**บทความชิ้นนี้พยายามจะไม่เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์ แต่ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่**
เธอเป็นดาราสาวคนดัง นางร้ายในละครโทรทัศน์ เธอมีชีวิตแสนสุขกับสามีฝรั่งนักธุรกิจ ทั้งคู่มีบ้านหรูอยู่ชานเมือง ทุกอย่างดูหมดจดจนสามีเธอไปหลงไหลลัทธิประหลาด เจ้าลัทธิที่ทำตัวเป็นคนดี แต่จริงๆ เป็นตาแก่ตัณหากลับที่เธอต้องสังเวยตัวให้ คืนหนึ่งระหว่างขับรถกลับบ้าน เธอชนกับอะไรสักอย่าง รถพังยับแต่เธอแค่หัวแตก ที่โรงพยาบาลเธอพบกับชายแปลกหน้าที่มาขอต่อบุหรี่ หลังคุยเล่นกัน เขาบอกว่า เขาสามารถทำให้คนคนหนึ่งหายไปได้ หายไปเฉยๆ เธอไม่ต้องทำอะไร แค่พอเขาไม่กลับมาก็แจ้งตำรวจแล้วเขาจะหายไปตลอดกาล
ชายคนนั้นอยู่กับแม่ที่ป่วยหนัก แต่เขาไม่มีอะไรนอกจากสูทหล่อๆ กับรถหรูรุ่นเก่า เขาพยายามทำทุกอย่างหาเงินมาช่วยแม่ และนำไปสู่การประกอบอาชญากรรมที่เขาและเธอร่วมมือกัน
แล้วก็เป็นไปตามคาด เรื่องมันไม่ง่ายขนาดนั้น
หนังยาวเรื่องที่ 11 ของเป็นเอก รัตนเรือง ยังคงวนเวียนอยู่กับตัวละครที่ไร้ทางออกซึ่งนำไปสู่อาชญากรรม ความผิดบาปในใจ สถานการณ์ที่เลยเถิด และความขบขันขมขื่นผิดที่ผิดทาง หนังของเป็นเอกเล่นกับพล็อต การหักมุม เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงมากกว่าความนึกคิดภายในของตัวละคร บ่อยครั้งที่ตัวละครของเขาเป็นเพียงแบบจำลองของคนที่ตกอยู่ในเหตุการณ์แบบ ‘คนจะซวยช่วยไม่ได้’ มากกว่าจะเป็นมนุษย์ที่เลือดเนื้อจริงๆ ซึ่งมันเป็นทั้งข้อบกพร่องที่มักทำให้หนังของเขาแห้งแล้งทางอารมณ์ ในขณะเดียวกันมันก็เป็นสิ่งไม่จำเป็นนัก เพราะเขามุ่งนำเสนอเหตุการณ์ โลกเฉพาะที่พิลึกพิลั่นของหนัง มากกว่าเรื่องราวภายในของผู้คนอยู่แล้ว
Samui Song เริ่มเรื่องส่วนแรกอย่างกับพล็อตในละครทีวีที่วิกานดา นางเอกของเรื่องแสดงอยู่ ชีวิตที่ดูจะมีความสุขกลับเป็นเพียงภาพ หน้าชื่นอกตรม หนังเล่าส่วนแรกอย่างแห้งแล้งแข็งเกร็ง แขวนอยู่บนการแสดงเกือบล้นเกินอย่างจงใจของพลอย-เฌอมาลย์ ฉากหนึ่งในหนัง เธอรำพึงว่าอยากเล่นหนังของผู้กำกับอินดี้ อยากลองเป็นแบบอื่นดูบ้าง แล้วโดนปรามจากผู้จัดการของเธอว่าจะเล่นไปทำไม เงินก็ไม่ได้ เราเล่นละครแล้วดัง ทำให้คนรู้จัก ก็ต้องเล่นต่อไป แต่การเล่นละครของวิกานดา ไม่ใช่แค่ละครทีวีแต่ยังรวมถึงละครชีวิตของเธอกับสามีที่บ่มิไก๊ และการเป็นนางบำเรอให้กับเจ้าลัทธิ ชีวิตในส่วนแรกจึงเป็นอะไรที่คล้ายคลึงกับการพูดว่า โลกนี้คือละคร
แม้แต่กาย สเปนเซอร์ หนุ่มลึกลับที่พบในโรงพยาบาลก็เป็นเหมือนตัวละครแบบหนุ่มเจ้าสเน่ห์ บทสนทนาประดักประเดิดในลานจอดรถนำไปสู่การวางแผนฆาตกรรม ราวกับการฆ่าจะทำให้เธอได้ ‘เลิกเล่นละคร’ เสียที
ถ้าการอยากเล่นหนังของวิกานดา คือการอยากเข้าไปสู่ความจริงแบบอื่นๆ การฆ่าในหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนทางไปสู่เสรีภาพและความจริงแบบอื่นจริงๆ เมื่อหนังพลิกคว่ำคะมำหงายอย่างน่าตื่นเต้นในช่วงที่สองและสาม อยู่ดีๆ หนังก็ได้รับอิสระให้ตัวละครที่ควรจะเป็นแค่ Femme Fatale หรือ หนุ่มอันตราย ได้มีชีวิตนอกขนบของหนังในตระกูลอาชญากรรมนี้
โลกหลังการฆ่าเป็น ‘ความจริงแบบอื่นๆ’ ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ปราศจากบทสนทนาแข็งเกร็ง ขนบคุ้นเคยอันอุ่นใจสำหรับผู้ชมที่ตีตั๋วมาดูการสอนศีลธรรมผ่านนิทานสาธกของตัวละครที่ก่ออาชญากรรมแล้วสำนึกบาป โดนไล่ล่าลงโทษ แต่อยู่ดีๆ ผู้ชมก็จะได้เห็นนักฆ่าหนีตายที่ได้ท่องเที่ยวไปกับแม่ที่ป่วยไข้เสียอย่างนั้น ในความจริงแบบอื่นนี้ แม่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขให้กาย สเปนเซอร์ ต้องรับงานฆ่าคน แต่แม่ที่แข็งแรงขึ้นมาเฉยๆ กลายเป็นคู่หูเดินทาง (หนังเปิดตัวการฟื้นคืนของแม่ด้วยฉากที่ชวนระทึกที่สุดของหนัง ล้อเล่นกับอารมณ์ผู้ชมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความตายอีกครั้ง) ส่วนที่สองของหนังจึงสดใหม่ บ้าบอ และงดงามมากๆ
ในส่วนที่สามซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่องและคำใบ้ถึงจุดจบของความจริงแบบอื่นๆ โฟกัสที่สองสาววัยรุ่นที่มาพบกัน (อีกครั้ง) จากการฆ่าและอาชญากรรม ส่วนนี้กลายเป็นการสังเกตสังกาชีวิตผู้คนที่เยี่ยมยอด ความสัมพันธ์ของเด็กสาวสองคนในโลกเฉพาะที่พวกเธอจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปด้วยกัน จูบกันไม่หยุดหย่อน และใช้ชีวิตชิดทะเล
แต่เมื่อไม่มีสมุยสำหรับเธอ จึงไม่มีความจริงแบบอื่นๆ
เมื่อหนังกลับคืนมาสู่ตัวมันเองในช่วงท้าย เข้าสู่บทสรุปแบบโลกนี้คือละครอีกครั้ง มันจึงกลายเป็นว่า ช่วงเวลาที่หนังเข้าใกล้ความจริงคือช่วงเวลาของความไม่จริง ความจริงที่แท้ก็คืออะไรที่ดูละครๆ เสียดเย้ยทั้งตัวละครและผู้ชมว่า ไม่มีสมุยสำหรับเธอ ความจริงเป็นเพียงการหลบหนีชั่วครั้งคราว ส่วนความไม่จริงคือความจริงที่เราต้องกลับมาเผชิญในช่วงท้ายของเรื่อง ความจริงคือฉากหนึ่งของภาพยนตร์ แต่ชีวิตคือละคร ความลวงที่เป็นความจริง ความจริงที่เป็นได้แค่ alternate reality (หากว่ามีสมุย หากว่าแม่หายป่วย) แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันไม่มีสมุยสำหรับเธอ
มันจึงขมขื่นและขบขัน เมื่อพบว่าในโลกแบบละครๆ ของหนัง นี่เป็นครั้งแรกที่หนังของเป็นเอกมีความเป็นการเมือง (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) จนอาจจะรู้สึกอยู่ลางๆ ว่ามันเป็นหนังแบบ Post-ประชาธิป’ไทย เมื่อหนังพูดเสียงดังว่าเราทุกคนอยู่ในโลกที่ถูกควบคุมด้วยลัทธิบางอย่าง เราอาจรู้สึกไม่พอใจที่ถูกควบคุม ถูกใช้ ถูกกดขี่ข่มเหง แต่เราไม่มีพลังอำนาจพอจะจัดการกับเจ้าลัทธิ ที่เราทำได้คือฆ่ากันเองและยอมจำนน สืบสายพันธุ์ของลัทธินั้นต่อไปเรื่อยๆ
ถ้าช่วงที่สองของหนังคือการหลบหนีที่ไปไม่พ้น ช่วงที่สามจึงเป็นการสู้กลับของคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งหนังตบหน้าความพาฝันด้วยการบอกเป็นนัยว่า ที่เห็นๆ ก็เป็นเพียงแค่ฉากหนึ่งในหนังอาชญากรรมและโศกนาฏกรรม เป็นแค่ ‘สมุย’ ที่ไม่มีจริง
แม้ว่าหนังจะยังเป็นหนังแบบเป็นเอกๆ มีพล็อตทวิสต์ที่อาจจะทำให้ผู้ชมย่นหน้าผาก หรือมีความอวดฉลาดบางอย่างที่ผลักผู้ชมออกไป มีความแห้งแล้งที่ทำให้หนังไม่ดิ่งลึกลงไปกว่าผิวหน้าของมัน (ซึ่งเป็นปัญหาหลักของหนังเรื่องก่อนหน้าอย่าง ฝนตกขึ้นฟ้า) แต่นี่คือหนังของเป็นเอกที่จัดได้ว่าน่าตื่นเต้น โดยเฉพาะเมื่อเขาทำให้เห็นว่า เขาสามารถทำหนังแบบอื่นๆ ทำหนังที่อิสระจากพล็อต ขับเคลื่อนด้วยภาษาภาพมากกว่าเรื่องราว และมีความแพรวพราวที่มากกว่าพล็อตการก่ออาชญากรรม
Tags: ภาพยนตร์, เป็นเอก รัตนเรือง, พลอย เฌอมาลย์