนพบว่าองค์ประกอบของหินซาร์เซนทั้งหมด 50 จากทั้งหมด 52 ก้อน มีแหล่งที่มาเดียวกันอยู่ในบริเวณ West Woods ทางตอนใต้ของ Wiltshire’s Marlborough Downs
ตัวอย่างแก่นหินหลักที่ถูกนำมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ ถูกสกัดออกมาระหว่างงานบูรณะในปี 1958 เมื่อนักโบราณคดีได้นำแท่งโลหะสอดเข้าไปในก้อนหินร้าวเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง และแท่งโลหะได้ดันแก่นหินที่เต็มไปด้วยข้อมูลสำคัญทางธรณีวิทยาออกมา ซึ่งต่อมา ตัวอย่างแก่นหินหลักนี้ได้ถูกมอบให้แก่ โรเบิร์ต ฟิลลิปป์ ในฐานะของที่ระลึกระหว่างที่เขาทำงานขุดเจาะและบูรณะอยู่ที่นี้ จนกระทั่งฟิลลิปป์ได้รับอนุญาตให้นำชิ้นส่วนดังกล่าวอพยพตามเขาไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาในปี 1977 และตัดสินใจนำส่งคืนแหล่งกำเนิดของมันเพื่อการค้นคว้าในปี 2018 ก่อนจะเสียชีวิตลงในปีนี้
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีจะสามารถไขปริศนาแหล่งกำเนิดของหินซาร์เซนได้สำเร็จ แต่ปริศนาที่ว่าหินเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายจากแหล่งกำเนิดอันห่างไกลของมันได้อย่างไร จะใช่วิธีลากเลื่อน (sled-like system) ที่หลายคนเชื่อหรือไม่ ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ยังรอการไขจนถึงปัจจุบัน
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/uk-england-wiltshire-53580339
https://nypost.com/2020/07/29/scientists-solve-mysterious-origin-of-stonehenge-megaliths/
ภาพ: ADRIAN DENNIS / AFP
Tags: สโตนเฮนจ์