จากเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยที่มีมาตลอดนับตั้งแต่ก่อนปี 2475 จวบจนปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดสงครามความคิดทางการเมืองของคนในสังคมขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเริ่มมีโซเชียลมีเดียที่ทำให้การติดต่อสื่อสารและการแสดงความคิดเห็นของคนง่ายขึ้น เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสก็สามารถทำให้คนทั้งโลกรู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ ซึ่งเรามักเห็นการต่อสู้ทางความคิดของประชาชนฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่สื่อออนไลน์ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เป็นที่น่าสนใจว่าเราจะสามารถทำความเข้าใจความคิดของคนที่มีความแตกต่างกันได้อย่างไร

บทความนี้จึงต้องการทดลองวิเคราะห์ความคิดเห็นทางการเมืองผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อทำความเข้าใจสำนึกของมนุษย์ 5 ประเภท ผ่านทฤษฎีความเครียด (Strain theory) ซึ่งสะท้อนความแตกต่างทางความคิดของมนุษย์

Merton กับทฤษฎีความเครียด (Strain theory)

ทฤษฎีความเครียด (Strain theory) เป็นทฤษฎีทางสังคมวิทยาและอาชญาวิทยา โดย โรเบิร์ต เค. เมอร์ตัน (Robert K. Merton) ที่พัฒนามาจากสภาวะไร้กฎเกณฑ์ของ เอมิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) เขามองว่าความเครียดในสังคมเกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่ยึดโยงอยู่กับเป้าหมายเดียว โดยไม่ได้เป็นสื่อกลางให้คนทุกคนบรรลุเป้าหมายได้อย่างเท่าเทียม ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างวัฒนธรรมกับโครงสร้างทางสังคม 

เมื่อโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่มีปัญหาก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ บุคคลถูกบังคับให้ต้องทำงานภายใต้ความกดดัน และแม้ว่าจะทำงานเหน็ดเหนื่อยปานใดก็ไม่สามารถจะเข้าถึงปัจจัยที่ทำให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ อาจส่งผลให้เกิดความเครียดของคนในสังคม และการต่อต้านขั้วอำนาจทางการเมืองที่พวกเขามองว่ากำลังมีปัญหา กระทั่งโครงสร้างที่มีปัญหาอยู่แล้วถูกตอกย้ำด้วยเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 จนทำให้ ‘ความเครียด’ ในสังคมที่สะสมมานานเกิดการปะทุขึ้นอย่างรุนแรง

เมื่อผู้คนไม่อาจแสดงความคิดเห็นหรือปลดปล่อยความเครียดในพื้นที่สาธารณะได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่รัฐปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยกองกำลัง ใช้กฎหมายปิดปาก หรือเหตุผลของโรคระบาดที่ทำให้การชุมนุมประท้วงต้องหยุดชะงักไปบางช่วง การแสดงความคิดเห็นจึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ออนไลน์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ 

ที่ผ่านมาเราอาจสัมผัสได้ถึงความเครียดในสังคมที่ปะทุขึ้นอย่างหนักผ่านสื่อออนไลน์ สัมผัสได้ถึงความคิดเห็นที่แตกต่างของคนในสังคมซึ่งมีการตอบโต้กันอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการปะทะของความคิดและวาทกรรมของคนจำนวนมาก หรือโซเชียลมีเดียอื่นที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วจนเกิดความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกันบนสังคมออนไลน์ จนกระทั่งเลยเถิดไปถึงการล่าแม่มดและการแจ้งความดำเนินคดีกัน

นับเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งหากไม่อาจจัดการกับความเครียดในสังคมได้ เพราะหากความเครียดของคนในสังคมไปถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ อาจนำไปสู่สภาวะไร้รัฐหรือไร้กฎเกณฑ์ได้เลยทีเดียว

การปรับตัวกับความเครียดของบุคคล 5 ประเภท

สังคมมักประกอบด้วยคนหลากหลายประเภท แต่ปัญหาคือเราจะเข้าใจความแตกต่างทางความคิดของคนในสังคมได้อย่างไร ในการวิเคราะห์นี้ ผู้เขียนได้นำเอารูปแบบการปรับตัวกับความเครียดที่เมอร์ตันได้เสนอยามเกิดความเครียดขึ้นในปัจเจกบุคคล แต่ละคนมีแนวทางการจัดการกับความเครียดและมีการตอบสนองที่แตกต่างกันออกไป 

แม้ว่าแนวคิดของเมอร์ตันจะเป็นแนวคิดทางอาชญาวิทยาในการเข้าใจการกระทำความผิดของอาชญากรในสังคม แต่เราก็สามารถนำมาวิเคราะห์สำนึกของคนที่มีต่อความขัดแย้งทางการเมืองแต่ละประเภทได้ ซึ่งสำนึกของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่มีอยู่ต่อเป้าหมายทางวัฒนธรรมและเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น 

กล่าวได้ว่าสมาชิกในสังคมทุกคนมี ‘เป้าหมาย’ ที่เป็นที่ยอมรับในสังคม โดยวิธีการที่เป็นที่ยอมรับในสังคมจากเป้าหมายและวิธีไปสู่เป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้นั้นอาจทำให้เกิดความเครียด แต่ปัญหาคือเป้าหมายทางการเมืองของคนในสังคมมักจะแตกต่างกันไปตามคุณค่าที่เรามอบให้ เช่น บางคนอาจต้องการผู้ปกครองที่เข้มแข็ง บางคนต้องการประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ หรือบางคนต้องการปฏิวัติ เราอาจมองเห็นความคิดเหล่านั้นถ่ายทอดออกมาผ่านโซเชียลมีเดียที่ขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว ซึ่งเมื่อสำรวจความคิดต่างๆ อาจแบ่งแยกความคิดของคนออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้ 

การปรับตัว

เส้นทาง

เป้าหมาย

ผู้ยอมทำตาม (Conformist)

ยอมรับ

ยอมรับ

ผู้สร้างนวัตกรรม (Innovator)

ปฏิเสธ

ยอมรับ

ผู้ทำไปตามพิธี (Ritualist)

ยอมรับ

ปฏิเสธ

ผู้ถดถอย (Retreatism)

ปฏิเสธ

ปฏิเสธ

ผู้ต่อต้าน (Rebel)

ปฏิวัติ/สร้างสิ่งใหม่

จากตารางข้างต้น บุคคลทั้ง 5 ประเภท ต่างมีเส้นทางของตัวเองคือ ทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ดีในความหมายของแต่ละคน ซึ่งอาจจำแนกได้ดังนี้

1. ผู้ยอมทำตาม (Conformist) เป็นบุคคลที่ธรรมดาที่สุด เพราะเป็นคนที่ยอมรับทั้งแนวทางและเป้าหมายของรัฐในการปกครอง คนประเภทนี้จะไม่โต้แย้งต่อผู้ปกครอง แต่จะพยายามไปถึงเป้าหมายด้วยวิธีที่มีอยู่ 

2. ผู้สร้างนวัตกรรม (Innovator) เป็นบุคคลที่ยอมรับเป้าหมายของสังคม แต่ยากที่จะบรรลุเป้าหมายของสังคมนั้น จึงพยายามสร้างนวัตกรรมในการไปถึงเป้าหมายด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะมิชอบด้วยกฎหมายเสมอไป

3. ผู้ทำไปตามพิธี (Ritualist) เป็นบุคคลที่ละทิ้งเป้าหมายในสังคม เพราะคิดว่าตนเองอาจจะไปถึงเป้าหมายได้อยู่แล้ว คนประเภทนี้จึงมักปฏิบัติตัวไปตามกฎเกณฑ์และมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ให้ปลอดภัยกับตัวเองที่สุด

4. ผู้ถดถอย (Retreatism) เป็นบุคคลที่ทั้งคิดว่าไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายได้แน่ๆ โดยปฏิเสธทั้งเป้าหมายและเส้นทางที่จะไปถึงเป้าหมาย คนประเภทนี้มักจะถดถอยตัวเอง และไม่ขวนขวายใดๆ 

5. ผู้ต่อต้าน (Rebel) เป็นบุคคลที่มองว่าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้วยเส้นทางที่ชอบด้วยกฎหมายได้แน่ๆ คนประเภทนี้มักจะสร้างเป้าหมายและเส้นทางขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีการประท้วง หรือสนับสนุนกิจกรรมเชิงปฏิวัติอย่างเต็มที่

ความคิดเห็นบนพื้นที่ออนไลน์กับสำนึกมนุษย์

“ประเทศเราบอบช้ำมามากพอแล้ว”

“ถ้าอยากเปลี่ยนรัฐบาลก็รอเลือกตั้งใหม่สิ”

“แม้โควิดระบาด เราก็ควรมองโลกในแง่ดี”

“ประยุทธ์บริหารไม่ได้ก็ออกไป!”

ฯลฯ

ความคิดเห็นจำนวนมากถาโถมเข้ามาในโซเชียลมีเดียอย่างไม่ขาดสาย ต้องยอมรับว่าเป้าหมายและเส้นทางของผู้แสดงความคิดเห็นแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป ซึ่งความคิดเห็นต่างๆ สามารถสะท้อนถึงสำนึกของแต่ละคนออกมาได้อย่างชัดเจน 

ตั้งแต่สำนึกของคนที่ยอมทำตามคำสั่งรัฐบาลทุกประการโดยไม่โต้เถียงใดๆ, คนที่คิดว่าตนเองไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้แน่ จึงพยายามไปให้ถึงเป้าหมายด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งอาจเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย, คนที่อยู่ไปวันๆ เพราะไม่ได้เดือดร้อนอะไร, คนที่ถดถอยไม่ขวนขวายใดๆ เพราะคิดว่าเราไม่สามารถมีการเมืองที่ดีได้อยู่แล้ว หรือแม้แต่คนที่คาดหวังว่าอยากจะมีการเมืองที่ดีจึงต้องออกมาประท้วงบนท้องถนน

กล่าวโดยสรุปคือ การชวนตั้งคำถามและถกเถียงกันในประเด็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่อาจทำให้เราเข้าใจความแตกต่างทางความคิดของบุคคลประเภทต่างๆ มากขึ้นโดยไม่ได้ตีกรอบว่าทฤษฎีอาชญาวิทยาจะต้องใช้เพื่อการวิเคราะห์จิตใจของอาชญากรเท่านั้น ดังนั้น เราสามารถนำมาประยุกต์เพื่อวิเคราะห์จิตใจของมนุษย์ได้หลายรูปแบบ

 

อ้างอิง

Michelle Inderbitzin, Kristin A. Bates, and Randy R. Gainey. Deviance and social control: A sociological perspective. Sage Publications, 2016, สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564, https://in.sagepub.com/sites/default/files/upm-assets/76592_book_item_76592.pdf

ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล. อาชญาวิทยาขั้นสูง (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ม.ป.ป.)

กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์, “Cyber Strain: ความตึงเครียดบนสังคมไซเบอร์,” สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564, https://thainetizen.org/2016/08/cyber-strain/.

Tags: , , , , ,