ค.ศ. 2020 จบไปหมาดๆ แต่เรามิอาจปฏิเสธได้ว่าความหายนะยังตามหลอกหลอนจนถึงปีนี้ แต่เพื่อให้คุณผู้อ่านไม่เครียดจนเกินไป ผมจึงขออาสาพาไปปิดจ๊อบปริศนาคาใจจากปีที่แล้วเกี่ยวกับ Monolith (เสาหิน) ที่ทำเอาหลายคนตกอกตกใจ นึกว่ามีมเอเลียนบุกโลกในเดือนสิบสองที่ปั่นกันเสียเต็มที่ในโลกอินเทอร์เน็ตจะเป็นจริงขึ้นมาเสียแล้ว
ก่อนอื่น ขอผมเกริ่นถึงนิยามของเจ้า Monolith นี้ก่อน จริงอยู่ที่เสาหินนั้นมีอยู่เยอะแยะมากมายในประวัติศาสตร์ของพวกเรา ทั้งของจริงและในเรื่องแต่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่ากระแสที่เกิดจาก 2020 Monolith นั้นถูกจับโยงเข้ากับอย่างหลัง ถ้าจะให้เฉพาะเจาะจงขึ้นก็คือนวนิยายวิทยาศาสตร์ในตำนานเรื่อง 2001: Space Odyssey นั่นเอง
ตัว Monolith นั้นเป็นจุดสำคัญของเรื่องทั้งในฉบับนิยายและภาพยนตร์ จะว่าไปแล้วเอกลักษณ์ของซีรีส์ นวนิยาย Space Odyssey ทั้งหมดโดย อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก (Arthur C. Clarke) ก็ประกอบขึ้นมาจากตัวเสาหินเหล่านี้ด้วย ดังนั้น จึงอยากให้คุณผู้อ่านพยายามจินตนาการภาพของเสาหินในเรื่องนี้เป็นหลักแทนเสาหินแกะสลักแท้ๆ เวลาเปรียบเทียบกับของจริงดูครับ ว่าแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน
เสาหินที่ว่านี้ผู้แต่งบรรจงสรรค์สร้างขึ้นมาให้เป็นตัวแทนของเทคโนโลยีต่างดาว จากเผ่าพันธุ์ที่ก่อกำเนิดมาเหมือนกับเรา พวกเขามีลมหายใจ เกิด แก่ เจ็บและตาย ได้เช่นเดียวกับเรา มีความรู้สึกนึกคิด รวมถึงสนใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาเผ่าพันธุ์ของตนเองอีกด้วย สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือพวกเขาพัฒนาไปไกลกว่าเรามาก ถึงขั้นที่การเดินทางข้ามจักรวาลนั้นเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เมื่อมาถึงจุดนี้พวกเขาเองก็ต้องการที่จะตามหาเผ่าพันธุ์ที่มีความศิวิไลซ์เช่นเดียวกัน แต่ปัญหาคือชีวิตที่ก่อกำเนิดขึ้นมาในเอกภพนี้ มีน้อยกว่าหยิบมือที่จะวิวัฒนาการมาเป็นสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิได้
เพื่อช่วยให้การก่อกำเนิดของชีวิตที่ทรงปัญญาเกิดขึ้นมาได้ แม้ตนจะตายจากไปแล้วนับล้านปี พวกเขาจึงสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาในรูปของ Monolith หลากหลายขนาดและรูปทรง (ส่วนใหญ่จะมีผิวที่ถูกบรรยายว่าคล้ายโลหะหรือกระจกในท้องเรื่อง) สำหรับนำไปบ่มเพาะไว้ทั่วทั้งจักรวาล ซึ่งรวมถึงในระบบสุริยะของเราด้วย เพื่อทำหน้าที่เสมือนผู้ดูแล (guardian) ที่ช่วยควบคุมทั้งระบบนิเวศและ ‘ตัวแปร’ ต่างๆ เพื่อให้ชีวิตทั้งหลายรอดมาจนถึงจุดที่พวกเขาหวัง ในที่นี้มนุษย์เองก็กลายเป็นผู้โชคดีที่เจอกับเจ้า Monolith และวิวัฒนาการมาจนถึงระดับที่เดินทางสำรวจห้วงอวกาศได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดใน Space Odyssey เมื่อมนุษย์พยายามค้นหาความจริงของเจ้า Monolith ลึกลับเหล่านี้ ว่าใครกันแน่ที่เป็นคนทำ
น่าเสียดายที่ 2020 Monolith นั้นไม่ใช่ฝีมือเอเลียนจากอีกฟากของเอกภพแน่ๆ แต่เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นต้องบอกเลยครับ ว่าน่าสนใจมากทีเดียว
จุดเริ่มต้น: รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา – 18 พฤศจิกายน 2020
ณ ประเทศที่ถูกโควิด-19 เล่นงานจนอ่วมที่สุดในเวลานี้ กิจกรรมหลายอย่างดูเหมือนจะถูกแช่แข็งอยู่กับที่ ท่ามกลางชีวิตของพลเมืองที่ต้องยอมละทิ้งอิสรภาพในโลกภายนอกของพวกเขาไป เพื่อความปลอดภัยของสังคมส่วนรวม
แต่งานบางอย่างที่จำเป็นก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป เช่นเดียวกันกับภารกิจวิจัยและอนุรักษ์แกะเขาใหญ่ (Bighorn) ในเขตซานฮวน รัฐยูทาห์ เฮลิคอปเตอร์ได้ขนกลุ่มนักชีววิทยาจากหน่วยทรัพยากรสัตว์ป่าของรัฐเพื่อทำการสังเกตการณ์ทางอากาศตามปกติ ทุกอย่างดูจะไปได้สวยระหว่างภารกิจนี้
ท่ามกลางผืนดินด้านล่างนั้นดูไม่มีอะไรมากไปกว่าเนินทรายแดงและพุ่มไม้แห้ง แต่แล้วหนึ่งในนักวิจัยก็เห็นอะไรที่ดูแปลกตาเกินกว่าที่เขาน่าจะเคยเจอมาตลอดชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ “โว้ โว้ ดูนั่นสิ” เสียงตะโกนสู้กับใบพัดที่ตีแหวกอากาศทำให้นักบินนาม เบรต ฮัตชิงส์ (Bret Hutchings) ต้องหันมาถามผู้โดยสารที่ดูจะตื่นเต้นสุดๆ กับสิ่งที่ไม่ใช่แกะทันที “เกิดอะไรขึ้นน่ะ” เขาถาม “เราต้องวนกลับไป! ดูนั่นสิ มีวัตถุอะไรก็ไม่รู้อยู่ตรงนั้นน่ะ เราต้องวนกลับไปดูมันเดี๋ยวนี้เลย” เบรตหักเครื่องกลับไปทางทิศที่นักวิจัยพยายามจะชี้บอกเขา และสิ่งที่ทุกคนเห็นบนเครื่องนั้นก็ดูเหมือนจะหลุดออกมาจากหนังไซ-ไฟ (ใช่ครับ 2001: Space Odyssey ยังไงล่ะ!) แบบ 100%
ภาพของเสา Monolith ตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นดินสีแดง โอบรอบไปด้วยแนวชั้นหินที่สีเข้ากัน โดยมีเพียงท้องฟ้าสีครามเป็นพื้นหลังที่แยกทุกอย่างออกมาอย่างเด่นชัด ตัวเสานั้นถูกประกอบขึ้นโดยวัสดุที่ดูเหมือนจะเป็นอะลูมิเนียมไม่ก็เหล็กกล้าที่สะท้อนแสงอาทิตย์ดั่งกระจกขุ่นๆ ที่ขัดจากสภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นอย่างยิ่ง
ทีมงานวัดขนาดตัวเสาได้สูงถึง 291 ซม. พร้อมขนาดรอบฐานที่ 50.6×58 ซม. ทั้งหมดเกิดจากการประกอบแผ่นวัสดุสามแผ่นเข้าด้วยกันเป็นทรงปริซึมฐานสามเหลี่ยมด้วยหมุดย้ำ ภายในนั้นกลวง รวมถึงมีร่องรอยของการใช้เครื่องมือตัดหินและวัสดุเชื่อมบางอย่างในการประกอบเสาอีกด้วย
เมื่อเข้าไปตรวจสอบใกล้ๆ ก็พบว่ามีการขุดหลุมและเคลียร์พื้นที่เพื่อทำการฝังโครงสร้างทั้งหมดเป็นอย่างดี ดูแล้วไม่พ้นจะเป็นฝีมือมนุษย์แน่ๆ แต่คำถามคือใครกันที่เป็นคนต้นคิดบุกเอาเจ้าเสานี่มาปักกลางเขตอนุรักษ์
กลุ่มนักวิจัยทำการบันทึกพิกัดจีพีเอสเอาไว้ และคงไม่ต้องให้เดาครับ ติดต่อทางการ Utah Department of Public Safety (DPS) ให้เข้ามาจัดการเจ้าวัตถุประหลาดนี้ต่อทันที แต่สิ่งที่เปลี่ยนทุกอย่างไปเลยคือเจ้าหน้าที่จาก DPS นั้นไม่เพียงแค่มาตรวจเท่านั้น แต่ดันโพสต์รูป Monolith นี้ลงบนอินสตาแกรมเสียด้วย พร้อมกับชื่อ ‘Utah Monolith’
ผลลัพธ์ที่ตามมานั้นรวดเร็วทีเดียว เพราะรูปถ่ายนี้กลายเป็นกระแสไวรัลภายในชั่วข้ามคืน ถึงแม้ทางหน่วยงานจะไม่ได้ระบุพิกัดของเสานี้ แต่แน่นอนว่าโลกอินเทอร์เน็ตนั้นไม่คณนามือในการหาตำแหน่งอะไรก็ตามที่น่าสนใจอยู่แล้วครับ ออกจะง่ายมากๆ ด้วยซ้ำถ้าคุณมี Google Earth กับสกิลคำนวณอีกนิดหน่อย (ที่จริงคือ นายทิม สเลน (Tim Slane) จาก Reddit เจอพิกัดเป๊ะๆ ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังรูปถูกโพสต์ โดยอ้างอิงจากภาพถ่ายและเส้นทางการบินของทีมวิจัย)
ไม่ถึง 48 ชั่วโมง ผู้คนนับร้อยก็ดูจะไม่สนใจโรคระบาดอีกต่อไปและใช้งานอิสรภาพของตนเองทันที ในการไปเยือนเสา Monolith นี้ พร้อมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอย่างสนุกสนาน จนคนในพื้นที่กังวลว่ากิจกรรมที่เพิ่มขึ้นกะทันหันจะไปก่อความเสียหายกับเขตอนุรักษ์อันบอบบางได้ (พื้นที่ของเสาเคยอยู่ในเขตอนุรักษ์ Bears Ears National Monument แต่ถูกประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกสถานะ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานท้องถิ่นก็ยังคงมีหน้าที่ดูแลอยู่) ที่สำคัญคือเสานั้นตั้งอยู่ใกล้แหล่งโบราณคดีที่สำคัญมาก ทาง DPS ได้เผยแพร่ประกาศของ Bureau of Land Management (BLM) ว่าการติดตั้งวัตถุหรือโครงสร้างใดๆ รวมถึงความพยายามในการรุกล้ำที่สาธารณะนั้นมีความผิดตามกฎหมาย ‘ไม่ว่าคุณจะมาจากดาวดวงไหนก็ตาม’ เจ้าหน้าที่ DPS ย้ำเอาไว้อย่างชัดเจน
แต่อนิจจา ไม่ว่าทางการสหรัฐฯ จะพยายามขนาดไหนในการจัดการกับผู้บุกรุก เพียงไม่กี่วันหลังจากกระแสเริ่มลามไปทั่วโลก เสา Monolith ในลักษณะใกล้เคียงกับ 2020 Utah Monolith ก็ดูจะปรากฏขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย (ทั้งแบบถูกและผิดกฎหมาย) ดูแล้วกระแสนี้คงไม่จบลงง่ายๆ แน่นอน
จุดกระจายตัว: โลก – พฤศจิกายน 2020
ทฤษฎีสมคบคิดและความพยายามในการหาคำตอบของ 2020 Utah Monolith นั้นลามไปทั่วอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว แถมด้วยเชื้อไฟจากโซเชียลมีเดีย พร้อมแหล่งข่าวที่ตีกระแสกันแบบไม่ยั้ง ‘เทรนด์ Monolith’ จึงเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งศิลปินอิสระ ภาคเอกชน หน่วยงานต่างๆ และประชาชนคนทั่วไปต่างก็อยากจะได้ส่วนแบ่งจากเทรนด์นี้ด้วย ส่งผลให้มีโคลน Monolith เกิดขึ้นเพียบ บาง Monolith นั้นก็มีอยู่ก่อนแล้วในลักษณะของงานศิลปะกลุ่มจัดวาง (installation art) หรือกลุ่มประติมากรรม แต่ส่วนใหญ่ถูกสร้างไม่นานหลังจากการค้นพบ Monolith แรกในรัฐยูทาห์
จนถึงตอนนี้มีการบันทึก Monolith ไว้แล้วกว่าร้อยรายการทั่วโลกในหลากหลายสถานที่ ตั้งแต่ป่าสงวน เขตเมือง สนามกอล์ฟ หรือแม้แต่สนามหน้าบ้าน ซึ่งในที่นี้ผมจะขอเล่าเฉพาะบางส่วนที่น่าสนใจครับ (โดยอ้างอิงจากสถานที่นะ)
- Ahmedabad, Gujarat, India – 29 ธันวาคม 2020
ค้นพบที่ Symphony Forest Park ในเมืองอาห์เมดาบาด รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ด้านข้างมีการสลักรายการตัวเลขเอาไว้ ซึ่งระบุถึงลองติจูดและละติจูดของอุทยานและแหล่งอนุรักษ์ต่างๆ ในอินเดีย ตัว Monolith ถูกสร้างโดยศิลปินนิรนามที่สนใจในการนำเสนอแนวคิดของความลึกลับที่รายล้อม Monolith ต่างๆ ทั่วโลก อันนำไปสู่ความสนใจและริเริ่มที่จะคิดค้นหาคำตอบของผู้คน ตัวเสาถูกนำออกจากพื้นที่ไม่นานหลังจากนั้นและถูกแทนที่ด้วยทรงกลมเหล็ก
- Kielce, Poland – 9 ธันวาคม 2020
ติดตั้งเอาไว้ที่เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Kadzielnia ในโปแลนด์ ตัวเสามาพร้อมลายหินอ่อนแปลกตา ไม่เหมือนเพื่อน สถานที่โดยรอบเสาถูกกั้นด้วยเชือกและป้ายเตือนไม่นานหลังจากนั้นหลังมีรายงานถึงระดับกัมมันตภาพรังสีที่สูงขึ้นจนผิดปกติ
- Compton Beach, Isle of Wight, United Kingdom – 6 ธันวาคม 2020
ตัว Monolith ได้ถูกตั้งไว้ที่หาด Compton โดยตัวโครงสร้างภายในนั้นแตกต่างไปจาก Monolith ส่วนใหญ่ ตรงที่ทำมาจากไม้และประกบเอาไว้ด้วยกระจกภายนอกแทนการใช้แผ่นโลหะอย่างเดียว ผลงานชิ้นนี้ถูกเฉลยสองวันให้หลังว่าเป็นของดีไซเนอร์ในพื้นที่นาม ทอม ดันฟอร์ด (Tom Dunford) ซึ่งเขาได้ขาย Monolith นี้ไปในงานประมูลออนไลน์ด้วยราคา £810 (ประมาณ 30,000 บาท) รายงานแจ้งว่าเขาบริจาคเงินที่ได้มาให้กับหน่วยงานการกุศลเมื่อการประมูลสิ้นสุดลง
- Atascadero, California, United States – 2 ธันวาคม 2020
Monolith ทรงปริซึมฐานสามเหลี่ยมพร้อมผิวโลหะสะท้อนแสงนี้ถูกพบในบริเวณ Pine Mountain ภายในนั้นกลวงเช่นเดียวกับ Monolith ส่วนใหญ่ แต่ฐานนั้นไม่ได้ถูกยึดไว้กับพื้น อย่างไรก็ตามในไม่กี่วันให้หลัง ตัวเสากลับถูกทำลายลงโดยกลุ่มชายฉกรรจ์ 4 คน ซึ่งไลฟ์สดเหตุการณ์ทั้งหมดเอาไว้อีกด้วย จากการวิเคราะห์พบว่ากลุ่มผู้ไม่หวังดีนี้น่าจะมาจากขบวนการแนวคิดขวาจัดสุดโต่งในสหรัฐฯ
นายกเทศมนตรี ฮีเธอร์ โมเรโน (Heather Moreno) กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่าเขารู้สึกแย่มากกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะ Monolith นั้นเป็นอะไรที่มีเอกลักษณ์และเป็นไอเดียที่น่าสนุกทีเดียวในสถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ น่าเสียดายจริงๆ ที่ต้องมาถูกทำลายลงโดยคนกลุ่มหนึ่ง (เรื่องน่าเศร้าคือเสา Monolith จำนวนมากถูกรายงานว่าโดนขโมย ทำลาย หรือก่อกวนทั้งในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศทั่วโลก ถึงแม้จะถูกติดตั้งอย่างถูกต้องก็ตาม)
- Melbourne, Victoria, Australia – ธันวาคม 2020
ถูกจัดทำโดยกลุ่มนักแสดงตลก อานตี้ ดอนนา (Aunty Donna) ร่วมกับยูทูเบอร์แนวโปรเจ็กต์ DIY ชื่อดัง ‘I did a thing’ ตัวเสามีลักษณะใกล้เคียงกับ Utah Monolith มากๆ และถูกติดตั้งในป่าใกล้เมืองเมลเบิร์น ปฏิบัติการทั้งหมดถูกถ่ายทำเอาไว้อย่างละเอียด และกลายเป็นคลิปไวรัลในยูทูบ ไม่นานหลังจากนั้นจนทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าทีมงานนี้อยู่เบื้องหลัง Monolith อื่นๆ ด้วย
ทั้งหมดนี้ยังไม่นับ Monolith เรียกกระแสจากภาคธุรกิจที่โชว์ความสามารถของทีมพีอาร์และมาร์เกตติ้งนะครับ เพราะในกลุ่มนี้กลุ่มเดียวก็ดูจะมีมากกว่ากลุ่มงานศิลปะเพียวๆ หลายเท่าตัว Monolith ประเภทนี้ใช้โปรโมตทั้งธุรกิจเล็กๆ บริษัทเทคโนโลยี โรงหล่อเหล็ก ศูนย์การค้า มหาวิทยาลัย ร้านอาหาร ไปจนถึงกลุ่มศิลปินท้องถิ่นและอื่นๆ อีกเพียบ
และถ้าคุณสนใจจะสร้าง Monolith ของตัวเองละก็ ผู้เชี่ยวชาญ และศิลปินสายมินิมอล หลายคนก็ออกมายืนยันแล้วว่ามันทำได้ง่ายมากเลยครับ เพราะทั้งหมดก็แค่ประกอบแผ่นวัสดุที่ต้องการเข้าด้วยกันจนเป็นทรงเท่านั้นเอง ขอแค่มีอุปกรณ์พอคุณก็สามารถที่จะสร้าง Monolith ได้ในโรงรถเลยด้วยซ้ำ นี่น่าจะอธิบายได้ถึงความหลากหลายในขนาดและรูปทรงของ Monolith ที่ตามมาทีหลัง (บ้างก็ต่างถึงขั้นสีและโครงสร้างภายในตามความสามารถของผู้สร้าง) บาง Monolith มีการสลักข้อความเอาไว้ด้วย ไล่ตั้งแต่ตำแหน่ง ทิศทาง หรือข้อความกวนโอ๊ยก็มีให้เห็น อย่างไรก็ตาม ผมเองไม่แนะนำให้สร้าง Monolith แล้วเอาไปแปะไว้ในที่สาธารณะ (โดยเฉพาะเขตอนุรักษ์) หรอกนะครับ เพราะนั่นมันผิดกฎหมาย ยกเว้นในกรณีของงานศิลปะที่ติดตั้งในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตแล้ว นั่นก็ว่ากันไปเป็นกรณี (ถ้าคุณจะสร้าง Monolith ไว้ดูเล่นเองคนเดียวในสวนหลังบ้านก็ไม่ผิดครับ) แต่เราต้องไม่ลืมด้วยว่ากระบวนการทั้งหมดนั้นต้องใช้เงินพอสมควร รวมไปถึงเป็นการเปลืองวัสดุโลหะไปโดยใช่เหตุด้วยนะ เว้นเสียแต่ว่าจะนำเอากลับมารีไซเคิลหลังจากที่ ‘ใช้งาน’ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
จุดคิด: เรา
ทีนี้คำถามสำคัญเลยคือศิลปินทั้งหลายจะลงทุนลงแรงทั้งหมดในการสร้างและหาบเอาโครงเหล็กหนักหลายกิโลไปปักไว้ตามสถานที่ที่มันเข้าถึงยากแบบสุดๆ ทำไม คำตอบแรกคือการเรียกกระแสและตักตวงผลประโยชน์จากเทรนด์ที่เกิดขึ้นตามที่ว่าไป
แท้ที่จริงเหตุการณ์ทั้งหมดน่าจะพูดได้เต็มปากว่าถูกรังสรรค์ขึ้นมาได้อย่างเหมาะเจาะในการเป็น ‘เทรนด์’ เนื่องด้วยในปี 2020 นั้น ทุกคนพากันพูดถึงเรื่องร้ายๆ ที่ดูจะประดังเข้ามาแบบไม่หยุดหย่อน หลายครั้งที่ตลกร้ายในโลกอินเทอร์เน็ตเริ่มทำนายถึงหายนะภัยที่จะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปี หนึ่งในนั้นคือเอเลียนบุกโลก ซึ่งก็ดันไม่ตรงกับคอนเซ็ปต์บางส่วนของนวนิยายไซ-ไฟ ‘อวกาศ’ อย่าง Space Odyssey เข้าอย่างจัง พอเราลากเส้นเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้ว ‘เทรนด์ Monolith’ จึงเหมาะสมในการพูดถึงกันต่อแบบปากต่อปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิหนำซ้ำยังถูกเร่งความเร็วด้วยโซเชียลมีเดียเสียอีก ความไวรัลของมันจึงยิ่งทวีคูณมากขึ้น ไม่ต่างจากหลักวิทยาศาสตร์ของมีม
แต่เหตุผลแท้ๆ โดยส่วนตัวของผมแล้ว คิดว่าต้องเป็น ‘แรงบันดาลใจทางศิลปะ’ มากกว่าที่ทำให้งานเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นมาตั้งแต่แรก เพราะหากเราสังเกตให้ดีๆ แล้วละก็ งานประติมากรรมที่เหมือน Monolith มันมีให้เห็นตั้งนานแล้วครับ โดยเฉพาะในแวดวง Minimalism, Modernism, และ Geometric ตัวงานเหล่านี้มักจะถูกจัดวางในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีเป็นหลัก มีบ้างที่เป็น site-specific หรืองานศิลป์ที่ถูกจัดวางเฉพาะจุดในสถานที่ที่กำหนดไว้โดยศิลปินว่าจะช่วยเสริมการนำเสนอของวัตถุชิ้นงานนั้นได้ ยิ่งสถานที่นั้นแปลกตาหรือขับเอาความโดดเด่นของผลงานออกมาได้มากเท่าไหร่ ตัวชิ้นงานก็จะมีสิทธิ์เป็นที่สังเกตหรือรู้จักได้มากขึ้นด้วย กลยุทธ์นี้มีให้เห็นมากมายครับ 2020 Utah Monolith ก็เป็นหนึ่งในนั้น (ลองย้ายไปปักไว้กลางเมือง ย่อมไม่ได้กระแสแบบนี้แน่นอน) ตัวอย่างที่ดังๆ เช่น Spiral Jetty from atop Rozel Point โดย Robert Smithson (ค.ศ. 2005), กลุ่มงานภูมิศิลป์ (land art) และศิลปะจัดวางทั้งหลายก็ได้อานิสงส์จากแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน
สรุปแล้วเทรนด์กับเชื้อปะทุของไอเดียจากศิลปินเบื้องหลัง Utah Monolith ดูเหมือนจะเป็นต้นกำเนิดให้กับวัฒนธรรมย่อยที่กระจายตัวทั่วทั้งโลกในชั่วพริบตา นี่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดในแง่ของพฤติกรรมมนุษย์เลยครับ ว่าการที่โลกไร้พรมแดนและการติดต่อสื่อสารง่ายดั่งใจนึกแล้ว พวกเราสามารถที่จะขยับและต่อยอดจากรากฐานนั้นได้มากขนาดไหน
จุดจบ: กระแสสังคมที่จางหาย
เช่นเดียวกับเทรนด์ทั้งหมดในวัฒนธรรมของพวกเรา ที่พอมีจุดเริ่มต้นแล้วก็ต้องตามมาด้วยจุดจบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในกรณีของพระเอกของเราอย่าง Utah Monolith นั้นดูเหมือนจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งหน่อยๆ เพราะถึงแม้ว่าจะผิดกฎหมาย ตัวเสาก็มิได้ถูกทำลายทิ้งแต่อย่างใด เพราะมีทีม Recreationist อย่างน้อย 4 คน (ระบุตัวตนได้ว่ามี แอนดี้ ลิวอิส (Andy Lewis), ซิลแวน คริสเตนเซน (Sylvan Christensen), โฮเมอร์ แมนสัน (Homer Manson) และชายไม่ทราบชื่ออีกหนึ่งคน) มารื้อถอนเสาทั้งหมดออกในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2020 พวกเขาผลักตัวเสาจนล้มลงก่อนจะแยกชิ้นส่วนแล้วขนมันออกไปจากพื้นที่
หน่วยงานรัฐบาลอย่าง BLM รีบออกมาแถลงข่าวทันทีเมื่อทราบเรื่อง โดยระบุถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการที่ Monolith นี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทั้งในและนอกประเทศ ที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาก็จะไม่ทำการสืบสวนถึงการรื้อถอนนี้ด้วย (อารมณ์ประมาณว่าให้มันแล้วๆ ไป) แต่ตำรวจท้องที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนใจกลับมาทำคดีนี้ในภายหลัง
เรื่องโกลาหลนี้จบลงจริงๆ ในวันที่ 20 ธันวาคม เมื่อทีมรื้อถอนนำโดยลิวอิสออกมาประกาศ (หลังจากโดนโลกอินเทอร์เน็ตโจมตี) ว่าพวกเขาทำทั้งหมดนี้ลงไปเพราะได้ข่าวว่ามีคนพยายามจะทำลาย Monolith ทิ้งทั้งหมด ดังนั้น พวกเขาจึงชิงตัดหน้าไปเอาเสาออกมาก่อนเสียเลย (อย่างกับ Mission Impossible) ทีมงานได้โพสต์หลักฐานวิดีโอลงในอินสตาแกรมอีกด้วย และหลังจากนั้นตัวเสาที่ดูเหมือนจะกลับสู่สภาพเดิมก็ได้ถูกบริจาคให้กับทาง BLM เพื่อหาบ้านใหม่ให้กับมัน รวมถึงถ้าเป็นไปได้ก็คือตรวจสอบที่มาที่ไปของเจ้าเสานี่ให้ชัดเจนด้วย
อย่างไรเสีย ตัวการเบื้องหลังของ Utah Monolith นั้นยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนหรือการันตีได้ว่าใครทำครับ เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครออกมาแสดงตัวรับผิดชอบถึงความเป็นเจ้าของเสาต้นนี้เลย ที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียมพบว่าเสาถูกนำไปติดตั้งไว้กลางทะเลทรายประมาณช่วง ค.ศ. 2016 แล้วด้วยซ้ำครับ หลายคนจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นผลงานของศิลปินอย่าง จอห์น แม็กแครกเคน (John McCracken) ที่สนใจการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาวและทำผลงานในแนวนี้ออกมาแล้วหลายชิ้น แต่เนื่องด้วยแม็กแครกเคนเสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้วหลายปี รวมถึงคนรอบตัวที่ยืนยันว่าไม่น่าจะใช่งานของเขาจริงๆ ทำให้ดูแล้วน่าจะเป็นฝีมือของศิลปินที่ชื่นชอบงานของแม็กแครกเคน และสร้าง Utah Monolith เพื่อเป็นเกียรติให้กับเขาเสียมากกว่า
ศิลปินคนอื่นๆ อย่าง Petecia Le Fawnhawk, Derek DeSpain ก็ถูกกล่าวถึงด้วยเช่นกัน แต่พวกเขาไม่ยอมรับว่างานชิ้นนี้เป็นของตน ขนาดหน่วยงานกำกับดูแลด้านภาพยนตร์อย่าง Utah Film Commission ก็ไม่ทราบถึงที่มาของเจ้า Monolith นี้จากกองถ่ายในพื้นที่เลยด้วยซ้ำ พูดได้ว่าไม่มีร่องรอยที่ชัดเจนเลยสำหรับต้นกำเนิดของเสา ซึ่งคงจะเป็นปริศนาไปเรื่อยๆ จนกว่าหลักฐานใหม่ๆ จะโผล่ขึ้นมาให้เราเห็น
บทส่งท้าย
2020 Utah Monolith อาจจะดูไม่ต่างจากกระแสไวรัลทั่วๆ ไปก็จริง แต่ผมเชื่อว่ามรดกที่มันทิ้งเอาไว้นั้นยิ่งใหญ่เกินตัวเลยทีเดียว เสา Monolith ไม่เพียงปลุกกระแสด้านวิทยาศาสตร์และส่งต่อความคิดความสงสัย และความต้องการที่จะเรียนรู้ต่อผู้คนที่พบมัน มันได้เปิดสวิตช์สัญชาตญาณของพวกเราจากรากฐานของความรู้สึกนึกคิดในฐานะมนุษย์เลยด้วยซ้ำ – ซึ่งก็คือความอยากรู้อยากเห็นนั่นเอง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ดูจะเข้าพิมพ์จากเสา Monolith แห่งวิวัฒนาการของ Space Odyssey เลยใช่ไหมครับ (ถึงแม้จะเป็นฝีมือมนุษย์ก็ตาม)
นี่ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความกลมเกลียวระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์อีกด้วย เพราะทั้งสองหลักการไม่เคยแยกออกจากกันเลย เรานี่เองที่ตัดสินใจไปขีดเส้นแบ่งแยกมัน จนโลกของเราขับเคลื่อนไปด้วยความแตกแยกทางองค์ความรู้เสียส่วนใหญ่
ท้ายที่สุดแล้วเราคงจะหายใจหายคอกันได้แบบปกติขึ้นบ้างแล้วว่าอย่างน้อยก็ไม่มีเอเลียนมาบุกโลกจริงๆ อย่างที่เขาทำนายกัน (2020 จะยังคงเป็นสุดยอดปีแห่งมีมอยู่ดี) ดังนั้นแล้วเราคงต้องพยายามให้มากขึ้นอีกในการตามหาเพื่อนร่วมจักรวาลของพวกเรา
ไม่แน่ว่าเรากับเขาอาจจะเป็นเผ่าพันธุ์ที่เดินไปในทางเดียวกันแล้วก็เป็นได้…
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2020/12/12/arts/design/how-to-build-a-monolith.html
https://www.nytimes.com/2020/12/01/arts/design/utah-monolith-removed-instagram.html
https://www.nytimes.com/2020/11/28/us/monolith-utah-disappeared.html
https://www.theguardian.com/us-news/2020/dec/05/utah-monolith-who-made-it-mysteries-questions
https://www.theverge.com/2020/11/24/21656223/mysterious-utah-monolith-osint-google-earth-tracking
https://www.youtube.com/watch?v=j-pKKM6CXr0&ab_channel=Ididathing
https://kielce.naszemiasto.pl/tajemniczy-monolit-na-kadzielni-w-kielcach-przyciaga/ar/c1-8040515
https://en.wikipedia.org/wiki/Utah_monolith
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_works_similar_to_the_2020_Utah_monolith
https://en.wikipedia.org/wiki/Monolith_(Space_Odyssey)
ภาพประกอบ
https://petapixel.com/2020/11/30/the-problem-with-the-utah-monolith/
Tags: Science, Scientifica