เป็นอีกครั้งที่สาธารณะต้องกลับมาถกเถียงกันในประเด็นเรื่องการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา หรือข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 

ฝ่ายสนับสนุนปรับปรุงแก้ไขได้ให้เหตุผลประกอบว่า เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือลงโทษบุคคลใดก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง รวมถึงมีบทลงโทษที่แรงเกินเหตุ ส่วนฝ่ายที่แสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขมองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ต้องดำรงไว้เพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ และให้เหตุผลในเชิงศีลธรรมว่า หากคิดดีทำดี เคารพสถาบัน ก็ไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวกฎหมาย 

อีกทั้งยังมีฝ่ายที่พยายามชี้ให้เห็นว่า ตัวบทบัญญัติกฎหมายมาตรา 112 นั้นไม่ได้มีปัญหาในตัวเอง แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้บังคับใช้และกระบวนการยุติธรรมที่ไร้มาตรฐาน ซึ่งหลังจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ออกมากล่าวต่อสาธารณะในลักษณะเดียวกัน สังคมก็เริ่มตั้งคำถามถึงความจำเป็นของกฎหมายดังกล่าวเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก

 ประเด็นหลังเป็นที่น่าถกเถียงอย่างยิ่งสำหรับนักกฎหมาย ที่จะกล่าวกันอยู่เสมอว่า กฎหมายเป็นสิ่งที่มีความยุติธรรมอยู่แล้ว ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่การบังคับใช้ที่ผิดหลักการและความบกพร่องทางสำนึกความยุติธรรมของผู้อำนาจ 

แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่กฎหมายหนึ่งจะสามารถแสดงแสนยานุภาพได้โดยไม่ต้องถึงขนาดที่ต้องมีบุคคลถูกลงโทษเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง จะมีโอกาสหรือไม่ที่กฎหมายมาตรา 112 จะถูกบังคับอย่างเป็นธรรมโดยไม่ที่เป็นเครื่องมือกดปรามทางการเมือง

การวิเคราะห์กฎหมายผ่านทฤษฎีความรุนแรง

การวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางกฎหมายสามารถกระทำได้ผ่านหลายมุมมอง ขึ้นอยู่กับว่าผู้วิเคราะห์จะใช้แนวคิดหรือทฤษฎีอะไรมาเป็นกรอบการวิเคราะห์ ทฤษฎีบางทฤษฎีที่นำเสนอแง่มุมที่ต่างกัน ก็ย่อมทำให้เห็นผลของการวิเคราะห์ที่ต่างกันไปด้วย เช่น หากมองกฎหมายผ่านเลนส์ของมาร์กซิสม์ (Marxism) กฎหมายจะไม่ต่างจากเครื่องมือปกป้องชนชั้นนายทุนและระบบกรรมสิทธิ์ 

หากมองผ่านความคิดของสตรีนิยมก็จะพบว่ากฎหมายจำนวนมากแฝงไปด้วยการกดขี่ทางเพศและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ หรือหากมองผ่านเสรีนิยม กฎหมายจะถือเป็นเครื่องมือการปกครองที่เป็นรากฐานของหลักการปกครองทางกฎหมาย กำกับควบคุมไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขต เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน กฎหมายที่ไม่ได้อยู่หลักการนี้ล้วนถือว่าขัดกับหลักเสรีนิยมทั้งสิ้น 

บทความนี้จะลองมองกฎหมายมาตรา 112 ผ่านทฤษฎีว่าด้วยความรุนแรงทางกฎหมาย โดยจะกำหนดว่าปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกฎหมายดังกล่าวเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ท่ามกลางความรุนแรง 3 รูปแบบของ โยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) ที่อธิบายไว้ว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงทุกครั้งจะประกอบด้วยการทำงานที่สอดรับกันของความรุนแรงสามรูปแบบ ได้แก่

ความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) ซึ่งเป็นลักษณะของความรุนแรงทางกายภาพ สามารถพบเห็นอย่างประจักษ์ชัดโดยทั่วไปตามสื่อต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องราวในชีวิตแต่ละวันของผู้คนในสังคม ความรุนแรงทางตรงจะดำรงอยู่ได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ข้ออ้างรองรับ’ (Justification) ที่ทำให้มนุษย์เห็นว่าการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นเป็นเรื่องปกติ และสามารถเป็นวิธีการเพื่อใช้ในการจัดการความขัดแย้งระหว่างตนกับผู้อื่นได้ ทั้งนี้ความเข้าใจที่ว่าความขัดแย้งเป็นสาเหตุของความรุนแรงนั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของความรุนแรง ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงวิธีการ (Method) ไม่ใช่เป้าหมาย (Goal) ในความขัดแย้งของสังคมมนุษย์ เพราะความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความรุนแรงเสมอไป แต่อาจจบลงด้วยการเจรจา ไกล่เกลี่ย ทำข้อตกลง การให้อภัย ฯลฯ

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งหมายถึง ความรุนแรงที่เกิดเนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรม สะท้อนให้เห็นสภาวะที่ผู้มีอำนาจ (topdogs) สามารถกดขี่ขูดรีดหรือเอาเปรียบ (exploitation) ประชาชนผู้ถูกเอาเปรียบ (underdogs) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยกลไกสำคัญของความรุนแรงเชิงโครงสร้างคือ การพยุงให้ผู้มีอำนาจมีสถานะเหนือกว่าในโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมสามารถขูดรีดหรือเอาเปรียบคนอื่นต่อไปได้ จะทำงานโดยให้เหล่าผู้มีอำนาจเหนือแทรกซึม (Penetration) เข้าไปในเหล่าบรรดาผู้ถูกเอาเปรียบ และให้พวกเขามองเห็นปรากฏการณ์ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านมุมมองที่คับแคบ (Segmentation) เช่น การจำกัดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อซ่อนเร้นการกดขี่ขูดรีดและการเอารัดเอาเปรียบไว้อย่างหมดจด จากนั้นก็ต้องผลักให้กลุ่มคนที่เสียเปรียบกลายเป็นคนชายขอบ หรือไม่ได้อยู่ในสังคมกระแสหลัก (marginalization) ประกอบกับการแบ่งแยกและกีดกันการรวมตัวกันของผู้ถูกเอาเปรียบทั้งหลาย (Fragmentation) ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อรักษาสถานภาพหรือสภาวะที่ผู้มีอำนาจสูงกว่าสามารถครองอำนาจดังกล่าวไว้ได้นานที่สุด

ส่วนความรุนแรงระดับสุดท้ายคือ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence) ซึ่งถือเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับความรุนแรงที่มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อปริมณฑลความรู้ทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมสำหรับกัลตุง เป็นส่วนหนึ่งที่แฝงตัวแทรกอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมหรือเป็นปริมณฑลเชิงสัญลักษณ์ของชีวิตผู้คน เพื่อทำหน้าให้ความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นที่ยอมรับกันในสังคมและมีความชอบธรรม

ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในฐานะความรุนแรงทางกฎหมาย

กฎหมายเป็นความรุนแรงได้หรือไม่ อย่างไร?

ความรุนแรงเป็นวิธีการ ไม่ใช่เป้าหมาย ซึ่งจะปรากฏขึ้นเมื่อบุคคลผู้ใช้หรือจะใช้ความรุนแรงอยู่สถานการณ์ที่การบรรลุเป้าหมายบางอย่างทั้งในร่างกายและจิตใจขัดแย้งกับขีดจำกัดด้านศักยภาพของมนุษย์ตามความเป็นจริง โดยการบรรลุเป้าหมายไม่สามารถกระทำอย่างอื่นได้อีกแล้ว นอกเสียจากการใช้ความรุนแรง

ลักษณะของความรุนแรงดังกล่าวช่วยทำความเข้าใจถึงกฎหมายมาตรา 112 ในแง่มุมที่ว่า มันได้เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความรุนแรง เป็นเครื่องมือที่รัฐหรือผู้มีอำนาจจะใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้มนุษย์ทุกคนในประเทศคิดเห็นไปในทางเดียวกัน ปฏิเสธความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด เมื่อเกิดบริบทหรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้ ความรุนแรงจึงถูกนำมาใช้ และเป็นความรุนแรงที่อยู่ภายใต้ผ้าคลุมของกฎหมาย

นอกจากนี้ การมีปฏิบัติการทางกฎหมายโดยมาตรา 112 เพื่อกดปรามทางการเมือง ลงโทษบุคคลผู้เห็นต่างจากที่ผู้มีอำนาจประสงค์ไว้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงโครงสร้างอำนาจที่รัฐหรือชนชั้นนำมีสถานะเหนือกว่าประชาชน เป็นกฎหมายที่มีส่วนในการค้ำจุนระเบียบทางสังคมดั้งเดิม (status quo) ที่ผู้คนมีความสัมพันธ์กันแบบแนวดิ่ง ไร้ความเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย สะท้อนถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ผู้มีสถานะเหนือกว่า สามารถกดขี่ขูดรีดหรือเอาเปรียบคนจำนวนมากที่มีสถานะด้อยกว่าต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน และระบบแห่งการกดขี่มีสถานะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา อันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้เห็นต่างทางการเมืองและผู้เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จนแฝงลึกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวัฒนธรรมและคุณค่าต่างๆ ในสังคม ย่อมทำให้เกิดความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ที่เป็นตัวรักษาและให้ความชอบธรรมกับสถานภาพของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่กดขี่ผู้คน รวมถึงการกระทำความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทั้งโดยวิธีการทางกฎหมายและนอกเหนือกฎหมาย

ดังนั้นประมวลกฎหมายมาตรา 112 ในปัจจุบันจึงอาจเป็นมากกว่าบทบัญญัติกฎหมายในประมวล แต่ยังอาจเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่บ่งบอกตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันและประชาชนในโครงสร้างอำนาจรัฐไทย ซึ่งพร้อมจะถูกหยิบยกขึ้นมาบังคับใช้ทุกเมื่อที่มีบุคคลใด กระทำการใดๆ ที่ส่งผลสะเทือนต่อสถานะของโครงสร้างอำนาจดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับว่าผู้บังคับใช้เป็นใคร มีหลักการ มีศีลธรรม หรือสำนึกความยุติธรรมหรือไม่ เพราะหลักการ ศีลธรรม และสำนึกเหล่านั้น ก็อาจถูกครอบงำโดยโครงสร้างอำนาจแบบเดิมและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอยู่ดี

แสนยานุภาพของความรุนแรงทางกฎหมายในมาตรา 112

ทั้งนี้ การทำงานสอดรับกันของความรุนแรงทั้งสามรูปแบบผ่านการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อาจเริ่มที่จุดร่วมกันระหว่างความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ประชาชนถูกทำให้ไร้สิทธิไร้เสียง และมีสถานะด้อยกว่าตั้งแต่แรก หลังจากนั้นผู้กระทำความรุนแรงในฐานะชนชั้นปกครองและผู้มีอำนาจอาจเริ่มรู้สึกว่าต้องหาข้ออ้างรองรับหรือคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับคุณค่า ความเชื่อ ค่านิยม และวัฒนธรรมของสังคม เพื่อให้ความรุนแรงสองประเภทแรกเป็นเรื่องที่สังคมทั่วไปยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และถูกต้องชอบธรรมแล้ว

กล่าวอีกนัยหนึ่ง กฎหมายมาตรา 112 อาจมีศักยภาพการทำงาน ในฐานะที่เป็นทั้งสิ่งคอยกระตุ้น ปลุกเร้า บีบคั้น ให้การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้เห็นต่างเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผ่านการค้ำจุนโครงสร้างอำนาจที่ประชาชนตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ที่มีสถานะเหนือกว่า เนื่องจากเป็นฝ่ายถือครองอำนาจรัฐ พร้อมกับสามารถสร้างวัฒนธรรมเพื่อมาเป็นฐานรองรับให้การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ลุกขึ้นมาปะทะกับระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมในทุกๆ ครั้ง เป็นการกระทำที่ถูกต้องชอบธรรมได้ในเวลาเดียวกัน

ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในสังคมไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมักถูกฝ่ายการเมืองนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม และการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ของศาลก็ผิดไปจากหลักการทางกฎหมายที่อยู่ในตำราเรียนอย่างสิ้นเชิง เช่น ความแข็งกระด้างในการใช้และการตีความอย่างไร้ขอบเขต ซึ่งไม่ยอมรับข้อยกเว้นใดความผิดและโทษใดๆ การละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของมนุษย์ การปฏิเสธหลักสุจริต-ความจริงและประโยชน์สาธารณะ รวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ เป็นความรุนแรงในระบบกฎหมายซึ่งได้ทำลายหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยหลายประการ เช่น หลักการปกครองโดยกฎหมาย หลักการแบ่งแยกอำนาจโดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ฯลฯ 

สุดท้าย หากใช้เหตุผลอย่างเคร่งครัดโดยลดอคติลง ในการจะปกป้องรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ใต้รัฐธรรมอย่างสง่างามเคียงคู่กับประชาชน ย่อมต้องมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สร้างพื้นที่การถกเถียงอย่างมีอารยะตามครรลองของประชาธิปไตย เพราะความรักที่แท้จริงย่อมไม่อาจเกิดจากความกลัวได้

 

เอกสารอ้างอิง

แนวคิดเรื่องความรุนแรงทางกฎหมาย เป็นกรอบระเบียบวิธีวิจัยที่ผู้เขียนใช้ในการจัดทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ชื่อว่า ‘กฎหมายในความรุนแรง ความรุนแรงในกฎหมาย: การลอยนวลพ้นผิดทางกฎหมายของรัฐไทยในกรณีการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง’ ที่ทำขึ้น ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งต่อยอดต่อยอดจากงานของเบญรัตน์ แซ่ฉั่ว, Tyrell Haberkorn รวมทั้งหยิบแนวความคิดเรื่องนิติรัฐอภิสิทธิ์ ของ ธงชัย วินิจจะกูล มาเป็นกรอบในการทำความเข้าใจต่อการธำรงความรุนแรงของรัฐไทยด้วยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าในเหตุการณ์นั้นๆ จะยุติลงในรูปแบบใด ประชาชนประสบชัยชนะหรือต้องพ่ายแพ้ในการเคลื่อนไหว แต่รัฐไทยสามารถใช้ระบบกฎหมายทำให้ความรุนแรงทั้งหมดยุติลงแบบ ‘ไร้ความรับผิด’ จากการศึกษาในงานชิ้นนี้จะช่วยทำให้มองเห็นได้มากขึ้นว่า กฎหมายที่ถูกนำมาจัดการกับความรุนแรงนั้น ได้กลายเป็นความรุนแรงอย่างมากในตัวมันเอง

Johan Galtung, Peace by Peaceful Means: Peace and Conflict, Development and Civilization. (Oslo: International Peace Research Institute ,1996),

จรัญ โฆษณานันท์. ความรุนแรงแห่งโทษที่ไม่เป็นธรรม และการปิดกั้น “ความจริง” ในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา. ฟ้าเดียวกัน. 7(2), หน้า 80-109

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับมายาการแห่งอัตลักษณ์ อาวุธมีชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2549).

Tags: , ,