เดือนพฤษภาคมปี 2565 เป็นวาระสำคัญที่สังคมต้องเวียนกลับมาทบทวนเหตุการณ์ความเลวร้ายที่รัฐใช้กำลังปราบปรามสังหารประชาชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 หรือเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองร่วมสมัยที่สุดอย่างเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ผ่าน ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’ ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
ปัจจุบันแม้จะล่วงเลยมาเกินกว่า 1 ทศวรรษ แต่ก็ยังไม่ปรากฏความยุติธรรมใดๆ แก่เหยื่อและญาติของเหยื่อความรุนแรงในวันนั้น
คำถามสำคัญคือ กฎหมายและสถาบันกฎหมายที่เชื่อกันมาเสมอว่าจะเป็นบ่อเกิดของความยุติธรรม มีบทบาทอย่างไรบ้างในการแสวงหาความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ปี 2553 ที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการพัฒนาการเมืองและเพิ่มกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐจำนวนมาก
บทความชิ้นนี้จะเป็นการสำรวจย้อนถึงบทบาทของรัฐไทยในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 พร้อมทั้งหาคำตอบว่า หากต้องการดำเนินคดีกับผู้มีส่วนก่อความรุนแรงต่อประชาชน ยังเหลือช่องทางใดอีกบ้าง
กลไกของรัฐกับการแสวงหาความอยุติธรรม มากกว่าความยุติธรรม
เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทั้ง ‘14 ตุลาฯ 16’ ‘6 ตุลาฯ 19’ ‘พฤษภาฯ 35’ และ ‘เมษาฯ -พฤษภาฯ 53’ ทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกัน คือการที่ไม่มีผู้สั่งการคนใดต้องมีความรับผิดทางกฎหมายหรือถูกลงโทษ แต่การลอยนวลพ้นผิดในกรณีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงอาจแตกต่างไป เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เดียวที่ไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมมายกเว้นความผิดแก่ผู้ก่อความรุนแรง แม้จะมีความพยายามอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ถูกกระแสต่อต้านอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยนั้น ต้องตัดสินใจยุบสภาฯ และเป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมต้องเป็นอันตกไป
ปฏิบัติการกฎหมายที่เข้าไปจัดการกับความรุนแรง ไม่ได้มีลักษณะมุ่งดำเนินคดีลงโทษผู้กระทำการและค้นหาความจริงแต่อย่างใด แต่กลับเข้าข่ายเป็นการปกป้องความบริสุทธิ์ของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์การเมืองและกฎหมาย โดยอาศัยกลไกขององค์กรศาล และองค์กรอิสระที่ถือกำเนิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
การรักษาความเป็นผู้บริสุทธิ์ในประวัติศาสตร์การเมือง
เริ่มต้นด้วยการตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง (Truth Commission) โดยรัฐบาลที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เพื่อจัดทำรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งเนื้อส่วนใหญ่ก็ชี้ไปในทางที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำตามกรอบของกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน และเน้นการสอบสวนการกระทำของชายชุดดำ พร้อมกับชี้มูลว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับการจัดทำรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ระบุเนื้อหาให้ความชอบธรรมกับปฏิบัติการทางกฎหมายต่างๆ ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์และ ศอฉ. ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้าที่จะนำกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อยู่บนหลักความจำเป็น และเหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือ “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”
รายงานทั้งสองฉบับเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยมอบสถานะแก่ผู้ก่อความรุนแรงให้กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ในเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์และความทรงจำของผู้คน พร้อมทั้งส่งผลไปยังปฏิบัติการทางกฎหมายที่ตามมาหลังจากนั้นอย่างมีนัยสำคัญ
ความเป็นผู้บริสุทธิ์ในทางกฎหมาย
การจัดการความรุนแรงหลังเหตุการณ์ปราบคนเสื้อแดง นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองไทย ที่กลไกของรัฐสามารถดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาในปฏิบัติการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ (ผอ.ศอฉ.) และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผบ.ทบ. ในขณะนั้น) ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล
แรกเริ่ม ช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ถึงธันวาคม 2555 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนกรณีการสลายการชุมนุมครั้งนั้น และเป็นฝ่ายยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้บังคับบัญชาทั้งสามคนต่อศาลอาญา ในความผิดฐานพยายามฆ่าและร่วมกันฆ่าผู้อื่นด้วยการสั่งให้ใช้อาวุธและกระสุนปืนจริงเข้าสลายการชุมนุม แต่คดีความไม่มีความคืบหน้ามากนัก
จนมาถึงหลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามคน โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ใช่การกระทำผิดทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ และหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ผู้เสียหายจะต้องยื่นคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้แม้ว่าฝ่ายผู้เสียหายจะได้ยื่นอุทธรณ์ฎีกาไปแล้วก็ตาม ศาลฎีกายังคงพิพากษายืนให้ยกฟ้องด้วยเหตุผลเดียวกัน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560
แม้ระหว่างนั้น ศาลอาญาจะออกคำสั่งการไต่สวนการตายของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยยืนยันว่ากระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่หรือทหาร 18 ราย โดยเฉพาะในคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ ซึ่งมีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมด แต่หลังจากรัฐประหารปี 2557 ขั้นตอนและกระบวนการไต่สวนการตายทั้งหมดต้องหยุดชะงักลงไป แม้จะเหลือรายชื่ออีกครึ่งร้อยที่ยังไม่มีคำสั่งไต่สวนการตายก็ตาม
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบัน (พฤษภาคม 2565) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของอภิสิทธิ์และสุเทพ เป็นโจทก์ฟ้อง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมเจ้าหน้าที่คนอื่น 4 คน ในความผิดร่วมกันฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จากการที่ได้สอบสวนและตั้งข้อหากับอภิสิทธิ์และสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และเจตนากลั่นแกล้งให้ทั้งสองต้องรับโทษ
เมื่อมาพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่ศาลชี้ว่าเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนและชี้มูลความผิด ก็จะพบว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งหมดต้องมาถึงทางตันโดยปริยายตั้งแต่ปลายปี 2558 จากการที่ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหากรณีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก ใช้กำลังปราบปรามเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นอันตกไป โดยชี้ว่าการสลายการชุมนุมของรัฐบาลและ ศอฉ. เป็นไปตามหลักสากล และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พร้อมเน้นย้ำว่า การชุมนุม “มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม จึงมีเหตุจำเป็นที่ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง” ซึ่งหากเหยื่อความรุนแรงหรือผู้เสียหายจะเอาผิดกับทหารที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตก็สามารถยื่นฟ้องเป็นรายคนไปได้
แม้ว่า จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง จะยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้หยิบยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องการกล่าวหานายอภิสิทธิ์กับพวก ร่วมกันสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงขึ้นพิจารณาใหม่อีกครั้ง ก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและการฟ้องคดีผิดอำนาจศาลเพียงไม่กี่วัน ป.ป.ช. ก็มีมติยกคำร้องดังกล่าวอีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่
ระบบกฎหมายไทยกับการสร้างสภาวะการลอยนวล
การเผชิญหน้ากับกระบวนการทางกฎหมายที่นำพาความยุติธรรมมาอยู่ในสภาวะตีบตันทุกช่องทาง ย่อมสะท้อนว่าระบบกฎหมายไทยไม่ได้เป็นเครื่องมือในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ตรงกันข้าม กลับมีส่วนร่วมกับความรุนแรงอย่างแยบยล ด้วยการบิดเบือน รับรอง และให้ความชอบธรรมกับการกระทำความรุนแรง จนเป็นผลให้ผู้มีส่วนร่วมกับการล้อมปราบประชาชนและผู้สั่งการ รอดพ้นจากความรับผิดไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ
นอกจากนี้ รัฐไทยถือเป็นรัฐลอยนวล ที่จะต้องมีสภาวะการลอยนวลพ้นผิด เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งที่ทำหน้าที่ยึดโยงอำนาจส่วนสำคัญต่างๆ เอาไว้ เพื่อให้ความเป็นรัฐไทยตามอุดมคติของชนชั้นนำยังดำรงอยู่ได้ต่อไป
คำถามต่อมาคือ ณ ตอนนี้ ยังเหลือช่องทางใดอีกหรือไม่ ที่จะช่วยให้กระบวนการยุติธรรมฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อและญาติผู้เสียชีวิตปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้
เมื่อกลไกภายในประเทศถึงทางตัน กลไกระหว่างประเทศย่อมเป็นความหวังเดียว
การใช้สิทธิเรียกร้องความยุติธรรมผ่านกลไกภายในประเทศจนครบถ้วน แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครอง เยียวยา ถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่เข้าเงื่อนไขสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและไร้ขอบเขตของรัฐ ให้สามารถอาศัยกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ ถ้าหากพบว่าผู้มีอำนาจรัฐได้กระทำความผิดที่เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบโดยมีเป้าหมายโดยตรงต่อประชาชนพลเรือน กรณีนี้ก็จะอยู่ในเขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศทันที ซึ่งรัฐไทยได้ร่วมลงนามในธรรมนูญกรุงโรมสำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2553 แต่ยังไม่มีการให้สัตยาบัน
ธรรมนูญกรุงโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศนิยาม ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่น่ารังเกียจ อันเนื่องมาจากการทำร้ายอย่างรุนแรงต่ออัตลักษณ์ของมนุษย์ หรือการเหยียดหยามอย่างร้ายแรง หรือการลดความเป็นมนุษย์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อาชญากรรมต่อมนุษยชาติมิใช่เหตุการณ์ที่โดดเดี่ยวหรือเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล (ผู้ทำผิดไม่จำเป็นต้องระบุว่าตนเองเกี่ยวข้องกับนโยบายนี้อย่างไร) หรือการปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนโหดร้ายที่รัฐบาลให้การยอมรับหรือไม่เอาผิดดำเนินคดีแก่ผู้ปฏิบัติ
สิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป คือกรณี ธิดา โตจิราการ ที่ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้ล่วงเลยเวลามากว่า 10 ปี กลไกทางศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเป็นความหวังอันริบหรี่หนึ่งเดียว ณ ขณะนี้ อีกทั้งผู้ดำเนินการอาจต้องแบกรับและใช้ต้นทุนจำนวนมาก ในการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินคดี
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ต้องหันมาให้ความสำคัญ ย่อมหนีไม่พ้นการทบทวนศึกษา นำเหตุการณ์อันเลวร้ายทางประวัติศาสตร์มาเป็นบทเรียน ปรับปรุงแก้ไข กระบวนการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบ ด้วยความหวังว่า ระบบกฎหมายและสถาบันกฎหมายจะมีความยึดโยงกับประชาชน ในแง่ของการเป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แทนที่จะเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการปกปิด กลบเกลื่อนการกระทำความผิดของตนเองและพรรคพวก
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2556)
คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ, รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กรกฎาคม 2553 – กรกฎาคม 2555, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ, 2555).
พวงทอง ภวัครพันธุ์. ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด : องค์กรอิสระในกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553, ฟ้าเดียวกัน, 14(2), หน้า 143 – 144.
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, ใครจะโดนข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติก่อนกัน : ทักษิณหรืออภิสิทธิ์, 3 สิงหาคม 2555, ผู้จัดการออนไลน์, https://mgronline.com/daily/detail/9550000095484 (สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565)
ภาสกร ญี่นาง, กระบวนการอยุติธรรมไทย: การลอยนวลพ้นผิดโดยกฎหมายของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” กรณีสลายการชุมนุมปี 53, 19 พฤษภาคม 2564, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/29820 (สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565)
วอยซ์ทีวี, ICC สนใจคดีสลายการชุมนุม 91 ศพ, 6 กรกฎาคม 2555, https://www.voicetv.co.th/read/43903 (สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565)
สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์, รวมทุกความตีบตัน: 10 ปีคดีคนตายจากการสลายชุมนุมปี 53 ไปถึงไหน, 30 พฤศจิกายน 2563, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2020/11/90617 (สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565)
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, 10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : มองเมษา-พฤษภา 53 ผ่านวาทกรรม “จำไม่ลง”, สำนักข่าวบีบีซีไทย, 11 พฤษภาคม 2563. https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304 (สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565)
Tags: คนเสื้อแดง, Rule of Law, การสลายการชุมนุม, รัฐ, กฎหมาย, เสื้อแดง