ในช่วงปลายปี 2563 จะเห็นว่ากระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคม (ดีอีเอส) มีรายงานการปิดกั้นเว็บไซต์ออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของทางกระทรวงฯ นอกจากจำนวนการปิดกั้นเนื้อหาเกี่ยวกับลามกอนาจารและเว็บไซต์การพนัน ยังพบว่ามีการปิดกั้นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และเนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรจำนวนหลายพันยูอาร์แอล (URL)1 โดยผลงานการปิดกั้นยังคงปรากฏให้เห็นตามสื่ออย่างต่อเนื่อง

หากพิจารณาถึงอำนาจในการ ‘การปิดกั้นเว็บไซต์’ ตามบทบัญญัติมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการระงับการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น ความผิดที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ฯลฯ บางกรณีเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน สิ่งหนึ่งที่รัฐได้ทิ้งร่องรอยให้เห็นคือ การทำหน้าที่เป็นกระทรวงความจริง ซึ่งพยายามใช้อำนาจควบคุมการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การจำกัดการแสดงความเห็นที่แตกต่างจากรัฐ รวมถึงยังเป็นผู้กำหนดว่าข้อมูลข่าวสารใดที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และข้อมูลข่าวสารใดที่ควรถูกปิดกั้น

กระทรวงแห่งความจริงของ จอร์จ ออร์เวลล์ 

หากจะแนะนำวรรณกรรมคลาสสิกที่เล่าเรื่องแนวดิสโทเปีย (Dystopia) วรรณกรรมเรื่อง 1984 หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ของ จอร์จ ออร์เวลล์ คงเป็นชิ้นหนึ่งที่ถูกเลือก โดยวรรณกรรมชิ้นนี้ได้เล่าเรื่องของประเทศโอชันเนียที่มีการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ การมีความคิดเป็นปัจเจกไม่สอดคล้องกับความปรารถนาของชนชั้นนำถือเป็นอาชญากรรม และมีพี่เบิ้มหรือ Big Brother เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ มีโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) บิดเบือนข้อมูลจากกระทรวงแห่งความจริงเผยแพร่ให้กับประชาชนอยู่เสมอ ซึ่งเป้าหมายคือการควบคุมหรือจำกัดความคิด จำกัดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และไม่ให้เกิดการตั้งคำถามต่อการกระทำของผู้มีอำนาจในประเทศ 

ส่วนหนึ่งของวรรณกรรมเล่มนี้เป็นเรื่องราวของกระทรวงแห่งความจริง (มินิทรู: Minitrue) โดยจะทำงานเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร2 เจ้าหน้าที่จะทำการแก้ไข บิดเบือนข้อมูล และเผยแพร่ให้กับประชาชนตามคำสั่งของผู้ปกครอง ตัวละครสำคัญที่ชื่อ ‘วินสตัน สมิธ’ มีบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงแห่งความจริง โดยมีหน้าที่แก้ไขข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับคำสั่ง หรือเรียกว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ให้เป็นตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ หลักการคือ เมื่อพบว่ามีข้อมูลหรือข่าวสารที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้ปกครองพูดหรือกระทำในปัจจุบัน จะต้องมีการแก้ไขข้อมูลให้ตรงกับการกระทำของผู้ปกครองนั้น และก่อนการเผยแพร่ต้องได้รับการตรวจสอบข้อมูลจากคณะกรรมการของกระทรวงก่อน โดยข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการแก้ไขนั้นจะกลายเป็นความจริงตลอดไป จนกว่าจะมีการแก้ไขซ้ำอีกครั้ง และการแก้ไขใหม่นั้น ย่อมกลายเป็นความจริงใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“ข้อความจาก ‘ไทม์’ จำนวนหนึ่งถูกเขียนใหม่นับสิบครั้ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงพันธมิตรการเมือง หรือเพราะพี่เบิ้มคาดการณ์ผิดพลาด หากหนังสือพิมพ์ที่ถูกแก้ไขแล้วจะถูกจัดเก็บในแฟ้มตามวันเดือนปี และไม่มีต้นฉบับอื่นดำรงอยู่เพื่อคัดง้าง หนังสือหลายเล่มถูกเรียกคืนเพื่อนำมาแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่า จนออกสู่สาธารณชนใหม่ราวกับไม่มีอะไรผิดแปลก3

นอกจากนี้ การทำงานภายในกระทรวงแบ่งออกเป็นหลายส่วน เช่น ส่วนการทำลายหรือลบชื่อบุคคลออกจากสื่อทุกชนิด หรือส่วนของการผลิตบทกวี บทร้อยกรอง โดยทำหน้าที่บิดเบือนบทกวีต้นฉบับที่สร้างอุดมการณ์ต่อต้านพี่เบิ้ม ให้เป็นการสร้างความเชื่อถือให้กับพี่เบิ้มแทน4 หน่วยงานเหล่านี้จะเป็นผู้ที่สร้างข้อมูลข่าวสาร และในขณะเดียวกันก็เป็นคนปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่จะเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชนด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าสังคมของจอร์จ ออร์เวลล์ คือการพยายามควบคุมความคิดของประชาชน ภายใต้อำนาจของคนกลุ่มเล็กๆ โดยการเน้นไปที่การสื่อสารทางเดียว ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าตนเองโดนควบคุมบงการ หากใครมีความคิดผิดแปลกหรือตั้งคำถาม อาจกลายเป็น ‘อาชญากรรมความคิด’ ได้ 

ท้ายที่สุดแล้ว สังคมโอชันเนียก็เป็นสังคมที่ถูกควบคุมโดยผู้มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ดั่งคำขวัญของพรรคที่ว่า ‘ผู้ควบคุมอดีตย่อมควบคุมอนาคต: ผู้ควบคุมปัจจุบันย่อมควบคุมอดีต’5 แม้ว่าจะมีการตั้งคำถามหรือประชาชนรู้อยู่เต็มอกว่า สิ่งที่เผยแพร่ออกไปไม่ได้เป็นความจริง แต่ก็ต้องยอมรับต่อข้อมูลและยอมรับต่อการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระทรวงแห่งความจริงในสังคมไทย

แม้ว่าการปิดกั้นและบิดเบือนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของโอชันเนียจะสร้างความเชื่อให้กับประชาชนได้เป็นจำนวนมาก และมีผลลัพธ์เป็นอย่างดี ประชาชนไม่เกิดการตั้งคำถาม และมีความเชื่อเฉพาะข้อมูลจากกระทรวงแห่งความจริงเผยแพร่ให้รับรู้เท่านั้น หากใครมีความคิดที่ผิดแปลกไปถือเป็นอาชญากรรมทางความคิด ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงอย่างหนึ่ง การกระทำดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ที่เกิดขึ้นยุคเรืองอำนาจจากเทคโนโลยี

เมื่อมองมาในบริบทของสังคมไทยจะเห็นว่าปรากฏการณ์ของการปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลต่อประชาชนถูกกระทำในนามของรัฐโดยกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคม ซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เนื้อหาที่ถูกปิดกั้นส่วนหนึ่งคือประเด็นเกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร6 หากพิจารณาการบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2550 และปี 2563 หรือช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 พบว่า สถิติการปิดกั้นเว็บไซต์มีจำนวนสูงขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

  การทำงานของรัฐบาลในการควบคุมเนื้อหาจึงมีนัยเป็นกระบวนการปราบปรามทางการเมือง (Political Repression) ลักษณะหนึ่ง ประกอบด้วยกลวิธีที่หลากหลาย เช่น การคุกคามโดยวิธีการดำเนินคดีในประเด็นสาธารณะ การปิดกั้นการจ้างงาน การจับตาสอดส่อง หรือการโฆษณาชวนเชื่อ รวมถึงการออกกฎหมายพิเศษเพื่อไปบังคับใช้เฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความภาคภูมิใจ

การกระทำที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนคือ การข่มเหงบุคคลหรือกลุ่มคนในสังคมด้วยเหตุผลทางการเมือง เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง ซึ่งวิธีการในการกีดกันจะกระทำโดยสร้างความเสียหายแก่บุคคลหรือกลุ่มคนดังกล่าว โดยการใช้อำนาจที่ถูกสร้างขึ้นผ่านเครื่องมือทางการเมืองตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ในที่นี้หมายถึง ‘กฎหมาย’ ดังนั้น ลักษณะของการบังคับใช้กฎหมายหรือออกกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือจึงกลายเป็นการกระทำที่เรียกว่าการปราบปรามทางการเมือง และลักษณะของการกระทำดังกล่าวนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน7

ในสังคมไทยปัจจุบัน กฎหมายกลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นเครื่องมือของรัฐ โดยรัฐพยายามทำให้สังคมตกอยู่ภายใต้การรับรู้และเข้าถึงข้อมูลจากรัฐเพียงอย่างเดียว ส่วนสื่ออื่น (สื่อกระแสหลัก) ก็ไม่อาจจะเป็นผู้มีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะเกรงว่าจะไปกระทบต่อภาครัฐ และทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเอง ในทางกลับกัน ภาครัฐกลับอ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจตามกฎหมาย และสร้างผลงานให้กับตนเองอย่างเต็มภาคภูมิ เมื่อประชาชนและสื่อเกิดความกลัวก็ยิ่งทำให้รัฐรู้สึกว่าตนสามารถควบคุมสังคมได้ ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจึงสามารถทำความเข้าใจได้ว่า แม้ผลงานที่เกิดขึ้นจะเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รัฐยังคงมีความภูมิใจในผลงานดังกล่าวอย่างไม่เขินอาย

การกระทำของรัฐในข้างต้นเป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงประการหนึ่งจากการใช้อำนาจของรัฐ ผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งการใช้อำนาจของรัฐโดยอ้างความชอบธรรมตามกฎหมายยังปรากฏให้เห็นอีกเป็นจำนวนมากในกฎหมายอื่น 

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สังคมไทยควรจะต้องเริ่มตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจของรัฐในการสร้างผลงานผ่านการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนถึงความถูกต้องในการกระทำดังกล่าว? 

 

อ้างอิง

1 The Standard. ดีอีเอสอวดผลงานปี 63. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2564. จากเว็บไซต์ The Standard: https://www.facebook.com/thestandardth/photos/a.1725541161072102/2638728506420025/

จอร์จ ออร์เวลล์. 2557. หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่. รัศมี เผ่าเหลืองทอง,อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์,(ผู้แปล). กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สมมติ. หน้า 50

จอร์จ ออร์เวลล์. 2557. หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่. รัศมี เผ่าเหลืองทอง,อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์,(ผู้แปล). กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สมมติ. หน้า 88

จอร์จ ออร์เวลล์. 2557. หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่. รัศมี เผ่าเหลืองทอง,อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์,(ผู้แปล). กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สมมติ. หน้า 90

จอร์จ ออร์เวลล์. 2557. หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่. รัศมี เผ่าเหลืองทอง,อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์,(ผู้แปล). กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สมมติ. หน้า 82

The Momentum, เปิดผลงาน 1 ปี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีผู้เปี่ยมสีสัน. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2564. จากเว็บไซต์ The Momentum: https://www.facebook.com/themomentumco/photos/a.1636533129971718/2561760454115643/

Christian Davenport. (2013). STATE REPRESSION AND POLITICAL ORDER. Annu. Rev. Polit. Sci. 2007. 10: 1–23. https://www.annualreviews.org/doi/pdf/10.1146/annurev.polisci.10.101405.143216

Tags: , , ,