ผู้เขียนมีเพื่อนคนหนึ่งที่ชื่นชอบในเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาว เมื่อมีโอกาสพูดคุยกัน เพื่อนคนนั้นมักจะเล่าเรื่องมนุษย์ต่างดาวให้ผู้เขียนฟังเสมอ ครั้งหนึ่งเพื่อนคนนั้นถามผู้เขียนว่า “เชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริงไหม” ในฐานะผู้ที่ไม่เคยคลุกคลี ไม่ได้คลั่งไคล้ ไม่รู้เรื่องราวอะไรของมนุษย์ต่างดาวเลย ผู้เขียนตอบไปว่า “ไม่รู้เหมือนกัน แต่คิดว่ามนุษย์ (แล้วก็สัตว์อื่นๆ บนโลก) ไม่น่าจะใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่อาศัยอยู่ในจักรวาลนี้นะ” 

บทสนทนาเรื่องมนุษย์ต่างดาวครั้งนั้น ได้พาผู้เขียนนึกย้อนไปถึงคำถามหนึ่งของอาจารย์ในชั้นเรียนปริญญาโท เกี่ยวกับการให้เหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 

คำวินิจฉัยนี้เป็นความพยายามให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะบอกว่า เพราะเหตุใดบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน ถึงไม่สมควรได้รับสิทธิทางกฎหมายในการสร้างครอบครัวตามมาตรา 1448 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า เพราะกฎหมายมาตรา 1448 นี้เป็นกฎหมายที่รับรองความเป็นไปตามธรรมชาติ อันหมายถึง “เพศตามธรรมชาติ” ที่แม้ว่าศาลฯ จะอธิบายถึงความแตกต่างของเพศกำเนิด (Sex) และเพศภาวะ (Gender) แต่ศาลฯ สรุปว่าระบบเพศล้วนมีฐานมาจากเพศทางชีววิทยา (Biology Sex) ที่แบ่งคนออกเป็นเพียง 2 เพศ นั้นคือเพศชายและเพศหญิง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และกฎหมายควรที่จะถือตามนี้ 

อาจารย์คนนั้นถามผู้เขียนว่า “เห็นด้วยหรือไม่กับที่ศาลฯ บอกว่าระบบทวิเพศ ซึ่งอิงจากเพศทางชีววิทยา คือความจริงตามธรรมชาติ ที่ไม่อาจโต้แย้งได้ ?”

เมื่อนึกๆ ไป หากจะตอบคำถามนี้ว่า “ไม่เห็นด้วย เพราะโลกนี้มีเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล และทรานส์เจนเดอร์” ก็อาจจะเป็นการตอบคำถามที่ไม่ตรงประเด็นนัก

เพราะแม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะนิยามถึงรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างไปจากชายจริงหญิงแท้ (Cisgender) แต่คำนิยามทั้งหลายนี้ ต่างก็เกิดขึ้นและเชื่อมโยงกันบนฐานของสำนึกในระบบ 2 เพศ (ชาย-หญิง) เช่น ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เรียกตัวเองว่า เกย์ เป็นบุคคลที่มีสำนึกว่าตัวเองเป็นเพศชาย เพียงแต่ตนเองนั้นมีรสนิยมหรือความพึงพอใจในทางเพศกับผู้ชาย 

หรือแม้แต่คำนิยามของบุคคลเพศกำกวม (Intersex) ก็เป็นนิยามที่สัมพันธ์กับฐานคิดของระบบ 2 เพศ เพราะการเป็นบุคคลเพศกำกวมนั้นจะหมายถึง บุคคลที่มีคุณลักษณะทางเพศ โดยชั่งตวงวัดจากอวัยวะเพศ ต่อมบ่งเพศ หรือโครโมโซม ที่ไม่สอดคล้องกับการเป็นเพศชายหรือเพศหญิงอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจน 

จะเห็นได้ว่า ‘เพศชาย’ และ ‘เพศหญิง’ นั้นเป็นจุดใจกลางสำคัญที่ใช้นิยามความเป็นเพศในแบบต่างๆ 

แม้ในตอนนั้น ผู้เขียนจะเคยได้ยินชื่อของ นอนไบนารี (Non-binary) หรือกลุ่มคนที่ปฏิเสธการแบ่งอัตลักษณ์หรือสำนึกทางเพศแบบขั้วตรงข้ามชาย-หญิง แต่ความเข้าใจของผู้เขียนต่อเรื่องนอนไบนารีก็มีผิวเผินมาก 

ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว เขียนตอบคำถามของอาจารย์คนนั้นด้วยความเงียบ ไม่มีคำตอบทันควันเหมือนที่ตอบเพื่อนเรื่องมนุษย์ต่างดาวว่า “ไม่รู้เหมือนกัน แต่โลกนี้ไม่น่ามีแค่เพศชายกับเพศหญิงนะ” 

มาถึงตอนนี้ ผู้เขียนพบว่า ค่อนข้างน่าแปลกใจ เมื่อนำคำตอบของทั้ง 2 เรื่องมาพิจารณาเปรียบเทียบกัน ทั้งๆ ที่ผู้เขียนออกตัวว่าไม่ได้สนใจเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาว ขณะเดียวกันก็ออกตัวว่าเป็นผู้สนใจประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่สิ่งสะท้อนจากคำตอบของผู้เขียนคือความเปิดกว้างและการยอมรับในมนุษย์ต่างดาว ซึ่งดูเหมือนจะมีมากกว่าความเปิดกว้างและการยอมรับต่อผู้คนที่ปฏิเสธการเป็นผู้หญิงหรือการเป็นผู้ชาย 

คำถามคือ อะไรทำให้มันเป็นแบบนั้น

ผู้เขียนถามตัวเองว่า ทำไมเราถึงสามารถเชื่อได้ว่าอาจมีมนุษย์ต่างดาว ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเห็นมนุษย์ต่างดาว แต่ทำไมเราถึงไม่สามารถเชื่อ หรืออาจจะเชื่อได้ยากว่าในโลกนี้ก็อาจจะมีคนเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิงรวมอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่หากไม่ปิดหูปิดตาเกินไปนัก เราจะมองเห็นพวกเขาเหล่านี้ได้ไม่ยาก 

“อำนาจนำของความรู้แบบวิทยาศาสตร์” เป็นประเด็นหนึ่งที่นึกขึ้นมา และคิดว่าอาจใช้อธิบายเรื่องนี้ได้ 

ระบบคิดเรื่องเพศที่มีอิทธิพลในปัจจุบัน ถูกพัฒนามาจากการประกอบสร้างองค์ความรู้เรื่องเพศในวิชาเพศศาสตร์ (Sexology) ซึ่งเป็นความพยายามศึกษาพฤติกรรมทางเพศ โดยใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาอธิบายความเป็นเพศ (ที่ถูกแบ่งออกเป็นชายกับหญิง) ผ่านตัวชี้วัดต่างๆ เช่น อวัยวะเพศ, ต่อมบ่งเพศ, ขนาดสมอง หรือระบบฮอร์โมน และตัวชี้วัดเหล่านี้ก็เป็นที่มาในพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ 

ขณะที่มนุษย์ต่างดาว เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนดาวดวงอื่น เรื่องราวของมนุษย์ต่างถูกสนใจจากวิทยาศาสตร์หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นดาราศาสตร์ หรือชีววิทยา แม้ในปัจจุบันการดำรงอยู่ของมนุษย์ต่างดาวยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถพบสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่นอกโลกได้ ความเชื่อนี้นำมาสู่แรงจูงใจในการศึกษาเรื่องมนุษย์ต่างดาวเป็นอย่างมาก

จะเห็นได้ว่า ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เป็นฐานที่สำคัญที่ใช้แสดงความเป็นเหตุเป็นผลต่อคำอธิบายเรื่องมนุษย์ต่างดาวและคำอธิบายเรื่องระบบ 2 เพศ

ในภาพยนตร์ไซไฟ (Science fiction) เราจะได้มองดูเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาวมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนอย่างดีว่า สังคมเรามีจินตนาการต่อเพื่อนร่วมจักรวาลอย่างเหลือล้น แต่ในขณะเดียวกันการนึกภาพถึงเพื่อนร่วมโลก คนที่ “ไม่ใช่เพศชาย”และ “ไม่ใช่เพศหญิง” ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าเราจะจินตนาการได้ (แม้จะมีภาพยนตร์ที่พยายามนำเสนอเรื่องราวของผู้ที่ไม่นิยามตนเองในระบบ 2 เพศอยู่บ้างก็ตาม แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาพยนตร์กระแสรองที่มีผู้ชมเฉพาะเป็นกลุ่มน้อยเท่านั้น แถมผู้ที่ไม่นิยามตนเองในระบบ 2 เพศก็มักไม่ใช่ตัวเอกของเรื่องอีกด้วย)

แน่นอนว่าความรู้แบบวิทยาศาสตร์ได้สร้างคุณูปการมากมายต่อมนุษยชาติ แต่วิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นความรู้ที่เป็นความจริงแท้ตามธรรมชาติ หลายต่อหลายครั้งที่วิทยาศาสตร์ถูกโต้แย้งและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

และคงจะน่าเสียดายไม่น้อย 

หากวิทยาศาสตร์สามารถทำให้จิตใจของเราเปิดกว้างกับความลับที่ยิ่งใหญ่แห่งจักรวาล แต่ไม่สามารถทำให้เราเปิดใจยอมรับผู้คนที่หลากหลาย ผู้คนที่มีชีวิตและจิตใจ ซึ่งอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับเรา ใกล้กว่าระยะทางจากโลกถึงบ้านของมนุษย์ต่างดาวเสียอีก

Tags: , , ,