แรงกระเพื่อมจากเหตุก่อยิงในโรงเรียนที่รัฐฟลอริดาเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากการตื่นตัวของกลุ่มนักเรียนที่เรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายการครอบครองอาวุธปืนที่เข้มงวดแล้ว อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ การแพร่กระจายของข่าวปลอม (fake news) ในโลกออนไลน์ ที่ไปไกลถึงขนาดที่มีทฤษฎีสมคบคิดว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการจัดฉาก

โซเชียลมีเดียอาจเป็นช่องทางเชื่อมชาวอเมริกันในพื้นที่ต่างๆ ไว้ด้วยกัน ผ่านการแสดงอารมณ์ความรู้สึกหรือการเผยแพร่ข่าวสารเมื่อเกิดภัยร้าย แต่หนนี้ดูเหมือนว่าการใช้โซเชียลมีเดียซับซ้อนกว่าที่คิด โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทวิตเตอร์และยูทูบ

เพราะตอนนี้ โชเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่สงครามข้อมูลที่ไม่รู้ว่า คู่ขัดแย้งเป็นใคร มีเป้าประสงค์อย่างไร ใครเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ

แฮชแท็กยอดนิยม ผสมตัวก่อกวน

จากการรวบรวมของเว็บไซต์แฮมิลตัน 68  (Hamilton 68) [https://dashboard.securingdemocracy.org/] ซึ่งจัดทำโดยพันธมิตรเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย (Alliance for Securing Democracy)  พบว่า บัญชีทวิตเตอร์ที่โยงกับรัสเซียทำให้ทวิตเตอร์ท่วมท้น (flooded) ไปด้วยแฮชแท็กยอดนิยมอย่าง #parkland  #guncontrolnow และ #florida

เกรียนเลือกใช้แฮชแท็กยอดนิยมในเวลานั้น แล้วเพิ่มแฮชแท็กที่ก่อกวนลงไปด้วย เพื่อเพิ่มบรรยากาศการสนทนาที่แบ่งฝักฝ่ายและสร้างภาพรุนแรง เนื่องจากการสร้างแฮชแท็กในทวิตเตอร์ทำให้ผู้ใช้สร้างหัวข้อการสนทนาย่อยๆ ได้ และทำให้ผู้ใช้คนอื่นๆ สามารถค้นหาหัวข้อย่อยๆ ได้

ทวิตเตอร์ไม่ได้ตอบคำถามหรือให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอ็นบีซี

“มันคือสงครามข้อมูล โซเชียลมีเดียกลายเป็นสนามรบของการโฆษณาทางการเมือง ที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นระหว่างการเมืองในประเทศหรือต่างประเทศ” เดวิด แคร์รอลล์  (David Carroll) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเดอะนิวสคูล กล่าว

นอกจากนี้ ถ้าไม่มีการระบุจากทวิตเตอร์หรือรัฐบาล ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ได้ว่า ใครเป็นเกรียน ใครไม่ใช่

ผลสำรวจการใช้แฮชแท็กที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทวิตเตอร์ของแฮมิลตัน 68 แสดงให้เห็นว่า หลายทวีตอยู่ฝั่งสนับสนุนการควบคุมอาวุธปืน และบอกว่า NRA (สมาคมปืนยาวสหรัฐอเมริกา) “ใช้เงินเปื้อนเลือด” และมีข้อความอื่นๆ ที่มุ่งโจมตีสื่อและนักกฎหมายที่เป็นกลุ่มเสรีนิยม

“โซเชียลมีเดียกลายเป็นสนามรบของการโฆษณาทางการเมือง ที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นระหว่างการเมืองในประเทศหรือต่างประเทศ”

แคร์รอลอธิบายว่า “โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่สามารถเปิดเผยเหตุยิงกันได้ ขณะที่มันกำลังเกิดขึ้นในห้องเรียน ระหว่างที่ถูกล้อมอยู่ การฆ่าอย่างโหดเหี้ยมจากมุมมองสุดช็อกและการก่อการร้าย คู่ขนานไปกับการป้อนข้อมูลผิดๆ จากผู้ที่แบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองมากเกินไป (hyper-partisan)  ข้อมูลที่สร้างความสับสนจากต่างประเทศ และพวกหลอกลวงที่หวังกำไร”

ผู้เริ่มใช้แฮชแท็กไม่มีทางรู้ว่าแฮชแท็กที่ตัวเองสร้างจะถูกนำไปใช้โดยเครือข่ายผู้ประสงค์ร้าย พวกเขาจะกระตุ้น (boost) ให้แฮชแท็กนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น พร้อมกับใส่ข้อความอื่นๆ ของตัวเองลงไปด้วย นี่คือวิธีที่คนเหล่านี้ควบคุมโซเชียลมีเดีย

การถอดรหัสว่าใครเป็นผู้ส่งเนื้อหาเหล่านี้ และมีแรงจูงใจอะไรนั้นยากมาก เราไม่รู้ว่าบัญชีทวิตเตอร์ที่เราเห็นเป็นเกรียนรัสเซีย หรือเป็นผู้เล่นคนอื่นๆ ซึ่งใช้แฮชแท็กเดียวกันที่ถูกกระตุ้นโดยเครือข่ายที่โยงกับรัสเซีย

เกรียนไม่ได้มาเพื่อเปลี่ยนความคิด

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เป้าหมายของเกรียนรัสเซียไม่ใช่การทำให้ความคิดเห็นของคนเปลี่ยนจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่บัญชีเหล่านี้หาทางแบ่งแยกสังคมให้เป็นกลุ่มต่อสู้กันที่เล็กลง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เกรียนสร้างบัญชีผู้ใช้ที่สนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองทุกแบบ และใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่มีผลกระทบสูงเพื่อสร้างความสับสนอลหม่าน พวกเขาใช้ประโยชน์จากการที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวตน

วิดีโอที่อยู่บนสุดในหน้าแท็บ Trending ของเว็บไซต์ยูทูบเมื่อวันที่ 21 ก.พ. หนึ่งสัปดาห์หลังเหตุการณ์ เป็นวิดีโอที่บอกว่าผู้รอดชีวิตจากเหตุยิงในโรงเรียนมัธยมในฟลอริดาเป็น “นักแสดง (crisis actor)” เหตุการณ์นี้เป็นการจัดฉากของกลุ่มเรียกร้องให้มีกฎหมายควบคุมอาวุธปืน มีวิดีโอที่คล้ายกันนี้ในเฟซบุ๊กและกูเกิล มีการแชร์นับหมื่นครั้ง

ระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ CNN เดวิด ฮ็อกก์  (David Hogg) ผู้รอดชีวิตตอบคำถามในประเด็นที่มีเว็บไซต์ของพวกฝ่ายขวาและการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียว่าพวกเขาเป็นนักแสดงว่า “ผมไม่ใช่นักแสดง ผมเป็นพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ และมีชีวิตรอดมาได้”

ฮอกก์เป็นผู้อำนวยการข่าวนักเรียนของโรงเรียน เขาสัมภาษณ์เพื่อนร่วมชั้นเรียนระหว่างที่มีเหตุยิง และให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ  แต่สื่อของฝ่ายขวาบอกว่า เหตุนี้ทำให้เขากลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืน และถูกโจมตีเมื่อเขาบอกว่า พ่อเคยทำงานที่เอฟบีไอมาก่อน

ลูกชายของโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ ก็กดไลก์ในทวีตที่แพร่ทฤษฎีสมคบคิดที่เกี่ยวกับฮอกก์เรื่องนี้ด้วย

วิดีโอถูกเอาออกไปตอนเที่ยงวันพุธ หลายชั่วโมงหลังจากที่มันถูกเผยแพร่ครั้งแรกบนหน้า Trending ซึ่งเป็นการคำนวณด้วยอัลกอริทึมแล้วแสดงวิดีโอยอดนิยมบนหน้าแรก โฆษกของยูทูบบอกว่า “วิดีโอนี้ไม่ควรอยู่ใน Trending แต่วิดีโอนี้ก็มีฟุตเทจที่มาจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ระบบของเราจัดหมวดหมู่ผิดพลาด แต่เมื่อเราทราบเรื่อง ก็เอาออกจาก trending และจากเว็บทันที เพราะละเมิดนโยบาย”

“ถ้าเราคิดถึงคำต่างๆ ที่ใช้การตีความกฎที่ว่าด้วยเนื้อหาในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ เนื้อหาที่เปิดเผยเรื่องเพศ และเฮทสปีชซึ่งนำไปสู่ข้อมูลผิดๆ การให้ข้อมูลผิดๆ เป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการจัดการสำหรับแพลตฟอร์ม” ซาราห์ ที. โรเบิร์ต (Sarah T. Robert) นักวิชาการที่ศึกษาการกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส กล่าว

อีกคำถามหนึ่งที่สำคัญก็คือ แพลตฟอร์มมีรายได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไหม

เป้าหมายของเกรียนรัสเซียไม่ใช่การทำให้ความคิดเห็นของคนเปลี่ยนจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่บัญชีเหล่านี้หาทางแบ่งแยกสังคมให้เป็นกลุ่มต่อสู้กันที่เล็กลง

เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกบนแพลตฟอร์มของกูเกิล ก่อนหน้านี้ เหตุยิงกันที่ลาสเวกัสซึ่งมีผู้เสียชีวิต 58 คน และได้รับบาดเจ็บนับร้อย มีวิดีโอที่อ้างว่าเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องหลอกลวงและเป็น ‘การจัดฉาก’ กระจายอย่างรวดเร็วในยูทูบ มีผู้ชมหลายล้านคน

ตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2016 เป็นต้นมา บริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และกูเกิลเผชิญกับปัญหาที่แพลตฟอร์มของตนเองเป็นพื้นที่กระจายข้อมูลผิดๆ เพื่อสร้างความสับสนทางการเมือง และการหาประโยชน์จากการสร้างภาวะแบ่งฝักฝ่ายอย่างรุนแรง

ระหว่างที่หลายฝ่ายกำลังงมหาวิธีจัดการข่าวปลอม และคงไม่สำเร็จได้ง่ายๆ ความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ก็ก้าวไปไกลกว่าอีกขั้นหนึ่ง เกรียนออนไลน์ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบเดียวกับผู้ใช้ส่วนใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคที่ลึกซึ้ง เพียงพลิกมุม ดัดแปลงหรือต่อเติมเนื้อหาที่  “จริง” อยู่แล้วมาสร้างความสับสน  “การละเล่น” ลักษณะนี้น่าจะเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ทั้งกับผู้ใช้เน็ตทั่วไป และเจ้าของแพลตฟอร์มที่ปัญหาเดิมยังไม่คลี่คลายลงเลย

 

 

อ้างอิง

Tags: , , , , , , , ,