บันไดเลื่อนพาเราขึ้นจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทึบทึมสู่แสงสว่างเบื้องบน ผ่านผู้คนและร้านค้าที่ตั้งแผงอยู่ใกล้วัดหัวลำโพง ซึ่งผู้คนมาทำบุญกันอย่างคึกคัก ฝั่งตรงข้ามคือสถาบันการศึกษาเก่าแก่อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตหนุ่มสาวเดินถือกระเป๋าหนังสือไปเข้าเรียนท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นของรั้วสถาบัน ความสดชื่นและใฝ่รู้ลอยอยู่ในอากาศ

ใกล้ๆ กับพื้นที่นั้นเอง คือไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เคยเป็นอดีตลานกว้าง ตอนนี้ล้อมรั้วมิดชิดเพื่อรักษาความปลอดภัยระหว่างดำเนินการพัฒนาโครงการ แต่ที่น่าสนใจและสะดุดตาคนที่เดินผ่านไปมาก็คือ ระหว่างการก่อสร้างนานนับปีนี้ กำแพงรั้วดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้พื้นที่ว่างๆ ที่เคยแข็งกระด้างบนฝาผนัง ให้กลายเป็นพื้นที่ปลดปล่อยความสร้างสรรค์ของศิลปินรุ่นใหม่ๆ ทั้งกราฟิกสีสด หรืออักขรศิลป์ดีไซน์เฉียบ ที่เข้ามาพลิกคำว่า ‘สามย่าน’ ให้สดใหม่และกระปรี้กระเปร่า

เรากำลังพูดถึง SAMYAN MITRTOWN โครงการขนาด 14 ไร่ ที่กำลังก่อร่างสร้างรูปขึ้นมาและพร้อมจะเปิดตัวในปลายปีหน้า อาคารสูงใหญ่ที่มาแทนที่ตึกแถวในอดีต จะวางบทบาทตัวเองอย่างไร หลายคนคงอดตั้งคำถามไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าที่นี่เคยเป็นย่านเก่าแก่ที่ความย้อนยุคคือเสน่ห์ของย่านนี้

ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด คงจะเป็น วู๊ดดี้-ธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ผู้เข้ามาพัฒนาโครงการดังกล่าว

“เวลาเราจะทำอะไรขึ้นมา เราจะนึกถึงจุดสุดท้ายก่อนที่จะเริ่มต้นสร้างเพราะเชื่อว่าถ้าเราสามารถสร้างความเป็นตัวตนของอาคารหรือเมือง หรือพื้นที่ มันจะถูกจดจำและอยู่ได้นาน เราไม่ได้ต้องการทำให้เป็นแค่คอนโด-ออฟฟิศ-รีเทลขึ้นมาแล้วเอาชื่อสามย่านมาแปะ คนก็จะจำไม่ค่อยได้ ใครมีเงินก็สร้างได้ใหม่กว่า ดีกว่า สวยกว่าด้วย เราจึงต้องหาตัวตนของอาคารให้ชัด

“เพราะฉะนั้นพอเราได้พื้นที่ตรงนี้มา เราก็ต้องดูว่าตรงนี้ อะไรที่มันจะสนองความต้องการของเมืองและชุมชนแถวนั้น และยังคงกลิ่นอายความเป็นสามย่านเอาไว้ ออกมาเป็นคอนเซปต์ มิตรทาวน์ เมืองที่เป็นมิตร”

MITRTOWN เมืองเล็กๆที่อยู่ใจกลางเมืองใหญ่

คุณวู๊ดดี้กล่าวต่อไปว่า เมื่อพูดถึงสามย่าน ใครๆ ก็คุ้นชื่อ อย่างน้อยก็รู้ว่าอยู่บริเวณไหนของกรุงเทพฯ เพราะเป็นพื้นที่เก่าแก่และเป็นชุมชนดั้งเดิม ซึ่งมีชื่อว่าตลาดสามย่าน เรียงรายไปด้วยห้องแถวเก่ามากมาย

“สมัยก่อนคนทำมาค้าขายกันที่นี่ก็เหมือนเป็นตำนาน คนที่เคยมาแถวจุฬาฯ หรือมาซื้อกับข้าวก็จะรู้จักดี ส่วนคนรุ่นใหม่อาจจะได้ยินชื่อบ้าง แต่อาจรู้แค่ว่ามีตลาดสามย่านอยู่ข้างหลังหรือมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่าน”

ก่อนจะเข้าเรื่องคอนเซปต์ เขาอธิบายว่าอาคารสูงใหญ่ที่เห็นนี้จะประกอบไปด้วยพื้นที่ที่มีการใช้งานสามลักษณะ คือเป็นอาคารใช้งานแบบผสมผสาน (Mixed-use) เพื่อจะสร้างให้เกิดคอมมูนิตี้ สอดรับและสนับสนุนกัน ได้แก่

“ส่วนแรกเป็นออฟฟิศขนาด 32 ชั้น (Intelligent Office Tower) ซึ่งตอบสนองด้านธุรกิจ สามย่านมิตรทาวน์ตั้งอยู่ในทำเลพระราม 4 – พญาไท และยังมีทางเดินเชื่อมตรงจากสถานีสามย่านที่เราลงทุนเจาะอุโมงค์เข้าไปที่สถานีเลย

“พอมีที่ทำงานแล้ว ก็ต้องมีที่อยู่อาศัย (Neo Explorer Living Platform) ซึ่งจะมีคอนโดมิเนียม ห้องละประมาณ 34 ตร.ม. เพื่อตอบสนองด้านการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษา คนทำงาน คณาจารย์ บุคลากร ฯลฯ เป็นที่ที่เขาทำงานเสร็จก็พักได้ด้วย”

“ส่วนสุดท้ายที่จะทำให้ครบวงจร คือส่วนของรีเทล (Urban Life Library) แต่ความท้าทายคือมันจะเป็นรีเทลแบบไหนที่จะต่างออกไปจากคนอื่น เพราะตอนนี้การแข่งขันในเรื่องศูนย์การค้าหรือค้าปลีกค่อนข้างสูง การที่เราจะทำให้แตกต่างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย”

ปลุกตำนานสามย่านในบ้านใหม่

“ถ้าไปถามคนรุ่นเก่าของจุฬาฯ อาจจะเป็นรุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ว่านึกถึงสามย่านแล้วนึกถึงอะไร เขาก็อาจจะนึกถึงตลาดสามย่าน ของกิน แต่ถามคนรุ่นใหม่เขาอาจจะไม่รู้แล้ว อาจจะจำว่าเป็นที่จอดรถ ครั้งหนึ่งเคยมีแต่ตอนนี้ทุบไปแล้ว เขาไม่ได้คลุกคลีกับมันเท่าคนรุ่นก่อน รู้เพียงว่ามันชื่อสามย่าน ซึ่งหายไปสิบปี

“เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำขึ้นมาใหม่ ผมชอบใช้คำว่า Remake the legend นั่นหมายความว่า ไม่จำเป็นที่เราจะต้องทำเหมือนเดิม สร้างตึกแถวเหมือนเดิม คงไว้ทุกอย่างแล้วเรียกว่าสิ่งนั้นคือการอนุรักษ์ของเก่า แต่เราจะเล่าเรื่องให้ร่วมสมัย

“ผมมักจะยกตัวอย่างเรื่อง แม่นาคพระโขนง ซึ่งใครๆ ก็รู้จัก ตั้งแต่รุ่นแม่ก็เป็นเรื่องความรักของผู้หญิงคนหนึ่ง พ่อมากก็มีความยึดเหนี่ยวไม่ยอมไป เราดูเรื่องนี้สร้างมาหลายเวอร์ชั่น แต่จู่ๆก็มีคนมาสร้างเป็นเรื่อง พ่อมากพระโขนง แล้วมันก็ทำเงินทำรายได้ให้คนอีกมากมาย จะเห็นว่าเนื้อเรื่องมันเรื่องเดียวกัน แต่มองจากคนละมุม มองความรักจากมุมของพ่อมาก ตำนานความรักดั้งเดิมก็ยังคงอยู่ เพียงแต่สร้างให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นและสัมผัสมุมใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา

“เหมือนกัน เราทำสามย่านมิตรทาวน์ เราก็หวังจะสร้างตำนานให้อีก 30 ปีต่อไปคนจำ ว่านี่คือภาพของสิ่งที่จะไปข้างหน้า ทำไมเราถึงจะต้องทำให้มันสมาร์ท ทำไมต้องใส่เทคโนโลยีเข้าไป ทำไมต้องมี Cashless payment ทำไมจะต้องเป็นที่ที่คนอยากทำสตาร์ตอัปต้องไป”

เป็นมิตร และ ใฝ่รู้ จุดต่างจากห้างที่รายล้อม

แน่นอนว่าคำถามนี้ต้องเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาจากทำเลสยาม-สามย่าน เราจะพบว่ามีศูนย์การค้ามากมายและพวกเขาต่างต้องสร้าง ‘จุดขาย’ ที่แตกต่างให้กับตัวเอง

“กลับมาที่คอนเซปต์ เรามองอยู่สองส่วน หนึ่งคือเนื่องจากตรงนี้เป็นตลาดเก่า แล้วนึกถึงสามย่านก็จะนึกถึงเรื่องอาหาร เช่น ถ้าเราอยากกินของดี ของอร่อยก็ต้องมาสามย่าน เพราะฉะนั้นเราจะชูความโดดเด่นเรื่องอาหาร ของกินขึ้นมา

“อีกส่วนหนึ่งคืออยู่ใกล้พื้นที่การศึกษา เป็นแหล่งของคนที่ใฝ่หาความรู้ ไม่เฉพาะนิสิตหรืออาจารย์ในจุฬาฯ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนที่มาใช้ชีวิตอยู่แถวนี้ Knowledge จึงเป็นสิ่งที่เราอยากให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

“เพราะฉะนั้น Food and Knowledge จึงเป็นแก่นสำคัญของเราในการสร้างโครงการให้ต่างกับคนอื่น เราไม่ได้ต้องการทำเรื่องแฟชั่นหรือศูนย์การค้าหรูหรา เราอยากให้ที่นี่มีความเป็นกันเอง เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและไม่อยากให้คนในพื้นที่หรือคนที่เข้ามาเดินรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ที่ของเขา

“คอนเซปต์ตลาดสามย่านสมัยก่อน ที่ถูกนำมาใช้ที่โครงการสามย่านมิตรทาวน์ ต้องมีความเป็นมิตร ไปแล้วสบายใจ ในขณะเดียวกันด้านการศึกษา ก็ต้องมีเรื่องความสมาร์ท ไปแล้วได้เรียนรู้มากขึ้น เข้าไปซื้ออาหารก็จริง แต่อาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้ว่าการทำอาหารเป็นยังไง สูตรอาหารเป็นอย่างไร และไปเจอคนที่ใฝ่หาความรู้ด้วยกัน”

คุณวู๊ดดี้สรุปสั้นๆ ว่า คำว่า ‘Friendly’ และ ‘Smart’ จึงถูกผสมผสานเข้าด้วยกัน และโจทย์สำคัญหลังจากนี้คือการดีไซน์พื้นที่ให้คนได้เชื่อมต่อมีปฏิสัมพันธ์กันเกิดเป็นมิตรภาพ

ชื่อโครงการ จึงออกมาเป็น MITRTOWN ซึ่งเล่นกับคำพ้องเสียงระหว่าง ‘Mid’ ในภาษาอังกฤษ กับ ‘มิตร’ ในภาษาไทย หมายความว่าไม่เพียงแต่มีที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่เป็นใจกลางที่เปี่ยมด้วยความเป็น ‘มิตร’ ตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง

“ถ้าดูในแง่ของการทำรั้วก็ดี โครงสร้างชั่วคราวที่ใช้ในการก่อสร้างก็ดี หรือการจัดการไซต์ เราให้ความสำคัญเรื่องเพื่อนบ้าน สิ่งแวดล้อม เป็นไซต์ตัวอย่างที่จะทำให้คนเห็นว่าการก่อสร้างหรือทำงานอะไรสักอย่างที่เป็นมิตรกับชุมชน เราต้องเริ่มตั้งแต่ต้น”

ความเป็นมิตร จะออกแบบแต่อิฐปูนไม่ได้

เมื่ออาคารเสร็จออกมาแล้ว มันจะทำให้คนเป็น ‘มิตร’ กันได้จริงหรือไม่ เพราะการเป็นเพื่อนไม่ใช่แค่จับคนสองคน (หรือหลายๆ คน) มาแนะนำชื่อให้รู้จักกัน แล้วรับประกันได้ว่าพวกเขาจะมีปฏิสัมพันธ์กันต่อไป

“ดีเวลลอปเมนท์ทุกอันในแง่ของอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือตึก ผมว่าเราทำฮาร์ดแวร์ได้ เราอาจจะเก่งเรื่องการออกแบบ ลงทุนทำตึกที่สวย จ้างสถาปนิกชื่อดัง แต่สิ่งที่จะต้องตามต่อหลังจากที่เราดีไซน์สิ่งเหล่านี้ไปแล้ว มันจะต้องได้ความรู้สึกนั้นมาด้วย

“เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการใส่ซอฟต์แวร์เข้าไป ในการบริหารจัดการก็ดี หรือการใส่คอนเทนต์ก็ดี ถ้าดูจากตึกที่เราทำผ่านๆ มา อย่างอาคาร ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ซึ่งเราเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่การเลือกใช้วัสดุที่ป้องกันความร้อน ใช้ต้นไม้ที่เป็นความเขียวและการประหยัดน้ำ แต่คนที่เดินเข้าไปต้องรู้สึกได้ว่าตึกมีความร่มรื่น หรือถ้าไปดูตึกเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ ซึ่งเน้นเรื่องธุรกิจและความสร้างสรรค์ จะเห็นถึงการออกแบบและกราฟิกที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์อยู่ภายใน อันนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันหมดว่าเราจะไปคิดถึงแต่พื้นที่หรือเรื่องกายภาพอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคิดถึงการดำเนินงานด้วย”

คุณวู๊ดดี้ยกตัวอย่างว่า ในกรณีของสามย่านมิตรทาวน์ ที่พื้นที่สามลักษณะมารวมกันและสอดประสานจนกลายเป็นเมืองขนาดย่อมนั้น สิ่งที่เน้นได้แก่ อาหารและการเรียนรู้ ด้านการเรียนรู้ คือการจัดพื้นที่อย่าง ‘สามย่าน โค-ออป’ พื้นที่ขนาด 1,300 ตารางเมตรที่เปิดให้เข้ามาใช้โดยไม่คิดค่าบริการ รองรับได้ประมาณ 500 ที่นั่ง

“แต่คงไม่จัดหาแค่พื้นที่ เราอยากจะใส่ Knowledge เข้าไปด้วย เช่น การจัดกิจกรรม การติวหนังสือ หรือเอา Speaker มาพูดสร้างแรงบันดาลใจหรือแบ่งปันความรู้ นี่คือสิ่งที่เราต้องการใส่เข้าไป แต่แน่นอนว่าการดำเนินงานจริงก็เป็นความท้าทายที่เราต้องรอดูว่าทำจริงๆแล้วมันจะเป็นไปได้แค่ไหน”

ส่วนด้านอาหาร ซอฟต์แวร์ที่จะใส่เข้ามาก็เช่นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ประกอบไปด้วยอาหารที่หลากหลาย รวมทั้งการชูอาหารระดับตำนานของสามย่านขึ้นมาให้คนรุ่นหลังได้รู้จักอีกครั้ง

“ไม่ว่าจะเป็นโจ๊กสามย่าน ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ข้าวต้มต่างๆ เราจะเอากลับมา แล้วเชิญชวนให้คนกลับเข้าไปลองชิมหรือดูว่าสิ่งที่เป็นตำนานนี้มีอยู่จริง และแม้ว่าร้านค้าปลีกจะแข่งขันกัน คนช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น แต่เรื่องกิน ต่อให้คุณซื้อไลน์แมน แต่คุณก็ยังอยากที่จะมาเจอคนหรืออยากมาได้กลิ่นอาหารที่ทำใหม่ๆ มาสัมผัสประสบการณ์ ต่อไปใครเคยอาศัย เรียนหนังสือ หรือทำงาน ถ้าเพื่อนชวนมาสามย่าน ก็ยังอยากจะกลับมาอีก เพราะมีประสบการณ์ร่วมกันมา นั่นคือสิ่งที่เราฝัน”

Tags: , , , ,