ผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัล ผลักดันให้หลายองค์กรต้องเร่งปรับตัว หากอยู่เฉยก็กลัวจะตกขบวนหรือต้องกลายเป็นผู้ตามหลังในที่สุด

แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์อาจยังไม่ชัดเจนนักว่าได้รับผลกระทบอย่างไรเมื่อเทียบกับฝั่งธนาคาร ที่ในเวลานี้ต่างปรับตัวกันขนานใหญ่ ส่วนธุรกิจสื่อก็เป็นอีกส่วนที่เห็นผลกระทบชัดเจนที่สุด เห็นได้จากการปรับตัวทางเนื้อหาและธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์

แสนสิริ ถือเป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีการขยับตัวมากกว่าใครเพื่อน ทั้งการจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่ทำงานด้านเทคโนโลยีและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เช่น Hostmaker, Farmshelf และ Monocle  การสร้างแอป Home Service สำหรับลูกบ้าน รวมทั้งการเปิดตัวบริษัทร่วมทุน สิริ เวนเจอร์ ที่มองหานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ

นอกจากการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่หาโซลูชันที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันแล้ว การเปลี่ยนแปลงจากภายในองค์กรก็สำคัญไม่แพ้กัน แสนสิริเองก็นำแนวคิดที่เรียกว่า ‘Agile’ มาใช้เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและเสริมประสิทธิภาพการทำงานของคนในองค์กรให้มากขึ้น และยังวางเป้าหมายให้อีก 3 ปีข้างหน้าเป็น Dream Place to Work สำหรับคนรุ่นใหม่

Agile หรือ เอจาวล์ คืออะไร

เป็นแนวคิดที่พลิกการทำงานในองค์กรแบบเดิมๆ ให้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จุดเริ่มต้นมาจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการไอทีและธุรกิจสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยี ก่อนจะขยายตัวไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ด้วยการทำงานแบบ Cross-Fuctional Teams รวมกลุ่มพนักงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากแต่ละแผนกเข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งทีม เพื่อให้การประสานงานและการตัดสินใจมีความรวดเร็วมากขึ้น  

ซึ่งบริษัทชั้นนำระดับโลกก็รับแนวคิดนี้มาใช้ เช่น Google, Zappos, BMW, Dell, Microsoft และ ING เป็นต้น เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพิ่มอิสระในการทำงาน และช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน โดยมีความต้องการของลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการ

ล่าช้า วนลูป และซ้ำซ้อน

อุทัย  อุทัยแสงสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฎิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บอกว่าแสนสิริได้ตัดสินใจเอาแนวคิด Agile เข้ามาใช้ในการปรับโครงสร้างองค์กร เนื่องจากเดิมที การทำงานจะแยกเป็นแต่ละแผนกอย่างชัดเจน จึงเกิดปัญหาว่าแต่ละโปรเจ็กต์มีการทำงานที่ซ้ำซ้อน หลายขั้นตอน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องรอการตัดสินใจจากผู้บริหาร จึงอาจทำให้งานมีความล่าช้า

“ปัญหาในอดีตคือการทำงานที่ถูกแยกเป็นแผนกต่างๆ ทำให้โปรดักต์สุดท้ายอาจไม่เหมือนที่วางแผนไว้ตอนแรก เพราะต้องผ่านการปรับแก้เป็นช่วงๆ ตามกระบวนการที่ต้องให้แต่ละแผนกในลำดับงานอนุมัติว่าผ่านหรือไม่

“เช่นแผนงานที่มาจากแผนกออกแบบผลิตภัณฑ์ ผ่านแผนกกฎหมาย แต่ไม่ผ่านแผนกก่อสร้าง งานนั้นก็จะถูกตีกลับมาที่แผนกออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อปรับแก้ใหม่ และส่งขึ้นไปให้แผนกในแต่ละสายงานอนุมัติอีกครั้ง”

Agile เป็นการทำงานแบบมีหลายแผนกงานในทีมเดียว (Cross Function) ซึ่งจะมีการเคลียร์ความเข้าใจด้านผลิตภัณฑ์และแผนงานกันก่อนว่าแต่ละแผนกงานมีความต้องการหรือมีข้อจำกัดอย่างไร เพื่อให้โปรดักส์ที่ออกมาตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

“เอากลุ่มคนที่ควรทำงานด้วยกันมาอยู่ร่วมกัน สมัยก่อนเรามองภาพแยกเป็นส่วนๆ แล้วคิดดูว่าเรามีแผนกจัดซื้อที่ดิน ออกแบบ กฎหมาย ก่อสร้าง ประเมินราคา โฆษณา และการขาย ซึ่งก็จะมีหัวหน้าแต่ละแผนกอีก กว่าที่ลูกน้องจะคุยกับหัวหน้า แล้วหัวหน้าก็ต้องเอาไปคุยกับรองประธาน เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว ก็ต้องนำเสนอให้กับฝ่ายโปรเจ็กต์และการตลาด แล้วถ้ามีแก้ไข ก็ต้องย้อนกลับมาที่ฝ่ายออกแบบ มันก็วนลูปไปมา ทำให้กระบวนการทำงานค่อนข้างล่าช้า

“ไหนๆ คุณก็ทำงานอยู่ในทีมอยู่แล้ว ก็จับทุกฝ่ายมาทำงานร่วมกันในแต่ละโปรเจ็กต์เลยดีกว่า ซึ่งจะมี Project Owner (PO) เป็นหัวหน้า ทีมหนึ่งมีทุกฝ่ายตั้งแต่ออกแบบไปจนถึงโฆษณาจะมานั่งดูด้วยกันว่าโปรเจ็กต์นี้ตอบโจทย์ลูกค้าไหม ฝ่ายก่อสร้างก็จะได้พิจารณาช่วงเวลาก่อสร้างด้วยว่าเหมาะสมไหม ถ้าไม่ได้ก็แก้กันตรงนี้ในกลุ่มเลย เป็นการทำงานที่ใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์จะสอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และการทำงานก็จะเป็นกลุ่มก้อนและมีการตัดสินใจที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ที่นำ Agile มาใช้ทั้งองค์กร

ปกติแล้วบริษัทต่างๆ มักจะเอาแนวคิดแบบ Agile ในใช้ในรูปแบบของ Project Based คือตั้งทีมขึ้นมาทำเป็นโปรเจ็กต์ เมื่อเสร็จแล้วก็สลายทีม แต่ของแสนสิริ เป็น Agile Transformation เป็นการเปลี่ยนทั้งองค์กร และถือว่าเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์เจ้าแรกของโลกที่ทำแบบนี้

“จริงๆ ไตรมาสแรกเราลองนำ Agile มาใช้กับโครงการคอนโดมิเนียมแล้ว เพราะเรามองว่าคอนโดมิเนียมเป็นโครงการที่ค่อนข้างไวต่อเทคโนโลยี เราจึงเลือกจับกลุ่มนี้ก่อน ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือ บรรยากาศการทำงานที่เปลี่ยนไป มีความรวดเร็วมากขึ้น พนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของงานมากขึ้น ต่อไปนี้เขาตัดสินใจเองกันได้ โดยรูปแบบการทำงานมันสอนให้พวกเขารู้จักการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ และการบริหารงาน”

ผลลัพธ์ของการใช้ Agile คาดหวังว่าจะเกิดผล 5 ประการ คือ การทำงานและการออกผลิตภัณฑ์ที่เร็วขึ้น การยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก (Customer Centric)  การพัฒนาวิธีการทำงานที่ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พนักงานมีส่วนร่วมและเกิดความเป็นเจ้าของผลงาน และการสร้างอำนาจให้พนักงานกล้าตัดสินใจ

แสนสิริมีพนักงานกว่า 2,500 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-35  ปี คาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า แนวคิด Agile จะช่วยให้แสนสิริเป็นองค์กรในฝันของคนมิลเลนเนียลและติดหนึ่งในสิบขององค์กรที่คนอยากเข้าทำงานด้วยมากที่สุด เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ที่คนอยากทำงานด้วย

“แต่การที่องค์กรจะเป็นแบบนั้นได้ เราต้องได้คนที่มีความรู้ความสามารถในการผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ เราเองมีความตั้งใจจะฝึกหัดพนักงานใหม่ ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อให้เกิดคุณค่าในตัวเอง และผมเชื่อว่ามันก็จะกลับมาสู่องค์กรที่มีการเรียนรู้ตลอดเวลา เป็นองค์กรที่มีนวัตกรรม

“ภาพที่ผมเห็นในอนาคตคือ เราเป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มี Housing Solution แบบครบวงจร”

เน้นขายลูกค้าต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ขณะที่ในงานเสวนา ตัวแทนจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา อภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงแผนงานของแสนสิริในปีนี้ว่า จะเน้นรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งจะพัฒนาโปรดักต์ที่มีราคาระดับ 5-10 ล้านสำหรับคนกลุ่มนี้ และจะมองหาพาร์ตเนอร์ต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น รถไฟฟ้า BTS

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราขยายการลงทุนในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน อย่างต่อเนื่อง เรามียอดขายจากลูกค้าต่างชาติในปีที่แล้วสูงถึง 9,300 ล้านบาท  โดยมีจีนและฮ่องกงเป็นลูกค้าหลัก คิดเป็นยอดขายถึง 3,100 ล้านบาท สิงคโปร์และไต้หวันก็เป็นสองตลาดที่ใหญ่และมีศักยภาพสูงเช่นกัน”

ปี 2561 แสนสิริจึงตั้งเป้าเพิ่มยอดขายในตลาดต่างประเทศสูงขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าถึง 13,000  ล้านบาท พร้อมทั้งขยายจำนวนตัวแทนจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเป็นอีก 50 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดการณ์ยอดขายต่างชาติที่ตั้งเป้าไว้คือตลาดจีน 40 เปอร์เซ็นต์ ฮ่องกง 33 เปอร์เซ็นต์ สิงคโปร์ 10 เปอร์เซ็นต์ และ ไต้หวัน 5 เปอร์เซ็นต์ พร้อมขยายสู่ตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มีกำลังซื้อและมองเรื่องผลตอบแทนในการลงทุน

จากปีที่แล้ว 9,300 ล้านบาท มาเป็น 13,000 ล้านบาท ฟังดูเหมือนง่าย แต่อภิชาติบอกว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องดูกำลังและความพร้อมของแสนสิริด้วย

“การที่เราตั้งเป้า 40เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 13,000 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องมีความพร้อมทุกอย่าง คือจะพูดว่าขายเท่าไรก็ได้ แต่กำลังของเราในการสร้างหรือโอนโครงการทันไหม คุณภาพก็ต้องได้ด้วย ไม่เช่นนั้นลูกค้าจะมาซื้อของเราได้อย่างไร” อภิชาติให้ความเห็น

ปีนี้แสนสิริมีทั้งหมด 31 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 6.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นคอนโดมิเนียม 12 โครงการ และที่เหลือเป็นโครงการแนวราบ

นอกจากนี้ ยังมุ่งที่จะพัฒนางานดีไซน์และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ  ให้กับลูกค้า คำนึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน Home Service ให้ดียิ่งขึ้น และคำนึงถึงความยั่งยืนและทำกิจกรรมเพื่อสังคม

Tags: , , , , , ,