เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยประจำเดือน ผ้าอนามัยถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เงินจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องถูกจัดสรรไว้สำหรับซื้อผ้าอนามัย ซึ่งผู้หญิงบางคนอาจจะต้องเจียดเงินเพิ่มสำหรับยาบรรเทาอาการต่างๆ ที่มาพร้อมกับประจำเดือน

โดยปกติแล้ว ผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนเมื่อเข้าสู่อายุ 11-14 ปี และก็จะมีประจำเดือนเรื่อยไปจนถึงอายุ 45-55 ปี ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ นั่นหมายความว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะมีประจำเดือนเป็นเวลากว่า 39 ปี หรือเกือบๆ 500 ครั้ง ในชีวิตของผู้หญิง ทั้งนี้ตัวเลขของภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยนั้นผันแปรตามปริมาณประจำเดือนที่มา ชนิดของผ้าอนามัยที่ใช้ ยาแก้ปวด ยาบรรเทา ซึ่งตัวเลขคาดคะเนที่จัดทำโดยสำนักข่าว หรือองค์กรต่างๆ ค่อนข้างแตกต่างกัน ถึงกระนั้นสิ่งที่ตัวเลขเหล่านี้สามารถบอกเป็นนัยได้ คือ ผ้าอนามัยนั้นจัดว่าเป็นภาระทางการเงินที่สำคัญของผู้หญิงที่มีรายได้น้อย

ในบางประเทศ การเข้าถึงผ้าอนามัยยังคงเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้หญิงหลายคน อย่างในภูมิภาคแอฟริกาที่อยู่ใต้บริเวณทะเลทรายสะ​ฮารา (Sub-Saharan Africa) ที่ซึ่งประชากรมากกว่า 40% อยู่ภายใต้เส้นความยากจน ผู้หญิงจำนวนมากในภูมิภาคนี้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก และหนึ่งในสาเหตุของความอัตคัตคือการเข้าถึงผ้าอนามัย

สำหรับสังคมแอฟริกาที่อยู่ใต้บริเวณทะเลทรายสะ​ฮารา ประจำเดือนถูกตีตราว่าเป็นเรื่องต้องห้าม น้อยคนนักที่จะกล้าพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผย แม้กระทั่งกับคนในครอบครัว ประจำเดือนถูกมองว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง ครอบครัวชาวแอฟริกันที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมจะห้ามผู้หญิงทำอาหาร หรือนอนบนเตียงเดียวกันกับสามีในช่วงที่มีประจำเดือน นอกจากนี้ผู้หญิงบางคนถึงกับยอมทิ้งกางเกงชั้นในที่เปื้อนคราบเลือดประจำเดือน ในอีกด้านหนึ่งผู้ชายหลายคนต่างเมินหน้าหนี เมื่อพวกเขาเดินผ่านบูธขายผ้าอนามัย พวกเขาไม่กล้าแม้จะแตะผ้าอนามัยที่พึ่งถูกแกะออกมาจากกล่อง

เยาวชนหญิงแอฟริกันซึ่งเพิ่งเข้าสู่วัยที่มีประจำเดือนดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญปัญหาและความยากลำบากในการเข้าถึงผ้าอนามัยมากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แรงกดดันจากค่านิยมของสังคม รวมทั้งสภาพที่ขัดสนทางการเงินของครอบครัวส่งผลให้เด็กๆ เหล่านี้ต้องหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งหลายคนกลัวว่าถ้าหากเล่าเรื่องนี้ให้ที่บ้านฟัง ไม่เพียงแต่จะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรพูดแล้ว แต่ยังจะเพิ่มภาระทางการเงินให้กับครอบครัว

วิธีแก้ปัญหาของเด็กหญิงแอฟริกันนั้นมีหลายแบบ โดยเด็กผู้หญิงจำนวนหนึ่งเลือกที่จะนำเศษผ้าเหลือใช้ที่ทิ้งแล้ว กระดาษหนังสือพิมพ์ เศษพืชที่หาได้ตามธรรมชาติมาใช้เป็นวัสดุแทนผ้าอนามัย ซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อและไร้ประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันบางคนตัดสินใจที่หยุดเรียนระหว่างที่พวกเธอมีประจำเดือน จากสถิติขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (Plan International) พบว่า หนึ่งในสิบของเด็กหญิงชาวแอฟริกันไม่ไปโรงเรียนระหว่างที่มีประจำเดือน “ถ้าหนูไปโรงเรียน ชุดของหนูจะเปื้อนเลือด และคนอื่นๆ (ในห้อง) ก็จะล้อเลียนหนู” ทานูส* เด็กหญิงชาวแคเมอรูน วัยสิบสามปีกล่าว

ทั้งนี้เด็กและเยาวชนหญิงที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเรียน และทางบ้านมีฐานะยากจนส่วนใหญ่ต่างรู้สึกเป็นทุกข์ จากรายงานการศึกษาของยูนิเซฟพบว่าเด็กวัยรุ่นหญิงในประเทศบูร์กินา ฟาโซ (Burkina Faso) กว่า 83% รู้สึกเครียดและกดดันเกี่ยวกับประจำเดือนของตัวเอง

ความต้องการที่จะก้าวข้ามอุปสรรคที่มาพร้อมกับประจำเดือน เพื่อที่ตนเองสามารถเรียนหนังสือได้อย่างเต็มที่ผลักดันให้เยาวชนหญิงที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนแออัดและในถิ่นทุรกันดารใช้ร่างกายตนเองแลกกับผ้าอนามัย โดยหวังว่าการไม่ต้องหยุดเรียนจะนำมาซึ่งศึกษาที่ดี ซึ่งจะช่วยให้เธอและครอบครัวของเธอมีอนาคตที่ดีขึ้น

นักวิจัยชาวอังกฤษ เพเนโลพี ฟิลิปส์ โฮวาร์ด (Penelope Philips-Howard) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความจำเป็นที่มาพร้อมกับประจำเดือน และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในประเทศเคนย่า ซึ่งพบว่าเด็กผู้หญิง 1 ใน 10 คนที่มีอายุราวๆ 15 ปี “ใช้เซ็กซ์เพื่อแลกกับผ้าอนามัย” โดยเพเนโลพีอธิบายว่า “ความยากจนข้นแค้นอย่างสุดขั่ว (Extreme poverty) เป็นปัจจัยหลัก” ที่ทำให้เด็กผู้หญิงเลือกเส้นทางเดินนี้ ซึ่งเธอยังให้ข้อสังเกตอีกว่า “เด็กผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่บอบบางมากที่สุด พวกเธอเพิ่งจะมีประจำเดือนและรับรู้ (เรื่องประจำเดือน) น้อยกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งยังดูเหมือนจะไม่มีเงินเพียงพอที่จะหาซื้อผ้าอนามัยเหมือนกับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า”

ซินดี้* เยาวชนหญิงชาวเคนย่า ซึ่งมีอายุ 17 ปี เปิดเผยว่า “มีเด็กผู้หญิงมากมายที่นอน (กับผู้ชาย) เพื่อแลกกับเงินสำหรับไปซื้อผ้าอนามัยหรือในบางครั้งแลกกับตัวผ้าอนามัยเอง เพื่อนบ้านของดิฉันเคยพาเด็กผู้หญิงมาที่บ้านแล้วหลายคน” ทั้งนี้ซินดี้ยังเล่าอีกว่า เมื่อตอนที่ตนมีอายุ 14 ปี ตนยอมถอดเสื้อผ้าให้เพื่อนบ้านของเธอดู เพื่อแลกกับเงิน 50 ชิลลิ่งเคนย่า หรือประมาณ 0.50 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาของผ้าอนามัยหนึ่งกล่อง

บ่อยครั้งเด็กและเยาวชนหญิงหันไปพึ่ง ‘เพื่อนชาย’ โดยเพื่อนชายส่วนใหญ่นี้มีอายุมากกว่า และทำงานแล้ว ซึ่งจะคอยเคียงข้างและเป็น ‘สปอนเซอร์’ ของพวกเธออยู่เสมอ

ลิซ่า* ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 18 ปี กล่าวว่า “ถ้าเรารู้ว่าวันไหนเมนส์มา […] เราสามารถไปหาเขาได้ และเขาก็จะให้เงิน” เธอได้เล่าอีกว่า เธอเคยมี “เพื่อนชายที่จ่ายค่าผ้าอนามัยเป็นเวลากว่า 2-3 ปี” และเธอยังบอกอีกว่าพี่สาวคนโตของเธอก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน เพื่อที่จะได้มีผ้าอนามัยใช้

ณ ปัจจุบัน องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น ยูนิเซฟ ได้แจกจ่ายผ้าอนามัยที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ให้แก่เด็กและเยาวชนหญิงที่ครอบครัวมีฐานะยากจนตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งช่วยให้เด็กๆ สามารถไปเรียนหนังสือได้อย่างปกติ โดยที่พวกเธอไม่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสมแทนผ้าอนามัย ยิ่งไปกว่านั้นยังยับยั้งไม่ให้เยาวชนหญิงบางส่วนต้องใช้เรือนร่างเพื่อแลกกับผ้าอนามัย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา

สำหรับผู้หญิงในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายสะ​ฮาราแล้ว ผ้าอนามัยจัดว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับสองรองจากข้าว เมื่อเด็กและเยาวชนหญิงมีผ้าอนามัยเป็นของตัวเองแล้ว ซึ่งรวมถึงลิซ่า* เอง พวกเธอต่างเลือกที่จะมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียน และเลิกใช้เรือนร่างตัวเองหรือหันไปพึ่งเพื่อนชายผู้คอยสปอนเซอร์ผ้าอนามัยให้พวกเธอ

*นามสมมุติ

อ้างอิง:

https://www.lemonde.fr/afrique/article/2017/05/02/des-serviettes-hygieniques-bio-pour-lutter-contre-la-descolarisation-des-jeunes-camerounaises_5121164_3212.html

https://www.lemonde.fr/afrique/article/2019/07/04/au-kenya-rapports-sexuels-contre-serviettes-hygieniques_5485146_3212.html

https://www.lemonde.fr/afrique/article/2019/07/01/au-burkina-faso-des-serviettes-hygieniques-lavables-pour-faciliter-la-vie-des-femmes_5483777_3212.html

https://www.brookings.edu/blog/africa-in-focus/2018/11/21/figure-of-the-week-understanding-poverty-in-africa/

Tags: , , , ,