ย้อนไปราวๆ ห้าถึงสิบปีก่อน  หากเอ่ยถึงฮับที่เป็นขุมพลังทางไอทีและเทคโนโลยี หลายคนอาจจะนึกถึงซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ในสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นลิสต์ต้นๆ เพราะที่นี่ขึ้นชื่อด้านการเป็นแหล่งผลิตและบ่มเพาะนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ยากที่ใครจะโค่นแชมป์ลงง่ายๆ

แต่ระยะหลังมานี้  ‘จีน’ กลายเป็นชื่อที่ติดโผประเทศสุดไฮเทค เบียดแซงชาติมหาอำนาจตะวันตกขึ้นมาอย่างสูสี และแจ้งเกิดเป็นดาวดวงใหม่ด้านความไฮเทคที่ไม่มีใครกังขา เทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีนรุดหน้าไปไกลมาก ทั้งเครือข่ายสัญญาณ 5G ที่จีนทุ่มงบมหาศาลในการพัฒนา ล่าสุด 5G ยังไม่ทันได้ใช้ จีนก็เดินหน้าฉับไวแถลงแผนพัฒนาเทคโนโลยี 6G แล้ว อีกทั้งโครงข่าย Smart City ที่จีนนำร่องพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงแล้วในหลายเมือง จีนจึงเป็นประเทศที่กำลังเนื้อหอมสุดๆ ในด้านนวัตกรรมไฮเทคที่บริษัทชั้นนำทั่วโลกต่างก็อยากร่วมมือและร่วมงานด้วย

เมื่อพญามังกรกำลังก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางนวัตกรรมอย่างเต็มตัว รุ่งอรุณของเทคโนโลยีล้ำยุคทั้งเมืองอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ กำลังสาดส่องมาที่จีน ไทยเราจึงไม่รอช้า รีบคว้าโอกาสที่จะจับมือกันสร้างขีดความแข่งขันให้ภาคธุรกิจ ในนามของ ‘SCG-CAS ICCB Innovation Hub’ ซึ่งเป็นศูนย์ความร่วมมือเพื่อพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 5 อุตสาหกรรม คือ เมืองอัจฉริยะ, ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์, เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง, ธุรกิจพลังงานใหม่ และสิ่งแวดล้อมควบการพัฒนาที่ยั่งยืน

SCG ตั้งศูนย์นวัตกรรมดังกล่าว โดยจับมือกับ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences – CAS) องค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแนวหน้าของจีนที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ลงทุนร่วมกันด้วยมูลค่าโครงการเริ่มต้นกว่า 100 ล้านหยวน หรือตีเป็นเงินไทยราวๆ 500 ล้านบาท เพื่อเป็นพาร์ทเนอร์ในการร่วมวิจัย พัฒนานวัตกรรม และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้เกิดสินค้าและบริการที่ตรงใจผู้บริโภค

และโครงการนี้ยังเกิดขึ้นมาเพื่อเสริมสมรรถนะทางธุรกิจและสานต่อกลยุทธ์ทางนวัตกรรม ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของทั้งสององค์กร และช่วยผลักดันภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทย-จีน รวมถึงตอบโจทย์ตลาดธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนให้ตรงเป้ายิ่งขึ้น

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้เล่าถึงที่มาที่ไปและความร่วมมือที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ร่วมกับ ดร. เจียง เปียว ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS Innovation Cooperation Center (Bangkok) – CAS ICCB)  ทั้งสองจะมาแถลงไขว่าใน SCG-CAS ICCB Innovation Hub จะมีโปรเจ็กต์ล้ำๆ อะไรเกิดขึ้นเร็วๆ นี้บ้าง

ฮับนวัตกรรมที่อิมพอร์ตเทคโนโลยีล้ำๆ มาต่อยอดร่วมกันที่ไทย

          อย่างที่รู้กันว่าเอสซีจีให้ความสำคัญกับการร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อวิจัยต่อยอดความรู้อยู่เสมอ เห็นได้จากการจับมือกับพันธมิตรมากมายในครั้งที่ผ่านๆ มา เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่สุด ทั้งบรรจุภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกหลากหลายรูปแบบ  วัสดุก่อสร้างคุณภาพสูง บริการออกแบบที่อยู่อาศัยแบบ Universal Design รวมถึงโซลูชันสำหรับการก่อสร้างรูปแบบต่าง ๆ อย่างครบวงจร ไปจนถึงการพัฒนาเม็ดพลาสติกให้มีความแข็งแรงขึ้น แต่ใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง

การค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่เอสซีจีทำมาโดยตลอด และกำลังมุ่งมั่นทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ล่าสุด เอสซีจีร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน หรือ CAS ที่โดดเด่นด้านการวิจัยนวัตกรรมระดับโลก ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการจับมือกันเพื่อนำไปสู่ปลายทางการพัฒนาสินค้าและบริการที่ไม่ได้ตอบสนองแค่ตลาดในไทย แต่ยังขยายสเกลไปไกลถึงภูมิภาคอาเซียนด้วย

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เกริ่นให้เราฟังว่า “เอสซีจีมีโจทย์ตั้งต้นว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้สินค้าและบริการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดยิ่งขึ้น  ซึ่งกุญแจที่จะไขไปสู่คำตอบนั้น ก็คือการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสินค้าให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง (High Value Added Products & Services – HVA) CAS จึงเข้ามาเสริมทัพเพื่อการนี้โดยเฉพาะ”

หากใครไม่รู้จักสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนมาก่อน เราขอขมวดให้ฟังคร่าวๆ ว่าที่นี่คือสถาบันการศึกษาที่สูงที่สุดในแผนกวิทยาศาสตร์ของประเทศจีน ยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นสถาบันที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมแบบครบวงจร มีสถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศจีน และมีภาคีทางธุรกิจที่ร่วมมือกันอยู่ทั่วโลก

สถาบันแห่งนี้จึงเป็นแหล่งสร้างนักวิจัยและบ่มเพาะผลงานด้านนวัตกรรมมาแล้วนับไม่ถ้วน เป็นเหมือนต้นไม้ที่ออกดอกออกใบใต้ร่มของวิทยาศาสตร์ ที่จะเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาความก้าวหน้าของโลก รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกด้วย

เอสซีจีจึงร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนในการก่อตั้งสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS Innovation Cooperation Center (Bangkok) – CAS ICCB) เป็นแห่งแรกในไทย

ดร. เจียง เปียว ผู้อำนวยการ CAS ICCB กล่าวถึงโปรเจ็กต์นี้ว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือในการให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรมในไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อผลักดันเทคโนโลยีขั้นสูงของสถาบันให้เข้าสู่ตลาดในภูมิภาคนี้ และด้วยความต้องการที่แตกต่างด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เราจะวิจัยและพัฒนาร่วมกับเอสซีจีเพื่อให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค รวมถึงการอบรมบุคลากร เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด”

SCG-CAS ICCB Innovation Hub ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับศูนย์นวัตกรรมหรือ Open Innovation ของเอสซีจีที่มีอยู่เดิม ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยศูนย์นี้จะมุ่งเน้นการวิจัยไปที่ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีมูลค่าสูง ได้แก่

  • เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เช่น อาคารอัจฉริยะ (Smart building) การบริหารพลังงาน (Energy management) ทั้งเรื่องความปลอดภัยระหว่างอยู่ในอาคาร และและการเชื่อมโยงระบบระหว่างอาคาร
  • ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ (AI / Machine learning and Robotics)
  • เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Chemicals)
  • ธุรกิจพลังงานใหม่ (New energy business) เช่น พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) แบตเตอรี่ หรือระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System)
  • สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Environment and sustainability)

เนื่องจากทั้ง 5 อุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจสูง สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างหลากหลายทั่วโลก และตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีได้ในทุกมิติ

ส่วนความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น คือการก่อตั้งศูนย์ความร่วมมือ SCG-CAS ICCB Innovation Hub โดยศูนย์นี้เป็นความร่วมมือในหลักไมล์แรกของโครงการ คือมีการสร้างพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน เช่น เป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม ประชุมสัมมนาทางวิชาการ รวมถึงเป็นห้องทดลองเพื่อทำวิจัยร่วมกันระหว่างบุคลากรของเอสซีจีกับนักวิจัยจาก CAS ในมิติแรกสุด

มิติที่สอง คือการต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้มา มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศ โดยการนำใบอนุญาตและสิทธิบัตรจากการคิดค้นนวัตกรรมไปแปรรูปเป็นโซลูชัน สินค้าและบริการใหม่ของเอสซีจี เพื่อเสิร์ฟเข้าสู่ตลาดอาเซียน เช่น เทคโนโลยีเซนเซอร์สำหรับติดตั้งใน Smart building และโรงงานอุตสาหกรรม

มิติที่สาม คือ Joint Research Project หรือการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันซึ่งจะสืบเนื่องไปสู่ความร่วมมือในมิติที่สี่ คือการเสริมศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งการอบรมเฉพาะทาง การเวิร์กช็อปร่วมกัน การจัดหลักสูตรระยะสั้น รวมถึงการศึกษาขั้นสูงที่ CAS ถนัด

และมิติสุดท้าย คือความร่วมมือด้านการลงทุนร่วมกัน เพื่อแสวงหาโอกาสเชิงพาณิชย์ในประเทศจีน และร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันในอาเซียน ที่จะช่วยต่อยอดความก้าวหน้าทางนวัตกรรมในภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต

ก้าวต่อไปของฮับนวัตกรรมไทย-จีน

ดร.เจียง เปียว แสดงความเชื่อมั่นว่าการลงนามใน MOU เรื่องการจัดตั้ง SCG-CAS ICCB Innovation Hub ต่อหน้าผู้นำประเทศของทั้งสองประเทศ จะนำมาซึ่งความร่วมมือที่ดีระหว่างกันในเรื่องอาคารอัจฉริยะ อุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมในเอสซีจี

“ผมเชื่อว่าการประยุกต์ใช้ผลลัพธ์จากการวิจัยจะเป็นประโยชน์ทางธุรกิจของเอสซีจีและผู้ประกอบการไทยในระยะยาว”  ดร.เจียง เปียว กล่าวทิ้งท้าย

ส่วนทางรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส หัวเรือใหญ่ของเอสซีจีก็ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เราจะสามารถขยายขีดความสามารถเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้งสององค์กรให้กว้างไกลยิ่งขึ้นไป และจะช่วยสร้างให้ระบบนิเวศของการวิจัยและพัฒนามีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าเดิม และสิ่งที่เราหวังอย่างมากคือสินค้าเราจะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในตลาดทั้งเมืองไทยและอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาธุรกิจของเราให้เติบโตยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต”

 

Tags: , , ,