เหตุการณ์ที่ทนายความหญิงถูกตักเตือนให้ใส่กระโปรงมาว่าความในศาลแทนการใส่กางเกง ถูกบอกเล่าผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้ก็มีทนายความหญิงจำนวนมากที่ใส่กระโปรงปฏิบัติหน้าที่ในศาล รวมถึงคอรีเยาะ มานุแช ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า 

“เราเคยโดนเรียกไปตำหนิว่าทำไมใส่กางเกงมาว่าความ ทำไมไม่ใส่กระโปรง เราก็พยายามชี้แจงกับศาลว่าการสวมกางเกงเป็นการแต่งกายที่สุภาพและไม่ได้ทำให้กระบวนการพิจารณาหรือกระบวนการยุติธรรมเสียไป แต่ศาลก็ยืนยันว่าในเมื่อมีกฎหมายกำกับอยู่ ก็ควรต้องทำตามกฎหมาย เลยรู้สึกว่ามันถึงเวลาที่เราต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ให้มีความทันสมัย เพราะมันเป็นกฎหมายที่ถูกตราขึ้นและสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้”1

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถูกตักเตือนหรือตำหนิเรื่องการใส่กางเกงว่าความบ่อยครั้ง ได้สร้างความหวาดระแวงว่าจะถูกตำหนิ และสร้างภาระให้แก่ทนายความหญิงที่จนถึงปัจจุบัน 

ประเด็นถกเถียงว่าด้วยเรื่องกระโปรงของทนายความหญิงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่การกำหนดกรอบของการแต่งกายของทนายความที่ว่า ‘กระโปรงเป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงฉันใด กางเกงก็เป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ชายฉันนั้น’ ยังเป็นแนวคิดที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน2 โดยข้อบังคับของสภาทนายความฯ ได้กำหนดให้ทนายความหญิงจะต้องใส่กางเกงขึ้นว่าความมาตั้งแต่ พ.ศ. 2529 และยังไม่เคยได้รับการแก้ไขจนมาถึงปัจจุบัน

 

ข้อบังคับสภาทนายความเรื่องการแต่งกายของหญิงที่ ‘ถูกแช่แข็ง’

หลายคนอาจจะยังไม่เชื่อว่าระเบียบข้อบังคับของสภาทนายความที่ออกมาตั้งแต่ 35 ปีที่แล้วยังกำหนดให้ทนายความหญิงจะต้องใส่กางเกงขึ้นว่าความ โดยข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อที่ 20

ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ ต่อไปนี้…

(2) ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น3

ข้อบังคับนี้ทำให้ทนายความหญิงจะต้องใส่กระโปรงเมื่อขึ้นว่าความในศาล และในบางครั้งอาจยังขยายความไปถึงการทำงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของทนายความด้วย 

การฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวโดยการใส่กางเกงทำให้มีโทษตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ซึ่งมีโทษฐานผิดมรรยาททนายความ 3 สถาน คือ ภาคทัณฑ์ ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี จนกระทั่งถึงขั้นการลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ4 ถือว่าเป็นบทลงโทษที่รุนแรงและเป็นช่องว่างของข้อบังคับที่สามารถนำมาใช้กล่าวหาความผิดมรรยาทต่อคณะกรรมการฯ5 ซึ่งอาจถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งทนายความหญิงที่ใส่กางเกงเพื่อให้เกิดความยุ่งยากและเดือดร้อน

แม้ว่าสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้รวบรวมรายชื่อทนายความ 126 คนยื่นขอแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 เพื่อ “ให้ทนายความไทยแต่งกายตามเพศสภาพได้ภายใต้ความสุภาพมาตรฐานแบบสากลโดยไม่จำกัดกรอบเพศให้กับทนายเพียงแค่ชายหญิง”6 

หลังจากยื่นหนังสือไปแล้วสภาทนายความฯ ได้ตอบกลับแจ้งผลคำสั่งการเสนอขอแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 มีสาระสำคัญว่า “ข้อบังคับสภาทนายความ มิได้ห้ามทนายความหญิงมิให้สวมกางเกงว่าความไว้ ในชั้นนี้เห็นว่ายังไม่มีเหตุอันสมควรในการแก้ไขข้อบังคับ”7 

หนังสือตอบกลับจากสภาทนายความฯ ที่ สท.001/2860

อย่างไรก็ตาม การตีความข้อบังคับของสภาทนายความฯ เช่นนี้หมายความว่า ทนายความหญิงสามารถใส่กางเกงขึ้นว่าความได้ตามหนังสือตอบกลับฉบับดังกล่าว แต่ในข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อที่ 20 ยังกำหนดให้ทนายความหญิงยังจะต้อง ‘ใส่กระโปรง’ อยู่เช่นเดิม 

นอกจากนี้ ข้อความในข้อบังคับและการตีความข้อบังคับเช่นนี้ นอกจากจะสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วยังไม่ได้เป็นการสร้างหลักในข้อบังคับดังกล่าวให้มีใจความโดยเข้าใจโดยทั่วกัน ข้อบังคับและการตีความตามกฎหมายตอบกลับนั้นยังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร8 จะเห็นได้ว่าแม้สภาทนายความฯ จะมีหนังสือตอบกลับ แต่จนถึงปัจจุบัน ทนายความหญิงก็ยังคงถูกตำหนิหรือตักเตือนเรื่องการใส่กางเกงอยู่ จนกระทั่งในบางครั้งทำให้ทนายความหญิงไม่กล้าใส่กางเกงมาว่าความในศาลเพื่อป้องกันการถูกตีตราหรือถูกข้อครหาว่ากระทำผิดข้อบังคับ ถือได้ว่าปัญหาถกเถียงเรื่องการใส่กระโปรงของทนายความหญิงนั้นยังไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

 

กางเกง กระโปรง = เครื่องหมายของเพศของสภาทนายความ

แม้ว่าสภาทนายความฯ จะมีหนังสือตอบกลับโดยตีความว่ามิได้ห้ามทนายความหญิงมิให้สวมกางเกงว่าความแต่ก็ไม่มีการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้ยังมีเหตุการณ์ตำหนิหรือตักเตือนทนายความหญิงให้ใส่กระโปรงอยู่ เมื่อพิจารณาดูแล้ว ปัญหาที่แท้จริงเรื่องการแต่งกายของทนายความอาจยังอยู่ในวังวนของมโนทัศน์ว่าด้วยเพศสภาพและเพศวิถีของคนในสังคมไทยที่ยังไม่หลุดออกไปจากวัฒนธรรมไทย และการตีความสัญลักษณ์ของความเป็นหญิงและชายภายในกรอบความคิดปิตาธิปไตย (Patriarchy) โดยคนบางกลุ่มในสังคมไทยในปัจจุบันยังพยายามรักษากรอบโครงสร้างเชิงอำนาจที่แบ่งแยกความเป็นชายและหญิงผ่านเครื่องแต่งกาย ดังนั้น เราจึงอาจตั้งสมมุติฐานว่าด้วยมโนทัศน์ว่าด้วยเพศวิถีกับข้อบังคับของสภาทนายความฯ เกี่ยวกับการแต่งกายของทนายความชายและหญิงด้วย

วัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตกที่เมืองไทย ‘นำเข้ามา’ ในอดีตที่เริ่มแบ่งแยกเพศส่งผลให้ถูกปลูกฝังเรื่องการใส่เสื้อผ้าระหว่างชายและหญิงว่าชายว่าจะต้องแต่งกายตามลักษณะทางกายภาพ เป็นการให้ความสำคัญและจำแนกเพศชายออกจากเพศหญิงที่อ่อนแอกว่าและจะต้องสวมกระโปรง9 จนกระทั่งยุครัฐสมัยใหม่นี้การประกอบสร้าง ‘ความเป็นชาย’ เป็นเรื่องเชิงการเมืองที่ผู้นำต้องการนำความคิดเรื่องความศิวิไลซ์และเอาเสื้อผ้าที่ดูมีอารยะมาไว้บนร่างกายของมนุษย์10 มาตั้งแต่ยังเด็ก ดังเช่นการตั้งกฎระเบียบว่าด้วยการแต่งกายต่างๆ ถูกปลูกฝังเครื่องแบบของนักเรียน ที่มักจะให้ชายแต่งกายด้วยกางเกงขาสั้น และหญิงแต่งกายด้วยกระโปรง ซึ่งถูกประกอบสร้างมาเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายในองค์กรต่างๆ รวมไปจนถึงการกำหนดเพศวิถีภายใต้กรอบความคิดของชายเป็นใหญ่ในองค์กรกระบวนการยุติธรรมไทยมาจนถึงปัจจุบัน ที่ดูเหมือนว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายๆ 

ข้อบังคับของสภาทนายความฯ ดังกล่าวได้สร้างเครื่องแบบที่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชายและหญิงไปเสียแล้ว แม้ว่าในยุคโลกาภิวัตน์ที่ต่างประเทศเริ่มมีการคลายความเข้มงวดของข้อบังคับเครื่องแบบของชายและหญิง ซึ่งมีการเริ่มตั้งคำถามในประเด็นเรื่อง ‘ความเป็นกลางทางเพศ’ (Gender Neutral) อย่างแพร่หลาย11 แม้แต่ในสังคมไทยเอง คนรุ่นใหม่จำนวนมากก็เริ่มมองว่าทนายความหญิงใส่กางเกงก็เป็นเครื่องแบบที่สุภาพเช่นกัน และการบังคับให้หญิงใส่กางเกงนั้น เริ่มถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศไปเสียแล้ว

ก่อนที่จะมีหนังสือตอบกลับฉบับดังกล่าว ทนายความหญิงจำนวนหนึ่งเริ่มใส่กางเกงขึ้นว่าความในศาล ถือเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืนต่อระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ที่แบ่งแยกและไม่เสมอภาคทางเพศ และยังเป็นการยืนยันสิทธิในการแต่งกายของตนเอง12 อย่างไรก็ตาม สภาทนายความควรจะต้องมีหน้าที่ในการทำความเข้าใจต่อทั้งทนายความด้วยกันเอง และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ให้เข้าใจตรงกันโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ‘ทนายความหญิงสามารถใส่กางเกงขึ้นว่าความได้อย่างถูกต้องแล้ว’

 

บรรณานุกรม

Nattatiti K., “คอรีเยาะ มานุแช” ทนายหญิง กระโปรง และความสากลที่ถูกพันธนาการ,” 11 มีนาคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.sanook.com/news/8051254/

2 Jiratchaya Chaichumkhun, “ผู้ชายสวมกระโปรง ผู้หญิงใส่กางเกง สำรวจนโยบาย gender-neutral uniform จากทั่วโลก,” 9 กันยายน 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564, https://thematter.co/social/education/gender-neutral-uniform/123011.

3 ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อที่ 20

4 พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 52

5 iLaw, “ขอปลดล็อกการแต่งกายทนายความ ข้ามผ่านข้อจำกัดเรื่องเพศ,” 10 มิถุนายน 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564, https://ilaw.or.th/node/5686.

6 SPECTRUM, “ยื่นหนังสือให้ทนายไทยแต่งกายตามเพศสภาพได้ แต่ยังคงซึ่งความสุภาพเรียบร้อยตามมาตรฐานสากล เพื่อไม่ให้กีดกันการแสดงออกทางเพศในที่ทำงาน,” 11 มิถุนายน 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564, https://spectrumth.com/2020/06/11/ยื่นหนังสือให้ทนายไทยแ/

7 หนังสือจากสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ สท.001/2860 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 เรื่อง แจ้งผลคำสั่งการเสนอแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย ข้อ 20(2)

8 ข่าวสด, “สภาทนายความ ยัน ทนายความหญิง ใส่กางเกงว่าความได้,” 8 สิงหาคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_4670181.

9 พันธุ์ชนะ สุนทรพิพิธ, “พิธีกรรมการ ‘เข้าสู่ความเป็นชาย’ ผ่านภาพลักษณ์ของ ‘กางเกงขาสั้น’,” 3 กรกฎาคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.gqthailand.com/style/article/into-manhood-gq.

10 นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, “รื้อสร้างมายาคติ “ความเป็นชาย” ในสังคมไทย – การทบทวนความเป็นชายในสังคมสยาม,” 20 มกราคม 2017, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.sac.or.th/conference/2017/blog-post/การทบทวนความเป็นชายในส/

11 พันธุ์ชนะ สุนทรพิพิธ, “พิธีกรรมการ ‘เข้าสู่ความเป็นชาย’ ผ่านภาพลักษณ์ของ ‘กางเกงขาสั้น’,” 3 กรกฎาคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.gqthailand.com/style/article/into-manhood-gq.

12 Nattatiti K., “คอรีเยาะ มานุแช” ทนายหญิง กระโปรง และความสากลที่ถูกพันธนาการ,” 11 มีนาคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.sanook.com/news/8051254/

 

Tags: , ,