ชื่อสกาลามาจากไหน

โรงภาพยนตร์สกาลา แค่ชื่อก็รู้แล้วว่าต้องได้แรงบันดาลใจมาจากต่างแดน ซึ่งแรงบันดาลใจที่ว่านั้นก็คือ เตอาโตร อัลลา สกาลา (Teatro alla Scala) หรือ โรงอุปรากรลา สกาลาที่แสนโด่งดังในอิตาลีนั่นเอง

โรงอุปรากรลา สกาลา หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ลา สกาลา ตั้งอยู่ในเมืองมิลาน สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 และถือเป็นโรงอุปรากรอันดับต้นๆ ที่นักร้องโอเปร่าชื่อก้องโลกเคยไปปรากฏตัวมาแล้วมากมาย

ถึงแม้ว่าในชื่อโรงอุปรากรแห่งนี้จะมีคำว่า Scala ซึ่งหมายถึง บันได ในภาษาอิตาเลียน (ซึ่งรับมาจากภาษาละตินอีกที) อยู่ด้วย แต่ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะโรงอุปรากรนี้ขึ้นชื่อเรื่องบันไดหรือสร้างในบริเวณที่มีบันไดแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะ ลา สกาลา สร้างตรงที่แต่เดิมเป็นโบสถ์เก่าแก่ ซานตา มาเรีย อัลลา สกาลา (Santa Maria alla Scala) [ทำนองว่าถ้าสำนักงานทรัพย์สินฯ ของจุฬาฯ ทุบศาลเจ้าแม่ทับทิมตรงสะพานเหลืองทิ้งแล้วสร้างคอนโดมิเนียมใหม่โดยตั้งชื่อว่า ทับทิม]

โบสถ์ซานตา มาเรีย อัลลา สกาลา แห่งนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 14 โดยผู้ที่สั่งให้สร้างก็คือ แบร์นาโบ วิสกอนติ (Bernabò Visconti) ผู้เป็นลอร์ดแห่งเมืองมิลาน ส่วนที่ในชื่อมีคำว่า Scala อยู่ด้วยก็เพราะ วิสกอนติตั้งชื่อโบสถ์แห่งนี้เป็นเกียรติแก่ภรรยาของตน ผู้มีนามว่า เบอาตริเช เรจีนา เดลลา สกาลา (Beatrice Regina della Scala) หรือ เบอาตริเช เรจีนา แห่งตระกูลเดลลา สกาลา (Della Scala) นั่นเอง

ตระกูลนี้เป็นตระกูลที่ปกครองเมืองเวโรนา (Verona) ในช่วงศตวรรษที่ 13 และ 14 และด้วยความที่ชื่อตระกูลคือคำว่า Scala อยู่ จึงมีตราประจำตระกูลเป็นรูปบันได (บันไดพาด ไม่ใช่บันไดแบบในอาคาร

ส่วนที่มาของชื่อตระกูลนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บ้างก็บอกว่าต้นตระกูลอาจเป็นช่างทำบันได บ้างก็บอกว่าต้นตระกูลอาจจะมาจากภูมิภาคที่มีพื้นลดหลั่นเป็นขั้นคล้ายบันได หรือไม่ก็บอกว่าอันที่จริงแล้วต้นตระกูลมาจากทางเยอรมนีและชื่อเดิมของตระกูลมาจากคำภาษาสแกนดิเนเวียนที่แปลว่า บ้าน หรือกระท่อม บางคนถึงขนาดกล่าวอ้างว่าตระกูลนี้เป็นตระกูลแรกที่เริ่มใช้บันไดพาดกำแพงเมืองเวลาทำสงคราม

แต่ไม่ว่าชื่อของตระกูลนี้จะมีที่มาอย่างไร สรุปแล้วก็คือชื่อของโรงภาพยนตร์สกาลา มีที่มาจากตระกูลเก่าแก่ในอิตาลีนั่นเอง

ญาติของสกาลาในภาษาอังกฤษ

คำว่า scala ที่แปลว่า บันได ในภาษาอิตาเลียนและละติน มีญาติอยู่ในภาษาอังกฤษอยู่หลายคำทีเดียว

คำแรกที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือคำว่า scale ที่เป็นศัพท์ดนตรี หมายถึง บันไดเสียง หรือการไล่โน้ตจากต่ำไปสูงหรือสูงไปต่ำ (หากลองจินตนาการภาพตัวโน้ตบนบันไดห้าเส้น ก็จะเห็นว่าตัวโน้ตเรียงกันคล้ายบันได)

แต่ทั้งนี้ scale ที่แปลว่า เกล็ด หรือ ตราชั่ง ไม่ได้มีที่มาจาก scala ที่แปลว่า บันได ในภาษาละตินแต่อย่างใด scale ที่แปลว่า เกล็ด มาจากคำว่า escale ในภาษาฝรั่งเศสเก่า หมายถึง เกล็ด เปลือก ส่วนที่แปลว่า ตราชั่ง มาจาก skál ในภาษานอร์สเก่า หมายถึง ถ้วย ชาม หรือ จานของตราชั่ง นั่นเอง

อีกคำที่มีบันไดอยู่ในคำก็คือคำว่า escalator หรือบันไดเลื่อน คำนี้บางแหล่งก็บอกว่า ชาร์ลส์ ซีเบอร์เกอร์ (Charles Seeberger) ผู้ประดิษฐ์บันไดเลื่อน สร้างคำนี้ขึ้นจากการเอาคำว่า escalade ซึ่งเป็นศัพท์ทางการสงครามสมัยก่อน หมายถึง การใช้บันไดพาดกำแพงเมือง และมาจากคำว่า scala อีกที มารวมกับ elevator ที่หมายถึง ลิฟต์ แต่บางแหล่งก็บอกว่า ซีเบอร์เกอร์แค่เอาคำว่า scala ที่แปลว่า บันได มาเติมตัว e- เข้าไปข้างหน้าและเติมท้ายด้วย -tor เท่านั้นเอง

แต่ไม่ว่าที่มาจะเป็นอย่างไร ที่เห็นได้แน่ชัดก็คือ escalator มีที่มาจาก scala ที่แปลว่า บันได และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หลังจากที่เกิดสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า escalator แล้ว ก็เริ่มมีคนสร้างคำย้อนกลับ เป็นกริยา escalate พูดอีกอย่างก็คือ escalator ไม่ได้มาจากการนำ escalate มาเติม -or แบบ act เป็น actor แต่อย่างใด แต่กลับกันคือ escalate เกิดจากการนำ escalator มาตัด -or ออก (กระบวนการสร้างคำย้อนกลับแบบนี้เรียกว่า back-formation)

ทั้งนี้ หากเราสืบสาวกลับไปอีก ก็จะพบว่าคำว่า scala ในภาษาละตินที่หมายถึง บันได มาจากกริยา scandere ที่แปลว่า ปีน ไต่ ในภาษาละตินอีกทอดหนึ่ง ซึ่งมาปรากฏอยู่ในภาษาอังกฤษในรูป scend และ scens เช่นที่เห็นในคำว่า เช่น ascend (เคลื่อนขึ้น) descend (เคลื่อนลง) condescend (ลดตัว ดูเบา) และ transcend (ข้ามโพ้น)

กริยา scandere ที่แปลว่า ปีน หรือ ไต่ ยังถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยด้วย หมายถึง การไต่จังหวะขึ้นลงในโคลงกลอน หรือการอ่านกลอนตามจังหวะนั่นเอง ความหมายนี้ทำให้เกิดเป็นกริยา scan แต่เดิมหมายถึง การนับจังหวะหนักเบาและจำนวนพยางค์ในกาพย์กลอนทั้งหลาย (ถ้าใครเรียนกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษก็อาจจะเคยคุ้นเคยกับคำว่า scansion ซึ่งเป็นรูปคำนาม หรือที่ราชบัณฑิตฯ บัญญัติไว้ว่า ฉันทลักษณ์พินิจ) ในเวลาต่อมา ความหมายของคำว่า scan จึงเริ่มพัฒนาไป จนกลายมามีความหมายว่า ตรวจดูอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ (I scanned the audience for friendly faces. กวาดตามองหาคนรู้จักในบรรดาผู้ชม) กวาดตาผ่านเร็วๆ (I quickly scanned the document. อ่านเอกสารผ่านๆ) ไปจนถึง การสแกนด้วยเครื่องจักรเพื่อตรวจหาสิ่งที่อยู่ด้านใน (All carry-on bags must be scanned first. กระเป๋าที่หิ้วขึ้นเครื่องทุกใบต้องผ่านการตรวจสแกนก่อน) และการสแกนภาพหรือสิ่งของด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องสแกน เพื่อทำเป็นไฟล์ (I’ve scanned these photographs into my phone. สแกนภาพเข้าโทรศัพท์แล้ว)

ด้วยเหตุนี้ โรงภาพยนตร์สกาลา จึงไปโยงกับโน้ตเพลง บันไดเลื่อน และเครื่องสแกน ได้นั่นเอง

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

http://oed.com/

https://en.wikipedia.org/wiki/La_Scala

https://en.wikipedia.org/wiki/Scaliger

https://www.prachachat.net/spinoff/culture/news-481309

http://www.royin.go.th/wp-content/uploads/2015/03/2375_7022.pdf

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษไทย. ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2545.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ภาษาศาสตร์ (ภาษาศาสตร์ทั่วไป). ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2560.

Ayers, Donald M. English Words from Latin and Greek Elements. 2nd ed. The University of Arizona Press: Tuscon, 1986. 

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jeske, Jeff. Storied Words: The Writer’s Vocabulary and Its Origins. iUniverse, Inc.: New York, 2004.

Knapton, Michael, et al. Venice and the Veneto during the Renaissance: the Legacy of Benjamin Kohl. Firenze University Press: Firenze, 2014.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Reaney, P. H., R. M. Wilson. Oxford Dictionary of English Surnames. OUP: Oxford, 2005.

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

Tags: , ,