หากใครเคยไปเยือนหมู่บ้านม้งบนดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ ความทรงจำเกี่ยวกับที่นั่นอาจจะเป็นป่าเขาและดอกไม้ กับหมู่บ้านชาวม้งที่เป็นฉากหลังประกอบในบรรยากาศ ใครที่สนใจเชิงวัฒนธรรมอาจได้เดินเข้าไปดูร้านรวงที่เต็มไปด้วยสินค้าท้องถิ่นโดยเฉพาะงานผ้า—ที่หากจับดูราคาแล้วอาจตกใจที่บางชิ้นสนนราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่นโดยที่นักท่องเที่ยวเองก็ไม่รู้ว่าทำไม และลึกลับกว่านั้น อาจมีน้อยคนที่รู้ว่าข้างบนนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตม้ง ที่บอกเล่าวิถีชนเผ่าของพวกเขาตั้งแต่เกิดจนตาย ฯลฯ
เราพบว่าบนดอยปุย ที่ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวขั้นเบสิกสำหรับคนเที่ยวเชียงใหม่ บนนั้นยังเต็มไปด้วยสิ่งที่เราไม่เคยเห็น และไม่เข้าใจ ซึ่งนั่นส่งผลกับคุณภาพชีวิตชาวม้ง ขณะที่การท่องเที่ยวและงานหัตถกรรมเป็นแหล่งรายได้สำคัญของพวกเขา แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่ได้ appreciate วัฒนธรรมชาวม้งมากพอที่จะสร้างรายได้ที่ยั่งยืน อาสาสมัครกลุ่มนี้จึงพยายามหานวัตกรรมที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้าใจและใส่ใจที่จะสนับสนุนสินค้าทางวัฒนธรรมมากขึ้น ไม่ใช่เพียงขึ้นเขาไปถ่ายรูปแล้วก็กลับ
Samsung OneWeek คือโครงการเพื่อสังคมโดยพนักงานซัมซุง ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สละวันพักร้อนไปกับการลงพื้นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา อาสาสมัครกว่า 30 ชีวิต ร่วมกับองค์การยูเนสโก ได้มาลงพื้นที่ ณ ดอยปุย ภายใต้โครงการแฮคกะธอน ‘Hack Culture: การแก้ปัญหาด้วยสื่อดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพสตรีและรักษาหัตถกรรมท้องถิ่น’
ตลอดเวลาหนึ่งสัปดาห์ อาสาสมัครต้องทำงานร่วมกับแม่บ้านเผ่าม้งที่ล้วนแต่เป็นช่างฝีมือผู้สืบสานงานหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญาสำคัญของชนเผ่า เพื่อหาทางร่วมกัน ในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาบันทึก ส่งต่อ สร้างความเข้าใจ และเพิ่มมูลค่าให้กับงานฝีมือของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นผ้าเขียนเทียนที่ทุกลวดลายล้วนมีความหมาย หรือผ้าปักม้งที่มีแพทเทิร์นลายปักซึ่งส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่นและต้องใช้ความประณีตขั้นสูง นำมาซึ่งราคาสูงลิ่วจับต้องยาก
ปัญหาหลักที่อยากแก้ไข
จากการลงพื้นที่ขององค์การยูเนสโก ที่เข้ามาศึกษากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อาข่า และม้ง ในเชียงใหม่ โดยได้สัมภาษณ์และทำความเข้าใจวิถีชีวิตของสตรีที่ทำงานหัตถกรรม พบว่าหัวข้อเหล่านี้คือความท้าทายที่ต้องเผชิญในการสร้างสรรค์และรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งในโครงการแฮคกะธอนครั้งนี้ ทีมอาสาสมัครและแม่บ้านเผ่าม้งจะได้ร่วมกันมองหาโมเดลในการแก้ปัญหาต่างๆ อันได้แก่
- การส่งต่อเทคนิคและลายผ้า ที่ตลอดมาอาศัยการส่งต่อแบบคนต่อคน รุ่นสู่รุ่น ยังไม่มีการจดบันทึกเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
- นักท่องเที่ยวขาดความเข้าใจในรายละเอียดของสินค้าวัฒนธรรม ยากต่อการตัดสินใจซื้อ รวมถึงตลาดยังมีข้อจำกัดแต่เพียงทางกายภาพ
- สินค้าหัตถกรรมที่ใช้เวลาในการผลิตงานยาวนาน ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่เป็นสินค้าในเชิงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะงานผ้าจากประเทศจีน
- ชาวม้งรุ่นใหม่เริ่มสนใจงานหัตถกรรมน้อยลง รวมถึงเริ่มห่างออกจากวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่เป็นสิ่งสำคัญทั้งต่ออัตลักษณ์ชนเผ่าและการท่องเที่ยว
ฟอร์มทีมแก้ปัญหา
ด้วยปัญหาที่ว่ามา อาสาสมัครซัมซุงจึงพยายามใช้ความเชี่ยวชาญทางนวัตกรรม ผนวกกับความสนับสนุนจากยูเนสโกที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงความเข้าใจในตัววัฒนธรรมของสตรีเผ่าม้งเอง มาหาวิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวเหล่านี้ โดยแบ่งกลุ่มกันเป็น 5 ทีมด้วยกัน ซึ่งในแต่ละทีมจะประกอบด้วย อาสาสมัครจากซัมซุง ผู้หญิงเผ่าม้ง นักธุรกิจเพื่อสังคม ธุรกิจแฟชั่น ธุรกิจหัตถกรรม ที่จะให้ความเห็นและคำแนะนำการใช้เทคโนโลยีเพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์และให้ความรู้เกี่ยวกับแผนงานด้านการตลาด และล่ามแปลภาษา ไทย-เกาหลี ซึ่งก่อนจะวางแผนสร้างโมเดลในการแก้ปัญหา ทางโครงการได้จัดอบรมในหัวข้อต่อไปนี้
- ความสำคัญของยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า การวิเคราะห์การตลาด (Semi-SWOT จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค)
- เรียนรู้จากรูปแบบธุรกิจและลูกค้า ใครคือลูกค้าของกลุ่มหัตถกรรมชาวม้ง
- การสร้างเครื่องหมายการค้าที่มีศักยภาพ
- ความสำคัญของตลาดออนไลน์
- การทำเนื้อหาเพื่อสื่อสารทางออนไลน์
- การตลาดทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก
นวัตกรรมจากความเข้มข้น 1 สัปดาห์
หลังจากได้ลงมือทำงานกันอย่างเข้มข้น แต่ละทีมได้ pitch งานกันในวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันชาติพันธุ์สากล ไอเดียของหลายกลุ่มน่าสนใจและหากได้ถูกนำไปใช้จริงในระยะยาว อาจจะนำมาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือแต่ละกลุ่มได้ขยายพื้นที่ของเรื่องเล่าไปสู่โลกออนไลน์ ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ต้องการซื้อสินค้า สามารถเข้าถึงวัฒนธรรมเผ่าม้งได้จากที่อื่น ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แต่บนดอยปุยหรือร้านค้าที่รับสินค้าไปขาย
ตัวอย่างเช่น TEAM C ที่คิดค้นแอปพลิเคชันขึ้นมา เพื่อให้สตรีชาวม้งใช้ในการสร้างแท็กเบรนด์ของตัวเอง เพียงกรอกข้อมูลลงไปในแอปพลิเคชันและพิมพ์ออกมาเป็นแท็กแบรนด์สำเร็จรูปเพื่อติดไว้กับสินค้า ภายในแท็กแบรนด์จะประกอบด้วย ชื่อแบรนด์ โลโก้ เรื่องเล่าเกี่ยวกับสินค้าที่ผู้สร้างงานใส่เข้าไปได้เอง รวมถึง QR Code ที่สามารถสแกนเข้าไปเรียนรู้วัฒนธรรมเพิ่มเติมได้ด้วย ขณะเดียวกันนอกจากพิมพ์ออกมา ยังสามารถแชร์ข้อมูลชุดเดียวกันนี้ไปบนเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมได้ทันทีเช่นกัน
หรือนวัตกรรมของ TEAM D ที่เน้นการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งและพัฒนาแบรนด์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สตรีชาวม้งนึกถึงอยู่ระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาพวกเธอยังใช้พลาสติกในการห่อหุ้มซึ่งนอกจากไม่ช่วยเสริมคุณค่าผลิตภัณฑ์แล้วยังไม่สอดคล้องกับแนวคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย แน่นอนว่าระหว่างการออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ทั้งทีมได้พูดคุยถึงอุปสรรคและความเป็นไปได้ในการใช้วัตถุดิบต่างๆ แหล่งผลิต รวมถึงการขนส่งและความทนทานในสภาพภูมิอากาศบนภูเขา
ขณะที่ TEAM A มุ่งเน้นไปที่ พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ พวกเขาออกแบบเว็บไซต์ที่จะบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมเผ่าม้ง เช่นความเชี่ยวชาญและภูมิปัญญาในด้านต่างๆ ของพวกเขา ความหมายของลายผ้าแต่ละลายที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและจิตวิญญาณชนเผ่า ที่สำคัญยังมีช่อง E-Learning ที่จะให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้วิธีปักผ้าในฐานะงานแฮนด์เมด มีทั้งคอร์สที่ฟรีและที่คิดค่าใช้จ่าย ด้วยวิธีการนี้นอกจากจะเป็นการโปรโมตวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการบันทึกวัฒนธรรมเก็บไว้ในระยะยาวด้วย
ส่วน 2 ทีมที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการนำเสนองานครั้งนี้คือ TEAM B และ TEAM E โดยทีม B เสนอไอเดีย Revitalize Project ขั้นแรกคือการทำสมุดแสตมป์แจกนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาบนดอยปุย ให้ทำกิจกรรมให้ครบทั้งในเชิงชมต้นไม้ดอกไม้ ไปจนถึงการเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และลองสัมผัสวิถีชีวิตชาวม้ง พร้อมทั้ง QR Code ในการสแกนเข้ามาอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ไปจนถึงการใช้ศักยภาพของโซเชียลมีเดียอย่างเต็มที่ในการบอกเล่าเรื่องราวที่จะสร้างความเข้าใจและเสริมมูลค่าของสินค้าได้มากขึ้น
ส่วนทีม E นำเสนอเว็บไซต์คลาสเรียนออนไลน์ สอนการทำลายเทียนและผ้าปักแบบเผ่าม้ง ที่ใช้โปรแกรมเอ็กเซลเข้ามาช่วยในการสร้างแพทเทิร์นออนไลน์ให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย พร้อมมีเรื่องราวประกอบว่าแต่ละลวดลายมีความหมายและที่มาที่ไปอย่างไร พร้อมกับทำชุดอุปกรณ์ปักผ้าสำเร็จรูปสำหรับนักท่องเที่ยว และชักชวนให้สตรีชาวม้งขยับขยายงานหัตถกรรมไปสู่ของชิ้นเล็กๆ นอกจากเสื้อผ้าทั้งตัว ที่น่าจะทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญยังให้ความสำคัญกับตัวแม่บ้านผู้ผลิตงาน ในการบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอเองออกไปในเว็บไซต์ด้วย
แม้จะเป็นเวลาเพียงน้อยนิด แต่อย่างน้อยโครงการนี้ก็ได้เพาะเมล็ดพันธุ์เอาไว้บนดอยปุย ไม่แน่ว่าในภายภาคหน้ากลุ่มสตรีชาวม้งจะได้นำไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเธอได้สำเร็จ แต่ที่แน่นอนคือพวกเธอน่าจะได้จดจำวันเวลาเหล่านี้และมองเห็นศักยภาพของตน
Fact Box
โครงการ Samsung OneWeek เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซัมซุงได้ส่งพนักงานกว่า 1,500 คน ไปช่วยเหลือผู้คนผ่านสถานศึกษาในท้องถิ่นและโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ และในปี 2562 นี้ ซัมซุงก็ได้จัดกิจกรรมใน 6 ประเทศในโครงการที่ต่างกัน อาทิ กัมพูชา คาซัคสถาน อินโดนีเซีย ฮังการี