ดูจะเป็นนิมิตหมายใหม่ ที่ตอนนี้ คณะรัฐมนตรีของเอธิโอเปียมีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง และที่น่าจับตาคือการแต่งตั้ง ซาห์เล-เวิร์ก ซิวเด (Sahle-Work Zewde) เป็นประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรกของประเทศ ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา

เดือนนี้ นายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาเหม็ด (Abiy Ahmed) ของเอธิโอเปีย ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งมีสัดส่วนผู้หญิงเกินครึ่ง และรวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงใหม่ อย่าง กระทรวงกลาโหมและกระทรวงสันติภาพซึ่งมีหน้าที่ดูแลหน่วยข่าวกรองและกรมตำรวจ และยังแต่งตั้งประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรกของประเทศ

ประธานาธิบดีคนใหม่ ซาห์เล-เวิร์ก ซิวเด นักการทูตหญิง วัย 68 ปี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญขององค์การสหประชาชาติหลายตำแหน่ง เคยเป็นผู้แทนองค์การสหประชาชาติในสหภาพแอฟริกา (African Union) เป็นหัวหน้าคณะสร้างสันติภาพในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง และผู้อำนวยการสำนักงานขององค์การสหประชาชาติในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา

เอธิโอเปียเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับต่ำที่สุดของตัวชี้วัดความเท่าเทียมทางเพศของประเทศที่อยู่ตอนล่างของทะเลทรายซาฮารา องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า “ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในเอธิโอเปียเสียเปรียบเด็กผู้ชายและผู้ชายหลายอย่าง ทั้งการได้รับการศึกษา สุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ และสิทธิขั้นพื้นฐาน

แม้ว่าตำแหน่งประธานาธิบดีจะเป็นตำแหน่งในเชิงพิธีการ เช่น เปิดประชุมรัฐสภา พบทูต และการตัดสินใจแต่งตั้งซาห์เล-เวิร์กก็เป็นการถ่วงดุลเชิงสัญลักษณ์ เซแลม มุซเซ (Selam Musse) ที่ปรึกษาด้านสื่อและเพศชาวเอธิโอเปียกล่าวและบอกด้วยว่า “เราต้องการผู้นำที่เข้มแข็งซึ่งเห็นผู้หญิงเป็นมากกว่าแม่และลูกสาว และต้องเป็นแรงบันดาลใจ เป็นตัวอย่างที่คนอยากทำตาม”

ส่วนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของเอธิโอเปียทวีตข้อความว่า “ในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างสังคมของเรา การแต่งตั้งผู้หญิงเป็นประมุขของรัฐไม่ใช่แค่การสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับอนาคต แต่ยังสร้างบรรทัดฐานว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ”

ตั้งแต่อาบีย์ อาเหม็ดดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2018 เขาสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในประเทศ การแต่งตั้งซาห์เล-เวิร์ก ประมุขของรัฐที่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศเป็นการเปลี่ยนแปลงล่าสุด ก่อนหน้านี้ เขาเพิ่งยุติการเป็นศัตรูกับเอริเทรีย ประเทศเพื่อนบ้านที่ขัดแย้งกันมาสองทศวรรษ ผ่อนปรนการควบคุมเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ เสนอให้มีการเลือกตั้งโดยมีพรรคการเมืองหลายพรรค ปล่อยนักโทษการเมือง และอนุญาตให้ผู้นำกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลกลับประเทศได้โดยไม่มีความผิด

อย่างไรก็ตาม เอธิโอเปียเป็นประเทศรัฐบาลเดียวมายาวนาน เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและกดทับผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมือง นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันก็อาจเป็นชนวนไปสู่ความรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งมีความตึงเครียดระหว่างชาติพันธุ์สูง อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งบุคคลอย่างซาห์เล-เวิร์ก ซึ่งถือว่าเป็นคนนอก อาจบรรเทาความกังวลได้

ในพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อหน้ารัฐสภา ซาห์เล-เวิร์กกล่าวว่า “ฉันเป็นผลิตผลของคนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและเสรีภาพทางการเมืองในประเทศนี้ และฉันจะทำงานหนักเพื่อรับใช้พวกเขา” เธอยังให้คำมั่นว่าจะทำงานในประเด็นผู้หญิง “ถ้าคุณคิดว่าฉันพูดเรื่องผู้หญิงมามากแล้ว รู้ไว้เลยว่าฉันเพิ่งเริ่ม” คำพูดนี้ถูกหยิบยกและเผยแพร่ไปทั่วโซเชียลมีเดียของเอธิโอเปีย

ประธานาธิบดีคนใหม่ยังกล่าวว่า จะมุ่งเน้นการสร้างสันติภาพจากทุกฝ่ายในประเทศที่มีความขัดแย้งจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์

“รัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่เชื่อมเราไว้ด้วยกัน ไม่ใช่แบ่งแยกเรา เพื่อสร้างประเทศและคนที่จะทำให้เราทุกคนภูมิใจ”

เอธิโอเปียเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมอนุรักษนิยม ผู้หญิงไม่มีโอกาสเท่าเทียมกับผู้ชาย แม้ว่าแรงงานครึ่งหนึ่งของประเทศนี้จะเป็นผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่พวกเธอไม่ได้ค่าจ้าง ยังมีการตัดคลิตอริส หรือขลิบอวัยวะเพศหญิงและการแต่งงานของเด็ก โดยเฉพาะในชนบท ซึ่งคิดเป็น 80% ของทั้งประเทศ

นอกจากนี้ เอธิโอเปียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่สองของทวีปแอฟริกา และเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาอดอยากเมื่อ 30 ปีก่อน มีการจัดการที่เป็นระบบ ทะเยอทะยานและควบคุมโดยศูนย์กลางได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในทวีป รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนไปเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในปี 2025 ทั้งที่ค่อยๆ มีความก้าวหน้าทีละนิด แต่เอธิโอเปียยังเป็นรัฐเผด็จการฝังลึกที่รัฐบาลชุดเดียวบริหารประเทศเดียวมาตั้งแต่ปี 1991

 

ที่มา:

ที่มาภาพ: EDUARDO SOTERAS / AFP

Tags: , ,