คดีครอบครัวเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน กระบวนการยุติธรรมในหลายประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) จึงจัดการกับคดีครอบครัวต่างออกไปจากวิธีการปกติ เพราะถึงแม้ว่าคู่ความในคดีจะมีความขัดแย้งกันแต่ก็ยังเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน วิธีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท (Mediation) เป็นหนึ่งในวิธีการที่มักถูกนำมาใช้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาสายสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวให้ดำเนินต่อไปได้

ในแวดวงของนักกฎหมายผู้สนใจเรื่องสิทธิของผู้หญิง การไกล่เกลี่ยฯ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเช่นเดียวกัน เพราะเป็นกระบวนการที่ผู้หญิงมักเข้าไปเกี่ยวข้อง (ในฐานะแม่และภรรยา) บทความนี้จึงอยากเชิญผู้อ่านทำความเข้าใจมุมมองและข้อถกเถียงเรื่องการไกล่เกลี่ยในคดีครอบครัวที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดนิติศาสตร์สตรีนิยม (Feminist Jurisprudence)

‘กฎหมายของผู้ชาย’ จากมุมมองแบบสตรีนิยมสายวัฒนธรรม

ทฤษฎีนิติศาสตร์สตรีนิยม (Feminist Jurisprudence) เป็นแนวความคิดที่ยืนอยู่บนพื้นฐานที่ว่ากฎหมายไม่มีความเป็นกลางทางเพศ และผลประโยชน์ในทางกฎหมายถูกเอื้อให้แก่ผู้ชายมากกว่า[1] นักนิติศาสตร์สตรีนิยมหยิบยืมแนวความคิดที่หลากหลายของกลุ่มสตรีนิยม (Non-Legal Feminist) มาใช้เป็นแนวทางเพื่อตอบคำถามว่า ทำไมกฎหมายถึงเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ชาย หรือทำไมกฎหมายถึงละเลยผลประโยชน์ของผู้หญิง?

คำอธิบายของกลุ่มสตรีนิยมสายวัฒนธรรม (Cultural Feminism) ถูกนำมาใช้อธิบายกฎหมายด้วยเช่นกัน โดยที่ความคิดแบบสตรีนิยมสายวัฒนธรรมนำเสนอความแตกต่างระหว่างชายกับหญิง และเรียกร้องให้สังคมยอมรับการให้ความหมายต่อคุณค่าของ ‘ความเป็นหญิง’ ในทางที่ดี[2]

งานศึกษาชิ้นสำคัญที่มีอิทธิพลต่อนักนิติศาสตร์สตรีนิยม ได้แก่ In a Different Voice[3] โดยนักจิตวิทยา แครอล กิลลิแกน (Carol Gilligan) ที่เสนอจริยธรรมการจัดการปัญหาระหว่างชายกับหญิงที่มีความแตกต่างกัน งานชิ้นนี้ตั้งคำถามต่อเด็กชายและเด็กหญิงว่า หากชายคนหนึ่งไม่มีเงินซื้อยาไปรักษาภรรยาที่กำลังจะตาย ชายคนนั้นควรจะขโมยยาหรือไม่? เด็กชายตอบอย่างมั่นใจว่าควรจะขโมยยา แต่เด็กหญิงตอบอย่างคลุมเครือ พร้อมกับแสดงความเห็นว่าควรจะทำอย่างอื่นก่อน เช่น ขอร้อง พูดคุยเจรจา หรือกู้ยืมเจ้าของร้านยา รวมถึงเห็นว่าการขโมยยาอาจทำให้ชายคนนั้นติดคุก และไม่สามารถช่วยภรรยาได้ในท้ายที่สุด

คำตอบของเด็กทั้งสองนำไปสู่บทสรุปว่า ผู้หญิงและผู้ชายมีจริยธรรมการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน กิลลิแกนเรียกวิธีการของผู้ชายว่า เป็นจริยธรรมของความยุติธรรม (Ethics of Justice) ที่แยกปัญหาทางจริยธรรมออกจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับจัดลำดับตามความสำคัญ ส่วนวิธีการของผู้หญิงเป็นจริยธรรมของความห่วงใย (Ethics of Care) ที่ไม่ได้มองปัญหาต่างๆ แยกขาดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ผลงานของกิลลิแกนถูกชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในแวดวงจิตวิทยาและสตรีนิยม ขณะเดียวกัน ข้อเสนอของกิลลิแกนถูกนำมาประยุกต์ใช้ในแวดวงกฎหมาย เพื่อสร้างคำอธิบายที่เกี่ยวกับกฎหมายของผู้ชายในลักษณะที่ว่า วิธีการจัดการข้อขัดแย้งของระบบกฎหมายมีลักษณะที่สอดคล้องกับจริยธรรมของความยุติธรรม อันเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบผู้ชาย ดังนั้น ในสายตาของนักนิติศาสตร์สตรีนิยมที่ดำเนินตามแนวทางของกลุ่มสตรีนิยมสายวัฒนธรรม ระบบกฎหมายทั้งระบบจึงเป็นการมองปัญหาและใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบผู้ชาย ทำให้ผลประโยชน์ทางกฎหมายตกแก่ผู้ชาย และละเลยผลประโยชน์ของผู้หญิงในท้ายที่สุด

การใช้ ‘จริยธรรมของความห่วงใย’ โต้กลับ ‘กฎหมายของผู้ชาย’   

หากกฎหมายกระแสหลักเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับจริยธรรมของความยุติธรรม นักนิติศาสตร์สตรีนิยมจึงพยายามนำจริยธรรมของความห่วงใย เข้ามาพิจารณาระบบกฎหมาย เพื่อให้วิธีการ ประสบการณ์ และการแก้ปัญหาของผู้หญิงถูกคิดในระบบกฎหมายมากขึ้น

แคร์รี เมงเคิล มีโดว์ (Carrie Menkel-Meadow)[4] นักวิชาการผู้มีส่วนสำคัญในการนำแนวคิดสตรีนิยมสายวัฒนธรรมเข้าสู่กฎหมาย[5] ตั้งคำถามว่า การมีผู้หญิงมากขึ้นจะทำให้วิธีการทำงานของระบบกฎหมายเปลี่ยนไปหรือไม่ ระบบกฎหมายที่มุ่งค้นหาความถูกผิดเพื่อให้ได้ผู้แพ้ชนะจะสามารถเปลี่ยนไปเป็นการหาทางออกร่วมกันในทุกๆ ฝ่ายได้หรือไม่[6]

งานชิ้นสำคัญอีกชิ้นคือ Jurisprudence and gender[7] โดย โรบิน เวสต์ (Robin West) ที่นำคำอธิบายของกิลลิแกนมาประยุกต์ใช้ในกฎหมาย โดยเวสต์นำเสนอว่า ทฤษฎีกฎหมายสมัยใหม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเรื่อง ‘หลักการแยกขาดอย่างเป็นอิสระ’ (Separate Thesis) ที่ให้ความสำคัญการแยกขาดของปัจเจก ในความหมายของ ‘อิสระภาพและเสรีภาพ’ เวสต์ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายให้การปกป้องคุ้มครองต่ออิสรภาพและเสรีภาพของปัจเจกอย่างสำคัญ

ขณะที่ผู้หญิงและความเป็นหญิงไม่ได้เป็นเรื่องของการแยกขาด หากแต่เป็นการเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ เวสต์มองว่าคุณค่านี้เป็นเรื่องของ ‘หลักการเชื่อมโยงสัมพันธ์’ (Connection Thesis) เป็นคุณค่าที่กฎหมายไม่ได้ให้ความสำคัญในการปกป้องคุ้มครอง

แม้แนวทางของการนำสตรีนิยมสายวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้กับกฎหมายจะเพิ่มแง่มุมในการคิดและพิจารณาถึงกฎหมายได้หลากหลายขึ้น แต่มีนักนิติศาสตร์สตรีนิยมจำนวนไม่น้อยที่ไม่ไว้วางใจแนวทางดังกล่าว ด้วยความกังวลว่าสิ่งนี้จะเป็นการผลิตซ้ำ ‘สารัตถะทางเพศ’ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเป็นแม่และผู้ดูแลของผู้หญิง อาจทำให้ชัยชนะของกลุ่มนิติศาสตร์สตรีนิยมในแนวทางเสรีนิยม ทำให้ผู้หญิงที่มีตัวตนในโลกนอกบ้านไร้ความหมาย

ข้อถกเถียงเรื่อง ‘การไกล่เกลี่ยฯ’ ในฐานะ ‘กฎหมายของผู้หญิง’

เมื่อวิธีการของกฎหมายที่มุ่งค้นหาความถูกผิดเพื่อให้ได้ผู้แพ้ชนะถูกมองว่าเป็นตัวแทนของกฎหมายแบบผู้ชาย การไกล่เกลี่ยฯ ในฐานะวิธีการที่จะสามารถหาทางออกร่วมกันสำหรับคู่ความจึงถูกมองเป็นตัวแทนของกฎหมายแบบผู้หญิง (อย่างน้อยก็ในมุมมองนักนิติศาสตร์สตรีนิยมสายวัฒนธรรม) และถูกคาดหวังว่าจะทำให้ผู้หญิงได้รับประโยชน์ หรืออย่างน้อยก็ไม่ถูกลดทอนประโยชน์ในทางกฎหมายได้

อย่างไรก็ตาม ในแวดวงของนักนิติศาสตร์สตรีนิยมเอง การไกล่เกลี่ยฯ ยังคงถูกตั้งคำถามว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้หญิงได้จริงหรือ ส่วนหนึ่งของบทความ The Feminist Dilemma in Mediation[8] โดย แนนซี จี. แม็กซ์เวล (Nancy G. Maxwell) พูดถึงข้อโต้แย้งหลักๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการไกล่เกลี่ยฯ คดีครอบครัวไว้ 3 ประเด็น ดังนี้

หนึ่ง การไกล่เกลี่ยฯ มักไม่คำนึงถึงอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมระหว่างชายกับหญิง ซึ่งอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมนำไปสู่ข้อเสียเปรียบในการต่อรอง และผู้หญิงมักเป็นฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น เมื่อต้องเจรจาต่อรอง ผู้หญิงมักเผชิญความยากลำบากในการเลือกระหว่างความต้องการของตนเองกับความต้องการของลูก 

สอง มายาคติเรื่องความเป็นกลางของผู้ไกล่เกลี่ย มักมีความเชื่อว่าถ้าผู้ไกล่เกลี่ยเป็นกลางจะต้องไม่มีการปกป้องฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า นำไปสู่คำถามว่า ความเป็นกลางที่ถูกให้คุณค่านี้เป็นสิ่งซึ่งรักษาผลประโยชน์ของผู้ชายไว้หรือไม่ นอกจากนี้ ในงานศึกษาบางชิ้นพบว่า อคติของผู้ไกล่เกลี่ยอาจเป็นความชอบและความไม่ชอบในวิธีการบางประเภท เช่น ในกรณีที่จะตกลงกันเรื่องสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร ผู้ไกล่เกลี่ยหลายคนมีอคติกับสิทธิดูแลบุตรร่วมกัน (Joint Custody) ทำให้ผู้ไกล่เกลี่ยพยายามจะชักนำคู่กรณีเพื่อไม่ให้เลือกวิธีการดูแลบุตรร่วมกัน

และสาม กระบวนการไกล่เกลี่ยฯ จะถูกจัดให้เกิดขึ้นเป็นการลับ คือไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามารบกวนการไกล่เกลี่ยฯ เพื่อรักษาสภาพจิตใจและร่างกาย แต่ทั้งนี้ มีความเห็นว่าการทำให้เป็นความลับนี้ อาจทำให้เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว จะนำไปสู่การลดทอนความสำคัญของประเด็นครอบครัวในทางกฎหมายได้

คำถามส่งท้าย

กระบวนการไกล่เกลี่ยฯ ถูกนำมาใช้ในคดีครอบครัวเพื่อให้ความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวดำรงอยู่ ภายใต้คำอธิบายของกลุ่มความคิดแบบนิติศาสตร์สตรีนิยมกลุ่มหนึ่งการไกล่เกลี่ยฯ สามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว เพราะการไกล่เกลี่ยฯ เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับคุณค่าความเป็นหญิง ขณะที่อีกกลุ่มโต้แย้งว่า การพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวอาจเป็นตัวฉุดรั้งสิทธิหรือผลประโยชน์ทางกฎหมายของผู้หญิงก็ได้

คำถามของผู้เขียนมีเพียงว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่กระบวนการไกล่เกลี่ยฯ คดีครอบครัวจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรักษาผลประโยชน์ของผู้หญิง แต่ก็ยังทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในครอบครัวดำเนินต่อไปได้ แม้สถานะใดๆ จะจบลงก็ตาม

อ้างอิง

[1] จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญาแนววิพากษ์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2555), 77-78.

[2] วารุณี ภูริสินสิทธิ์, สตรีนิยม: ขบวนการและแนวคิดทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 20, (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2545), 103-106.

[3] Carol Gilligan, In a Different Voice: Psychological Theory and Women’s Development (Harvard University Press, 1982)

[4] Carrie Menkle-Meadow เป็นนักวิชาการสตรีนิยมที่ทำงานในประเด็นเรื่องการกระงับข้อพิพาท โดยมีผลงานที่นำทฤษฎีของ Carol Gilligan มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ Portia in a Different Voice: Speculations on a Women’s Lawyering Process (1985) และ Toward Another View of Legal Negotiation: The structure of problem solving (1984)

[5] Martha Chamallas, Introduction to feminist legal theory (New York: Aspen Law and business, 1999), 66.

[6] Andrea Kupfer Schneider, “Carrie Menkle-Meadow: Dispute Resolution in a Feminist Voice” 10 Texas A&M Law Review 151 (2022).

[7] Robin West, “Jurisprudence and gender” The University of Chicago Law Review, Vol.55 No.1 (1988), 1-72.

[8] Nancy G. Maxwell, “The Feminist Dilemma in Mediation” International Review of Comparative Public Policy Vol. 4, No. 1 (1992), 67-84.

Tags: , , , , , , , ,