สวัสดีค่ะ อาจารย์วิระดา

ถ้าอาจารย์ได้อ่านจดหมายฉบับนี้ คงประหลาดใจใช่ไหมคะว่าหนูเป็นใคร อาจารย์ไม่รู้จักหนูหรอกค่ะ เพราะเราไม่เคยมีโอกาสได้พูดคุยกันจริงๆ เลยสักครั้ง หนูแค่รู้จักอาจารย์ผ่านคำบอกเล่าของอาจารย์หลายๆ ท่านที่คณะนิติศาสตร์

ครั้งแรกที่หนูได้รู้จักกับอาจารย์ คือคาบวิชานิติปรัชญา ซึ่งอาจารย์ผู้สอนพยายามจะสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับนิติศาสตร์สตรีนิยม อันเป็นการเพิ่มมุมมองให้แก่นักเรียนกฎหมายด้วยสายตาแบบนักสตรีนิยม หนังสือของอาจารย์เป็น Reading List ที่ควรไปหาอ่านเพิ่มเติมหากต้องการจะทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างละเอียด หนูพบว่าการอ่านหนังสือเล่มนั้นโดยไม่มีพื้นฐานความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับสตรีนิยมทำให้เกิดความไม่เข้าใจในบางจุด การไปลงเรียนเพิ่มเติมในวิชาที่ศูนย์สตรีศึกษาเปิดสอนเลยน่าจะเป็นคำตอบสำหรับหนู และนั่นก็ทำให้หนูได้มีโอกาสพบอาจารย์อีกครั้ง ในงานเสวนา ‘ครบรอบ 100 วัน อาจารย์วิระดา สมสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์สตรีศึกษา มช.’

หนูยังจำวันนั้นได้อยู่เลยค่ะ จะว่าไป… มันก็ 2 ปีแล้วนะคะ ที่อาจารย์จากพวกเราไป

อาจารย์คงต้องตกใจแน่ๆ หากรู้ว่าเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา มีข่าวว่าภาควิชาสตรีศึกษาเกือบจะ ‘ถูกยุบ’ ไปแล้ว

เนื่องจากระบบการจัดการของมหา’ลัยตอนนี้ อาจารย์ก็คงพอจะทราบดีว่าการดำรงอยู่ของภาควิชานั้น จำต้องมีหลักสูตรของตัวเองเป็นแหล่งรายได้หลัก แต่จำนวนอาจารย์ที่ไม่เพียงพอทำให้หลักสูตรของภาควิชาสตรีศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้อีกต่อไป

‘เมื่อเปิดหลักสูตรไม่ได้ ก็ไม่มีผู้เรียนและรายรับ การจัดสรรทรัพยากรให้แก่ภาคฯ จึงเป็นไปได้ยาก’ แล้วปัญหาก็วนลูปไปที่ว่า เมื่อไม่มีทรัพยากรเพียงพอ ก็ไม่สามารถเปิดหลักสูตรได้

ผู้บริหารก็คงเล็งเห็นถึงปัญหาตรงนี้เช่นกัน

แต่แทนที่จะพยายามส่งเสริมหรือจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ทรัพยากรบุคคล’ เพื่อที่จะให้ดำเนินการเปิดหลักสูตรของตัวเองได้ ผู้บริหารกลับมีนโยบายให้ภาควิชาสตรีศึกษาไปอยู่รวมกับภาควิชาอื่น ทั้งในด้านการทำงานและด้านบุคลากร

แน่นอนว่ามีเสียงคัดค้านกับเรื่องนี้พอสมควร ทั้งจากอาจารย์และนักศึกษา ท้ายที่สุด ภาควิชาสตรีศึกษาก็ยังไม่ถูกยุบรวมไปอยู่กับภาควิชาอื่น แต่เอาจริงๆ สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่เลยค่ะอาจารย์

ภาควิชาสตรีศึกษายังคงต้องใช้ชีวิตแบบ ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ เพื่อผลิตสร้างองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านสตรีศึกษาและเพศภาวะ โดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอเหมือนเดิม

แม้แต่ทัศนียภาพรอบๆ ตึก ก็ไม่ทำให้รู้เลยค่ะว่าตอนนี้ภาควิชาสตรีศึกษายังคงเปิดสอนอยู่ ถ้าเดินผ่านตึกช่วงเย็นๆ บรรยากาศนี่ไม่ต่างจากในหนังผีเลยล่ะค่ะ มันเงียบเหงาและไร้ชีวิตชีวาเอามากๆ

อ้อ… ตอนที่หนูไปเรียนที่ภาคฯ เรามีการถกเถียงเรื่องชื่อ ทั้งชื่อตึกและชื่อภาควิชากันด้วยค่ะ เพื่อนคนหนึ่งเห็นว่าเราควรเปลี่ยนชื่อจาก ‘สตรีศึกษา’ ให้เป็น ‘เพศภาวะศึกษา’ เพราะว่าการตั้งชื่อแบบนี้อาจเป็นการกีดกันให้คนที่ไม่ใช่ ‘สตรี’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับพวกเราได้ ถึงหนูจะรู้ว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ค่ะ ว่าหลายคนก็คิดแบบนั้นอยู่

ไม่นานมานี้หนูบังเอิญได้อ่านบทความหนึ่ง[1] ที่พยายามจะโต้แย้งแนวความคิดที่ว่า ‘เลิกเป็น Feminist แต่มาเป็น Humanist หรือ Equalist หากต้องการจะสร้างความเท่าเทียมทางเพศจริงๆ’ บทความนี้เห็นว่าสตรีนิยมมีประวัติศาสตร์ที่เราควรจดจำ มีความขมขื่น การเปลี่ยนชื่อเรียกจึงเหมือนทำให้ความขมขื่นนั้นไม่มีอยู่จริง อืม… คิดๆ ไปก็คล้ายๆ กับการที่คนดำ คนเอเชีย หรือกะเทยถูกทำร้ายร่างกาย มันไม่ได้เป็น ‘แค่การทำร้ายร่างกาย’ แต่มันคือการทำร้ายเพราะเป็นคนดำ เป็นคนเอเชีย หรือเป็นกะเทย เราถึงต้องมีคำว่า Racist หรือ Homophobia ไว้อธิบายโดยเฉพาะ

คิดไปคิดมาข้อเสนอของบทความนี้ก็น่าสนใจดีเหมือนกันนะคะ

ถ้าได้เอาเรื่องนี้ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนคนที่เสนอให้เปลี่ยนชื่อภาคฯ คนนั้น คงจะสนุกแน่เลยค่ะ

และถ้าสมมติว่าจะมีการตั้งชื่อภาควิชาสตรีศึกษาใหม่

‘สตรีศึกษา และเพศภาวะศึกษา’ ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยนะคะอาจารย์

อาจารย์กฎหมายหลายท่านเล่าให้หนูฟังว่า ตอนที่อาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวภาคประชาชน การจัดอบรมให้กับอาสาสมัครนักกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบทใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ฯลฯ อาจารย์ยังได้ทุ่มเทให้กับภาควิชาการ ด้วยการบุกเบิกแนวคิดที่เรียกว่า ‘นิติศาสตร์สตรีนิยม’ (Feminist Legal Theory) อีกด้วย

ช่วงปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการมองกฎหมายด้วยมุมมองทางเพศก็ถูกพูดถึงในแวดวงกฎหมายอยู่พอสมควรเลยค่ะ

กลุ่มนักกฎหมายรุ่นใหม่เรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความที่กำหนดให้ทนายความหญิงต้องใส่กระโปรงตอนว่าความ ด้วยเหตุผลว่ามันไม่สะดวกในการทำงาน และเพื่อให้การแต่งกายของทนายความเป็นไปโดยไม่จำกัดกรอบเพศแบบทวิลักษณ์

แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันที่จะไม่แก้ไขข้อบังคับนี้ แต่ข้อเรียกร้องนี้ก็ทำเอาวงการนักกฎหมายเริ่มตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ ว่า เอาเข้าจริงแล้วการกำหนดให้แต่งกายตามเพศกำเนิด (และการจะต้องทำเรื่องขออนุญาตให้วุ่นวาย หากต้องการแต่งกายตามเพศภาวะ) นั้น เหมาะสมกับห้วงเวลาที่สังคมเปิดรับความแตกต่างหลากหลายจริงๆ หรือเปล่า

อีกเรื่องหนึ่งค่ะ… ที่หนูอยากจะเล่าให้อาจารย์ฟัง

ช่วงปีที่ผ่านมามีการรวมกลุ่มกันชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการและรื้อถอนอำนาจเก่าของสังคมถี่ยิบเลยค่ะอาจารย์ แม้ว่าประเด็นหลักจะเป็นไปเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย แต่จริงๆ มันก็ไม่ได้มีแค่ประชาธิปไตยเท่านั้นหรอกค่ะ ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศก็ถูกพูดถึงเหมือนกัน

‘ปิตาธิปไตยจงฉิบหาย ความเท่าเทียมหลากหลายจงเจริญ’ เป็นมอตโต้ที่เค้าใช้กันในม็อบ

และหนึ่งในกลุ่มคนที่ทำให้การต่อสู้เรื่องเพศกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง คือกลุ่มคนในชุมชนเพศหลากหลาย (LGBTQ+) 

ในฐานะอาจารย์กฎหมาย อาจารย์คงทราบดีว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีสิทธิในการสร้างครอบครัวตามกฎหมาย

ป.พ.พ. มาตรา 1448 มีไว้ให้แค่สำหรับ ‘ชายรักหญิง’ และ ‘หญิงรักชาย’ เท่านั้น

ช่วงปีที่ผ่านมา มีคู่รักที่เป็นเพศกำเนิดเดียวกันคู่หนึ่งนำเรื่องนี้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยว่ามาตรา 1448 นี้ขัดต่อการเลือกปฏิบัติโดยเหตุแห่งเพศที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

อาจารย์ลองทายดูเล่นๆ สิคะ ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ชาย) ทั้ง 9 คน ซึ่งหลายคนในนั้นก็เป็นอาจารย์กฎหมายชื่อดังที่นักเรียนกฎหมายทั้งประเทศจะต้องรู้จัก จะตัดสินเรื่องนี้ออกมาในลักษณะไหน?

ไม่ว่าอาจารย์จะทายถูกหรือทายผิด แต่คำวินิจฉัยที่ออกมานั้น น่าผิดหวังเหลือเกินค่ะอาจารย์

ศาลวินิจฉัยว่า “กฎหมายที่ไม่อนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันสมรสได้ ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม” ด้วยเหตุผลว่า โดยธรรมชาติแล้วบุคคลมีเพียงแค่ 2 เพศ ก็คือชายและหญิง และวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งครอบครัวนั้นก็เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ (หนูยังสงสัยอยู่เลยค่ะ ถ้าให้เหตุผลแบบนี้ คนเป็นหมันจะจดทะเบียนสมรสได้หรอคะอาจารย์)

ศาลฯ ยังบอกอีกว่า ถ้าอนุญาตให้บุคคลเพศกำเนิดเดียวกันสมรสกันได้ การจดทะเบียนสมรสนั้นอาจเป็นไปเพื่อหวังผลประโยชน์ในสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ (?)

แม้ศาลฯ ทิ้งท้ายว่าให้ไปดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต (เป็นกฎหมายที่จะออกมาเพื่อรับรองการสมรสของกลุ่มคนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่สิทธิประโยชน์น้อยกว่าในประมวลกฎหมายแพ่ง) ทำไมคู่รักที่มีเพศกำเนิดเดียวกันถึงได้สิทธิตามกฎหมายที่น้อยกว่าคู่รักที่มีเพศกำเนิดต่างกันเหรอคะอาจารย์ แค่เพราะว่าคนบางคนไม่ได้เกิดมาเป็น ‘ชายจริงหญิงแท้’ ตามที่สังคมต้องการ เค้าเลยไม่ควรได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างนั้นหรอคะ หนูไม่เห็นว่ามันจะเมกเซนส์ตรงไหนเลย

มาจนถึงตรงนี้ ไม่รู้ว่าอาจารย์จะแอบบ่นอยู่ในใจหรือเปล่า ก็เรื่องทั้งหมดที่หนูเล่าให้อาจารย์ฟังมีแต่เรื่องที่น่าเหนื่อยใจมากกว่าเรื่องที่น่ายินดีทั้งนั้นเลย แต่สิ่งที่หนูอยากจะบอกอาจารย์ก็คือมันก็ไม่ได้แย่ไปซะทั้งหมดหรอกค่ะ คงอย่างที่เค้าว่ากัน ‘ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นก็ย่อมมีการต่อสู้เสมอ’ 

ในเรื่องที่ไม่น่ายินดีเหล่านี้ เราได้เห็นทั้งอาจารย์และนักศึกษาช่วยกันส่งเสียงเล็กของตัวเองเพื่อจะบอกว่า อย่าลดความสำคัญของภาควิชาสตรีศึกษา ได้เห็นนักกฎหมายและนักเรียนกฎหมายที่ต่อสู้เรื่องข้อบังคับสภาทนายความฯ หรือได้เห็นคนธรรมดาๆ ปฏิเสธที่จะเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และพยายามจะผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้จริงๆ

แม้ว่าอะไรๆ ยังไม่เป็นเหมือนกับความฝันที่เราวาดไว้ แต่หนูหวังว่าเรื่องราวเหล่านี้คงทำให้อาจารย์เบาใจลงได้บ้าง คนที่ยังอยู่ไม่มีทางนิ่งเฉยต่อความอยุติธรรมทางเพศหรอกค่ะ

และหนูก็หวังจริงๆ ว่า อาจารย์จะได้พบกับความสงบอยู่ที่ไหนสักแห่งนะคะ

 

 

ด้วยความระลึกถึง

นักเรียนกฎหมายที่สนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศคนหนึ่ง

 

 

 

[1] บทความเรื่อง Dear ‘Equalists’ & ‘Humanists’, We Need To Have A Conversation About Feminism อ้างถึงใน Feminista, When Feminists are Left : เมื่อเฟมินิสต์ถูกปัดซ้าย, 25 มิถุนายน 2563, http://www.feminista.in.th/post/when-feminists-are-left

 

Tags: , , , , , , ,