ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยจำนวนมากเมื่อเดินทางไปถึงสนามบินของประเทศเกาหลีใต้ กลับถูกส่งเข้า ‘ห้องเย็น’ หรือกระทั่งถูกปฏิเสธการเข้าเมืองโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติที่อาจถือได้ว่า เป็นการเหยียดเชื้อชาติและไม่ให้เกียรติ

บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงการตรวจคนเข้าเมืองในฐานะสภาวะยกเว้น ซึ่งไม่นำหลักการของกฎหมายในยุคปัจจุบันที่มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาบังคับใช้อย่างเต็มที่ โดยไม่ได้มุ่งวิเคราะห์บทบัญญัติหรือองค์ประกอบของกฎหมายว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้กระทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการสรุปและให้ความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพรวม ไม่ได้หมายความว่าทุกกรณีจะต้องเป็นไปตามบทความนี้แต่อย่างใด

หลักกฎหมายของยุคสมัยใหม่: การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มวลมนุษยชาติพยายามพัฒนาหลักหลักการต่างๆ มุ่งคุ้มครองมนุษย์จากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ ผ่านที่การมนุษย์ลุกขึ้นสู้เพื่อให้พ้นจากการประหัตประหารและการกดขี่ของผู้มีอำนาจครอบงำสังคมในแต่ละยุคสมัย[1] เช่นพัฒนาหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักการที่เห็นว่ามนุษย์แต่ละคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Dignity) ในตัวเอง ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดและไม่อาจถูกพรากไปได้ มนุษย์จึงควรได้ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์[2] รวมถึงพัฒนาหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม มีหลักการกว้างๆ ว่ารัฐจะต้องจำกัดอำนาจของตนให้อยู่ภายใต้หลักกฎหมายที่เป็นธรรม ไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือตามอำเภอใจ

กฎหมายที่แต่ละประเทศตราขึ้นในยุคปัจจุบันจึงมีแนวโน้มที่จะบรรจุหลักการ ซึ่งมุ่งอำนวยความยุติธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชน ปรากฏให้เห็นในกฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบรรดากฎหมายฉบับต่างๆ

ตัวอย่างเช่น ในกฎหมายอาญามีหลัก ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์’ กล่าวคือใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา จะต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าทำผิดจริง และผู้กล่าวหาเป็นผู้ที่มีหน้าต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริง และจะต้องพิสูจน์จน ‘สิ้นความสงสัยตามสมควร’ (Beyond a Reasonable Doubt) กล่าวคือต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัยและแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง จึงจะให้ผลร้ายเช่นการลงโทษปรับหรือจำคุกแก่บุคคลนั้นได้

หรือในกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับการใช้อำนาจของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็มีหลักการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ตัวอย่างเช่น หากหน่วยงานท้องถิ่นออกคำสั่งห้ามใช้อาคาร ซึ่งเราเห็นว่าเป็นคำสั่งไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เราก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อหน่วยงาน หรือกระทั่งฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ เหล่านี้ล้วนเป็นกลไกของกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจรัฐ

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับต่างๆ ยังบรรจุหลักการที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนไว้มากมาย เช่นหลักการไม่เลือกปฏิบัติ หมายรวมถึงการที่มนุษย์แต่ละคนจะต้องถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกัน และการออกกฎหมายจะต้องไม่ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเชื้อชาติ สีผิว เพศ หรือศาสนาใดๆ 

สภาวะยกเว้นและชีวิตที่เปลือยเปล่า

แม้ว่ามนุษย์จะพยายามต่อสู้และพัฒนาการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาอย่างยาวนานจนกลายมาเป็นหลักกฎหมายในยุคปัจจุบัน หลักการเหล่านี้กลับถูกยกเว้นไม่นำมาใช้ในสภาวะยกเว้นอยู่เสมอ และการตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินก็คือหนึ่งในสถานที่หรือสภาวะยกเว้นเหล่านั้น

‘สภาวะยกเว้น’ (State of Exception) ในที่นี้อาจอธิบายว่า หมายถึงการยกเว้นกฎเกณฑ์ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเพิ่มขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐให้ใช้อำนาจควบคุมระเบียบทางสังคมที่รัฐต้องการได้ โดยอ้างถึงเหตุผลของความไม่ปกติหรือวิกฤตบางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น สงคราม โรคระบาด หรือกระทั่งภัยความมั่นคง[3]

ที่ผ่านมา นักวิชาการมีความพยายามศึกษาและสร้างคำอธิบายต่อสภาวะยกเว้นที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น คาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) นักกฎหมายและนักปราชญ์ชาวเยอรมัน อธิบายว่า สภาวะยกเว้นทำให้ตัวตนที่แท้จริงของผู้มีอำนาจปรากฏออกมา หลังจากทำลายเปลือกแห่งระเบียบทางกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยที่ควบคุมการใช้อำนาจรัฐเป็นที่เรียบร้อย และเมื่อเกิดสภาวะยกเว้น จิออร์จิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลี อธิบายว่า สภาวะยกเว้นก่อให้เกิดพื้นที่ที่งดเว้นไม่ใช้กฎหมายตามปกติ ซึ่งส่งให้มนุษย์ที่ถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในสภาวะยกเว้น กลายเป็น ‘ชีวิตที่เปลือยเปล่า’ (Bare Life) เป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่า ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจากรัฐ และถูกจับตามองและถูกควบคุมให้อยู่ภายใต้อำนาจอย่างเคร่งครัด[4]

นอกจากในสนามบินแล้ว อากัมเบนยังศึกษากรณีอื่นๆ เช่น ค่ายกักกันของนาซี คุกกวนตานาโม ค่ายผู้ลี้ภัย หรือกระทั่งในโรงพยาบาลหรือสนามฟุตบอล ในฐานะสภาวะยกเว้นซึ่งมีการใช้อำนาจและความรุนแรงต่อชีวิตมนุษย์เช่นกัน โดยอากัมเบนเคยปฏิเสธการไปสอนของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กในปี 2004 เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดให้คนต่างชาติที่จะเข้าออกสหรัฐอเมริกา จะต้องถูกตรวจลายนิ้วมือเพื่อป้องกันผู้ก่อการร้าย อากัมเบนจึงเห็นว่าสนามบินในที่นี้จึงกลายเป็นสถานที่ยกเว้น ซึ่งมนุษย์อาจกลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าได้หากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองใช้อำนาจตัดสินว่าเป็นผู้ต้องสงสัย[5]

นอกจากนี้ ในแวดวงวิชาการมักจะพยายามชี้ให้เห็นว่า โลกเข้าสู่สภาวะยกเว้นที่เป็นถาวรมาตลอด เช่นที่นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าโลกไม่เคยหลุดพ้นจากสภาวะยกเว้นเป็นปกติตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ซึ่งรัฐต้องหันมาดำเนินการและติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ‘การก่อการร้าย’ และพฤติการณ์แวดล้อมต่างๆ เพื่อจะจัดเตรียมแผนป้องกันไว้ล่วงหน้าได้[6]

สนามบินและการตรวจคนเข้าเมือง: พื้นที่ยกเว้นการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

พื้นที่สนามบินและการตรวจคนเข้าเมืองในฐานะสภาวะยกเว้น (ถาวร) เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เต็มไปด้วยข้อยกเว้นของหลักกฎหมายของรัฐสมัยใหม่ ทำให้ผู้คนไม่ได้รับความคุ้มครองในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยจำนวนมากที่เดินทางไปเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดินทางไปถึงสนามบินและเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง กลับถูกส่งเข้า ‘ห้องเย็น’ และถูกปฏิเสธการเข้าเมืองโดยเจ้าหน้าที่ ตม.เกาหลี ซึ่งจำนวนผู้ที่ถูกปฏิเสธอาจถึงครึ่งต่อครึ่งของคนไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้ทั้งหมด[7] โดยมีเหตุผลหลักเพราะมีคนไทยจำนวนมากเข้าเมืองไปอยู่อาศัยและทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย หรือที่เรียกว่า ‘ผีน้อย’

จนกระทั่งในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 ความไม่พอใจของคนไทยปะทุจนกลายเป็นกระแส #แบนเที่ยวเกาหลี โดยมีคนไทยจำนวนมากที่ถูกปฏิเสธการเข้าเมืองอย่างไม่เป็นธรรม ออกมาเล่าเรื่องบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ผู้ใช้แอปพลิเคชัน X รายหนึ่งเล่าว่า แม้เธอจะเตรียมเอกสารมาครบถ้วนและตอบคำถามเจ้าหน้าที่ ตม.ได้ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ก็ยังใช้คำพูดที่ไม่ดีและปฏิเสธไม่ให้เข้าเมือง แม้เธอจะขอยื่นอุทธรณ์ก็อุทธรณ์ไม่ผ่าน ส่วนผู้ใช้แอปพลิเคชัน X อีกรายหนึ่งเล่าว่า ตนบินไปร่วมงานอีเวนต์ของศิลปิน แต่ก็ยังถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ แม้เธอจะรับราชการและมีวีซ่าท่องเที่ยวก็ตาม อีกทั้งเธอถูกกักตัวนาน 8 ชั่วโมง และสุดท้าย ตม.ก็ไม่ให้เธอเข้าประเทศ โดยอ้างว่าเหตุผลในการขอเข้าประเทศไม่เพียงพอ[8]

กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์และข้าราชการ เช่น เภสัชกร ตำรวจ หรือกระทั่งดารานักร้องและบุคคลที่มีชื่อเสียง ก็ออกมาบอกว่าเคยติด ตม.เกาหลีหรือเคยถูกปฏิเสธการเข้าเมืองเช่นกัน

ขณะเดียวกัน กลับมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปรายหนึ่งออกมาเล่าเรื่องบนโซเชียลมีเดียว่า เธอเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยไม่ได้แลกเงินวอนมา พกมาเพียงบัตรเครดิต ทำให้ชาวเน็ตไทยแสดงความไม่พอใจว่า หากเป็นฝรั่งผมทองผิวขาว ก็จะผ่าน ตม.เกาหลีอย่างง่ายดายแม้ไม่มีเงินติดตัวมาก็ตาม ต่างจากคนไทยที่เตรียมทุกอย่างมาอย่างดี แต่กลับเข้าประเทศอย่างยากเย็นหรือถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ

การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่กรณีคนไทยกับ ตม.เกาหลีเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นไปทั่วโลกแม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วและขึ้นชื่อว่าเคารพสิทธิมนุษยชนในระดับสูง เช่น ชาวแอฟริกันหลายท่านเดินทางไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อติดต่อราชการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮก มักจะถูก ‘สุ่มเลือก’ และถูกตรวจสอบเป็นพิเศษในสนามบินอยู่เสมอๆ ไม่เว้นแม้แต่ ฟาตู เบนซูดา (Fatou Bensouda) สุภาพสตรีชาวแกมเบียซึ่งดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศในปี 2012-2021 ก็ยังถูกตรวจสอบเป็นพิเศษในสนามบินที่อัมสเตอร์ดัมอยู่บ่อยครั้งด้วยเหตุแห่งรูปลักษณ์ภายนอก แม้เธอจะมีบัตรประจำตัวทางการทูตก็ตาม[9] หรือในประเทศสหรัฐอเมริกา คนผิวดำก็มักจะถูกสุ่มเลือกให้ต้องตอบคำถามหรือถูกตรวจสอบเป็นพิเศษยิ่งกว่าคนผิวขาวโดยเจ้าหน้าที่ในสนามบิน เช่นถูกถามขณะเดินไปขึ้นเครื่องบินว่ามียาเสพติดหรือไม่ ในขณะที่คนขาวมักจะไม่ถูกตั้งคำถามและเดินผ่านไปได้ตามปกติ[10]

เมื่อตัวตนที่แท้จริงของรัฐปรากฏ สิทธิเสรีภาพของคนไทยจึงถูกกระทบกระเทือน

จากบรรดากรณีข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการที่สนามบินและ ตม.หลายแห่งทั่วโลก อยู่ในฐานะ ‘สภาวะยกเว้น’ หรือสถานที่ที่หลักกฎหมายของยุคปัจจุบันซึ่งมุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ถูกนำมาบังคับใช้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะหลักการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติหรือสีผิว หลักการต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หลักการต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัยจึงจะให้ผลร้ายแก่บุคคลได้ สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม 

ในสภาวะยกเว้นนี้ เป็นการรวมอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งสังคมประชาธิปไตยพึงมี กล่าวคือการต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการคอยถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกัน กลับถูกรวมเป็นอำนาจเดียว[11] ส่งผลให้ไม่มีหลักเกณฑ์การเข้าเมืองที่แน่ชัด นักเดินทางชาวไทยไม่ทราบว่าต้องปฏิบัติตนอย่างไร มีการบังคับใช้มาตรการตามอำเภอใจ อีกทั้งยังไม่สามารถร้องเรียนหรืออุทธรณ์เพิกถอนเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ตม.ได้

เมื่อเกิดสิ่งที่รัฐเห็นว่าเป็นสภาวะยกเว้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง การครอบครองยาเสพติด หรือการลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายก็ตาม สภาวะยกเว้นเหล่านั้นทำให้ตัวตนที่แท้จริงของอำนาจรัฐปรากฏออกมา เป็นตัวตนที่พร้อมจะละเมิดระบบระเบียบของประชาธิปไตยและการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น พร้อมที่จะเหยียดเชื้อชาติและสีผิวของคนที่ไม่ใช่คนผิวขาว หรือของคนไทยที่จะเข้าไปท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ พร้อมที่จะปฏิบัติอย่างไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการเบียดขับผู้ที่ถูกกระทำ เช่น คนผิวดำหรือพลเมืองชาวไทย ให้ออกไปจากระบบการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองตามปกติ กลายเป็น ‘ชีวิตที่เปลือยเปล่า’ เป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่า ต่างจากชีวิตของคนผิวขาวหรือคนจากประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ที่ถูกปฏิบัติในฐานชีวิตที่มีคุณค่ามากกว่า แม้ว่าจะมีมาตรการให้พลเมืองไทยสามารถเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศเกาหลีใต้ได้ 90 วันโดยไม่ต้องทำวีซ่า ก็เป็นสิทธิที่ไม่สามารถให้แก่คนไทยอย่างเป็นผลได้จริง

อันที่จริงแล้ว องค์กร ตม.ของเกาหลีเป็นหนึ่งในองค์กรภายใต้กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ (ต่างจาก ตม.ของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรตำรวจ) อีกทั้งภายใต้กระทรวงยุติธรรมก็มีหน่วยงานต่างๆ เช่นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสิทธิมนุษยชนของประเทศให้เป็นไปตามหลักสิทธิมมนุษยชนสากล ดังนั้น ตม.เกาหลีใต้จึงยิ่งต้องถูกคาดหวังให้มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม ในฐานะที่ถูกกำกับดูแลโดยกระทรวงยุติธรรม แต่เมื่อมีเหตุผลเรื่องคนไทยเข้าเมืองผิดกฎหมายมาเกี่ยวข้อง ตัวตนที่แท้จริงของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐของเกาหลีใต้ที่เกี่ยวข้องจึงได้โอกาสแสดงตนออกมา ส่งผลเป็นการละเมิดหลักการของกฎหมายที่พัฒนาแล้วของยุคปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทยจึงย้อนแย้งกับตัวองค์กรที่มีหน้าที่ผดุงความยุติธรรมในสังคม

นอกจากเหตุผลของการที่ตัวตนที่แท้จริงของอำนาจรัฐที่ซ่อนอยู่ ปรากฏออกมาตามแนวคิดของอากัมเบนแล้ว ผู้เขียนตั้งสมมติฐานต่อไปอีกว่า สภาวะยกเว้น (ถาวร) ที่เกิดขึ้นยังเกิดจากการที่ 1. กฎหมายให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่รัฐให้ทำได้ 2. สถาบันทางกฎหมายให้การยอมรับ (เช่น รัฐสภา กฎระเบียบของฝ่ายบริหาร รวมถึงคำพิพากษาศาลบอกว่าทำได้) และ 3. เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการโดยผิดกฎหมาย แต่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสมมติฐานข้อนี้จำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

 

รายการอ้างอิง

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. “ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ว่าด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่า องค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่ และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด.” รัฐศาสตร์สาร 28, ฉ. 3, (2550): 91-124.

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์. เอกสารประกอบการสอนกระบวนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน (177465). เชียงใหม่, 2560.

ภาสกร ญี่นาง. “ความไม่ปกติที่ปกติ: ‘สภาวะยกเว้นถาวร’ ในการบังคับใช้ ม.112 กับเด็กและเยาวชนไทย.” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 8 เมษายน 2566. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567, https://tlhr2014.com/archives/55060

อุดมศักดิ์ สิทธิพงษ์, สิทธิมนุษยชน, พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

“‘ครึ่งต่อครึ่ง’ ของคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเกาหลีใต้ ด้านกระทรวงแรงงาน เตือนคนทำงานให้ไปอย่างถูกต้อง.” The Matter, 5 สิงหาคม 2565. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567, https://thematter.co/brief/182343/182343#google_vignette

“สรุปแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี.” เพจเฟซบุ๊ก Poetry of Bitch, 28 ตุลาคม 2566. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567, https://www.facebook.com/photo.php?fbid=864622408371571&id=100044714585781&set=a.707991137368033

Keefe, Brendan. “Black passengers searched more than others at airport.” Atlanta News First, 21 November 2023. Accessed 11 February 2024, https://www.atlantanewsfirst.com/2023/11/20/plane-sight-black-passengers-searched-more-than-others-airport/

Verfuss, Thomas. “Dutch border controls illegally discriminate against black people, court rules.” Journalists for Justice, 15 February 2023. Accessed 11 February 2024, https://jfjustice.net/dutch-border-controls-illegally-discriminate-against-black-people-court-rules/

[1] ทศพล ทรรศนกุลพันธ์, เอกสารประกอบการสอนกระบวนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน (177465), (เชียงใหม่, 2560), 65.

[2] อุดมศักดิ์ สิทธิพงษ์, สิทธิมนุษยชน, พิมพ์ครั้งที่ 6, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน), 13.

[3] ภาสกร ญี่นาง, “ความไม่ปกติที่ปกติ: ‘สภาวะยกเว้นถาวร’ ในการบังคับใช้ ม.112 กับเด็กและเยาวชนไทย,” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 8 เมษายน 2566, สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567, https://tlhr2014.com/archives/55060

[4] ภาสกร ญี่นาง, “ความไม่ปกติที่ปกติ: ‘สภาวะยกเว้นถาวร’ ในการบังคับใช้ ม.112 กับเด็กและเยาวชนไทย.”

[5] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, “ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ว่าด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่า องค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่ และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด,” รัฐศาสตร์สาร 28, ฉ. 3, (2550): 91-124.

[6] ภาสกร ญี่นาง, “ความไม่ปกติที่ปกติ: ‘สภาวะยกเว้นถาวร’ ในการบังคับใช้ ม.112 กับเด็กและเยาวชนไทย.”

[7] “‘ครึ่งต่อครึ่ง’ ของคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเกาหลีใต้ ด้านกระทรวงแรงงาน เตือนคนทำงานให้ไปอย่างถูกต้อง.” The Matter, 5 สิงหาคม 2565. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567, https://thematter.co/brief/182343/182343#google_vignette

[8] “สรุปแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี.” เพจเฟซบุ๊ก Poetry of Bitch, 28 ตุลาคม 2566. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567, https://www.facebook.com/photo.php?fbid=864622408371571&id=100044714585781&set=a.707991137368033

[9] Verfuss, Thomas. “Dutch border controls illegally discriminate against black people, court rules.” Journalists for Justice, 15 February 2023. Accessed 11 February 2024, https://jfjustice.net/dutch-border-controls-illegally-discriminate-against-black-people-court-rules/

[10] Keefe, Brendan. “Black passengers searched more than others at airport.” Atlanta News First, 21 November 2023. Accessed 11 February 2024, https://www.atlantanewsfirst.com/2023/11/20/plane-sight-black-passengers-searched-more-than-others-airport/

[11] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, “ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ว่าด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่า องค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่ และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด.”

Tags: , , ,