ในหลายปีมานี้ ต้องยอมรับว่า กระแสความนิยมเกาหลี (Korean Wave) หรือที่เรียกว่า ‘ฮันรยู’ (Hallyu) ได้ปกคลุมทั่วไปโลก จากการเผยแพร่วัฒนธรรม งานศิลปะ ดนตรี เพลง ของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี ซึ่งสร้างเม็ดเงินให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้กว่า 1.23 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จนทำให้ประเทศเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก เป็นอันดับหนึ่งในสิบ
ทว่า สิ่งที่หลบซ่อนอยู่หลังความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีนั้นมีอะไรบ้าง น้อยคนเท่านั้นที่จะทราบ พลังอำนาจของ Soft Power ที่แผ่ขยายอิทธิพลไปยังทุกสังคม รวมถึงสังคมไทย ส่งผลให้การตั้งคำถามต่อความเป็นไป ณ เบื้องหลังของความน่าเชยชมนั้น ขาดหายตามไปด้วย ดังนั้นบทความนี้จะทำการสำรวจงานศึกษาวงการบันเทิงเกาหลีที่สะท้อนถึงปัญหาการขูดรีดแรงงานและความไม่เป็นธรรมในหลายมิติ โดยจะเป็นการมองเหล่าศิลปินในฐานะที่เป็น ‘แรงงาน’ กลุ่มหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิง
ไม่มีการกำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ การขูดรีดแรงงานกลายเป็นเรื่องปกติ
ตามหลักการทั่วไป การทำงานของแรงงานในหลายๆ สังคม จะถูกกำหนดโดยกฎหมายแรงงานที่ทำหน้าที่คอยปรับรูปแบบนิติสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับผู้เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่มีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจโดยสิ้นเชิง ให้มาอยู่บนฐานของความเท่าเทียมและเป็นธรรม เช่น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงาน วันหยุด สวัสดิการต่างๆ ฯลฯ แต่การเป็นแรงงานผู้ทำงานตามที่ถูกว่าจ้าง ต้องขึ้นทำการแสดงคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ จะไม่มีมาตรฐานขั้นต่ำมารองรับ ทำให้การเอารัดเอาเปรียบและขูดรีดแรงงานเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ
ศิลปินและไอดอลในวงการ K-pop หลายคน ต้องติดพันอยู่กับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ทำกับบริษัทค่ายเพลงผู้ดูแล เป็นสัญญาระยะหลายปี (ในอดีต ศิลปินเคยต้องผูกพันกับบริษัทนานมากกว่า 15 ปี ก่อนจะมีกฎหมาย JYJ ออกมาในปี 2015) โดยมีอัตราส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่แบ่งกันกับบริษัทเจ้าของค่ายไว้ที่ 80:20 หรือ 90:10 เท่านั้น และอาจจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก หากเป็นกรณีที่กลุ่มศิลปินประกอบด้วยสมาชิกหลายคน เพราะจะต้องหารส่วนแบ่งกัน จนเหลือเป็นค่าตอบแทนไปยังแต่ละบุคคลเพียงน้อยนิด
ศิลปินส่วนใหญ่มักจะมีหนี้หรือพันธะในการชำระค่าใช้จ่าย ค่าฝึกอบรมให้กับบริษัทค่ายเพลง พวกเขาต้องอยู่ภายใต้นิติสัมพันธ์ที่บีบบังคับ ไม่มีอิสระในความเป็นส่วนตัว ทั้งยังต้องตกอยู่ในสถานการณ์กดดันอย่างรุนแรง เพื่อรักษามาตรฐานด้านรูปลักษณ์และพฤติกรรมตามที่บริษัทต้องการ สำหรับการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมบันเทิง
อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการแบ่งชนชั้นระหว่างศิลปินระดับท็อปกับศิลปินทั่วไป รวมถึงศิลปินอินดี้ ซึ่งเป็นเหตุให้สิทธิประโยชน์และลักษณะนิติสัมพันธ์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ หากเป็นศิลปินทั่วไปที่ไม่ได้โด่งดังระดับโลก หรือศิลปินที่ไม่ได้สังกัดค่ายเพลงใหญ่ การถามหาสัญญาที่เป็นทางการ หรือค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ก็อาจเป็นการกระทำที่เสียมารยาท เพราะไม่ใช่สิ่งที่ควรทำสำหรับศิลปินและไอดอลที่ทำงานด้วยใจรักและความตั้งใจจริง
เคยมีมุขตลกร้ายในกลุ่มศิลปินอินดี้ว่า “ถ้าเราสามารถซื้อบุหรี่ด้วยผลกำไรที่ได้จากเพลงของเรา ถือว่าเราทำได้โอเค แต่ถ้าเราเอาผลกำไรมาซื้อชุดไก่ทอดได้ นั่นถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว”
แย่กว่านั้น ศิลปินส่วนใหญ่มักจะไม่ลุกขึ้นต่อต้าน หรือต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในการทำงานของตัวเอง เพราะอาจทำให้ต้องสูญเสียโอกาสการทำงานและการหารายได้เลี้ยงปากท้องตนเองในอนาคตไป พร้อมกับถูกมองว่าเป็น ‘กบฏ’ และเป็นตัวที่ทำให้วงการเสื่อมเสีย
นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิการแก่ศิลปิน (Artist Welfare Act) เพื่อให้พวกเขามีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนหรือผลประโยชน์ด้านต่างๆ ในชีวิตการทำงาน แต่ปัญหาคือศิลปินจะต้องส่งรายชื่อผลงานที่ผลิตออกมาภายในสามปี และเปิดเผยรายได้ว่าตนสามารถทำเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนด (1,200,000 วอน หรือประมาณ 940 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี) หรือ 3,600,000 วอน (ประมาณ 2,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสามปี) เพื่อพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นๆ มีศักยภาพในการเป็นศิลปินมืออาชีพอย่างแท้จริง
โดยหากพิจารณาภาพรวม การกำหนดระยะเวลาทำผลงานดังกล่าวนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าไรนัก ดังนั้นจึงทำให้กฎหมายดังกล่าวไม่สามารถช่วยเหลือเหล่าคนทำงานเป็นศิลปินได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ปัญหาความยากลำบากในชีวิต ศิลปินก็ต้องจัดการด้วยตัวเองตามลำพัง
สภาพการทำงานอันโหดร้าย
การไร้มาตรการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นต่ำในบรรดากลุ่มศิลปินและไอดอลในวงการบันเทิงเกาหลี นำพาให้พวกเขาต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่กดทับความเป็นปกติธรรมที่มนุษย์ควรมีอยู่ไม่น้อย แม้จะเป็นสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นศิลปินและไอดอลที่มีชื่อเสียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่พวกเขาเจอในแต่ละวันจะสวยหรูหรือโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ การได้มาซึ่งชื่อเสียง เงินทอง จากการเป็นไอดอลนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย
หนึ่งในสาเหตุของปัญหานี้หนีไม่พ้นเรื่องลักษณะของตลาดสื่อบันเทิงเกาหลีที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้น เหล่าเจ้าของเงินทุนและบริษัทที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิงล้วนมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ การไต่อันดับและการครองพื้นที่ตลาดให้มากที่สุด โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปแบบวิธีการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและบรรทัดฐานทางสังคมในเกาหลีที่เป็นมาอย่างยาวนาน
เพื่อความสำเร็จและความเป็นที่หนึ่ง นิติสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างศิลปินกับบริษัท ภายใต้ข้อสัญญาที่ฝ่ายบริษัทค่ายเพลงเป็นผู้กำหนดเพียงฝ่ายเดียว จะมีลักษณะควบคุมการใช้ชีวิตในสังคมและความเป็นส่วนตัวของศิลปินอย่างเข้มงวด ซึ่งเมื่อประกอบกับคุณค่าและวัฒนธรรมในสังคมก็อาจส่งผลเลวร้ายตามมา ดังกรณีศิลปินเกิร์ลกรุ๊ป ที่ตลาดได้กำหนดมาตรฐานความงามให้ต้องมีลักษณะบางอย่าง เช่น การมีรูปร่างผอมเพรียว
โดย คง ยูจิน (Kong Yoo-jin) อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปนามว่า ‘BONUSbaby’ เล่าว่า ให้มีหุ่นที่ผอมเพรียว อ้อนแอ้น พวกเธอจะต้องหลีกเลี่ยงการกินอาหารแบบคนทั่วไป และกินเฉพาะเมล็ดอัลมอนด์เพียง 6 เมล็ดต่อวัน พร้อมกับนมถั่วเหลืองกล่องเล็กๆ วันละกล่อง “มันเป็นอะไรที่ยากมาก ตอนนั้นก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่อีกใจหนึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเราผอมขนาดนั้น เราจะร้องหรือเต้นไหวหรือ มันเหนื่อยไปหมดทั้งกายและใจ จนต้องกลับมาคิดว่า ที่ทำอยู่่มันถูกต้องแล้วหรือ? หลังจากคิดมานาน เราก็ต้องเลือกตัวเองมาก่อน และก็ออกจากวงการมา” คง ยูจินกล่าว
ตัวอย่างการควบคุมการกินให้ศิลปินมีรูปร่างตรงกับมาตรฐานความงามสังคม ยังรวมถึงกรณี ‘paper cup diet’ หรือการบังคับให้ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปกินอาหารในถ้วยกระดาษเล็กๆ 3 ถ้วยต่อมื้อ เพื่อลดและควบคุมน้ำหนัก ต่อให้ร่างกายของมนุษย์จะต้องการปริมาณแคลอรีจากการรับประทานอาหารราว 1600-2000 แคลอรีต่อวัน แต่กลุ่มศิลปินจะอนุญาตให้รับประทานเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการจำกัดการกินเช่นนี้ ย่อมนำไปสู่ความผิดปกติและส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายด้านรวมถึง โรคตับอักเสบ โรคความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ระบบเผาผลาญอาหารช้าลง และปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
เมื่อพฤติกรรมการกินที่ไม่ปกติ ดำเนินไปควบคู่การต้องขึ้นแสดงคอนเสิร์ตที่ต้องใช้พลกำลังและแรงกายอย่างหนัก จึงส่งผลต่อไปยังการตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายและความไม่ปลอดภัยในการทำงาน โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีศิลปิน ไอดอลหลายคนเป็นลมหมดสติ ล้มลงบนเวทีขณะทำการแสดง เนื่องจากความเหนื่อยล้าและการต้องขึ้นทำการแสดงโดยที่ไม่ได้พักผ่อนในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งกลุ่มศิลปินทั้งชายและหญิง
นอกจากปัญหาทางร่างกาย สภาพการทำงานที่ศิลปินต้องเผชิญ ยังส่งผลเสียต่อปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน การควบคุมการใช้ชีวิตในสังคมอย่างเคร่งครัด ผ่านข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาการเป็นศิลปินกับทางบริษัท ว่าพวกเขาจะมีสิทธิ์เจอใคร หรือพูดกับใครได้บ้างจากการจับตาดูอย่างใกล้ชิดของคนดูแล เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ยิ่งทำให้พวกเขาต้องเผชิญสภาวะแรงกดดันและปัญหาการจัดการกับความคิดหรือความรู้สึก สิ่งที่ตามมาคือสภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลอย่างรุนแรง
ดังที่ คง ยูจิน อธิบายผลกระทบทางจิตใจหลังที่ได้เดบิวต์เป็นศิลปินว่า “ตอนนั้น ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่แล้วก็ต้องมาเป็น ซึมเศร้ากับโรควิตกกังวลรุนแรง ไม่สามารถพบเจอผู้คน จะเดินทางไปไหนมาไหนโดยขนส่งมวลชนก็ยาก ที่ทำได้ก็จะคุย ระบายกับเพื่อนสมาชิกวง ให้ตัวเองสบายใจ มันเป็นสิ่งที่เราต้องทน…”
อย่างไรก็ตาม สภาพการทำงานที่บรรยายข้างต้นอาจไม่ได้เลวร้ายหรือรุนแรงสำหรับทุกคน ศิลปินหลายคนมักจะรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี และพร้อมเอาความเป็นส่วนตัวหรือยอมสูญเสียความสะดวกสบายบางอย่าง เพื่อแลกกับโอกาสที่ได้ขึ้นมาเป็นไอดอลและศิลปินในวงการ K-pop ที่มีรายได้และชื่อเสียง อีกทั้งกว่าจะได้โอกาสนั้น พวกเขาต้องฝ่าฝันกับอุปสรรค และต้องแข่งขันกับคนอื่นๆ ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ปัญหาเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่พวกเขายอมจ่าย ทั้งนี้ ข้อสังเกตสำคัญ คือ สภาพการทำงานลักษณะดังกล่าว เป็นสิ่งที่ศิลปินไอดอลทุกคนต้องเจอ ไม่เว้นแม้แต่เด็กหรือผู้เยาว์ที่ได้รับโอกาสและสามารถผลักตัวเองให้เดบิวต์เป็นศิลปินได้ตั้งแต่ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย
การใช้แรงงานเด็ก และกฎหมายคุ้มครองที่ไม่ครอบคลุม
หากมองศิลปินไอดอลในวงการบันเทิงเกาหลีเป็นแรงงานแล้ว ก็จะหลีกเลี่ยงประเด็นที่เกิด ‘แรงงานเด็ก’ ที่หมายความถึงกลุ่มเด็กๆ และเยาวชนที่มีโอกาสก้าวเข้าเป็นศิลปินตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีจำเป็นต้องพึ่งพาบรรดากองทัพไอดอล ที่มีภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบ ให้เป็น ‘ผลิตภัณฑ์’ ที่ได้รับความสนใจจากอย่างกว้างขวางให้มากที่สุด และมีอายุการใช้ได้นานที่สุด แต่ทว่ากลวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การพาเด็กเข้าสู่ระบบการฝึกและการทำงานที่มีสภาพการทำงานที่อาจไม่เหมาะสมกับวัยกำลังเจริญเติบโตของเด็ก
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ไอดอลเดบิวต์ ด้วยอายุที่น้อยลง จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2023 นี้ มีท่าทีว่าจะน้อยลงไปอีก เช่น อีซอ สมาชิกของวง ‘IVE’ ที่เดบิวต์ตอนอายุ 14 ปี หรือ ฮเยอิน (Hyein) วง ‘NewJeans’ ที่อายุเพียง 14 ปี เช่นกัน และทำให้อายุเฉลี่ยของสมาชิกวง ‘NewJeans’ คือเพียง 16 ปี 6 เดือน และปี 2022 มีการทำลายสถิติไอดอลที่อายุน้อยที่สุดในตอนเดบิวต์ ซึ่งตอนนี้อายุที่น้อยที่สุด คือ ฮาอึน สมาชิกวง ‘Lapillus’ ที่มีอายุตอนเดบิวต์เพียง 13 ปี 7 เดือน เท่านั้น
กระบวนการ ‘ผลิต’ ไอดอลเด็กนั้นมีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าที่คนทั่วไปมองเห็น เริ่มตั้งแต่ ‘การค้นหา’ เนื่องด้วยสื่อและสังคมที่ให้คุณค่าอย่างมากกับการเป็นศิลปินไอดอล ทำให้เด็กและเยาวชนหลายคนมีความฝันอยากเป็นศิลปินไอดอลเหมือนกับคนที่พวกเขาเห็นตามพื้นที่สื่อต่างๆ การค้นหาจึงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไร สอง กระบวนการ ‘เซ็น’ สัญญา การเซ็นสัญญาในที่นี้จะเป็นการเซ็นเพื่อเข้าไปเป็นเด็กฝึก (trainees) กับทางบริษัทค่ายเพลง โดยฝ่ายบริษัทจะเป็นคนทำข้อตกลงในสัญญาเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งระยะเวลาของสัญญาเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ถึง 13 ปี และต้องเจอกับข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินเป็นค่าฝึกฝนให้กับบริษัท ก่อนที่พวกเขาบางคนจะได้รับค่าตอบแทนเพียงร้อยละ 10 ที่บริษัทแบ่งให้ ส่วนบางคนที่ไม่มีโอกาสได้เดบิวต์ก็อาจเท่ากับต้องสูญเสียเงินค่าฝึกไปแบบฟรีๆ
กระบวนการที่สาม ‘ฝึก’ การเป็นเด็กฝึก พวกเขาต้องเข้าสู่ระบบการเคี่ยวเข็ญตลอดระยะเวลา 3 ถึง 5 ปี จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทอย่างเคร่งครัด กลุ่มเด็กฝึกจะต้องออกกำลังกายหรือใช้ร่างกายอย่างหนัก ระหว่างกระบวนการฝึก ความเป็นปกติในชีวิตของมนุษย์แทบจะถูกโยนทิ้งออกไป พวกเขาต้องยินยอมให้บริษัทควบคุมชีวิตทุกด้านทุกมิติ ซึ่งเมื่อฝึกฝนและสามารถเดบิวต์เป็นศิลปินได้สำเร็จ สภาพการทำงานก็มักจะไม่ต่างกับศิลปินไอดอลที่เป็นผู้ใหญ่ หรือหนักยิ่งกว่า โดยเฉพาะเรื่องความกดดันในการทำงาน และความเปราะบาง ความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องเผชิญระหว่างการเป็นศิลปิน
เป็นเวลานานที่ในวงการบันเทิงเกาหลีนั้นไร้การควบคุมและคุ้มครองเหล่าเด็กๆ ไอดอล อย่างที่ควรจะเป็น รัฐบาลเกาหลีใต้จึงผลักดันให้มีกฎหมายออกมาในเดือนกรกฎาคม 2014 เพื่อเป็นกฎหมายปกป้องคุ้มครองเหล่าศิลปินเด็กเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และสร้างหลักประกันว่าศิลปินเด็ก จะต้องได้รับการประกันสิทธิในการนอน เรียนรู้ สามารถปฏิเสธการถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศ
สาระสำคัญของกฎหมายนี้ เริ่มตั้งแต่การกำหนดชั่วโมงการทำงาน สำหรับศิลปินดาราที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ให้จำกัดอยู่ที่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และสำหรับศิลปินไอดอลผู้เยาว์ที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี ก็จำกัดอยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกันศิลปินเด็กเยาวชนทุกคนต้องงดทำการแสดงตั้งแต่เวลา 22.00-6.00 น. เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอม หากผู้ดูแลหรือผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนฝ่าฝืน จะต้องถูกลงโทษโดยเสียค่าปรับ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือจำคุก 2 ปี
นอกจากชั่วโมงการทำงาน กฎหมายยังได้ห้ามกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ ศิลปินเด็กและผู้เยาว์ต้องตกเป็นวัตถุทางเพศ (sexualization) การบังคับให้พวกเขาสวมชุดการแสดงบนเวทีที่วาบหวิวหรือเปิดเผยร่างกายเกินควร ไม่เหมาะสมกับวัย หรือเต้น ท่าเต้นที่ส่อไปในทางเพศ ก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน หากมีการละเมิดกฎหมายจะส่งผลให้ กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้มีอำนาจออกคำสั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไข และหากไม่ปฏิบัติตาม ผู้รับผิดชอบดูแลจะต้องเสียค่าปรับราว ๆ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลบางคนอาจมีโอกาสถูกพิพากษาจำคุกสูงสุด 5 ปีในข้อหาบังคับให้ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแสดงฉากข่มขืนหรือฉากที่มีการล่วงละเมิดทางเพศ และกรณีที่มีการจ้างผู้เยาว์ให้ถ่ายโฆษณาเชิงพาณิชย์ สำหรับยาเสพติด หรือสถานที่และสิ่งของที่เป็นอันตรายต่อเยาวชน นายจ้างอาจต้องถูกพิพากษาให้จำคุก 2 ปี หรือ 10,000 เหรียญสหรัฐฯ
ปัญหาคือกฎหมายที่มีอยู่คงมีช่องว่างในทางปฏิบัติ ความกำกวมของถ้อยคำและข้อจำกัดในการตีความว่าแบบไหน เป็นการบังคับใช้แรงงานเด็กหรือเป็นการทำให้เด็กตกเป็นวัตถุทางเพศ มันขึ้นอยู่กับมุมมองของปัจเจกบุคคลที่อาจสรุปออกมาได้แตกต่างกัน บ้างก็มองว่า เป็นการแสดงออกซึ่งความสามารถของเด็ก ๆ ที่เหมาะสมและน่าชื่นชม รวมทั้งการที่มีโอกาสได้เป็นศิลปินตั้งแต่อายุยังน้อย ก็อาจมองได้ว่าเป็นการประสบความสำเร็จที่รวดเร็วและน่ายินดี รวมถึงเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ได้มีโอกาสสัมผัสโลกกว้างได้ก่อนคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน
ส่วนอีกด้านหนึ่งมองว่า การที่เด็กเยาวชนก้าวไปเป็นศิลปินตั้งอายุยังน้อยนั้นเป็นเรื่องน่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกควบคุมอาหาร เพื่อให้มีรูปร่างตรงตามมาตรฐานความงามในตลาดสื่อบันเทิง ที่ส่งผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพเด็กอย่างรุนแรง การต้องตกอยู่ในบรรยากาศการแข่งขัน ความกดดันจากสิ่งรอบตัว และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อสภาพจิตใจของเด็กที่มีข้อจำกัดในเรื่องศักยภาพสำหรับรับมือกับปัญหาต่างๆ แตกต่างจากผู้ใหญ่ การไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมและปัญหากับเข้าสังคมกับผู้คนส่วนใหญ่จากกรณีที่ถูกควบคุมการใช้ชีวิตในสังคมตามข้อตกลงกับบริษัทค่ายเพลง
ประเด็นเหล่านี้ยังคงถูกตั้งคำถามและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เรื่อยๆ ในแวดวงวิชาการที่มุ่งศึกษาอิทธิพลของ Korean Wave
การเผชิญความเปราะในชีวิต
กระแสความร้อนแรงของวัฒนธรรม K-pop ที่ปกคลุมไปทั่วโลกช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย จำเป็นต้องรักษาสถานการณ์ดังกล่าวเอาไว้ เสมือนกับการที่ได้ขี่หลังเสือแล้วจะลงไม่ได้เด็ดขาด สภาวะดังกล่าว ยิ่งสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น และสร้างความกดดันให้กับเหล่าบรรดาศิลปินทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จนบีบให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับความเปราะบางในชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การต้องตอบสนองความต้องการของตลาด ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพการทำงานที่สร้างความเปราะบางที่ทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา ควอน ยอง ชาน (Kwon Young Chan) อาจารย์ด้านจิตวิทยาประจำ Kenel University ดาราตลกและผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาแก่ศิลปินดาราเกาหลีมามากกว่า 300 ชีวิต อธิบายว่า ในสังคมเกาหลี บุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายคนมักประสบกับปัญหาความเครียดและสภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากและบุคคลที่เคยโด่งดังมาก่อน เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดและเห็นว่ามีใครประสบความสำเร็จมากกว่า มันอาจสร้างรู้สึกว่า มีคนก้าวหน้านำพวกเขาไปไกลแล้ว ความรู้สึกพ่ายแพ้และโดดเดี่ยวก็จะตามมา
ผู้คนในเกาหลีใต้ต้องอยู่ในระบบที่ให้ความสำคัญกับการเป็นอันดับหนึ่งตลอดเวลา สร้างบรรยากาศการแข่งขันได้กับทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่ในอุตสาหกรรมบันเทิงเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงทุกองคาพยพในสังคมทั้งหมด การแข่งขันและการถูกเปรียบเทียบ หรือการนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ของศิลปินดาราและบรรดาไอดอล มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกไร้ค่าในตัวเอง กดดันตัวเอง จนความเคารพในตัวเองลดต่ำลง อันเป็นสาเหตุหลักของการเป็นสภาวะซึมเศร้าและโรคเครียด ซึ่งเมื่อพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับปัญหารุมเร้าในชีวิต หลายคนจึงเลือกจบชีวิตตัวเองเพื่อหนีปัญหา
ตลอดเวลาที่ผ่านมา การพัฒนาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลี ต้องสังเวยชีวิตเหล่าศิลปินดาราไปแล้วอย่างน้อย 30 คน ซึ่งแรงจูงใจอาจเป็นไปได้หลายกรณี เช่น ปัญหาเรื่องการเงิน หนี้สิน เรื่องความสัมพันธ์ ปัญหาครอบครัว ชื่อเสียง หรือได้รับความนิยมลดลง การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการ ที่ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงในช่วงที่มีความสภาวะไม่มั่นคง
นอกจากนี้ ประเด็นความเปราะบางยังเกี่ยวโยงกับประเด็นปัญหาการเลือกปฏิบัติ อคติทางเพศและค่านิยมชายเป็นใหญ่ในสังคมเกาหลีโดยตรง ผู้หญิงมีโอกาสที่จะฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ชาย เพราะการแบกรับความกดดันทางสังคม ความคาดหวังที่กดทับไอดอลเพศหญิง ให้ต้องเป็นอย่างที่สังคมต้องการให้เป็น นั้นกัดเซาะให้พวกเขาต้องเปราะบาง เช่น การต้องครองตัวเป็นโสด เชื่องต่ออำนาจ ฯลฯ ตัวอย่างเรื่องนี้ที่เห็นได้ชัดเจน คือ กรณี ซอลลี่ (Sulli) สมาชิกวง f(x) ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นสิทธิสตรีที่ถูกคาดหวังให้ต้องแต่งกายตามแบบฉบับที่สังคมชายเป็นใหญ่กำหนด และต่อมาก็ตกเป็นเป้าหมายการกลั่นแกล้งออนไลน์อย่างหนักหน่วง
ครั้งหนึ่ง ซอลลี่เคยให้สัมภาษณ์ในรายการทีวีว่า “ชีวิตของฉันจริงๆ แล้วนั้นว่างเปล่า ไม่มีอะไร ฉันรู้สึกเหมือนกับว่า ต้องโกหกทุกคน และต้องแสร้งทำเป็นว่ามีความสุขให้เห็น”
และที่เลวร้ายกว่านั้น ในกลุ่มศิลปินไอดอลที่เป็นเด็กเยาวชน ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะและปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขาก็ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน แรงกดดัน การบีบบังคับจากสภาพการทำงาน และการถูกควบคุมการใช้ชีวิตในสังคมตามข้อตกลงในสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทค่ายเพลง อีกทั้งยังคงเป็นที่น่ากังวลว่า ไอดอลเด็กๆ เหล่านั้นจะได้รับการปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยมากเท่าที่ควรหรือไม่ ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมหรือไม่ ผู้มีส่วนได้เสียจะมีวิธีการรับมืออย่างไร กับปัญหาที่ไอดอลเด็กต้องเผชิญในโลกภายนอก ทั้งความเครียด และการตกเป็นเป้าหมายการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
คง ยูจิน ให้ความเห็นว่า “เมื่อเห็นเด็กๆ ที่พยายามจะไปเป็น ศิลปินฝึกหัด ส่วนตัวฉัน ฉันรู้สึกเจ็บปวดนะ เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เด็กๆ อยากทำ และเป็นความฝันของพวกเขา พวกเขาอยากเป็นดาวจรัสบนเวที จริงๆ มันก็ดีที่เด็กๆ มีความฝัน แต่ก็เพราะว่าฉันผ่านมันมาก่อน ฉันจึงรู้สึกเจ็บปวดแทน ฉันรู้ว่าเด็กพวกนั้นต้องเจอกับอะไร พวกเขาต้องดูแลรูปร่างลักษณะภายนอกของตัวเองมากๆ ต้องถูกควบคุมอาหาร ต้องถูกบังคับให้ไปทำศัลยกรรม และเมื่อเด็กที่อยากเป็นศิลปิน K-pop อายุเด็กลงเรื่อยๆ เขาเหล่านั้นจะรับมือกับเรื่องพวกนี้ไหวไหม ฉันกังวลเรื่องนี้มากเลย”
สุดท้ายนี้ การวิเคราะห์ความเป็นไปในวงการบันเทิงเกาหลีผ่านการมองศิลปินและไอดอลในฐานะแรงงาน ทำให้มองเห็นความพิลึกพิลั่นและด้านมืดมนที่ถูกซกซ่อนเอาไว้ภายใต้เบื้องหน้าอันสวยงามและน่าดึงดูด การตีแผ่ลักษณะนี้ไม่ได้มีเจตนามุ่งโจมตีไปยังอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีแต่อย่างใด ทว่าเป็นการตั้งคำถามและข้อสังเกตที่หลายคนอาจไม่ทันได้นึกถึง และเจตนารมณ์ที่แท้จริงของเหล่าผู้ทำการศึกษากระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี คือการพิจารณาถึงราคาที่สังคมต้องจ่าย และเผยถึงสิ่งที่เป็นปัญหาที่สมควรได้รับการศึกษาแสวงหาหนทางแก้ไขต่อไปในอนาคต เพราะถึงอย่างไร สิ่งที่อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีสร้างไว้ ยังคงเป็นที่น่าภาคภูมิใจของฝั่งโลกตะวันออก ที่สามารถก้าวเข้าทัดเทียมและมีอิทธิพลของโลกตะวันตกที่ครอบงำสังคมโลกมาอย่างยาวนาน พร้อมกับสร้างสมดุลและความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้นได้
เอกสารอ้างอิง
The Power Of Hallyu – But At What Price? | Deciphering South Korea – Ep 1 | CNA Documentary, https://www.youtube.com/watch?v=Wk-WJkzWLV0
https://www.tbsnews.net/splash/dark-depths-fame-child-exploitation-k-pop-industry-471902
https://koreaexpose.com/k-pop-korean-music-musicians-labor-abuse/
https://www.koreatimes.co.kr/www/art/2020/06/732_291680.html
Tags: เคป๊อป, ฮันรยู, Kpop, เกาหลีใต้, แรงงาน, เกาหลี, Rule of Law