ตลอดสามเดือนนับแต่วันที่เปิดให้บริการ ชื่อของ ‘สามย่านมิตรทาวน์’ ก็ดังไปทั่วสื่อโซเซียล ทั้งในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม พร้อมภาพจากซอกมุมต่างๆ ราวกับย้ำเตือนว่าเป็นสถานที่ที่ทุกคนต้องไป ไม่เช่นนั้นตกเทรนด์

สามย่านมิตรทาวน์ เป็นโครงการมิกซ์ยูส ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนพญาไท-พระรามสี่ เนื้อที่กว่า 14 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวม 222,000 ตารางเมตร บริหารงานโดยบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 9,000 ล้านบาท ออกแบบภายใต้แนวคิด ‘คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้’ สะท้อนประวัติความเป็นมาในอดีตของทำเลที่ตั้งด้วยการนำเสนอในรูปแบบทันสมัย

‘สามย่าน’ ก่อนเคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมอาหารเจ้าดัง ท่ามกลางความขวักไขว่ของชุมชนคนในย่าน ตลาดสด และสถาบันอุดมศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทย บัดนี้ได้กลายเป็นสามย่านมิตรทาวน์ ที่เชื่อมโยงคลังอาหารและการเรียนรู้ไว้ด้วยกัน เป็นอาคารมิกซ์ยูสที่ทันสมัย ประกอบไปด้วยอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรม และศูนย์การค้า ที่ได้รับการสร้างสรรค์และออกแบบแต่ละส่วนของโครงการโดยบริษัทที่เชี่ยวชาญโดยตรงในแต่ละแขนง

Smart & Friendly 

“Smart & Friendly เป็นคอนเซ็ปต์ที่เราอยากให้เป็นตั้งแต่ต้น เราอยากทำสถานที่ที่เป็นที่พบปะของคนทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย”

วิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการ สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม บมจ. แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือโกลเด้นแลนด์ บอกเล่าถึงความเป็นมา  

Smart เราหมายถึงความฉลาด เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้สถานศึกษา ส่วน Friendly นั้น หมายถึงการเข้าถึงได้ง่าย ใครๆ มาที่นี่ไม่ต้องรู้สึกกังวลกับเรื่องการแต่งตัว” ซึ่งคล้องกับคำจำกัดความของโครงการนี้ที่ว่า ‘Mitr-ing (Meeting) place for all’ นั่นคือ เป็นทั้งแหล่งพบปะ และเป็นมิตรด้วย

“ปัจจุบันการทำโครงการบนที่ดินขนาดใหญ่ ถ้าจะทำเป็นอาคารสำนักงานอย่างเดียว หรือโรงแรมอย่างเดียว อาจมีความเสี่ยงในแง่ของการทำธุรกิจ แต่การทำโครงการในลักษณะอาคารมิกซ์ยูส ทุกอย่างช่วยเสริมซึ่งกันและกันได้ อย่างเรามีร้านค้าปลีกไว้คอยซัพพอร์ต ทั้งคนที่อยู่ในสำนักงาน และคนที่อยู่ในคอนโดมิเนียม ทุกอย่างมีโอกาสที่จะทำร่วมกัน ผมมองว่า ในอนาคตอีกสี่-ห้าปีข้างหน้า ย่านถนนพระรามสี่ ทุกโครงแทบจะเป็นมิกซ์ยูสทั้งหมด”

Functional & Practical

“อาคารแต่ละส่วนของโครงการ ‘สามย่านมิตรทาวน์’ ต้องการพื้นที่แตกต่างกัน เมื่อเราทำแต่ละส่วนให้มีคาแรกเตอร์ชัดเจนแล้ว การใช้สอยจะได้ไม่ฝืนและไม่ขัดด้วย”

ประดิชญา สิงหราช กรรมการผู้จัดการ Innovative Design & Architecture Co., Ltd. สถาปนิกร่วมงานกับ Plan Associates Co., Ltd. ผู้ดูแลการออกแบบภาพรวมโครงการ กล่าวถึงภาพรวมของงานสร้างสรรค์และออกแบบ 

“แต่การเชื่อมโยงของอาคารแต่ละส่วนให้ผูกรวมกันก็มี อย่างตัวอาคารสำนักงานที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เราก็เลือกใช้รูปทรงของตัวที่เป็นยอดอาคารมาเชื่อมกัน เป็นเส้นเฉียง-ที่หมายถึงความเฉียบคม-บอกทิศทางของสถานที่ สเต็ปแรกจะขนานกับตัวถนน สเต็ปที่สองจะขนานกับตัวที่ดิน สเต็ปที่สามก็จะขนานกับเส้นพระรามสี่ เวลามองจากระยะไกลเราจะรู้สึกได้ว่าถนนเส้นนี้เป็นถนนเส้นหลัก และตึกมันวางอยู่บนถนนเส้นนี้ ส่วนโพเดียมด้านหน้าก็ตอบรับกับหัวมุมถนนบริเวณแยกสามย่าน”

ด้านเทคโนโลยีที่ใช้ เป็นเทคโนโลยีที่ผู้ออกแบบคำนึงถึงความ practical มากกว่าอย่างอื่น เนื่องจากเป็นอาคารที่ต้องยืนหยัดอยู่อย่างน้อย 30 ปีตามอายุสัญญา จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการใช้งาน ความสะดวกในการบำรุงรักษา ความคุ้มค่า ตลอดจนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนที่ใช้โครงการ

“ความจริงอาคารมิกซ์ยูสในเมืองไทยมีมานานแล้วนะครับ” สถาปนิกชี้แจงเพิ่มเติม “อย่าง MBK ที่มีทั้งออฟฟิศ ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ก่อนจะกลายเป็นอาคารออฟฟิศอย่างเดียว คอนโดฯ อย่างเดียว แต่ตอนนี้เทรนด์ในเรื่องการใช้พื้นที่ในเมือง มิกซ์ยูสจะตอบโจทย์ตรงที่ว่า ถ้าเป็นการพัฒนาแบบเดี่ยวๆ มันเป็นการใช้พื้นที่เพียงครึ่งวัน อย่างออฟฟิศก็ถูกใช้แค่ช่วงเวลาทำงาน พอตกเย็นหรือค่ำก็จะกลายเป็นตึกร้างไป

“หรือร้านค้าปลีก อาจจะเปิดสายกว่าออฟฟิศหน่อย อาจจะสิบโมงไปจนถึงสี่ทุ่ม หลังจากนั้นก็ปิด ส่วนอาคารที่พักอาศัยก็จะมีช่วงเวลาใช้งานช่วงเย็น ค่ำ ไปจนถึงช่วงเช้า คือถ้าเอาเวลาทั้งสามช่วงมาแมตช์กัน จะเห็นว่าพื้นที่ๆ เดียวมันสามารถใช้งานได้ยี่สิบสี่ชั่วโมง มันจะมีฟังก์ชันที่สามารถใช้งานได้ร่วมกัน อย่างที่จอดรถ งานระบบต่างๆ ที่พอทั้งสามส่วนมาใช้ด้วยกัน มันสามารถเซฟในส่วนที่ปิดไว้ ไม่ได้ใช้ ให้มันมาใช้เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น และทำให้ในแง่ของเมืองมันไม่ตาย”

Samyan Stories

“บริบทสำคัญของการออกแบบอาคารศูนย์การค้าในสามย่านมิตรทาวน์ คือ โลเคชั่น สามย่านเป็นแหล่งที่คนสูงวัยรู้จักกัน มันมีเรื่องราว ฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นดีไซเนอร์ เราก็มองว่า ถ้ามีโอกาส เราจะทำอย่างไรไม่ให้เรื่องราวมันตายไป แต่เราจะนำเสนอออกมาอีกเวอร์ชันหนึ่ง และทำให้มันมีชีวิตชีวา เหมาะสม นอกเหนือจากความสวยงาม”

วาลุกา โรจนะภิรมย์ ผู้อำนวยการ Urban Architects Co., Ltd. ผู้ออกแบบพื้นที่ศูนย์การค้า เล่าถึงแนวความคิดการพัฒนาโครงการ

“จากเดิมที่สามย่านเคยเป็นชุมชนไทย-จีนอยู่กันตามซอกซอยในลักษณะแนวนอน นั่นคือตึกสาม-สี่ชั้น มีร้านอาหารตามซอกตามซอย เมื่อเราต้องรวมมาเป็นมิกซ์ยูส เราก็ต้องสร้างคอมมูนิตี้ใหม่ในลักษณะแนวตั้งขึ้นมา และแบ่งเป็นโซนขึ้นไป ซึ่งเราก็แบ่งออกเป็นสามโซน สามย่านเหมือนกัน แต่ในลักษณะแนวตั้ง

“ย่านที่หนึ่ง เราสร้างเรื่องราวขึ้น ย่านที่หนึ่งเราจะรวมชั้น G กับชั้น Basement ออกแบบให้เหมือนถนนสายหลักในตัวเมือง จุดประสงค์ของการออกแบบส่วนนี้ให้ความสำคัญตรงที่ว่า เราอยากจะเชื่อมต่อคอมมูนิตี้ในย่านนี้ ระหว่างสถานศึกษา กับแหล่งที่พักอาศัยที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่จำกัดเฉพาะตัวโปรเจ็กต์ของเรา”

ย่านถัดไปเป็นการรวมชั้นหนึ่ง-สอง-สามเข้าด้วยกัน สะท้อนไลฟ์สไตล์ของคนเมือง มีเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ที่ตอบสนองชีวิตประวันของผู้คน

ส่วนชั้นสี่และห้า ถูกออกแบบเป็นย่านอาหารการกิน ผนวกความบันเทิง ซึ่งก็เป็นโรงภาพยนตร์เฮาส์ และโถงเอนกประสงค์ รวมถึงสวนสาธารณะที่ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปใช้ประโยชน์ได้

“ดิฉันคิดว่านี่คือการอยู่แบบวิน-วิน เราเป็นส่วนหนึ่งของย่านนี้ เรามีพื้นที่เปิดให้บริการสำหรับคนทั่วไป มากกว่าที่จะค้าขายทุกตารางนิ้ว”

Green Space

“สามย่านมิตรทาวน์เป็นโครงการที่เน้นการเข้าพื้นที่ได้ง่ายและเป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน เราออกแบบให้พื้นที่มีลักษณะเปิดกว้าง เพื่อให้เกิดการใช้งานร่วมกันของคนทุกเพศทุกวัยได้”

ธัชพล สุนทราจารย์ จาก Principle & Partner, Landscape Collaboration Co., Ltd. ผู้ออกแบบพื้นที่สีเขียวทั้งหมดของโครงการ กล่าวถึงการทำงาน

“เรื่องของพื้นที่สีเขียวเองเราก็อยาก maximize พื้นที่สีเขียว ในส่วนที่เราไม่ได้ใช้งาน เราก็ใส่ต้นไม้ให้เยอะเลย ซึ่งเราคิดว่า Landscape มันน่าจะช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม บริเวณสวนรอบอาคารชั้นหนึ่งฝั่งถนนพญาไทเป็นสวนที่เน้นการใช้งานร่วมกัน พันธุ์ไม้ที่เลือกใช้คือต้นยางนา ที่มีลักษณะสูงโปร่ง มีพุ่มใบด้านบน ส่วนบริเวณโค้งด้านถนนพระรามสี่ เราเน้นพันธุ์ไม้ที่มีสีสัน ให้ร่มเงา เป็นจุดที่คนสามารถนั่งพักก่อนเดินเข้าอาคาร ลานส่วนนี้ยังออกแบบเป็นทางลาดทั้งหมดด้วย ในลักษณะ Universal Design เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานพื้นที่ได้ง่าย

“บริเวณชั้นห้าเป็นพื้นที่โล่ง ให้คนเดินในแนวตั้งทะลุขึ้นมาใช้สอยได้ จะมีข้อจำกัดเพียงนิดหนึ่งคือ เนื่องจากเป็น Rooftop Garden เวลาเราปลูกต้นไม้ เราจะต้องมีกระถางหรือมีอะไรยกขึ้นมา อีกส่วนเป็นงานระบบที่มีส่วนทำให้พื้นบริเวณนี้ไม่เท่ากันตั้งแต่แรก นั่นเป็นเรื่องของข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้พื้นที่ดูสูงๆ ต่ำๆ บ้าง แต่เราก็คิดว่าดี เพราะว่าคนจะได้มองวิวไปข้างนอกได้ เราจึงเอาข้อจำกัดนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ โดยทำเป็นสเต็ปของพื้นที่ขึ้นไป พื้นที่เดิมความจริงค่อนข้างใหญ่ มีความกว้างในลักษณะยาว เราเลยใช้สเต็ปที่เปลี่ยนไปซอยพื้นที่ให้เล็กลง เป็นส่วนๆ เพื่อให้เป็นสเกลของคนที่ใช้ และรู้สึกเป็นมิตรกับเขา ไม่ได้ใหญ่จนข่ม หรือไม่รู้จะใช้อะไรกับพื้นที่โล่งๆ”

นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ Amphitheatre จุคนได้ประมาณหนึ่งร้อยคน สำหรับฉายหนังกลางแปลงตอนกลางคืน หรือจัดคอนเสิร์ต ถัดขึ้นไปเป็นจุดที่สูงขึ้นกว่าปกติ แต่เป็นจุดที่สามารถมองเห็นวิวอีกฝั่งหนึ่งได้

Check-in Spots

ไฮไลต์ของโครงการสามย่านมิตรทาวน์ที่โดดเด่นมีมากมาย ไม่ว่า โซนบริการ 24 ชั่วโมง, Samyan CO-OP ซึ่งเป็น Co-Learning Space ที่ผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมแนวสนุก มากด้วยพลังความสร้างสรรค์ และจุดเช็คอินที่กลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามวัน นั่นคือ อุโมงค์เชื่อมมิตร ระหว่างสามย่านมิตรทาวน์ กับสถานีรถไฟฟ้าสามย่าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการอื่นโดยรอบ

และอนาคตภายในอุโมงค์แห่งนี้จะมีการจัดเป็น Art Gallery แสดงผลงานศิลปะที่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทุกเพศทุกวัยอีกด้วย

“พื้นที่ Co-op เป็นการทำ CSR ของโครงการ ทำเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ได้ฟรี เปิด 24 ชั่วโมง เจตนารมณ์แรกที่เราคิดทำก็เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาใช้พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือได้ หรือแม้กระทั่งคนทำงานก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้เหมือนกัน ใครก็เข้าได้ เพียงแต่ต้องมาลงทะเบียนยืนยันตัวตนจริงด้วยบัตรประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้คนเข้ามาใช้พื้นที่ผิดจุดประสงค์ นั่นคือคอนเซ็ปต์หลักเลย

“เท่าที่ผ่านมามีผลตอบรับที่ดีมาก จนถึงทุกวันนี้มีสมาชิกกว่าสามหมื่นคนแล้วที่มาลงทะเบียนกับเรา ในแต่ละวันมีคนมาใช้พื้นที่ Co-op จำนวน 4-5 พันคน แต่ก็หมุนเวียนกันไป เท่าที่เราเช็คดู ต่อครั้งมีคนมาใช้ 2.5-4 ชั่วโมงต่อครั้ง

ความจุของพื้นที่มีจำนวน 500 ที่นั่ง ก็หมุนเวียนกันประมาณ 10 รอบ ช่วงใกล้สอบจะมีคนเข้ามาใช้เยอะหน่อย จะซาๆ ก็ช่วงดึกๆ”

– วิทวัส คุตตะเทพ

“ในส่วนของอาคารสำนักงาน เราคำนึงถึงเรื่องของการประหยัดพลังงานไว้เยอะ ไม่ว่าพวกผิวกระจกของตัวอาคารก็จะเป็นกระจกสองชั้น เป็นกระจกที่มี air gap ด้านใน ช่วยลดเรื่องความร้อน แต่เปิดให้แสงสว่างเข้ามา และป้องกันเสียงรบกวนจากถนนได้มาก อีกอย่างมันเป็นวัสดุที่ดูแลรักษาง่ายด้วย

“ผมว่าอาคารนี้เราคำนึงถึงเรื่องการบำรุงรักษาเยอะมาก เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภาระสำหรับเจ้าของอาคาร และผู้ใช้อาคาร ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มันอยู่ได้นาน และใช้งานได้ดี สะดวก”

 – ประดิชญา สิงหราช

“ตอนแรกที่ออกแบบสร้างอุโมงค์เชื่อมมิตร เรานึกวาดภาพอีกแบบ เราคิดถึงการ finishing ที่สวยงาม แต่ระหว่างการก่อสร้างปรากฏว่าเราไปเห็นผู้รับเหมาทำอุโมงค์คอนกรีตสวยมาก สวนจนกระทั่งเราคิดว่าไม่ควรจะเอาอะไรไปปิดผิวของมันเลย เปิดเปลือยไปอย่างนั้นละ เป็นอุบัติเหตุที่เราไปเจอเอาระหว่างทาง เรียกว่าได้เรียนรู้ไปพร้อมกับการทำงาน”

– วาลุกา โรจนภิรมย์

“แม้ว่าจะเป็นแลนด์สเคปในโครงการที่เป็นเชิงพาณิชย์ แต่จริงๆ แลนด์สเคปทุกแห่งควรจะตอบกลับไปที่ภาพใหญ่ในเรื่องของสภาพแวดล้อมโดยรวม หรือ Contribution อื่นๆ ที่ให้กับเมือง เหมือนกับการเสียบปลั๊กสานไปเข้ากับส่วนองค์ประกอบเมือง แล้วกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ ผมว่านี่คือ Contribution ที่มันกลับไปให้กับเมือง ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและเรื่องของการใช้งานเป็นพื้นที่สาธารณะ

อนาคตเราก็หวังว่า โครงการอะไรก็ตาม รั้วนี่ถ้าไม่มีได้เลยก็จะดี หรืออย่างน้อยก็ควรทำให้มันเตี้ยลง โปร่งขึ้น ให้มันมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่เช่นนั้นต่อไปนี้เวลาเราเดินถนนที่เกิดการสร้างใหม่ทั้งหมด เราจะไม่เห็นร้านค้าหรืออะไรเลย นอกจากรั้วยาวตลอด ซึ่งไม่ดีเลยกับเมือง”

– ธัชพล สุนทราจารย์

Tags: , ,