*ต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

ฉากในดวงใจใครหลายคนของภาพยนตร์เรื่อง Shawshank Redemption คือฉากที่ เอลลิส บอยด์ เรดดิง หรือ ‘เรด’ (นำแสดงโดย มอร์แกน ฟรีแมน) เข้ารับการพิจารณาทำทัณฑ์บนเพื่อปล่อยตัวก่อนเวลาโดยคณะกรรมการทัณฑ์บนของเรือนจำชอว์แชงก์ ซึ่งเรดถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิตจากการก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรง ก่อนหน้านี้เขาเคยเข้ารับการพิจารณาทัณฑ์บนมาแล้วสามครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธเรื่อยมาจนท้ายที่สุดก็ได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวหลังจากถูกจองจำมานานกว่า 40 ปี

เรดอยู่ในห้องสัมภาษณ์เพื่อพิจารณาการอนุญาตปล่อยตัวฯ ต่อคณะกรรมการทัณฑ์บน

คำถามที่คณะกรรมการทัณฑ์บนถามเรดในการพบกันทั้งสามครั้งคือ “You have been rehabilitated?” (คุณสำนึกผิดแล้วหรือยัง?) สัจธรรมอย่างหนึ่งก็คือ มนุษย์ล้วนเคยหลงผิดหรือทำผิดพลาด ดังนั้นจึงควรมีโอกาสได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองและกลับตัวกลับใจ  ซึ่ง ‘Rehabilitated’ ในทางกฎหมายจึงหมายถึงกระบวนการสำนึกผิดต่อสิ่งที่เคยทำในอดีตระหว่างถูกตัดสินโทษ นั่นจึงกลายมาเป็นคำถามที่คณะกรรมการทัณฑ์บนถามเรดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “คุณสำนึกผิดแล้วหรือยัง?”

คำตอบแต่ละครั้งนั้นแตกต่างกันออกไป ในครั้งแรกและครั้งที่สอง เรดตอบคณะกรรมการทัณฑ์บนด้วยสีหน้ามั่นใจเปี่ยมด้วยความหวังว่าตัวเขาเปลี่ยนไปแล้ว พร้อมให้สัตย์สาบานต่อพระเจ้าว่าจะไม่เป็นอันตรายกับสังคมอีกต่อไป แต่เรดกลับถูกปฏิเสธอย่างไม่ไยดี กระทั่งครั้งที่สามที่เรื่องราวต่างออกไป หลังจากเรดอยู่ในเรือนจำชอว์แชงก์มานานพอที่จะค้นพบความหมายของชีวิต แทนที่จะเป็นความหมายของการต้องสำนึกผิด (Rehabilitated) เรดตอบกับคณะกรรมการทัณฑ์บนว่า “Rehabilitated? well. Now, let me see. You know, I don’t have any idea what that means” (สำนึกผิดเหรอ? ขอคิดก่อนนะ คุณรู้อะไรไหม? ผมไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร) 

จากนั้นบทสนทนาก็ดำเนินต่อไปจนมาถึงฉากที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของเรด ซึ่งเขาได้กล่าวด้วยสีหน้าที่เรียบเฉยว่า “ไม่มีวันไหนที่ผ่านไปโดยไม่รู้สึกเสียดาย ถ้ามีโอกาส อยากกลับไปคุยเรื่องราวต่างๆ กับเรดวัยหนุ่มที่ช่างโง่เขลาอีกสักครั้ง แต่เรดวัยหนุ่มคนนั้นได้ตายจากไปแล้ว เหลือแต่เรดแก่ๆ ที่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป” 

ก่อนปิดท้ายด้วยการบอกว่า ถ้าคณะกรรมการทัณฑ์บนจะปฏิเสธเขาอีก ก็ให้รีบปั๊มลงในกระดาษได้เลย “Stop wasting my time. Because to tell you the truth, I don’t give a shit” (หยุดทำให้ผมเสียเวลาได้แล้ว เพราะผมจะบอกความจริงอะไรให้นะว่า ผม-ไม่-แคร์)

ฉากนั้นจบลงด้วยการที่เรดได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวออกจากเรือนจำชอว์แชงก์ โดยผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างให้ความเห็นว่า การที่เรดได้รับการพิจารณาให้ปล่อยตัวในครั้งสุดท้าย ก็เพราะเขาได้แสดงความจริงใจที่มีต่อตนเองอย่างที่สุด (แต่หลายคนก็มองว่าสาเหตุที่เรดได้รับการปล่อยตัวก็เพราะเขาอายุมากแล้ว)

ภาพยนตร์เรื่อง Shawshank Redemption ออกฉายในปี 1994 และติดอันดับ 1 ใน 250 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของ IMDB ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับการให้คะแนนภาพยนตร์ที่มาจากผลโหวตของคนทั่วโลก ด้วยคะแนน 9.21

ผู้เขียนไม่ได้จะพาผู้อ่านไปรู้จักหรือหวนรำลึกถึงภาพยนตร์ Shawshank Redemption อย่างเดียวเท่านั้น แต่จะพาไปรู้จักกับวิธีการทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นคือกระบวนการพิจารณาทัณฑ์บน (Parole) ซึ่งเป็นกระบวนการการปล่อยตัวผู้ต้องโทษก่อนระยะเวลาตามคำพิพากษาของศาล โดยเป็นอำนาจและดุลพินิจของคณะกรรมการทัณฑ์บนของแต่ละมลรัฐในการสั่ง ‘อนุญาต’ (Approved) หรือ ‘ไม่อนุญาต’ (Rejected) พร้อมทั้งสามารถตั้งเงื่อนไขต่อจำเลยได้ในช่วงเวลาที่ถูกปล่อยตัวออกมา หรือสั่งให้จำเลยกลับสู่เรือนจำอีกครั้งหากกระทำผิดเงื่อนไขที่ตั้งไว้

วัตถุประสงค์สำหรับการทำทัณฑ์บนเพื่อปล่อยตัวนั้น มีฉากหนึ่งที่คณะกรรมการทัณฑ์บนได้ให้ความหมายไว้ คือการกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง (Rejoin Society) เป็นกระบวนการที่เป็นสิทธิของจำเลยที่ต้องโทษตามคำพิพากษาให้จำคุก สามารถยื่นคำร้องเพื่อให้ได้รับการอนุญาตปล่อยตัวก่อนระยะเวลาตามที่ศาลได้มีคำพิพากษาไว้ ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมและเพื่อประโยชน์สาธารณะ2 

ในเหตุผลทางมนุษยธรรม ภาพยนตร์ได้เล่าเรื่องไว้อย่างเห็นภาพถึงสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ควรมีต่อกันคือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ แม้ว่าเพื่อนร่วมโลกของเราจะทำผิดไปบ้าง แต่ก็ควรให้โอกาสเขาได้ใช้ชีวิตของตนเองอย่างที่ควรจะเป็นด้วย นั่นคือฉากที่ ‘บรูคส์’ ชายชราที่ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ยังอายุน้อย กว่าจะได้กลับมาสู่โลกนอกเรือนจำอีกครั้งก็ผ่านไป 50 ปีแล้ว แม้คณะกรรมการทัณฑ์บนจะได้จัดหาที่พักให้ และหาอาชีพที่เหมาะสมให้เขา ด้วยการเป็นพนักงานช่วยลูกค้าจัดของลงถุงที่ช่องแคชเชียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ต ทว่าด้วยเวลาของโลกข้างนอกที่หมุนไวเกินไปจนบรูคส์ปรับตัวไม่ทัน เหมือนเป็นเวลาของโลกคู่ขนานที่ไวเสียจนเทียบไม่ติดกับเวลาในเรือนจำชอว์แชงก์ที่เดินเชื่องช้าเป็นเต่าคลานจนนึกว่าเป็นนาฬิกาคนละเรือน 

ภาพยนตร์สื่อว่า การเหินห่างจากโลกภายนอกที่นานเกินไปคือการค่อยๆ บั่นทอนการมีชีวิตอยู่ เพราะการมีชีวิตอยู่ไม่ใช่แค่ว่าหายใจได้ แต่รวมถึงการได้ใช้ชีวิตและมีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ฉากนี้จบลงด้วยการทำอัตวินิบาตกรรมของบรูคส์ที่สะเทือนใจผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนในทางประโยชน์สาธารณะ การกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง (Rejoin Society) โดยมีวิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไป หากจำเลยได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวโดยมีทัณฑ์บน ในช่วงเวลาของการปล่อยตัว ซึ่งการทำทัณฑ์บนนั้นจะมีมาตรการสำหรับจำเลยเพื่อเฝ้าระวังและติดตามโดยคณะกรรมการทัณฑ์บน ซึ่งเป็นมาตรการในการกำกับพฤติกรรมของจำเลยในทางหนึ่ง และเป็นวิธีการที่ทำให้จำเลยสามารถปรับตัวได้อย่างระมัดระวัง และค่อยๆ กลับสู่บรรทัดฐานปกติของสังคม ขณะที่จำเลยที่ตรงดิ่งกลับสู่สังคมหลังจากครบระยะเวลาตามคำพิพากษาโดยปราศจากการมาตรการรองรับใดๆ  พบว่ามีความเสี่ยงสูงในการกระทำผิดซ้ำ เมื่อเทียบกับวิธีการปล่อยตัวก่อนกำหนดโดยมีทัณฑ์บน (Parole) ซึ่งมาตรการดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ ในลักษณะของการเพิ่มความปลอดภัยให้กับชุมชนและสังคมจากการกระทำผิดซ้ำของจำเลยคนเดิม

เมื่อกระบวนการสำนึกผิดเป็นเรื่องพระราชอำนาจ

เมื่อพิจารณาถึงหลักการของการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดก่อนระยะเวลาตามคำพิพากษา ประเทศไทยก็มีหลักการที่คล้ายกันคือ ‘การอภัยโทษ’ 

ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยระบอบราชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการผดุงความยุติธรรมในฐานะของสมมติเทพ ผู้เป็นตัวแทนของความยุติธรรม การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจโดยแท้ของพระมหากษัตริย์ในการที่ทรงประทานความกรุณาปราณีต่อผู้กระทำผิดที่ได้สำนึกผิดแล้วตามที่เห็นสมควร 

และเนื่องด้วยการพระราชทานอภัยโทษเป็นการอำนาจโดยเบ็ดเสร็จของพระมหากษัตริย์ คำถามสำคัญคือ หลังจากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นการจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แล้วหลักการซึ่งโดยสภาพเป็นการใช้พระราชอำนาจโดยแท้ของกษัตริย์อย่างการพระราชทานอภัยโทษ ยังคงดำรงอยู่หรือไม่? 

คำตอบคือ การพระราชทานอภัยโทษยังคงเป็นประเพณีปฏิบัติโดยการใช้พระราชอำนาจกษัตริย์ผ่านรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏหลักการเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบันที่บัญญัติไว้ในมาตรา 179 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” 

ในภาพยนตร์เรื่อง Shawshank Redemption การปล่อยตัวผู้กระทำความผิดเป็นเรื่องของหลักมนุษยธรรมและประโยชน์สาธารณะ ขณะที่การพระราชทานอภัยโทษมีวัตถุประสงค์เป็นไปดังนี้3 คือ

1. ก่อให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเกิดความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

2. เป็นการจูงใจให้คนประพฤติดี

3. เพื่อบรรเทาความรุนแรงของโทษ หรือแก้ไขความผิดพลาดในกระบวนการพิจารณาคดี (Wrongful Conviction)

สำหรับการพระราชทานอภัยโทษจะเกิดขึ้นในวาระและโอกาสที่ยึดโยงกับวันสำคัญของราชวงศ์ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ โอกาสในช่วงพิธีพระบรมราชาภิเษก สะท้อนถึงการปกครองแบบธรรมราชาในอันที่จะต้องมีความกรุณาปราณีต่อพสกนิกรที่ต้องโทษทัณฑ์ที่เกิดขึ้นในวันพิเศษ เพื่อเป็นการยึดโยงสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนทางหนึ่ง

วิถีปฏิบัติสำหรับการพระราชทานอภัยโทษ

การปล่อยตัวผู้กระทำความผิดโดยมีทัณฑ์บนในสหรัฐอเมริกาเป็นวิธีการว่าด้วยเป็นการใช้สิทธิอันพึงมีของจำเลยที่ไม่ต้องมีผู้ใดหยิบยื่นให้ นอกจากความสำนึกผิดของตนที่จะเป็นใบเบิกทางในการกลับสู่สังคมอีกครั้ง ขณะที่ประเทศไทย ใบเบิกทางคือ ‘ใบบริสุทธิ์’ ที่จะเป็นการรับรองว่าจำเลยผู้นั้นพ้นโทษเด็ดขาดแล้ว และหนึ่งในวิธีการที่จะได้ใบบริสุทธิ์มาคือ การได้รับการพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์

การพระราชทานอภัยโทษโดยสภาพเป็นการใช้พระราชอำนาจโดยเด็ดขาด ซึ่งขัดต่อหลักการที่พระมหากษัตริย์จะต้องไม่ใช้อำนาจในทางแผ่นดินภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยรับหลักการมาจากประเทศอังกฤษ คือ ‘The King can do no wrong’ ที่เป็นการจัดวางตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง ไม่มีพระราชอำนาจใดในทางการเมือง และการกระทำใดๆ ของพระกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของผู้แทนที่จะต้องไม่เป็นการกระทำโดยใช้อำนาจของพระองค์เอง และต้องมีผู้ลงนามสนองในพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับพระบรมราชโองการที่ออกโดยกษัตริย์

การพระราชทานอภัยโทษเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจด้านการยุติธรรม ที่พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะกระทำการนั้นผ่านผู้แทนคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่จะเป็นผู้เสนอรายชื่อผู้ที่เข้าเกณฑ์ในการได้รับการพระราชทานอภัยโทษ และให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ก่อนจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนองพระราชโองการ ซึ่งแม้จะมีหลักการวางไว้ แต่ในทางปฏิบัติ กษัตริย์สามารถใช้พระราชอำนาจในการมีพระวินิจฉัยด้วยพระองค์เองตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ โดยมีผู้แทนดำเนินการตามพระราชบรมวินิจฉัยแทนพระองค์

ในประเทศอังกฤษก็มีหลักการเรื่องพระราชทานอำนาจของกษัตริย์ในการอภัยโทษเช่นเดียวกัน (The Royal Prerogative of Mercy) ซึ่งเป็นอำนาจที่สงวนไว้สำหรับกษัตริย์ในฐานะเป็นประมุขของอาณาจักรตั้งแต่สมัยยุคกลาง แต่ในยุคอังกฤษสมัยใหม่ กษัตริย์อยู่ภายใต้อำนาจรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้การใช้พระราชอำนาจในเรื่องการอภัยโทษของกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากไม่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นบทบัญญัติลายลักษณ์อักษร ดังนั้นจึงเป็นการจำกัดการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษ หากพบว่าขัดต่อกฎหมายที่ออกโดยนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของประชาชน (Statutory law) ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า 

ดังนั้นการดำรงอยู่ของการอภัยโทษที่เป็นเรื่องของการใช้พระราชอำนาจ จึงเป็นเพียงหลักการที่สงวนไว้ว่ายังคงอยู่ แต่ในทางปฏิบัติจริง ประเทศอังกฤษสมัยใหม่ พระมหากษัตริย์แทบไม่มีบทบาทเลยในการใช้พระราชอำนาจนั้นโดยพระองค์เอง ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย ทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ไทยในการพระราชทานอภัยโทษ เนื่องจากอาจขัดต่อหลักการที่ว่า “กษัตริย์ใช้อำนาจทางปกครองที่ไม่ควรจะมีในการมีพระบรมราชวินิจฉัย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดผ่านระบบตัวแทน” และผูกขาดเป็นกิจการสำคัญเฉพาะในวันสำคัญพิเศษเท่านั้น

  

เชิงอรรถ

1 imdb.com

2 https://www.uscis.gov/humanitarian/humanitarian-or-significant-public-benefit-parole-for-individuals-outside-the-united-states

3 พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพระราชทานอภัยโทษ, https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/4seminar/s29%20jun_6_5.pdf

Tags: , , ,