ถ้าจะเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองการปกครองในซาอุดิอาระเบียยามนี้ คงไม่ต่างอะไรกับบางฉากบางตอนในซีรีส์ฮิตอย่าง Game of Thrones ที่ต้องขับเคี่ยวและแย่งชิงทุกสิ่งอย่างกันด้วยไหวพริบ ชั้นเชิง และอำนาจ
นับตั้งแต่สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดัลอะซิซ อัล ซาอูด (Salman bin Abdulaziz al-Saud) เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2015 พระองค์ทรงนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสิ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนหลายอย่างในระบอบการปกครอง
ล่าสุดพระองค์ทรงเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรี พร้อมๆ กับเสริมกำลังให้มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) เพื่อควบคุมความปลอดภัยของประเทศ วาระนี้รวมถึงการสั่งปลดและจับกุมกลุ่มบุคคลตั้งแต่ระดับเจ้าชาย รัฐมนตรี และผู้บังคับบัญชาการทหาร
คณะบุคคลดังกล่าวไม่ได้ถูกควบคุมตัวเข้าที่ต้องขัง หากพระองค์ทรงจองห้องพักทั้งหมดของโรงแรมริตซ์ คาร์ลตันในกรุงริยาดไว้เพื่อการนี้ ในเว็บไซต์ของโรงแรมหรูแจ้งว่า ห้องพักรวมถึงห้องสวีทไม่มีเหลือว่างให้จองหรือเข้าพักไปจนถึงวันที่ 1 ธันวาคมปีนี้ ในวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้จัดการใหญ่ของโรงแรมต้องแจ้งแกมบังคับให้แขกในโรงแรมทุกคนเช็กเอาต์ออกจากห้องพักก่อนเวลา 23.00 น. หลังจากนั้น ไม่มีใครสามารถโทรศัพท์ติดต่อแผนกรีเซปชันได้อีก สัญญาณโทรศัพท์ของริตซ์ คาร์ลตันถูกตัดขาด
โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานทรงเปิดกรงทองไว้ควบคุมตัวเชื้อพระวงศ์ 11 คน รัฐมนตรีสี่คน และอดีตสมาชิกรัฐสภาอีกนับสิบคน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชั่น “ทุจริตในหน้าที่การงาน ฉ้อโกงเงินหลวง” คือคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากราชสำนัก
เชื้อพระวงศ์ 11 คน รัฐมนตรีสี่คน และอดีตสมาชิกรัฐสภาอีกนับสิบคน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชั่น คณะบุคคลดังกล่าวไม่ได้ถูกควบคุมตัวเข้าที่ต้องขัง แต่เป็นห้องพักทั้งหมดของโรงแรมริตซ์ คาร์ลตันในกรุงริยาด
ไม่มีใครในซาอุดิอาระเบียกล้าโต้แย้ง ว่าค่าใช้จ่ายส่วนตัวของบรรดาเจ้าชายนับร้อยนับพันองค์ทำให้สิ้นเปลืองเงินของชาติปีละเป็นพันล้านดอลลาร์ อย่างที่รู้กันว่า ชื่อประเทศเองก็ตั้งตามราชวงศ์ ‘อัล-ซาอูด’ บรรดาเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายมีส่วนร่วมในเงินกองคลัง และใช้จ่ายกันราวกับประเทศหรือความมั่งคั่งนั้นเป็นของตนเอง
ทั้งกษัตริย์ซัลมาน และโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงเฝ้ามองความเป็นไปอย่างทุกข์พระทัยมาตลอด เมื่อเห็นชนชั้นสูงของประเทศบางคนใช้จ่ายเงินหมดไปกับการเดินทางพักร้อนที่โมร็อกโกนานหนึ่งเดือนเป็นจำนวนเงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือบางคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีกับนโยบายปราบคอร์รัปชั่น ก็หมดเงินไปกว่า 500 ล้านดอลลาร์กับเรือยอชต์หนึ่งลำ พระองค์จึงดำริจะต่อสู้เพื่อยุติความฟุ่มเฟือยสิ้นเปลืองทั้งหลายของบรรดาเชื้อพระวงศ์เสีย
ทว่าเบื้องหลังการจับกุมเชื้อพระวงศ์และข้าราชการชั้นสูงครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจเด็ดขาดและฉับไว ในการกำจัดคู่แข่งให้พ้นทาง อย่างเช่น
เจ้าชายมูตาอิบ บิน อับดุลลอห์ (Mutaib bin Abdullah) ราชบุตรองค์โปรดของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอห์ บิน อับดัลอะซิซ อัล ซาอูด (Abdulla bin Abdulaziz al-Saud) ซึ่งเสด็จสวรรคตไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2015 ก่อนถึงวันถูกควบคุมตัว มูตาอิบยังดำรงตำแหน่งสูงสุดของหน่วยรักษาดินแดน กองกำลังส่วนใหญ่มาจากชาติพันธุ์นักรบ มีหน้าที่พิทักษ์สมาชิกราชวงศ์และบ่อน้ำมันในประเทศ หน่วยรักษาดินแดนนี้ กษัตริย์อับดุลลอห์ทรงเคยได้รับมอบหมายให้ดูแลตั้งแต่ปี 1962 เมื่อครั้งยังพระเยาว์ มูตาอิบเข้าไปรับตำแหน่งสำคัญสืบต่อในปี 2010
ตอนนี้โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานทรงใช้อำนาจที่มีตัดกิ่งของราชวงศ์ซาอูดไปแล้ว นับตั้งแต่ปี 2015 ที่พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเหล่าทัพ คราวนี้พระองค์ทรงควบตำแหน่งสำคัญอีกตำแหน่งในหน่วยรักษาดินแดน นอกจากลดทอนภยันตรายแล้ว ยังเป็นการเสริมความปลอดภัยให้กับพระราชวังอีกด้วย
เจ้าชายอัล-วาลีด บิน ทาลาล (Al-Waleed bin Talal) ซึ่งมีทรัพย์สินกว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และได้ชื่อว่าเป็นชายที่ร่ำรวยที่สุดในซาอุดิอาระเบีย อัล-วาลีดมีหุ้นใน Citigroup เครือโรงแรม Four Seasons บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ Time Warner และ Twitter นอกจากนั้น ยังเป็นเจ้าของ Rotana บริษัทสื่อบันเทิงใหญ่ที่สุดในโลกอาหรับ รวมถึงสถานีโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์นิตยสาร
อำนาจทางด้านสื่อและความมั่งคั่งของอัล-วาลีดส่อเป็นภัยต่อโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานได้ เนื่องจากพระองค์ทรงดำรินโยบาย Vision 2030 ขึ้นมา มีแผนการสร้าง Neom เมืองแห่งอนาคตมูลค่าห้าแสนล้านดอลลาร์ขึ้นที่ชายฝั่งทะเลแดง ทว่าอัล-วาลีด ผู้ร่ำรวยที่สุดของซาอุดิอาระเบียกลับไม่สนใจจะมีส่วนร่วมใน Vision 2030 หากกลับไปจับโปรเจ็กต์ก่อสร้างของตนเอง คล้ายจะแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ จึงไม่แปลกถ้าหากอัล-วาลีดจะถูกเด็ดปีกไปอีกราย
เจ้าชายมันซูร์ บิน มูคริน (Mansour bin Muqrin) ซึ่งเป็นราชบุตรของอดีตมกุฎราชกุมารมูคริน อัล-ซาอูด (Muqrin Al-Saud) มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี และรองผู้ว่าราชการจังหวัดอะซีร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซาอุดิอาระเบีย ในชีวิตส่วนตัว มันซูร์เป็นหุ้นส่วนกิจการแฟรนไชส์ Ethan Allen เป็นประธานมูลนิธิ Al-Bayan Foundation ที่สร้างวิทยาลัยเพื่อการศึกษาระดับสูงหลายแห่ง ในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายนที่มีคำสั่งจับกุม มันซูร์ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกับเจ้าหน้าที่หลายคน มุ่งหน้าไปทางชายแดน หลังจากนั้นมีข่าวเฮลิคอปเตอร์ตก และเสียชีวิต แต่ไม่มีการแจ้งสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้
เจ้าชายอัล-วาลีด ผู้ร่ำรวยที่สุดของซาอุดิอาระเบียกลับไม่สนใจจะมีส่วนร่วมใน Vision 2030 หากกลับไปจับโปรเจ็กต์ก่อสร้างของตนเอง คล้ายจะแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์
ในวันเดียวกันมีข่าวการเสียชีวิตเพิ่มอีกหนึ่งราย คือ เจ้าชายอับดัลอะซิซ บิน ฟาฮัด (Abdulaziz bin Fahd) ราชบุตรสุดท้องของกษัตริย์ฟาฮัด บิน อับดัลอะซิซ (Fahd bin Abdulaziz) ซึ่งมีชื่ออยู่ในลิสต์ที่ต้องถูกควบคุมตัว แต่อับดัล อะซิซขัดขืน รายงานข่าวของเว็บไซต์ Duran ระบุว่ามีเสียงปืนดังขึ้น และมีคนเสียชีวิตระหว่างการจับกุม
ปฏิบัติการอันแสดงออกถึงอำนาจของมกุฎราชกุมาร ทำให้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในหมู่ชนชั้นสูงในริยาด นับตั้งแต่การสถาปนาสถาบันกษัตริย์ขึ้นในปี 1932 ได้ยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติในการแบ่งถ่ายอำนาจกันในเครือญาติของผู้ก่อตั้งประเทศและรัชทายาท ที่ต่างมีชายาหลายคน การตัดสินใจเรื่องสำคัญมักกระทำกันในราชสำนัก ซึ่งมีรัชทายาทจำนวนกว่า 40 องค์ของกษัตริย์พระองค์แรก
เส้นทางที่ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงเลือกเดิน
ราชวงศ์ซัลมานที่ปกครองประเทศในปัจจุบันจะเป็นองค์สุดท้ายในจำนวนรัชทายาทของอับดัลอะซิซที่จะครองราชย์ในกรุงริยาด โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน-ผู้สืบราชบัลลังก์องค์ต่อไป ซึ่งเวลานี้ ได้ทรงปกครองประเทศโดยพฤตินัย และได้แสดงภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำที่แตกต่าง พระองค์ทรงมักปรึกษาหารือทุกเรื่องสำคัญกันในกลุ่มคณะเล็กๆ และทรงไม่หวาดหวั่นต่อการแข็งกร้าวรุกไล่พระญาติของพระองค์เอง ทรงเป็น ‘ฮาร์ดไลเนอร์’ อย่างที่สื่อตะวันตกเรียกขานกัน
ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า เส้นทางที่โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานทรงเลือกนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หลังจากพระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม พระองค์ทรงเริ่มจัดตั้งขบวนต่อต้านกบฏฮูตี (Houthi) ในประเทศเยเมนเพื่อนบ้าน พระองค์ทรงให้คำมั่นต่อกองกำลังทหาร จะนำพาประธานาธิบดี อับดุลรอบบูฮ์ มันซูร์ ฮาดิ (Abd Rabbuh Mansur Hadi) ที่ถูกโค่นอำนาจให้กลับคืนสู่ตำแหน่งอีกครั้ง เวลาผ่านมาสองปีครึ่ง ซาอุดิอาระเบียยังจับจดอยู่กับสงครามเยเมน
และในคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาที่มีคำสั่งปลดและจับกุมบุคคลสำคัญในกรุงริยาด กลุ่มกบฏฮูตีได้ยิงจรวดวิถีกลางพุ่งเป้ามายังเมืองหลวงของซาอุดิอาระเบีย กองทัพดักจับจรวดได้ที่บริเวณใกล้สนามบิน แรงระเบิดส่งเสียงให้ได้ยินทั่วทั้งเมือง รัฐบาลซาอุดิอาระเบียถือการโจมตีครั้งนี้เป็นการเปิดสงครามของอิหร่าน ผู้หนุนหลังกบฏฮูตี
สงครามเยเมนไม่ใช่โปรเจ็กต์แรกของโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานที่ส่อเค้าผิดพลาด หลังจากที่ได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารในเดือนมิถุนายน พระองค์ทรงมีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่ยังเป็นที่แคลงใจในความสำเร็จ
โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน-ผู้สืบราชบัลลังก์องค์ต่อไป ทรงมักปรึกษาหารือทุกเรื่องสำคัญกันในกลุ่มคณะเล็กๆ และทรงไม่หวาดหวั่นต่อการแข็งกร้าวรุกไล่พระญาติของพระองค์เอง ทรงเป็น ‘ฮาร์ดไลเนอร์’ อย่างที่สื่อตะวันตกเรียกขานกัน
โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานนับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในปฏิบัติการบอยคอตเพื่อนบ้านกาตาร์ ครั้นเวลาผ่านไปห้าเดือนหลังจากเริ่มวิกฤติ สถานการณ์กลับไม่ชัดเจนว่าพระองค์ทรงมีเป้าหมายอย่างไร จะเรียกว่าประสบความสำเร็จก็ดูไม่เป็นรูปธรรม เพราะนอกจากกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียแล้ว ก็ไม่มีประเทศไหนร่วมเข้าชื่อบอยคอตการ์ตา
โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานนำเสนอพระองค์เป็นผู้นำเพื่ออิสลามยุคใหม่ ทรงแถลงเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า พระองค์ปรารถนาให้ประชาชนในประเทศเดินตามแนวทางอิสลามสายกลาง ส่วนหนึ่งของการปฏิรูปนั้นรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายใหม่ในปีหน้า อนุญาติให้ผู้หญิงในซาอุดิอาระเบียขับรถยนต์ได้ แต่อะไรอย่างอื่นที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น กลับไม่มีใครรับรู้
ความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กลับเข้าสู่ภาวะสงบเรียบร้อยอีกครั้ง เมื่อมีคำชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า มาตรการปราบปรามคอร์รัปชั่นพุ่งเป้าไปที่รายบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่ที่กิจการ ฝ่ายธนาคารแห่งชาติซาอุดิอาระเบียเองก็ออกมายืนยันซ้ำครั้งว่า เหตุความไม่สงบนั้นไม่ส่งผลอะไรกับบริษัทและธนาคาร ขณะเดียวกันก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า ผลพวงจากมาตรการปราบปรามคอร์รัปชั่น ธนาคารทุกแห่งอายัดบัญชีของผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 บัญชี
ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาก็ออกปากว่า เชื่อมั่นในซาอุดิอาระเบีย เขายังเคยรายงานผ่านทวิตเตอร์ด้วยซ้ำว่า กษัตริย์ซัลมานและมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน “ทรงรู้ดีว่ากำลังทำอะไรอยู่”
ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด
อ้างอิง:
Spiegel Online
Zeit Online
www.pakistantoday.com.pk
www.stern.de