เวลานี้ ประเทศไทยเข้าสู่ยุคภายใต้การบริหารงานของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และรัฐบาลผสมข้ามขั้ว อย่างเป็นทางการ หลังจากผ่านความโกลาหลทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีการประท้วงและการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศ และเข้าสู่การเลือกตั้ง เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนได้ใช้สิทธิใช้เสียงของตนเองเลือกผู้แทนของตัวเองให้เข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎร 

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งผู้แทนประชาชนเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่ใช่ทั้งหมด คำถาม คือ หากพิจารณาควบคู่กับองค์ประกอบอื่นๆ สังคมไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างที่คาดหวัง หรือกำลังย่ำอยู่กับที่ และเลวร้ายกว่านั้น หรือสังคมไทยอาจจะกำลังถอยหลังลงคลอง ถอยห่างออกจากความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ

องค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตย

คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ เป็นการรวมกันระหว่างคำว่า ‘ประชา’ ที่หมายถึง ปวงชน และ ‘อธิปไตย’ ซึ่งหมายถึง ‘ความเป็นใหญ่’ ดังนั้น หลักการพื้นฐานทั่วไปของประชาธิปไตย ก็คือ การปกครองโดยประชาชน และถือมติของประชาชนเป็นใหญ่ ตรงข้ามกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อำนาจทางการเมืองและการตัดสินใจผูกขาดอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ คณาธิปไตยที่อำนาจทางการเมืองตกอยู่ในมือของคณะบุคคลเพียงไม่กี่คน

อย่างไรก็ดี ประชาธิปไตยเป็นคำที่ใหญ่ และมีความหมายมากกว่าระบอบที่มีการเลือกตั้ง แต่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับองค์ประกอบอื่นๆ ดังนี้

อันดับแรก สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนต้องได้รับการรับรอง คุ้มครอง และส่งเสริมจากผู้มีอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย สิทธิเสรีภาพทางการเมืองและพลเมืองที่เสมอภาคเท่าเทียมปราศจากการเลือกปฏิบัติ เช่น สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงออกหรือการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริต เสรีภาพในการถือครองทรัพย์สิน สิทธิในที่ดินอาศัย การได้รับการคุ้มครองเสรีภาพในความเป็นส่วนตัว เป็นต้น

สอง การมีส่วนร่วมของประชาชนต้องมีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ในที่นี้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งท้องถิ่น การเข้าถึงกลไกการร้องเรียนและตรวจสอบอำนาจรัฐ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการตัดสินเกี่ยวกับการดำเนินกิจการต่างๆ ของรัฐที่กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของประชาชน ฯลฯ  เช่น การจัดให้มีการลงประชามติในเรื่องสำคัญๆ ของชาติ การมีรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมก่อนจะมีการดำเนินกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 สาม กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจต้องยึดโยงและไม่ขาดตอนออกจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่มีอำนาจตุลาการ อำนาจในการใช้กฎหมายตรวจสอบอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องมีองค์ประกอบที่ชี้ให้เห็นว่ามีความยึดโยงกับประชาชน มิฉะนั้นจะเท่ากับว่า องค์กรที่ไม่ได้รับอาณัติจากประชาชน ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน มีอำนาจชี้ขาดและอยู่เหนือกว่าองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

นอกจากนี้ ประเทศประชาธิปไตยต้องมีลักษณะเป็นการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ หรือ the Rule of Law มิใช่กรณีที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยปราศจากกลไกการตรวจสอบ และไม่ใช้กฎหมายมาบิดเบือน หรือใช้เป็นข้ออ้างการกระทำที่เป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน หรือบั่นทอนความเป็นประชาธิปไตยของชาติ

สี่ การใช้อำนาจปกครองหรือการบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนต้องเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย การมุ่งบังคับใช้กฎหมายเฉพาะบุคคลหรือกลุ่ม เพื่อกดปราบและรักษาไว้ซึ่งสถานะของผู้มีอำนาจ รวมทั้งการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อมุ่งหมายให้มีการลอยนวลพ้นผิด ถือเป็นกรณีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย 

การดำรงอยู่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

สิ่งใดก็ตาม เมื่อมีคำว่า ‘แบบไทยๆ’ ห้อยท้าย มักจะเป็นการสื่อความหมายออกมาในแง่ลบอยู่เสมอ เช่นเดียวกับคำว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ก็กลายเป็นคำสะท้อนถึงระบอบการเมืองที่ถอยห่างจากประชาธิปไตย และถูกแทนที่ด้วยระบอบการเมืองที่ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมการเมืองไทย จนมีความเฉพาะตัวในที่สุด และเรียกว่า ‘การปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ แทน

ปัญหากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของสังคมไทยในปัจจุบันนั้น มีต้นตอมาตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดโครงสร้างอำนาจรัฐทั้งหมดว่าใครเป็นใคร ใครมีสถานะเป็นอะไรในรัฐ รัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกยกร่าง (กันเอง) แล้วเสร็จในยุคสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แน่นอนว่า ผลลัพธ์ทางกฎหมายคือการพยายามรักษาสถานภาพทางอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิมทั้งชนชั้นนำ กองทัพ และนายทุน ให้ดำรงอยู่ได้นานที่สุด

ตราบใดที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถูกบังคับใช้อยู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย เพราะงาช้างไม่ออกจากปากหมาฉันใด ประชาธิปไตยก็ไม่ออกมาจากปากรัฐธรรมนูญของพวกเผด็จการทหารฉันนั้น แม้บางคนจะอ้างว่า รัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เนื่องจากผ่านการลงประชามติมาแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่า นอกจากรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมาจาก คสช. แบบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ช่วงเวลาก่อนการลงประชามติที่รัฐบาล คสช. ออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาจับกุมปราบปรามผู้แสดงความเห็นรณรงค์โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายรณรงค์ให้โหวตกลับสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ

นอกจากนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้งตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บังคับใช้ สิ่งที่ทำให้ไม่สามารถยอมรับได้ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยยังมีอยู่อีกหลายประการ เช่น กรณีการใช้กฎหมายปราบปรามประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริต การผลักให้หลายคนต้องตกเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองเพราะแสดงความเห็นวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ต้องหาคดีการเมืองจำนวนถูกปฏิเสธสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เรื่องเหล่านี้ตอกย้ำถึง สภาวะที่ประชาชนไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองเสรีภาพทางการเมืองและพลเมือง

ที่สำคัญ โครงสร้างอำนาจในรัฐไทยได้ปรากฏภาพของอำนาจที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน แต่กลับมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น การดำรงอยู่ขององค์กรอิสระอย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก็ไม่ได้มีความยึดโยงใดๆ กับประชาชนเลยแม้แต่น้อย และองค์คณะล้วนมาจากการแต่งตั้งโดยข้าราชการตุลาการและผู้ทรงคุณวุฒิ แต่กลับสามารถมีอำนาจตัดสินยุบพรรคการเมืองที่ประชาชนให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ สามารถตัดสิทธิทางการเมืองของบุคคลที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาทำงานในรัฐสภาได้ 

หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำรงอยู่ของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด (มีผู้ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) แต่กลับมีอำนาจแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน และมีอำนาจตัดสินใจว่าใครจะสามารถขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ นี่คือ สิ่งที่ถือเป็นความอัปยศมากที่สุด สำหรับประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมาตลอด

       ทั้งหมดเป็นเพียงข้อพิจารณาเบื้องต้นที่ชี้ว่า รัฐไทยยังคงห่างไกลกับความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่คิดเองเออเอง โดยปัญหาที่ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยถดถอยมีอยู่อีกมาก และไม่สามารถกล่าวถึงได้อย่างครบถ้วน

เส้นทาง (ไม่) เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

ทุกวันนี้ หลายฝ่ายต่างกำลังแสวงหากระบวนการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยจากระบอบเผด็จการทหารสู่สังคมประชาธิปไตย และคาดหวังว่า รัฐบาลใหม่จะช่วยให้สังคมเดินทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ แต่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานได้ จะต้องจัดการกับสิ่งที่คอยบั่นทอนและทำลายองค์ประกอบของประชาธิปไตยลงก่อน ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ การแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การปฏิรูปบทบาทของกองทัพ ลดอำนาจของหน่วยงานความมั่นคงไม่ให้มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย พร้อมกับพัฒนาองค์กรตุลาการให้ยึดโยงกับประชาชนและอยู่ภายใต้กฎหมายให้ได้

นอกจากนี้ การดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนตั้งแต่อดีตก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อทำให้เห็นว่าทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ไม่มีชนชั้นอภิสิทธิ์ใดที่อยู่เหนือกฎหมาย สร้างหลักนิติรัฐให้เกิดขึ้นจริงในสังคม เช่นเดียวกับกรณีการเอาผิดต่อคณะผู้ก่อการรัฐประหาร เพราะตราบใดที่คณะบุคคลหรือเครือข่ายอำนาจที่มีส่วนร่วมในยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญ และตั้งตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถลอยนวลพ้นผิดแล้วยังอยู่ในอำนาจ การนำพาสังคมเข้าสู่ประชาธิปไตยก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

 

อกสารอ้างอิง

https://ilaw.or.th/node/5771

https://prachatai.com/journal/2010/11/31944

https://prachatai.com/journal/2019/09/84148

https://www.idea.int/data-tools/tools/global-state-democracy-indices

Tags: , , ,