เราคุ้นเคยกับ Gay Icon ยุคใหม่เป็นอันดี เช่นการขนานนามว่า คนนั้นคนนี้เป็นเหมือน ‘ขุ่นแม่’ ของชาวเกย์ เช่น มาดอนน่า, ไคลี มีนอก, เลดี้กาก้า, เมอรีล สตรีพ, เบตต์ มิดเลอร์ หรือแม้แต่รูพอล (RuPaul) ต้นตำรับรายการ Drag Race และอื่นๆ

ส่วนผู้ชายที่เป็น Gay Icon ก็มีเหมือนกัน เช่น เอลตัน จอห์น, ริคกี้ มาร์ติน, ฮาร์วีย์ มิลค์, เดวิด เบ็คแฮม, แชนนอน ทาทัม และคนอื่นๆ อีกหลายคน

แต่รู้ไหมครับ – ว่าคนคนแรกที่ถือว่าเป็น Gay Icon ในประวัติศาสตร์โลก ไม่ใช่ดารา นักแสดง นักฟุตบอล แล้วก็ไม่ได้เป็นคนธรรมดาสามัญด้วย

แต่เป็นนักบุญ!

ใช่ครับ – เขาคือนักบุญเซบาสเตียน ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดในปีไหน แต่เสียชีวิตใน ค.ศ. 288 หรือเกือบ 2,000 ปีที่แล้ว!

ในตอนนั้น การเป็นคริสเตียนถือเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะใต้ปกครองของโรมัน ใครเป็นคริสต์ต้องถูกจับไปประหารให้หมด เซบาสเตียนไม่ได้เป็นคนธรรมดา แต่เป็นถึงหนึ่งในทหารองครักษ์ของพระจักรพรรดิ เขาเลยต้องปิดบังความเป็นคริสต์ในตัว แต่ที่สุดก็ถูกจับได้ ว่ากันว่าเซบาสเตียนถูกมัดไว้กับต้นไม้ แล้วจักรพรรดิก็สั่งให้ใช้ธนูยิงจนเขาเสียชีวิต

แต่เซบาสเตียนกลายมาเป็น Gay Icon คนแรกในประวัติศาสตร์ได้อย่างไร?

‘ภาพ’ ของนักบุญเซบาสเตียนถูกนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่าในฐานะสัญลักษณ์ของชาวเกย์ เช่น ขึ้นปกนิตยสารเกย์หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะการให้นายแบบมาถ่ายภาพเลียนแบบ รวมทั้งปรากฏอยู่ในงานเขียน วรรณกรรม ภาพเขียน ภาพถ่าย ภาพศิลปะ ภาพยนตร์ จนหลายคนคิดว่า เอ…หรือตัวนักบุญเซบาสเตียนเองจะเป็นเกย์

‘ภาพจำ’ ของนักบุญเซบาสเตียนแบบที่เราคุ้นเคย เป็นภาพของชายหนุ่มหน้าตาดี แลดูสะอาดสะอ้าน ใบหน้าแลดูกึ่งเจ็บปวดกึ่งมีความสุข เช่นในภาพของ Bronzino หรือภาพของ Guido Reni และคนอื่นๆ อีกหลายคน

แต่มีผู้วิเคราะห์ว่า ภาพของเซบาสเตียนในรูปแบบนี้เกิดขึ้นเพราะอิทธิพลของวิธีคิดแบบมนุษย์นิยม (Humanism) ที่เริ่มขึ้นในยุโรป ภาพแบบนี้เป็นงานจิตรกรรมที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 15 ในอิตาลีเป็นต้นมา ก่อนหน้านั้น ภาพของเซบาสเตียนไม่ได้เป็นแบบนี้

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะศิลปินยุคนั้นย้อนกลับไปดูภาพหรือรูปปั้นของกรีกและโรมันโบราณ แล้วใช้เป็นแรงบันดาลใจ ทำให้ภาพที่สร้างออกมานั้น แม้เป็นภาพแนวศาสนา (เช่นภาพนักบุญต่างๆ) แต่ก็จะมีความเป็นมนุษย์แฝงฝังอยู่อย่างชัดเจนและแตกต่างจากภาพแนวศาสนายุคก่อนหน้า

‘ภาพจำ’ ของนักบุญเซบาสเตียนแบบที่เราคุ้นเคย เป็นภาพของชายหนุ่มหน้าตาดี แลดูสะอาดสะอ้าน ใบหน้าแลดูกึ่งเจ็บปวดกึ่งมีความสุข

อย่างภาพของนักบุญเซบาสเตียน แม้ทุกภาพจะต้องมีธนูปักอยู่ตามที่ต่างๆ (เช่น ที่หน้าอก ลำคอ ท้อง มีทั้งดอกเดียวและหลายดอก) แต่ส่วนใหญ่แทบไม่มีเลือดสดๆ สาดกระเซ็นให้เห็นเลย แผลที่ถูกธนูปักมักจะสะอาดเอี่ยม ขาวผ่อง ถ้ามีเลือดก็ซึมๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้บางภาพจะมีเทวดาปรากฏอยู่ด้วย แต่ก็ไม่มีการช่วยเหลือใดๆ จากพระเจ้า ทั้งหมดนี้คือความพยายามจะแสดงถึงศักยภาพความเป็นมนุษย์ เป็นภาพที่ยกย่องมนุษย์และความเป็นวีรบุรุษของมนุษย์ เป็นภาพที่ได้รับการ ‘ออกแบบ’ มาให้เป็นที่จดจำรำลึก

ในเวลาเดียวกัน บางคนก็วิเคราะห์ว่า ความที่ภาพของนักบุญเซบาสเตียนเป็นภาพที่ได้รับอิทธิพลมาจากกรีกและโรมันโบราณ จึงทำให้นักบุญเซบาสเตียนเปิดเผยเปลือยกายอวดกล้าม จะมีผ้าปิดก็ตรงเฉพาะอวัยวะเพศเท่านั้น ยิ่งเมื่อมาถึงยุคเรอเนสซองส์ ซึ่งเป็นยุคหนึ่งที่ให้กำเนิด ‘อัตลักษณ์เกย์’ (Gay Identity) ขึ้น เราจะพบภาพวาดของศิลปินจำนวนมากที่ฉายชัดถึงลักษณะ Homoerotic ในภาพ เช่นภาพของ Giovanni Bazzi (หรือ Il Sodoma) (ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปินที่ชอบวาดภาพนักบุญเซบาสเตียน และเขาก็ไม่เคยปฏิเสธว่าตัวเองชอบการร่วมเพศแบบ Sodomy) หรือภาพของ Rubens, Botticelli, Titian, John Singer Sargent, Crevelli, Gerrit Honthorst, Luca Signorelli และอื่นๆ อีกมากมาย โดยมีผู้อธิบายว่า ธนูนั้นหมายถึงการ ‘ถูกเสียบ’ เข้าไปในร่าง แต่ส่วนใหญ่ ภาพของนักบุญเซบาสเตียนไม่ได้แสดงใบหน้าอันเจ็บปวด กลับแสดงสีหน้าที่งดงามเกือบจะเป็นสุขด้วยซ้ำ หลายคนจึงเห็นว่านี่เป็นภาพที่เชื่อมโยงกับความเป็นเกย์และมีลักษณะ Homoeroticism ในแบบที่แนบเนียน

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคนสงสัยอยู่ดีว่า ก็ถ้าทอดตามองดูภาพรูปแบบเดียวกันทั่วแผ่นดิน เราจะเห็นได้เลยว่ายุคนั้นมีนักบุญองค์อื่นๆ อีกตั้งมาก ที่ถูกถ่ายทอดออกมาคล้ายๆ กัน เช่นมีผ้าผ่อนน้อยชิ้น อวดกล้ามเนื้อต่างๆ เหมือนกัน แถมนักบุญหลายองค์ก็ถูกยิงธนูใส่ด้วย แล้วทำไมนักบุญองค์อื่นถึงได้ไม่ถูกนำมาเป็น Gay Icon บ้างเล่า

สิบปีก่อน ตอนที่มีการรวบรวมภาพเขียนของเซนต์เซบาสเตียนโดย Guido Reni มาจัดแสดงที่ Dulwich Picture Gallery ในกรุงลอนดอน นักเขียนของ The Independent อย่าง ชาลส์ ดาร์เวนต์ (Charles Darwent) ก็พยายามตอบคำถามนี้ไว้ในบทความของเขา โดยพาเราย้อนกลับไปดู ‘ภาพจริง’ ของเซบาสเตียน คือภาพในโบสถ์แห่งหนึ่งกลางกรุงโรม เป็นภาพโมเสกของเซบาสเตียนที่เก่าแก่ที่สุดภาพหนึ่ง (คือสร้างขึ้นในราวศตวรรษที่ 7) ภาพนั้นแสดงให้เห็นว่า เซบาสเตียนไม่ได้เป็นหนุ่มรูปงามอะไรเลย แต่เป็นชายวัยกลางคนหนวดเฟิ้ม ใส่ชุดแบบไบแซนไทน์ที่รุงรังรุ่มร่าม ดูแล้วอายุเลย 40 ปีแน่ๆ แถมยังไม่มีธนูอะไรมาปักบนตัวด้วย

เรื่องจริงก็คือ แม้เซบาสเตียนจะถูกธนูยิงตามคำสั่งของจักรพรรดิ แต่เขาไม่ได้ตายในทันที เขารอดชีวิตต่อมาโดยมีนักบุญไอรีนแห่งโรมคอยพยาบาลให้ แต่มาตายจริงๆ เพราะปากพาจน เนื่องจากบังเอิญไปพบกับจักรพรรดิไดโอคลีเชียน (Diocletian) แล้วเลยเทศนาจักรพรรดิว่าเป็นพวกนอกรีต ควรจะกลับใจอะไรทำนองนี้ จักรพรรดิจึงสั่งให้คนทุบตีเขาด้วยไม้กระบองจนตาย แล้วโยนร่างของเขาลงในท่อน้ำทิ้งของโรม

ดาร์เวนต์สารภาพว่า เขาเองก็เดาไม่ถูกเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น จึงทำให้ผู้คนหยิบเอานักบุญเซบาสเตียนมาเป็น Gay Icon เพราะเท่าที่สืบสาวราวเรื่องดูประวัติของเซบาสเตียน ไม่ได้มีอะไรบ่งชี้เลยว่าเขาเป็นเกย์ แม้ว่าเซบาสเตียนจะไม่ได้แต่งงานก็ตามที แต่เขาเดาว่าเกิดจากความ Hype ในภาพเขียนยุคกลางและยุคเรอเนสซองส์นั่นแหละ ที่ส่งอิทธิพลต่องานยุคหลังๆ อีกทีหนึ่ง

ประวัติของเซบาสเตียน ไม่ได้มีอะไรบ่งชี้เลยว่าเขาเป็นเกย์ แม้ว่าเซบาสเตียนจะไม่ได้แต่งงานก็ตามที

ภาพเขียนจึงส่งต่อแนวคิดเรื่องเซนต์เซบาสเตียนเป็น Gay Icon โดยไร้เหตุผลมาสู่งานวรรณกรรมในยุคหลังหลายชิ้น เช่น เทนเนสซี วิลเลียมส์ เคยใช้ชื่อเซบาสเตียนเป็นชื่อตัวละครในละครอย่าง Suddenly, Last Summer ซึ่งตัวละครเซบาสเตียนเป็นเกย์และมีการวิเคราะห์กันยืดยาวว่าอ้างอิงถึงนักบุญเซบาสเตียนนี่แหละครับ ส่วนออสการ์ ไวลด์ ก็เคยใช้นามแฝงว่า Sebastian Melmoth ตามชื่อของเซนต์เซบาสเตียนในตอนที่เขาถูกเนรเทศ แต่คนที่ ‘แรง’ สุด กลับเป็นนักเขียนญี่ปุ่นอย่าง ยูคิโอะ มิชิมา เขาเขียนไว้ใน Confessions of a Mask อันเป็นหนังสืออัตชีวประวัติ เขาบอกว่าครั้งแรกที่หลั่งน้ำอสุจิ เขาหลั่งลงบนภาพนักบุญเซบาสเตียนนี่แหละ และก่อนมิชิมาจะทำฮาราคีรีคว้านท้องตัวเองจนเสียชีวิต เขาแต่งตัวเป็นนักบุญเซบาสเตียนแล้วถ่ายรูปเก็บเอาไว้ด้วย

ในศิลปะภาพยนตร์ก็มีเหมือนกันนะครับ กับหนังของผู้กำกับดังที่เป็นเกย์และเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์อย่าง เดเร็ค จาร์มาน (Derek Jarman) เขาเคยถ่ายหนังเรื่อง Sebastiane โดยใช้เด็กหนุ่มแต่งตัวโดยใช้ผ้าน้อยชิ้น แล้วทำให้ภาพของเซบาสเตียนในหนังออกมาอยู่ในภาวะสุขสุดยอด (Ecstasy) ที่ก้ำกึ่งระหว่างความสุขทางจิตวิญญาณและความสุขทางเพศ

ดาร์เวนต์บอกว่า การตีความเซบาสเตียนที่ประหลาดที่สุด น่าจะเป็นการตีความของโธมัส มานน์ (ซึ่งเปิดเผยภายหลังว่าเป็นเกย์) เขาเคยพูดไว้ตอนรับรางวัลโนเบลในปี 1929 ว่า เซนต์เซบาสเตียนเป็นสัญลักษณ์ของวีรบุรุษ โดยเขาบอกด้วยว่าเป็นวีรบุรุษสำหรับจิตวิญญาณแบบเยอรมันและศิลปะแบบเยอรมัน แต่สิบปีต่อมา นาซีเยอรมันก็ลุกขึ้นกำจัดชาวเกย์ของเยอรมันเสียแทบจะสิ้นซาก และโธมัส มานน์ ก็ต้องหนีออกนอกประเทศ

ทั้งหมดนี้ไม่มีใครบอกได้เลยว่าเพราะอะไร เซนต์เซบาสเตียนถึงเป็น Gay Icon คนแรก มันแลดูเหมือนไร้เหตุผลอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเราไปดูการวิเคราะห์ของ ซูซาน ซอนแท็ก (Susan Sontag) เราจะพบว่าเธอเคยวิเคราะห์ภาพของนักบุญเซบาสเตียนเอาไว้อย่างหนึ่งว่า ภาพของเซนต์เซบาสเตียนนั้นมีลักษณะประหลาดอย่างหนึ่ง ตรงที่ความงามของใบหน้าแลดู ‘แยกส่วน’ จากความเจ็บปวดของร่างกาย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้ร่างกายจะถูกธนูเสียบอยู่ แต่ใบหน้าของรูปต่างๆ กลับไม่แสดงอาการเจ็บปวดหรือบิดเบี้ยวออกมาเลย นั่นทำให้เกิดภาพที่พิเศษอย่างหนึ่งขึ้น คือความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างที่สุด และความงดงามอย่างที่สุด ได้มารวมกันอยู่ในที่เดียว แต่เป็นการรวมที่ ‘แยกขาด’ จากกันในเวลาเดียวกันด้วย และเป็นสภาวะที่งดงามและรวดร้าวอย่างที่สุดนี้เอง ที่ทำให้คนที่ถูกกดขี่เบียดขับมาทุกยุคสมัยอย่างชาวเกย์ทั้งหลาย สามารถรับรู้และ identify ตัวเองเข้ากับภาพทำนองนี้ได้

นี่อาจเป็นคำอธิบายที่ฟังดูไม่แข็งแรงเท่าไหร่ แต่ก็น่าจะเป็นตัวจุดประกายให้คุณลองมองดูรูปของนักบุญเซบาสเตียน แล้วมาหาคำตอบไปด้วยกัน – ว่าทำไมเซนต์เซบาสเตียนถึงได้กลายเป็น Gay Icon ไปได้

Tags: , , ,