การต่อสู้ของอสูรและมนุษย์
ดาบพิฆาตอสูร (Kimetsu No Yaiba) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มอสูรและกลุ่มพิฆาตอสูรที่เป็นคู่ต่อสู้กันมาเป็นเวลานานนับพันปี โดย คิบุตสึจิ มุซัน เป็นอสูรที่แข็งแกร่งที่สุดและสามารถสร้างอสูรให้ถือกำเนิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ อสูรเหล่านี้หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยการกินมนุษย์
ขณะที่กลุ่มพิฆาตอสูรนำโดย อุบุยาชิกิ คางายะ ผู้นำกลุ่มพิฆาตอสูรคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพียงคนธรรมดาไม่ได้มีอำนาจวิเศษ กลุ่มพิฆาตอสูตรเป็นองค์กรที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐ แต่ก็ทำหน้าที่ในการฆ่าอสูรเพื่อปกป้องมนุษย์ คนกลุ่มนี้เป็นเพียงมนุษย์ที่ไม่ได้มีอุปกรณ์ทันสมัย มีแค่กำลังกาย ใจ และดาบ ที่ผ่านการฝึกฝนอย่างทรหดไว้เพื่อกำจัดอสูร
เรื่องราวดำเนินไปจนถึงวันที่คิบุตสึจิ มุซันบุกเข้ามาเพื่อสังหารคางายะ ก่อนช่วงเวลาสุดท้ายมาถึงคางายะได้พูดเกี่ยวกับความเป็น ‘นิรันดร์’ อันเป็นความฝันของ มุซัน ที่เฝ้าฝันถึงการใช้ชีวิตและดำรงอยู่ต่อไปตลอดกาล โดยคางายะอธิบายความหมายของความเป็นนิรันดร์ว่า
“สิ่งที่เรียกว่านิรันดร์คือความมุ่งมั่นของมนุษย์ต่างหากที่เป็นนิรันดร์ ไม่มีวันล่มสลาย หลายปีมานี้ กลุ่มพิฆาตอสูรไม่ได้สูญหายไป ถึงเหล่าเด็กๆ ที่น่าสงสารต้องตายไปจำนวนมาก แต่ก็ไม่สูญหายไป… ความมุ่งมั่นที่จะไม่ให้อภัยผู้ที่แย่งชิงชีวิตของคนจำนวนมากอย่างไร้เหตุผลนั้นคือนิรันดร์ เจ้าจะไม่ได้รับการให้อภัยจากใครแม้แต่ครั้งเดียวในระยะพันปีมานี้ และเจ้า มุซัน เจ้าเหยียบย่ำหางเสือและแตะต้องเกล็ดของมังกรหลายต่อหลายครั้ง เสือและมังกรที่ควรจะหลับไปตลอดกาลถูกปลุกขึ้นมาซะแล้ว พวกเขาจดจ้องเจ้าเขม็ง ไม่มีทางปล่อยให้เจ้าหนีรอด”
ตลอดระยะเวลากว่าพันปีที่ผ่านมา แม้กลุ่มพิฆาตอสูรจะถูกทำให้บาดเจ็บ สูญเสียดวงตา แขนขาพิการ หรือถูกสังหาร แม้ร่างกายไม่อาจฟื้นฟูได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเลือนหายไปไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไรคือ ความหวังในการต่อสู้เพื่อกำจัดอสูร เพราะหากยังมีอสูรก็จะมีกลุ่มพิฆาตอสูรเกิดขึ้นรุ่นต่อรุ่น สืบทอดกันไปเพื่อปกป้องมนุษย์
เสือและมังกรที่ถูกปลุกให้ตื่นในภาพ ‘องค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชนไทย’
ท่ามกลางวิกฤติแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงที่ยังมองไม่เห็นการประนีประนอมจากฝ่ายใด ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้เยาว์ นับตั้งแต่มีการเกิดชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา
ปัจจุบันข้อหาที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากที่สุดคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหานี้อย่างน้อย 70 ราย ใน 60 คดี โดยมีผู้ต้องหาที่อายุน้อยที่สุด 16 ปี ยังไม่นับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจจับกุมและกักขังโดยไม่ผ่านการตัดสินจากศาล การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนและต่อหลักนิติรัฐ
ภายใต้เหตุการณ์เหล่านี้ ยังมีองค์กรกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรคอยเป็นโล่ให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง จุดกำเนิดเหล่านี้ย่อมมีที่มา
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการเมืองไทยสมัยใหม่อันเกิดจากพลังของขบวนการนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาเพรียกหาประชาธิปไตยที่หล่นหายไปจากรัฐบาลของจอมพล ถนอม กิติขจร การแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนั้นได้กลายเป็นรากเหง้าของขบวนการนักศึกษา ทว่าสามปีหลังจากนั้น กลับเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ขบวนการนักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ รัฐบาลกวาดล้างขบวนการของนักศึกษาอย่างหนัก เกิดการ ‘สังหารหมู่’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจับกุมนักศึกษาเป็นวงกว้าง จนหลายคนต้องหลบหนีเข้าไปในป่า
ภายใต้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของรัฐที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ‘มรดก’ ของขบวนการนักศึกษากลับไม่ได้สูญสิ้น เนื่องจากนักศึกษาส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีหลักสูตรส่งนักศึกษาปริญญาตรีไปชนบทเพื่อศึกษาสภาพสังคมของไทย ทำให้นักศึกษาเหล่านี้ได้พูดคุยและช่วยเหลือชาวบ้าน พวกเขาเป็นนักศึกษากฎหมายที่เคยได้เข้าร่วมโปรแกรมเยี่ยมเยียนชนบท ทั้งยังเข้าร่วมการประท้วงกับกลุ่มแรงงานหรือชาวนาที่เกิดขึ้นในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน
หลังจากปี 2516 นักศึกษากฎหมายยังเข้าร่วมโครงการให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรในประเด็นสิทธิในที่ดิน เข้าร่วมเป็นทีมวิจัยศึกษาประเด็นความยากจนของเด็กในชนบท หรือทำงานประเด็นทางสังคมอื่นๆ อีกหลายด้าน ทำให้นักศึกษาเหล่านั้นได้ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย ซึ่งเป็นผลพวงจากการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล จนสมาชิกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์ได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘ศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย’ (Legal Service Center Institute) อันเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อนักกฎหมายสายกิจกรรมอย่างมาก แม้ภายหลังองค์กรนี้จะต้องปิดตัวลงก็ตาม
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว องค์กรกฎหมายที่กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ ‘นักกิจกรรมสายกฎหมาย’ (Law activist) ในช่วงต่อมาคือ สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 โดยประกอบด้วยนักศึกษา นักวิชาการ ทนายความ ประชาชนจากสาขาอาชีพต่างๆ ที่ตระหนักถึงคุณค่าแห่งสิทธิเสรีภาพ เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนผู้ถูกละเมิด รวมทั้งเผยแพร่ความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน ทำให้องค์กร สสส. นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเข้าไปสนับสนุนการทำงานขับเคลื่อนทางสังคมในประเด็นสิทธิแรงงานและความปลอดภัยเรื่องที่ดินในชนบท ช่วยเหลือคดีอาญา การเช่าที่ดิน สนับสนุนเรื่องสิทธิแรงงาน ตลอดจนสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิต่อสาธารณะ การสืบค้นวิจัย และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กลายเป็น ‘จังหวะดี’ ที่ทำให้แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนถูกนำมาพูดถึงในสังคมไทยอย่างแพร่หลาย รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดลู่ทางใหม่ๆ ให้นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้สามารถทำงานเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทว่าการละเมิดสิทธิอันเกิดจากรัฐกลับไม่ได้จางหายไป
ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงในสภาทนายความ ปี พ.ศ. 2543 ยุคของ สัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ ได้มีการก่อตั้งสำนักสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เพื่อให้เป็น ‘หน่วยงานกลาง’ ในการช่วยเหลือทางกฎหมายทั่วราชอาณาจักรในคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน บริหารโครงการทนายความอาสา ให้คำปรึกษาผู้ต้องหา เข้าฟังการสอบปากคำในคดีอาญา หรือโครงการและกิจการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความ
หมุดหมายจากคณะกรรมการชุดนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจแก่คนทำงานกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง แม้ภายหลังจะมีการเปลี่ยนผ่านภายในองค์กรสำนักสิทธิมนุษยชน และสภาทนายความก็ถูกยุบเลิกไป
บรรยากาศการ ‘ตื่น’ ของเหล่าเสือและมังกรผู้ไม่เคยหลับใหลได้ถูกปลุกขึ้นมาในช่วงระยะเวลานี้เป็นจำนวนมาก เพราะการบ่มเพาะความเป็นนักกิจกรรมสายกฎหมายที่สนใจประเด็นทางสังคมในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 และการเกิดขึ้นขององค์กรกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนมากมายหลายองค์กร ทำให้เกิดนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่ต้องการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กระจายออกไปในสังคม รวมถึงการพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้ถูกละเมิด ผ่านการต่อสู้ด้วย ‘ตัวบทกฎหมาย’
ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ทางกฎหมายหรือการใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาล ปัจจุบันมีองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นและกระจายไปในหลายภูมิภาคของไทย เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน, ศูนย์ทนายความมุสลิม, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน , ไอลอว์, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, กลุ่มทนายความ นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสาน และศูนย์สิทธิชุมชน
โรงเรียนฝึกของนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
เช่นเดียวกับกลุ่มพิฆาตอสูรที่มีการฝึกฝนให้คนที่ต้องการเป็นนักดาบพิฆาตอสูรจากรุ่นสู่รุ่น ในองค์กรนักกฎหมายเพื่อสิทธิก็เช่นเดียวกัน โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนถือกำเนิดขึ้นจากที่ประชุมของนักสิทธิมนุษยชน นักพัฒนา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยความต้องการที่จะสร้างนักกฎหมายสิทธิรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เข้ามาทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม จนปัจจุบันสามารถสร้างนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ให้ ‘รับช่วงต่อ’ จากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่รู้จบ
ในห้วงเวลาที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ การสร้างนักกฎหมายที่มีความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเปรียบเสมือนการส่งต่อความหวังและปณิธานอันมุ่งมั่นในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ทั้งยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ เหมือนดั่งแสงสว่างที่คอยส่องนำทางในยามมืดมิด เพื่อขับไล่ความมืดออกไปในสักวัน
อ้างอิง
Frank Munger, Revolution Imagined: Cause Advocacy, Consumer Rights, and the Evolving Role of NGOs in Thailand
Tags: มาตรา 112, กฎหมาย, Rule of Law, Kimetsu No Yaiba