ท่ามกลางปัญหาวิกฤตการณ์สภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อน มนุษยชาติได้พยายามอย่างมากในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุทั้งหลาย โดยหนึ่งในนั้นก็คือการฟื้นคืนผืนป่าที่ถูกทำลายไปกลับคืนมา และถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็คือการขยายผืนป่าออกไปให้มากขึ้นด้วย
แน่นอนว่าการปลูกป่าไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลย ‘หากกระทำโดยมนุษย์’ เพราะหลายครั้งที่เราเห็นกิจกรรมปลูกป่ากันนั้น ส่วนใหญ่เป็นแค่เรื่องหลอกลวงที่ให้ผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นไม้อ่อนยืนต้นตายไม่นานหลังทีมปลูกเดินทางกลับไป ก่อนที่พื้นที่จะถูก ‘เคลียร์’ เพื่อรับนักอนุรักษ์และนักท่องเที่ยวชุดใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาปลูกป่าเดิมๆ กันอีกครั้ง
ถ้าจะให้ดีขึ้นมาหน่อย ต้นไม้ที่ปลูกก็อาจจะรอดชีวิตมาได้จากการปลูกป่าอย่างลวกๆ ที่ว่านี้ แต่ผลผลิตสุดท้ายคือป่าเชิงเดี่ยวที่ไม่ได้ให้ผลดีอะไรเลยกับระบบนิเวศในระยะยาว (ถึงแม้จะช่วยดูดซับคาร์บอนแล้วก็ตาม) ถ้าหากเราอยากจะปลูกป่าอย่างถูกต้องและเพอร์เฟ็กต์จริงๆ แล้วล่ะก็ ป่าเป้าหมายนั้นก็จะต้องเหมาะสมกับพื้นที่และระบบนิเวศนั้นๆ ด้วย
พืชที่ปลูกต้องเป็นไม้พื้นถิ่นที่มีความหลากหลาย และมีหน้าที่ปลีกย่อยแตกต่างกันไป เพื่อทำให้ป่านั้นเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน โครงการเช่นนี้จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญในสายงานวนศาสตร์เข้ามาดูแล และมักดำเนินการต่อเนื่องหลายปี ผ่านการวิจัยและการปลูกพืชลงไปอย่างละเอียดรอบคอบ
การปลูกป่าด้วยวิธีนี้ใช้เวลาและกินแรงมากจริงๆ ผมยังจำได้แม่นยำเลย สมัยที่ต้องลุยป่าดิบเขาบนดอยอินทนนท์เพื่อเข้าไปดูไซต์ปลูกป่า ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถทำได้ง่ายๆ หากไร้การประกบของเจ้าหน้าที่อุทยาน แต่พื้นที่ป่าที่เห็นนั้นมันช่างแตกต่างไปจากที่ผมเคยเห็นมาทั้งชีวิต มันคือป่าปลูกที่มีความรู้สึกของป่าธรรมชาติอยู่เต็มไปหมด ทั้งไม้ยืนต้นและไม้คลุมดินที่กินพื้นที่จนเขียวชอุ่ม พร้อมสัมผัสของกลิ่นป่าที่ช่วยยืนยันได้เลยว่าผืนดินที่ผมยืนอยู่นั้นได้ถูกดูดซับไปเป็นส่วนหนึ่งของผืนไม้สีเขียวอันดับต้นๆ ของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของพี่ๆ จากค่ายเยาวชน EGCO ไทยรักษ์ป่า ที่เดินเท้าเข้ามาปลูกป่า ณ จุดนี้หลายปีก่อนหน้า)
จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ได้เข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบการปลูกป่าสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน แทนที่จะเดินเท้าเข้าไป เราก็มีโดรนช่วยทั้งการทำแผนที่และสำรวจบริเวณโดยรอบ พร้อมด้วยระบบฐานข้อมูลและการทำซิมูเลชัน ที่ช่วยให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้โดยเฉพาะสามารถวางแผนล่วงหน้าในการฟื้นฟูป่าได้เป็นปีๆ ไม่เพียงเท่านั้น ระบบดาวเทียมและการสื่อสารไร้สายยังช่วยให้การควบคุมและปกป้องดูแลพื้นที่นั้นสะดวกมากยิ่งขึ้น แถมเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้นักวิจัยด้านพรรณพืชและสัตว์ป่าสามารถใช้ประโยชน์จากการเก็บตัวอย่างและศึกษาพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด ปราศจากการรบกวนของมนุษย์ด้วยระบบสังเกตการณ์ระยะไกล
แน่นอนว่าพอมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไอเดียที่ดูโดดเด่นและแหวกแนวแบบสุดๆ ย่อมตามมาด้วยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ผมว่าคุณผู้อ่านก็คงรู้แล้วแหละครับ ว่าผมกำลังจะพูดถึงอะไร
ดังนั้นแล้วเราลองมาเข้าประเด็นกันเลยดีกว่า
หัวรบต้นไม้และระเบิดเมล็ดพืช
เครื่องบินขับไล่สุดทันสมัยเจนเนอเรชั่นล่าสุดอย่าง F-35, มิสไซล์ติดหัวรบนิวเคลียร์ตระกูล Trident บรรดาระบบอาวุธและเทคโนโลยีทางการทหารอีกนับไม่ถ้วนอันเป็นผลงานของบริษัทยุทโธปกรณ์ (และเทคโนโลยี) ชื่อดังเปรี้ยงปร้างอย่าง Lockheed Martin นั้นคงดูจะไม่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ป่าซักเท่าไหร่ แต่เชื่อเถอะครับว่าถ้ามีคำว่า ‘ระเบิด’ มาเกี่ยวข้องแล้วล่ะก็ คงไม่ผิดนักที่บริษัทอย่าง Lockheed จะอยู่เบื้องหลังไอเดียสุดแปลกนี้
ตัวโครงการถูกนำเสนอขึ้นมาในปี ค.ศ. 1999 (น่าจะ) โดยทีมงานวิจัยของทาง Lockheed Martin เองจากแนวคิดของ แจ็ก วอลเตอร์ (Jack Walters) อดีตนักบินรบจากกองทัพอากาศอังกฤษ ผ่านการออกแบบตัวโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กสำหรับใส่เมล็ดพืชหรือต้นอ่อนของพืชเอาไว้สำหรับทำ Aerial Reforestation โดยตัวระเบิดนั้นทำมาจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ แต่ก็ต้องแข็งแรงพอที่จะรักษาต้นไม้ไว้ได้จากแรงกระแทกเมื่อทิ้งลงมาจากเครื่องบิน C-130 Hercules (เครื่องบินลำเลียงทางทหารอันเลื่องชื่ออันเป็นผลงานของ Lockheed Martin เช่นกัน ดูเหมือนจะมีคนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวแถวนี้นะเนี่ย)
ตัวหัวของเจ้าลูกระเบิดนี้ ถูกออกแบบมาให้แหลมเพื่อที่จะสามารถพุ่งแหวกอากาศไปได้ในทิศตรงดิ่งลงสู่พื้นตามหลักอากาศพลศาสตร์อีกด้วย พร้อมกับใช้วัสดุเป็นโลหะย่อยสลายได้ (Biodegradable Metal) เพื่อเพิ่มน้ำหนักสำหรับทำการฝังพืชลงไปในดินได้ทันที ภายในส่วน ‘หัวรบ’ ยังสามารถบรรจุวัสดุปลูกรวมถึงปุ๋ยหรือสารอาหาร ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตในระยะแรกของพืชได้อีก เป็นการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตไปในตัว ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาคอนเซ็ปต์ Aerial Seeding หรือการปลูกพืชทางอากาศไปอีกขั้นหนึ่งนั่นเอง (ไม่มีระเบิดจริงๆ นะ เพราะแบบนั้นต้นไม้ไม่เหลือซากแน่นอน)
Lockheed Martin วางแผนว่าจะใช้พืชโตเร็วที่มีความทนทานสูงในภารกิจนี้ สำหรับการทิ้งบอมบ์ผืนป่าที่ถูกทำลายไปจากการตัดไม้เชิงพาณิชย์ (ทั้งถูกและผิดกฎหมาย) นี่หมายความว่าพรรณไม้ที่เลือกมาใช้ปลูกนั้นควรจะเป็นชนิดเดียวกับไม้ที่ถูกตัดไปนั่นแหละ (ซึ่งไม่น่าจะโตเร็วหรือทนแน่ๆ) การปลูกป่าจะทำโดยฝูงบิน C-130 ที่ความสูง 1,000 ฟุต และความเร็วประมาณ 130 น็อต (ประมาณ 240 กม./ชม.) เครื่องบินหนึ่งลำ สามารถทิ้งระเบิดต้นไม้ได้ถึง 3,000 ลูกต่อนาที รวมแล้วอย่างน้อย 125,000 ลูกต่อเที่ยวบิน
อย่างน้อยหนึ่งวันก็น่าจะได้ต้นไม้ใหม่ถึง 900,000 ต้นเลยทีเดียว ปีเตอร์ ซิมมอนส์ (Peter Simmons) โฆษกของทางบริษัทได้กล่าวเอาไว้อีกด้วยว่าความเป็นไปได้ของโครงการนี้ดูดีทีเดียว เพราะช่วยลดต้นทุน ประหยัดกำลังคน รวมถึงปลูกต้นไม้ได้ปริมาณมหาศาลในเวลาไม่กี่อึดใจ
น่าเสียดายที่โครงการระเบิดต้นไม้ของ Lockheed Martin ดูจะพุ่งสูงไม่เท่ากับโครงการอื่นๆ ครับ เพราะแทนที่จะกลายเป็นตัวอย่างนวัตกรรมสีเขียวของบริษัทยักษ์ใหญ่นี้ รายละเอียดต่างๆ กลับเลือนหายไปตามกาลเวลา นับเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วเห็นจะได้ ที่เราไม่รู้ถึงความคืบหน้าของโครงการนี้อีกเลย ถ้าจะให้ผมเดาแล้วล่ะก็ ปัญหาที่น่าจะทำให้โครงการนี้ถูกพับไปน่าจะมาจากทั้งการพัฒนาตัวบรรจุภัณฑ์หรือลูกระเบิด และการขาดงานวิจัยที่รองรับถึงประสิทธิภาพที่แท้จริงของเจ้าลูกระเบิดเหล่านี้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การปักหัวรบขนาดจิ๋วนี้ลงในดินได้สำเร็จก็ไม่ได้หมายความว่าพืชจะมีชีวิตรอดมากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญที่สุดคือถ้าต้นไม้ 900,000 ต้นที่ลงถึงพื้นโลกไปนั้นไม่มีต้นไหนรอดในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็หมายความว่าทุกอย่างที่ทำลงไปนั้นไร้ค่าแทบจะในทันที
ปัญหาอีกอย่างคือ การทิ้งระเบิดไม่สามารถให้ความละเอียดเทียบเท่ากับการปลูกด้วยมือได้ แทนที่จะได้ป่าปลูกผสมผสาน อาจเป็นไปได้ว่าจะได้ป่าเชิงเดี่ยวขึ้นมาแทน หากไม่ทำการศึกษาและเลือกชนิดพืชให้หลากหลายและเหมาะสมก่อนจะไปปูพรมทิ้งระเบิด (พืชที่ว่าต้องทนพอจะโดนปล่อยลงมาจากท้องฟ้าด้วยนี่สิ)
ปัญหาสุดท้ายเลยคือการเข้ามาของโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ ซึ่งทำลายแผนการใช้เครื่องบินของ Lockheed Martin ไปอย่างยับเยิน โดยโดรนสามารถให้ความละเอียดมากกว่าจากความสามารถในการบินระดับต่ำและลอยนิ่งอยู่กับที่ รวมถึงมีต้นทุนที่ถูกกว่าอย่างมหาศาล และไม่ต้องเสี่ยงชีวิตนักบินจริงๆ อีกด้วย
ปิดท้ายด้วยการที่โดรนเป็นอะไรที่เข้าถึงได้ง่ายสุดๆ ปัจจุบันนี้ใครๆ ก็ฝึกบินโดรนได้ในเวลาไม่นาน พร้อมด้วยความสามารถในการปรับแต่งให้เหมาะสมในแต่ละภารกิจอีกด้วย (Specialized drone ก็มีให้เห็นทั่วไปแล้ว ทั้สำหรับงานงส่งของ, ดับเพลิง, กู้ภัยและอีกนับไม่ถ้วน) จึงไม่แปลกใจจนเกินไปที่โครงการนี้จะหายไปในที่สุด ถึงแม้ Lockheed จะพยายามก่อตั้งบริษัทลูกมาทำงานร่วมกับรัฐบาลอังกฤษโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้ช่วยรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาได้เลย
อย่างไรก็ตามคอนเซ็ปต์ของการปลูกต้นไม้จากท้องฟ้าก็ยังไม่หายสาบสูญไปซะทีเดียว เพราะข้อได้เปรียบด้านจำนวนและความเร็วที่ยังคงมีอยู่นั่นเอง
โครงการทิ้งระเบิดต้นไม้ในประเทศไทย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าไทยเองก็มีการทิ้งระเบิดต้นไม้ด้วยเหมือนกัน แต่แทนที่เราจะเลือกพัฒนาหัวรบต้นไม้อันซับซ้อน เรากลับทำการผลิตลูกระเบิดชนิดออร์แกนิกขึ้นมา โดยใช้ดินและปุ๋ยเป็นวัสดุหลักก่อนจะฝังเมล็ดพืชเข้าไปภายใน แล้วจึงทำการปั้นเป็นก้อนกลมสำหรับทิ้งลงมาจากเครื่องบิน
โครงการนี้ถูกนำโดยกองทัพอากาศและทดลองในเขตอนุรักษ์ที่จังหวัดพิษณุโลกประมาณช่วงปี พ.ศ. 2559-2560 แต่ข้อมูลนั้นมีจำกัดมาก และดูเหมือนจะไม่มีการพัฒนาต่อของโครงการที่แน่ชัดซักเท่าไหร่
การทำ Aerial Seeding นั้นได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดไม่กี่ปีหลังจากนั้นผ่านนวัตกรรมของ Agricultural Drone และเทคโนโลยี IoT ทำให้กรรมวิธีนี้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิมในวงการเกษตรกรรม แต่ในด้านการปลูกป่าที่มีความสลับซับซ้อนสูงกว่ามากนั้นจึงส่งผลให้ยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนถึงประสิทธิภาพที่แท้จริง เห็นได้ชัดเลยจากโครงการตัวอย่างทั้งสองนี้ ที่เราควรฉุกคิดคือแนวคิดเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วที่มีเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์เป็นตัวแปรหลักกลับกลายเป็นความจริงขึ้นมาในโลกอนาคต
หรือปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ด้วยการเข้ามาของโดรนซะอย่างนั้น เพราะถ้าไม่มีโดรน กระบวนการ Aerial Seeding ก็น่าจะมีใช้อย่างจำกัดและไม่ถูกนำมาพัฒนาต่อเช่นทุกวันนี้ครับ
กระแสของโครงการ Team Tree กับการเฟ้นหาวิธี Reforestation
เดือนตุลาคม ค.ศ. 2019 กระแสการปลูกป่าก็ได้กลับมาฮิตติดเทรนด์โลกอีกครั้งหนึ่งเมื่อ ยูทูเบอร์ชื่อดังอย่าง Mr. Beast สุดยอดป๋านักแจก ร่วมมือกับ มาร์ก โรเบอร์ (Mark Rober) อัจฉริยะนักประดิษฐ์ อดีตวิศวกร NASA เพื่อก่อตั้ง Team Trees สำหรับเรี่ยไรเงินเป็นทุนในโครงการปลูกป่าด้วยต้นไม้มากกว่า 20 ล้านต้น โดยองค์กร Arbor Day Foundation ที่ดูแลด้านการปลูกป่าทั่วโลกจะเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบในการสานฝันโครงการนี้ให้เป็นจริง โดยการบริจาคหนึ่งดอลลาร์ฯ (ประมาณ 30 บาท) นั้นมีค่าเท่ากับต้นไม้หนึ่งต้นซึ่งจะถูกปลูกตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ตัวโครงการได้รับการสนับสนุนจากยูทูเบอร์ และผู้คนจากหลากหลายวงการ รวมถึงแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมการปลูกป่าหรือ Reforestation อันแปลกใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ยูทูเบอร์นาม I did a thing ก็ได้แสดงถึงวิธีผลิตหัวรบเมล็ดพืชของ Lockheed ขึ้นมาจริงๆ ถึงแม้ว่าจะไม่เวิร์กเท่าไหร่
มาร์กเองก็พาไปดูบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชื่อ DroneSeed ที่เป็นแนวหน้าในด้าน Aerial Reforestation ผ่านการพัฒนาโดรนและระบบปลูกพืชทางอากาศมาทำหน้าที่นี้ โดยเฉพาะโดรนของบริษัท DroneSeed สามารถปลูกป่าได้ด้วยความแม่นยำเสมือนปลูกด้วยมือเลยทีเดียว แต่ด้วยความเร็วที่มากกว่าถึง 6 เท่า และครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 40 เอเคอร์ (161,874 ตารางเมตร) ในหนึ่งวัน และทางบริษัทยังได้เข้ามาช่วยฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายไปจากไฟป่าในสหรัฐอีกด้วย
ถ้าหลายคนจำกันได้ ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียเมื่อปีที่ผ่านมานั้นมีความรุนแรงแบบสุดๆ และเล่นเอาพื้นที่ป่ารวมถึงแหล่งชุมชนกลายสภาพเป็นเขตรกร้าง หลังจากทะเลเพลิงได้กวาดเอาทุกอย่างไปจนเหลือแค่เถ้าธุลี หากไม่ใช้โดรนมาช่วย งานปลูกป่าด้วยมือย่อมใช้เวลามหาศาล แถมต้องเจอกับความเสี่ยงของไฟป่าระลอกใหม่อีกด้วย
สุดท้ายนี้ตัวโครงการ Team Trees ยังช่วยสร้างพื้นที่สื่อให้คนตระหนักและเข้าใจถึงการปลูกป่ามากยิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะดูเป็นการปลูกป่าแบบเดิมๆ ที่ใช้คนไปขุดหลุมและทำทุกอย่างจนจบ แต่อย่างน้อยผมก็ได้เห็นการพัฒนาในด้านความหลากหลายของพืชที่เลือกใช้และการที่โครงการนี้ได้ผู้เชี่ยวชาญมากมายมาเป็นผู้ร่วมดูแลให้สำเร็จในที่สุด
Team Trees จึงเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ช่วยผลักดัน Aerial Reforestation ได้อย่างไม่ต้องสงสัยครับ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราคงจะได้เห็นอุปกรณ์และนวัตกรรมที่แม่นยำขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และใช้ต้นทุนที่น้อยลง จนทำให้การปลูกป่าเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา
บทส่งท้าย
แนวคิดของ Aerial Seeding ที่ในปัจจุบัน ได้วิวัฒนาการมาเป็น Aerial Reforestation สำหรับการปลูกป่าโดยเฉพาะนั้นเป็นอะไรที่มีความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดอย่างที่ Lockheed เคยกล่าวเอาไว้เมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้ว แต่ปัญหาส่วนใหญ่เลยยังคงเดิม คืองานวิจัยที่ไม่มากพอเพราะแนวคิดนั้นพึ่งจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายไม่นานนัก รวมถึงประสิทธิภาพที่ยังน่ากังขา เมื่อเทียบกับการปลูกป่าด้วยมือหรือวิธีการอื่นๆ
ส่วนตัวแล้วผมมองว่าวิธีการนี้ควรจะทำควบคู่ไปกับการปลูกป่าด้วยมือ เพราะท้ายที่สุดแล้วหลักการสำคัญคือต้องรักษาผืนป่าที่ปลูกไว้ให้อยู่รอดตลอดไป ดังนั้นแล้วก็ต้องมีคนบุกเข้าไปสำรวจและลงพื้นที่จริงอยู่ดีว่าป่าที่ปลูกไปนั้นรอดจริงหรือไม่ การปลูกป่าทางอากาศจึงควรทำหลังจากต้นไม้สำคัญนั้น ถูกปลูกด้วยมือไปแล้วเพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนพืชให้หนาแน่นขึ้น โดยยังคงเสถียรภาพของระบบนิเวศเอาไว้ได้ และไม่ไปรบกวนการเจริญเติบโตของพืชหลักก่อนเวลาอันควร แต่ในกรณีที่ผืนป่านั้นถูกทำลายจนเหี้ยน การปูพรมทิ้งระเบิดเมล็ดพืชหรือต้นอ่อนเป็นหลักเลยก็อาจจะช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนได้แบบเทียบกันไม่ติด (มีการแนะนำให้ใช้เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทะเลทรายเลยด้วยซ้ำครับ)
ท้ายที่สุดแล้ว การทำลายป่าเป็นอะไรที่ง่ายกว่าการปลูกป่าเสมอ ธรรมชาติได้ย้ำเตือนและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนนับครั้งไม่ถ้วนจากผลกระทบที่ตามมาของผืนป่าที่ค่อยๆ หายไป แต่มนุษย์อย่างพวกเราจะสามารถกลับตัวและต่อสู้เพื่อพิทักษ์และซ่อมแซมผืนป่าที่เรากัดกินไปได้หรือไม่นั้น กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากร่วมกันเพิ่มต้นไม้ขึ้นมาบนโลกอย่างถูกวิธีแล้วล่ะก็ สามารถเข้าไปสนับสนุนหน่วยงานในไทยอย่างมูลนิธิไทยรักษ์ป่าหรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง และหากคุณยังอยากเป็นส่วนหนึ่งของ Team Trees แล้วล่ะก็ สามารถเข้าไปบริจาคได้โดยตรงเลยที่ https://teamtrees.org/
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=NEwBxcGAJwI&ab_channel=Ididathing
https://www.youtube.com/watch?v=U7nJBFjKqAY&ab_channel=MarkRober
https://teamtrees.org/
https://www.theguardian.com/uk/1999/sep/02/paulbrown
https://inhabitat.com/old-military-planes-repurposed-to-drop-900000-tree-bombs-a-day/
https://www.lifegate.com/thailand-seed-bombs
https://www.droneseed.com/
https://campaigns.wedonthavetime.org/finance-tree-seed-bombs-d086c77e-8edb-4f83-8dcb-
fdbed31d9348
https://big-john.com/uncategorized/seed-bombing-initiative-plants-900000-trees-daily/
วิกิพีเดีย
https://en.wikipedia.org/wiki/Team_Trees
https://en.wikipedia.org/wiki/Aerial_seeding
https://en.wikipedia.org/wiki/Agricultural_drone
Tags: Scientifica, SpaceTH