โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะถอนตัวจากข้อตกลงควบคุมขีปนาวุธที่ทำกับโซเวียตเมื่อครั้งโลกยังมีแค่สองมหาอำนาจ ด้านวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ก็ประกาศสวนทันควันว่าจะถอนตัวเช่นกัน

มองกันว่าเหตุจูงใจของการบอกเลิกของสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นเพราะรัสเซียละเมิดสนธิสัญญาเท่านั้น ในอีกมุมหนึ่ง วอชิงตันต้องการปลดล็อกเพราะกลัวเสียเปรียบจีน

แวดวงการทูตวิตกว่า ถ้าสหรัฐฯ ถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (ไอเอ็นเอฟ) ตามกำหนดในเวลา 6 เดือนข้างหน้า อีกไม่นาน สหรัฐฯ กับรัสเซียจะแข่งกันสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป และสหรัฐฯ กับจีนจะแข่งกันในเอเชีย เมื่อนั้นบรรยากาศยุคสงครามเย็นอาจย้อนกลับมา

กรอบกติกาควบคุมขีปนาวุธ

สนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ (Intermediate-range Nuclear Forces Treaty) ลงนามโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรนัลด์ เรแกน กับผู้นำสหภาพโซเวียต มิคาอิล กอร์บาชอฟ ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน เมื่อปี 1987

ข้อตกลงฉบับนี้กำหนดพันธะให้ทั้งสองฝ่ายกำจัดขีปนาวุธ ทั้งแบบนำส่งหัวรบระเบิดและหัวรบนิวเคลียร์ ที่มีพิสัยยิงระยะใกล้ (500-1,000 กม.) และระยะกลาง (1,000-5,500 กม.) รวมทั้งทำลายระบบยิงด้วย โดยมีกลไกตรวจพิสูจน์การปฏิบัติตามพันธกรณีของแต่ละฝ่าย

ข้อใหญ่ใจความของไอเอ็นเอฟ คือ ห้ามแต่ละฝ่ายติดตั้งขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยกลางชนิดยิงจากพื้นในดินแดนทวีปยุโรป ขีปนาวุธต้องห้ามตามสนธิสัญญาฉบับนี้ครอบคลุมทั้งขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) และขีปนาวุธร่อน (cruise missiles)

ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการบอกเลิกจากข้อผูกมัด ฝ่ายนั้นจะต้องแจ้งอย่างเป็นทางการต่อคู่สัญญาล่วงหน้า 6 เดือน ในช่วงเวลานี้ถือว่าฝ่ายนั้นได้ระงับการปฏิบัติตามพันธะแล้ว การถอนตัวจากสนธิสัญญาจะมีผลภายใน 6 เดือนหากว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ในประเด็นที่เป็นข้อวิตกและข้อเรียกร้องของกันและกัน

เมื่อวันเสาร์ (3 กุมภาพันธ์) สหรัฐฯ แจ้งเจตจำนงที่จะบอกเลิกสัญญาแก่รัสเซีย ซึ่งสืบทอดพันธะจากโซเวียต ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ประกาศสวนในวันเดียวกันว่า มอสโกได้ระงับการปฏิบัติตามพันธะของข้อตกลงดังกล่าวแล้ว และจะไม่เป็นฝ่ายเริ่มต้นเจรจา แต่จะรอจนกว่าฝ่ายสหรัฐฯ จะมีวุฒิภาวะสูงพอที่จะพูดคุยกับเราเกี่ยวกับเรื่องสำคัญนี้

สหรัฐฯ กลัวเสียเปรียบ

ทั้งประธานาธิบดีและรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ แจกแจงเหตุผลของการถอนตัวด้วยถ้อยคำสำคัญตรงกัน นั่นคือ ความได้เปรียบเสียเปรียบ

สหรัฐฯ กล่าวหารัสเซียว่า ละเมิดข้อตกลงไอเอ็นเอฟ เพราะขีปนาวุธ Novator 9M729 หรือที่นาโต้เรียกว่า SSC-8 ที่รัสเซียพัฒนาขึ้นนั้น ยิงได้ไกลจนเข้าข่ายเป็นอาวุธต้องห้ามตามสนธิสัญญา

เยนส์ สตอลเทนแบร์ก เลขาธิการนาโต้ องค์กรความร่วมมือทางทหาร ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ยืนยันอีกเสียงว่า รัสเซียบิดพลิ้วจริง ขณะเดียวกัน อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประสานเสียงว่า เป็นที่ชัดเจนว่า รัสเซียทำผิดข้อตกลง

ในมุมมองของอเมริกัน การปฏิบัติตามกรอบกติกาดังกล่าวต่อไปจึงเป็นการมัดมือมัดเท้าตัวเอง รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ แถลงเมื่อวันศุกร์ (2 ก.พ.) ว่า การเบี้ยวสัญญาของรัสเซียมุ่งที่จะเอาเปรียบสหรัฐฯ ในทางการทหาร

ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่มาภาพ: ERIC BARADAT / AFP

ทรัมป์พูดกับนักข่าวในวันเดียวกันว่า สหรัฐฯ ไม่อยากเสียเปรียบใคร สหรัฐฯ ปฏิบัติตามไอเอ็นเอฟอย่างครบถ้วนมานานกว่า 30 ปี แต่จะไม่ถูกมัดตรึงด้วยเงื่อนไขของสนธิสัญญาฉบับนี้ในขณะที่ฝ่ายรัสเซียแจ้งข้อมูลเท็จ

ข้างฝ่ายมอสโกนั้นยืนยันมาโดยตลอดว่า รัสเซียไม่ได้ทำผิดกติกา เพราะว่าขีปนาวุธดังกล่าวยิงได้ไกลสุดแค่ 480 กม. จึงไม่เข้าข่ายต้องห้ามตามสนธิสัญญา พร้อมกับโจมตีสหรัฐฯ ว่า กุเรื่องหาเหตุเพื่อฉีกข้อตกลง เพราะฝ่ายอเมริกันต้องการพัฒนาขีปนาวุธชนิดใหม่ๆ

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เรียกร้องให้รัสเซียทำลายขีปนาวุธที่เป็นปัญหา โดยเปิดรับการตรวจพิสูจน์จากสหรัฐฯ แต่รัสเซียปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้   

ชะตากรรมของสนธิสัญญาฉบับนี้จะเป็นอย่างไร ยังคาดเดาได้ยาก ระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อปลายสัปดาห์ ทรัมป์แสดงท่าทีว่า อยากได้ข้อตกลงฉบับใหม่ที่มีรัฐอื่นๆ เข้าร่วมด้วย “ผมหวังว่าเราจะได้ทุกฝ่ายเข้ามานั่งในห้องใหญ่ที่สวยงาม และจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ที่ดีกว่านี้”

ย้อนยุคแข่งนิวเคลียร์

นักสังเกตการณ์หวั่นเกรงว่า ถ้าข้อตกลงไอเอ็นเอฟล่ม ยุคของการแข่งขันสร้างสมอาวุธนิวเคลียร์จะหวนคืนอีกครั้ง ไม่ใช่เฉพาะแต่ในภาคพื้นยุโรประหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย แต่รวมถึงในย่านเอเชีย-แปซิฟิกระหว่างสหรัฐฯ กับจีนด้วย

การถอนตัวของสหรัฐฯ จะเปิดทางให้เพนตากอนมีทางเลือกใหม่ๆ ในการสร้างขีปนาวุธเพื่อถ่วงดุลกับจีนซึ่งได้พัฒนาระบบนำส่งหัวรบก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง นับแต่รัฐบาลปักกิ่งเดินนโยบายแข็งกร้าว โดยเฉพาะในกรณีข้อพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้

บรรดาเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่า หากว่าจีนเป็นรัฐภาคีในสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟอยู่ด้วย ขีปนาวุธทิ้งตัวและขีปนาวุธร่อนของจีนราว 95 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเข้าข่ายละเมิดกฎกติกาของข้อตกลงฉบับนี้

แฮร์รี แฮร์ริส อดีตผู้บัญชาการกองกำลังแปซิฟิกของสหรัฐฯ แนะนำระหว่างเข้าให้ข้อมูลแก่สภาคองเกรสเมื่อเดือนเมษายน 2017 ว่า สหรัฐฯ ควรเจรจาจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่กับรัสเซีย เพราะไอเอ็นเอฟมัดมือสหรัฐฯ ในการรักษาดุลกำลังด้านขีปนาวุธกับจีนและประเทศอื่นๆ

นักสังเกตการณ์บางรายแนะว่า สหรัฐฯ ควรดึงจีนเข้ามาเป็นภาคีในสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ หรือไม่ก็ทำข้อตกลงแยกต่างหากกับจีนอีกฉบับหนึ่ง อย่างไรก็ดี จีนเคยบอกปัดที่จะเข้าร่วมในกรอบไอเอ็นเอฟมาแล้ว

นอกจากข้อตกลงไอเอ็นเอฟส่อเค้าล่ม นักวิเคราะห์กำลังจับตาดูด้วยว่า ข้อตกลงอีกฉบับระหว่างวอชิงตันกับมอสโก คือ New START จะล้มตามไปด้วยหรือเปล่า

ข้อตกลง New Strategic Arms Reduction Treaty ซึ่งจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ กับรัสเซียสามารถมีไว้ในครอบครอง กำลังจะหมดอายุในปี 2021 วงการทูตกำลังกังวลกันว่า ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงต่ออายุสนธิสัญญาฉบับนี้หรือไม่

บรรยากาศตึงเครียดแบบสงครามเย็นซึ่งยุติเมื่อปี 1991 จะปกคลุมยุโรปและเอเชียอีกหรืออย่างไร การเมืองโลกที่มีหลายขั้วอำนาจในปัจจุบันจะคลี่คลายหรือผันผวนไปอย่างไร นับเป็นฉากสถานการณ์ที่ต้องจับตา.

 

ที่มาภาพหน้าแรก: ALEXANDER NEMENOV / AFP

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,