จากกรณีที่ ‘ผู้กำกับโจ้’ – พันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ และพวก ซึ่งเป็นตำรวจผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนขาดอากาศหายใจตาย กลายเป็นข่าวครึกโครมอยู่พักใหญ่ (แม้วันนี้ดูเหมือนสังคมก็เลิกสนใจแล้วก็ตาม) ทำให้ต้องหันมาตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้ ตัวเรา ลูกเรา ญาติพี่น้องของเรา เสี่ยงที่จะถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีหรือยัดข้อหาแค่ไหน และเมื่อถูกจับ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกข่มขู่หรือถูกทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพ แล้วถึงที่สุดศาลก็ถีบส่งเข้าคุก ส่วนตำรวจก็หาเหยื่อรายต่อไป
การสอบสวนผู้ต้องหาโดยใช้วิธีการที่ป่าเถื่อน ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ให้หวาดกลัว ทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บหรือทรมาน เป็นสิ่งที่สังคมโลกไม่ยอมรับมานานแล้ว จึงนำมาสู่การออกกฎหมายระหว่างประเทศ กำหนดให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญามีสิทธิที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และด้วยความเสมอภาคกัน ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า “บุคคลที่ต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด”
นอกจากนี้ ในการพิจารณาคดีก็ยังมีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิได้รับแจ้งเกี่ยวกับสภาพและเหตุแห่งความผิดที่กล่าวหา สิทธิที่จะมีเวลาและได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเพื่อสู้คดี สิทธิที่จะมีทนายความที่ตนเลือกได้ สิทธิที่จะมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย สิทธิในการนำเสนอพยานหลักฐาน และสิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเองหรือให้รับสารภาพผิด
สำหรับประเทศไทย ได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบการชำระคดีจากรูปแบบโบราณให้เป็นแบบสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในอดีต สยามเคยต้องสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นำมาซึ่งเรื่องเล่าอันแสนเจ็บปวดของชนชั้นนำ อันมีสาเหตุมาจากระบบการพิจารณาคดีของสยามที่ยังใช้ระบบจารีตนครบาล โดยใช้วิธีทรมานให้ผู้ต้องหารับสารภาพ ทั้งตอกเล็บ บีบขมับ ดำน้ำ ลุยไฟ และเชื่อว่าหากผู้ต้องหาบริสุทธิ์จะสามารถทนการทรมานได้ หรือผีจะคุ้มครองไม่ให้ได้รับอันตราย ซึ่งเป็นวิธีการที่ล้าหลังและป่าเถื่อน ซึ่งฝรั่งยอมรับไม่ได้
ประวัติศาสตร์ไทยมักกล่าวในทำนองว่า การสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ถือว่าประเทศไทยถูกข่มเหงจากมหาอำนาจ หากแต่ความจริงคือ ขณะนั้นคนสยามที่มีคดีความกลับเรียกร้องที่จะไปขึ้นศาลของฝรั่ง เพราะมีกระบวนการพิจารณาคดีที่ดีกว่า มีความเป็นธรรมกว่า ไม่ต้องไปถูกทรมาน หรือดำน้ำลุยไฟ ยิ่งเป็นคดีที่คู่กรณีเป็นคนที่มีอำนาจด้วยแล้ว ไพร่ที่ไหนจะได้รับความเป็นธรรมจริงๆ
ปัจจุบันระบบการพิจารณาคดีของศาลไทยยอมรับวิธีการแบบป่าเถื่อนหรือไม่ อย่างไร?
หากพิจารณาในทางรูปแบบ กฎหมายไม่ยอมรับโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัตินั้น ผู้เขียนคิดว่ายังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะในคดียาเสพติดและคดีก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวคราวในสังคมบ่อยๆ อีกทั้งการที่ผู้เขียนเป็นทนายความ มีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยมามาก หลายคดีที่พวกเขาเล่าว่าถูกตำรวจข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายให้ต้องยอมรับสารภาพ ครั้นจะไปเอาผิดเจ้าหน้าที่ในภายหลัง ก็ไม่มีพยานหลักฐานให้เอาผิดได้
สำหรับระบบกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของไทย ได้เปลี่ยนมาเป็นระบบกฎหมายสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาระบบกฎหมายให้คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยมากขึ้นตามลำดับ กล่าวได้ว่าในทางรูปแบบแล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาอย่างครบถ้วน เพื่อประกันให้ได้รับการสอบสวนอย่างเป็นธรรม คือสิทธิที่จะไม่ถูกจับกุมคุมขังโดยมิชอบ, สิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนการอยู่อาศัยโดยปกติ, สิทธิได้รับการแจ้งสิทธิตามกฎหมายเมื่อถูกดำเนินคดี, สิทธิที่จะได้รับทราบข้อกล่าวหา, สิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์, สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง, สิทธิที่จะได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม, สิทธิพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายความ, สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร, สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับ ขู่เข็ญ ทรมาน หรือใช้วิธีหลอกลวงให้รับสารภาพ, สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน, สิทธิที่จะมีล่าม, สิทธิที่จะได้รับโอกาสแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้ในชั้นสอบสวน
ที่สำคัญคือ ผู้ต้องหามีสิทธิบางประการ ที่ทำให้ตำรวจมีหน้าที่จะต้องเคารพและปฏิบัติตาม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ คือ
1. สิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ถูกกล่าวหา ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องหาอย่างมีอารยธรรม ไม่ให้ได้รับความทุกข์หรือเดือดร้อนเกินสมควร
2. สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 4 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรค 2 และมาตรา 134/4 เพื่อคุ้มครองผู้ต้องหา ในขณะที่อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน ไม่ให้จำต้องยอมรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ
3. สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับ ขู่เข็ญ ทรมาน หรือใช้วิธีหลอกลวงให้รับสารภาพ ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และไม่ถูกกระทำทรมาน บังคับหรือขู่เข็ญ หรือจูงใจจนทำให้ผู้ต้องหาจำต้องรับสารภาพ
นอกจากนี้ แนวคิดทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหา พัฒนาไปจนเกิดหลักห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยวิธีการที่ไม่ชอบ ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ว่า “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น” เพื่อเป็นหลักประกันการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเอาผิดเฉพาะผู้ที่ได้กระทำความผิดจริงเท่านั้น และเพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับให้แก่กระบวนการดำเนินคดีอาญา
อย่างไรก็ตาม หลักการตามกฎหมายเหล่านี้ ในทางปฏิบัติก็พบว่ายังมีปัญหา เนื่องจากการดำเนินคดีในชั้นตำรวจของไทย ไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลกันจริง การจับกุมและสอบสวนของพนักงานสอบสวนมักจะกระทำโดยไม่มีบุคคลอื่นร่วมรู้เห็น ซึ่งฝ่ายตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางกฎหมายและมีประสบการณ์ หากจะบังคับ ขู่เข็ญ หรือทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา พวกเขามีวิธีที่สามารถทำได้อย่างแนบเนียนหรือปกปิดร่องรอยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นการยากที่ทนายความฝ่ายผู้ต้องหาจะพิสูจน์ได้ และเมื่อไปเบิกความต่อศาล พวกเขาสามารถเตรียมการและซักซ้อมคำให้การก่อนได้ ทำให้เป็นการยากที่ศาลจะตรวจพบความผิดปกติอย่างชัดเจนได้
นอกจากนี้ ในการทำคำพิพากษา ศาลมักจะยอมรับเอาคำรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นตำรวจมาฟังเป็นหลักฐานเอาผิดจำเลยบ่อยๆ ดังตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 3309/2551 ที่วินิจฉัยว่า “คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหามีเนื้อหากล่าวถึงบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและพฤติการณ์ในการค้ายาเสพติดให้โทษอย่างละเอียด ซึ่งข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นเฉพาะตัวของจำเลยเช่นนี้หากจำเลยไม่แจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ พนักงานสอบสวนไม่อาจแต่งเรื่องราวขึ้นได้ซึ่งจำเลยก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า คำให้การในชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจถามจำเลยแล้วพิมพ์ตามที่จำเลยพูด พนักงานสอบสวนอ่านให้จำเลยฟ้งแล้ว กรณีเชื่อได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจตามความเป็นจริง บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนี้คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนดังกล่าวย่อมใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้”
เมื่อไรก็ตามที่ศาลย้อนกลับไปใช้คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นตำรวจเป็นพยานลงโทษจำเลย ก็หมายความว่าฝ่ายโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่ยืนยันได้หนักแน่นว่าจำเลยกระทำความผิดจริง และการที่ศาลมักจะถือเอาคำรับสารภาพในชั้นตำรวจมาเป็นหลักฐานลงโทษ โดยให้เหตุผลว่าตำรวจทำตามหน้าที่และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าตำรวจไม่มีเหตุผลที่จะไปกลั่นแกล้งจำเลย แต่จำเลยรับสารภาพด้วยความสมัครใจจริงนั้น เท่ากับเป็นการเปิดทางให้ตำรวจใช้วิธีการที่ไม่ชอบทำให้ผู้ต้องหารับสารภาพ ซึ่งค่อนข้างจะย้อนแย้งกับหลัก ‘พิสูจน์จนสิ้นสงสัย’ (Beyond a Reasonable Doubt) ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคแรกที่บัญญัติว่า “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น”
เมื่อบทบัญญัติกฎหมายไม่สามารถทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจที่มิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ดังนั้น สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงไม่ใช่หลักประกันว่าผู้ต้องหาจะได้รับความเป็นธรรมจริง หากแต่เป็นเพียงกฎหรือระเบียบที่รับรองให้ประชาชนมีโอกาสในการเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจเท่านั้น หากใครเสียงดัง มีเงินจ้างทนายความ มีหน้ามีตาทางสังคม เจ้าหน้าที่ก็อาจจะเกรงใจหรือให้เกียรติมากขึ้น แต่หากเป็นคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่รู้กฎหมาย ไม่มีเงินจ้างทนายความ ไม่มีสถานภาพทางสังคม ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้รับสิทธิเหล่านั้นจริง
การดำเนินคดีอาญาในชั้นตำรวจเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเริ่มต้นนำคดีเข้าสู่ระบบการพิจารณา และเป็นผู้ที่มีอำนาจตรวจค้น จับกุมคุมขัง รวบรวมพยานหลักฐาน ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมหรือตัดลดข้อกล่าวหา และจัดทำเอกสารสำนวนคดีทั้งหมด เพื่อส่งให้อัยการและศาล ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว อัยการและศาลจะพิจารณาตามข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานที่ตำรวจจัดทำมาให้เท่านั้น แม้กฎหมายจะให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกพยานมาสอบปากคำด้วยตัวเอง แต่ในทางปฏิบัติ อัยการก็ไม่เคยเรียกพยานมาสอบเอง อย่างดีก็สั่งให้พนักงานสอบสวนกลับไปสอบใหม่ ซึ่งอำนาจก็ยังตกมาอยู่ในมือของตำรวจอยู่ดี
สำหรับศาล แม้จะมีอำนาจสอบถามคู่ความหรือพยาน และตรวจสอบพยานหลักฐานที่ตำรวจรวบรวมมาให้ แต่ศาลก็ไม่มีโอกาสรู้เห็นการกระทำของตำรวจ ทำได้เพียงตรวจสอบเอกสารที่ตำรวจเสนอให้ จึงมีโอกาสน้อยที่จะล่วงรู้ข้อเท็จจริงได้ ยกเว้นว่าหากฝ่ายจำเลยมีทนายความมาต่อสู้คดี แล้วนำพยานหลักฐานต่างมาแสดง หรือซักถามเหตุการณ์หรือข้อสงสัยต่างๆ ก็จะทำให้ศาลจะมีโอกาสรู้ข้อมูลมากขึ้น
กฎหมายที่ให้สิทธิแก่ประชาชนซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ต้องทำตามนั้น มีสถานะอย่างไรระหว่าง 1. เป็นระเบียบสังคม ที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกคนมีหน้าที่ต้องเคารพและปฏิบัติตาม 2. เป็นเพียงวรรณกรรมจรรโลงใจ ที่เล่าเรื่องในอุดมคติเพื่อปลอบประโลมผู้คน สร้างความความอิ่มใจ เพื่อทำให้คนในสังคมรู้สึกดีขึ้นว่าบ้านเมืองเรายังมีเรื่องเล่าดีๆ ให้สบายใจได้ หรือ 3. เป็นเหมือนหลักคำสอนทางศาสนา ที่หากใครทำได้ก็ดี ทำไม่ได้ก็ฟังคำบ่นหรืออาจจะมีเสียงก่นด่าบ้าง หน้าด้านหน่อยก็ไม่ต้องอายใครแล้ว
Tags: กฎหมาย, Rule of Law, ความอยุติธรรม, ผู้กำกับโจ้, ระบบยุติธรรม