ผู้คนทั่วโลกต่างเฝ้ามองและจับตาดูการแข่งขันฟุตบอลโลก ณ ประเทศกาตาร์ ชาติตะวันออกกลางชาติแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นที่กล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในงานกีฬาที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุด
กาตาร์ใช้เงินหลายแสนล้านเพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งและอิทธิพลของทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างชื่อเสียงและภาพจำในระดับโลกด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุด และในขณะนี้ กาตาร์กลับต้องเผชิญกับการตรวจสอบกรณีการละเมิดแรงงานข้ามชาติและการไม่ยอมรับตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
สัปดาห์นี้ Rules of Law กลับมาทบทวนเหตุการณ์การแสดงออกในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในมหกรรมฟุตบอลโลกปีปัจจุบัน
ฟุตบอลโลกกาตาร์ ครั้งแรกของฟุตบอลโลกในดินแดนตะวันออกกลาง
กาตาร์ได้ร่วมเสนอราคาเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกท่ามกลางความสับสนงงงวยจากแฟนฟุตบอล เนื่องจากสภาพอากาศนั้นไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ด้วยภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทะเลทราย ถึงขนาดที่ว่าในสนามแข่งนั้นต้องมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศและความคุมอุณหภูมิในสนามเพื่อปลูกหญ้า ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่สูงกว่ามาก เป็นที่จับตามองมากว่าเมืองเล็กๆ อย่างกาตาร์ที่มีประชากรราว 2 ล้านคน กำลังจะกลายเป็นเจ้าภาพในมหกรรมกีฬาฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ฟุตบอลโลก หรือ FIFA World Cup เป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศโดยมีชุดทีมชาติชายร่วมเข้าแข่งในกลุ่มสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ Fédération de Football Association หรือ FIFA ที่มีการแข่งขันจัดขึ้นทุก 4 ปี โดยมีแนวคิดในการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้นมีเป้าหมายเพื่อกระจายการเป็นเจ้าภาพไปยังประเทศที่ไม่เคยได้รับเกียรติมาก่อน ตั้งแต่แอฟริกาใต้ บราซิล รัสเซีย และเป็นกาตาร์ในปีปัจจุบัน
แต่กระนั้น กาตาร์ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีความสำคัญในเวทีโลกก็ไม่อาจหนีไม่พ้นเกมการเมืองระดับภูมิภาค หากยังจำกันได้ ในปี 2017 เกิดเหตุการณ์วิกฤติการณ์การทูตในกาตาร์ Qatar diplomatic crisis เมื่อ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของกาตาร์ ได้ร่วมกันใช้มาตรการตัดเส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างประเทศไปยังกาตาร์ โดยตั้งข้อสงสัยร่วมกันว่ากาตาร์นั้นสนับสนุนการก่อการร้าย
หลังจากนั้นไม่นาน สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เปิดเผยว่ามีตัวแทนชาติอาหรับจำนวน 6 ประเทศได้ร่วมกันเขียนจดหมายถึง FIFA เพื่อขอให้ถอดกาตาร์ออกจากการเป็นเจ้าภาพ
การแข่งขันและกดดันภายในอ่าวเปอร์เซียนนั้นได้แสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาตอบโต้จากกลุ่มประเทศจากอ่าวเปอร์เซียต่อการเปลี่ยนแปลงของกาตาร์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศที่แอบแฝงอยู่ในเบื้องหลังการเกิดขึ้นของฟุตบอลโลกครั้งนี้
หลังจากกาตาร์ชนะการเข้าร่วมประมูลการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นเป็นวงกว้าง มีการก่อสร้างสนามฟุตบอลเพื่อรองรับแฟนคลับทั่วโลกขึ้นใหม่จำนวน 8 สนาม สนามบิน ถนน โรงแรม โรงพยาบาล แต่กระนั้น กาตาร์ในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลกกลับได้รับชื่อเสียงที่ย่ำแย่จากกรณีการละเมิดสิทธิสตรี การเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ และข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในการเตรียมการสร้างสนามและสิ่งปลูกสร้างกระทั่งมีผู้เสียชีวิต จากรายงานของ The Guardian คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตราว 6,500 คน
ล่าสุด รัฐสภายุโรปมีมติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกาตาร์ โดยขอให้กาตาร์และ FIFA ขยายเวลาการชดเชยให้ครอบครัวคนงานที่ได้รับความเดือดร้อนขณะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในฟุตบอลโลก
ฝ่ายนิติบัญญัติประจำรัฐสภายุโรปยังได้เน้นย้ำถึงบทบาทของ FIFA ในฐานะองค์กรกำกับดูแลกีฬาฟุตบอล โดยขอให้องค์กรปกครองฟุตบอลโลกเข้าร่วมในกระบวนการเยียวยาอย่างครอบคลุมสำหรับครอบครัวคนงาน กล่าวหาว่าองค์กรนั้นมีการทุจริตที่เป็นระบบและฝังรากลึก
“องค์กรกำกับดูแลกีฬาฟุตบอลดังกล่าวทำลายภาพลักษณ์และความสมบูรณ์ของฟุตบอลระดับโลกอย่างร้ายแรง”
เกิดอะไรขึ้นในเวิลด์คัพ
เนื่องมาจากความนิยมมหาศาลของฟุตบอล ตัวแทนผู้เล่นและกองเชียร์จึงมีแนวโน้มที่จะสะท้อนปัญหาความขัดแย้งจากสังคมให้ปรากฏออกมาในสนามอยู่เสมอ
ถึงแม้จะมีเสียงเรียกร้องจากผู้เคร่งครัดอย่าง FIFA ที่ยังคงต้องการให้ฟุตบอลเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการเมือง เนื่องมาจากค่านิยมที่จะต้องวางตัวเป็นกลาง แต่การจัดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ก็มีเรื่องอื้อฉาวและประเด็นที่มีความเป็นการเมืองอย่างมาก
เกิดกรณีความขัดแย้งขึ้นเมื่อ FIFA ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมกีฬาฟุตบอลได้ออกมาขัดขวางทีมจากยุโรปที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ LGBTQI+ หลังตัวแทนจาก อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และเวลส์ วางแผนที่จะเข้าร่วมแคมเปญ “OneLove” ที่สนับสนุนเพศหลากหลายผ่านการสวมใส่ปลอกแขนสีรุ้ง
แต่ FIFA กลับขู่คว่ำบาตรผู้เล่น รวมไปถึงอาจจะถูกลงโทษด้วยการให้ใบเหลืองได้ เนื่องจากในเรื่องชุดแข่งขันซึ่งไม่อนุญาตให้สื่อถึงประเด็นทางสังคมที่มีความละเอียดอ่อน หรืออาจนำไปสู่ความแตกแยก ส่งผลให้ผู้เล่นนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกไล่ออกหากพวกได้รับใบเหลืองใบที่สองจากการทำฟาวล์ในการแข่งขัน โดย FIFA ชี้แจงว่าเป็นไปตามมาตรการการกีดกันประเด็นทางการเมืองออกไปจากการแข่งขัน
ภาพประกอบจาก Reuters
แม้ว่า FIFA จะพยายามกีดกันประเด็นทางการเมืองให้ออกไปจากบอลโลก แต่มันกลับไม่ง่ายเช่นนั้น นับแต่รอบคัดเลือกตัวแทนกลุ่ม ก็เกิดการเคลื่อนไหวประท้วงขึ้นแล้วทั้งในสนามและนอกสนาม
การพบกันในรอบแบ่งกลุ่มระหว่างญี่ปุ่น-เยอรมนี ผู้เล่นเยอรมนีได้แสดงท่าทางยกมือปิดปาก ซึ่งอ้างถึงกรณีการปฏิเสธการสวมปลอกแขนแคมเปญ One Love ว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา
ก่อนหน้านั้น เยอรมนีเคยใส่เสื้อระบุคำว่า Human Rights เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิของแรงงาน ในการเตรียมตัวจัดบอลโลกของการ์ตาร์ หลังจากที่นอร์เวย์ได้แสดงออกในลักษณะเดียวกันไปก่อนหน้า โดยทวิตเตอร์ของทีมชาติเยอรมนีได้ออกมาระบุว่า
“มันไม่เกี่ยวกับแถลงการณ์ทางการเมือง เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถต่อรองได้ สิ่งนี้ควรได้รับการยอมรับ แต่ก็ยังไม่เป็นอย่างนั้น นั่นเป็นเหตุผลที่ข้อความนี้มีความสำคัญต่อเรามาก การปฏิเสธปลอกแขนก็เหมือนกับการปฏิเสธเสียงของเรา เราเชื่อมั่นในจุดยืนของเรา”
ภาพจาก eurosport
กรณีต่อมา พบการห้ามแสดงออกถึงกรณีการต่อต้านในประเทศอิหร่าน ในเกมการพบกันในรอบแบ่งกลุ่มระหว่างอิหร่านและเวลส์ ปรากฏข่าวการยึดธง เสื้อยืด ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านรัฐอิสลาม และเนื้อหาเกี่ยว มาห์ซา อามินีฟ (Mahsa Amini) หญิงสาวชาวเคิร์ดที่ถูกจับกุมเนื่องจากละเมิดกฎหมายการบังคับให้ผู้หญิงสวมฮิญาบคลุมเส้นผมขณะที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะในกรุงเตหะรานโดยตำรวจศีลธรรม และเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลัน ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์ของความโกรธแค้นในสังคมที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง
ภาพจาก BBC
ก่อนหน้านี้ ในขณะที่เพลงชาติของอิหร่านบรรเลงขึ้นที่ Khalifa International Stadium แสดงให้เห็นว่าเห็นผู้เล่นยืนเฉย ตัวแทนนักเตะจากอิหร่านปฏิเสธที่จะร้องเพลงชาติก่อนเปิดสนามพบกับอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขายืนอยู่ข้างเดียวกันกับเหตุการณ์ไม่สงบจากการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยกองกำลังความมั่นคง ที่ว่ากันว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงที่สุดที่อิหร่านเคยเผชิญมาในรอบหลายทศวรรษ
เอห์ซาน ฮัจซาฟี (Ehsan Hajisafi) กัปตันทีมชาติอิหร่าน ถูกถามคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเกิด ก่อนจะกล่าวว่า
“เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในประเทศของเรานั้นมันไม่ถูกต้อง และผู้คนก็ไม่มีความสุขกับที่เป็นอยู่ เราอยู่ตรงนี้ ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราต้องสู้ ทำให้ดีที่สุด และอุทิศมันให้แก่ผู้สูญเสียชาวอิหร่าน”
ภาพจาก cbsnews และ Wikipedia
อีกกรณีหนึ่ง คือการเรียกร้องเชิงสัญญะของเดนมาร์ก ที่แม้ว่ากฎการแข่งขันฟุตบอลโลกของ FIFA จะห้ามไม่ให้มีข้อความทางการเมืองบนชุดทีม แต่การออกแบบเสื้อของเดนมาร์กกลับออกแบบเสื้อที่มีเนื้อหาวิจารณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศเจ้าภาพอย่างกาตาร์
ตัวเสื้อนั้นจะไม่มีคำหรือสัญลักษณ์ใดที่เป็นข้อความที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ตราทีมชาติ โลโก้สปอนเซอร์ และบั้งสีขาวตกแต่ง ซึ่งนับเป็นลักษณะเด่นของเสื้อเดนมาร์กตั้งแต่ช่วงปี 1980 แต่ในปีนี้กลับถูกทำให้มีสีจางลงเป็นสีเดียวกับเสื้อ แต่ยังคงมองเห็นได้ โดยเรียกสีนี้ว่า “สีแห่งการไว้ทุกข์ The colour of mourning” เพื่อเป็นเกียรติแก่แรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตระหว่างงานก่อสร้างเตรียมการฟุตบอลโลก
ภาพจาพ The Guardian
What’s next??
นอกจากการแสดงออกของตัวแทนชาติในสนามแข่งขัน ยังมีกระแสต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ และประเด็นการละเมิดสิทธิสตรีในกาตาร์ การจำกัดแต่งกายของผู้เข้าชม รวมไปถึงการทวงถามถึงการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นในกาตาร์
เรื่องเหล่านี้ยังคงถูกแสดงออกจากนักกิจกรรมและผู้คนอีกมาก ที่ทวงถามความเป็นธรรมจากสิทธิของแรงงานที่ถูกละเมิดในกาตาร์ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ภายใต้แรงกดดันจาก FIFA ที่ต้องการให้สนามฟุตบอลปราศจากประเด็นทางการเมือง แต่เราก็ยังคงเห็นท่าทีต่อต้านและการเรียกร้องถึงประเด็นเกี่ยวกับการเมืองโลกอยู่เนืองๆ
Tags: ฟุตบอลโลก, FIFA World Cup, ความเท่าเทียมทางเพศ, Football, human rights, สิทธิมนุษยชน