บรรยากาศของการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยคำสัญญาระหว่างการรณรงค์หาเสียง พรรคการเมืองและนักการเมืองจะสื่อสารกับกลุ่มฐานเสียงผ่านคำสัญญาว่าจะทำอะไรบ้างหากได้รับเลือกตั้ง เช่น การดูแลปากท้อง การขึ้นค่าแรง หรือการแสดงจุดยืนของอุดมการณ์และอีกสารพัดคำสัญญาตอนขึ้นปราศรัยบนเวทีหรือตามป้ายหาเสียงต่างๆ แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหลังการเลือกตั้ง สิ่งที่เคยสัญญาไว้กลับไม่ได้ถูกปฏิบัติตาม ชวนให้เหล่า Voter ทั้งหลายเจ็บใจเล่น
ในที่นี้ เราจะไม่พูดถึง Voter ที่ตัดสินใจเลือกตั้งจากความนิยมชมชอบในตัวบุคคล แต่จะพูดถึง Voter ที่ใช้นโยบายพรรคการเมืองหรือคำมั่นสัญญาเป็นตัวตัดสินใจในการลงคะแนนเสียง เราจะมีทางเอาผิดกับนักการเมืองที่ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนเลือกตั้งหรือไม่
เปรียบเทียบเหมือนการซื้อของ สินค้าที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและสินค้านั้นต้องถูกแบน ในท้องตลาดที่มีสินค้าประเภทเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อ การโฆษณามีส่วนสำคัญมากและส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค หรือผู้บริโภคเอง เมื่อเจอของไม่ตรงปกก็สามารถร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ คำพูดของนักการเมืองก็เช่นเดียวกัน ที่ให้ผลเหมือนการโฆษณาสินค้า คือเป็นการโน้มน้าวใจให้ Voter เลือกตนเอง
ในฐานะ Voter ผู้ผิดหวังในตัวนักการเมืองหรือพรรคการเมือง เราทำได้เพียงปล่อยผ่านกับคำสัญญาที่ไม่เกิดขึ้นจริง แล้วจำใส่ใจไว้สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าจะไม่เลือกพรรคการเมืองหรือนักการเมืองขี้โกหกอีก หรือมีความจำเป็นที่จะต้องให้บทเรียนสำหรับพรรคการเมืองที่พ่นคำสัญญาไว้เพียงลมปากแล้วจางหายไปพร้อมสายลม
ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งจำเป็นต้องมีการควบคุมข้อความที่ไม่สุจริตและเนื้อหาอันเป็นเท็จของพรรคการเมือง/นักการเมืองหรือไม่ หรือเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วกลับพบว่าพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ เราจะทำอย่างไรได้บ้าง เป็นคำถามที่จำเป็นต้องมีคำตอบ เพราะที่ผ่านมาเราเห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มีพรรคการเมืองที่ลอยตัวไม่ทำตามนโยบาย ส่วนนักการเมืองก็ชอบโกหก
เกร็ดความรู้: ทำไมคนเราถึงโกหกได้อย่างสบายใจ1
“การโกหกเป็น Skill ที่ฝึกฝนได้ ยิ่งโกหกมากเท่าไร ต่อไปการโกหกยิ่งเป็นเรื่องง่ายในอนาคต”
ในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ทางระบบประสาทบอกว่า นิสัยขี้โกหกเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การปรับตัวทางอารมณ์ (Emotional Adaptation) ซึ่งคล้ายคลึงกับเวลาที่เราได้กลิ่นอะไรแรงๆ หรือเมื่อเวลาเราได้ยินเสียงที่ดังมาก เริ่มแรกเราจะโฟกัสกับสิ่งนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อเราเริ่มหันเหไปที่จุดอื่นบ้าง เราจะมีความรู้สึกว่ากลิ่นแรงๆ หรือเสียงที่ดังมันเบาบางลง
เช่นเดียวกับการโกหก ความเคยชินจะทำให้เราหมดความรู้สึกผิดกับการโกหกของเราเอง เนื่องจากพื้นที่ในสมองของเราที่เกี่ยวข้องกับรู้ผิดชอบชั่วดีจะมีความกระตือรือร้นน้อยลง สิ่งนี้ทำให้เราโกหกในอนาคตได้ง่ายขึ้น เราจะเริ่มโกหกจากเรื่องเล็กๆ ก่อน ครั้งแรกมักจะยากเสมอเพราะต้องต่อสู้กับมโนสำนึกของตัวเองด้วย เราจะรู้สึกแย่กับการโกหกนั้น จนกระทั่งมีการโกหกครั้งต่อมา ความรู้สึกด้านลบนั้นก็จะลดน้อยลงด้วย
จุดเริ่มต้นของการโกหกได้อย่างสบายใจเริ่มจากตรงนั้น และการโกหกเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการกระทำและผลว่า การโกหกนั้นจะทำให้ได้อะไรกลับมาหรือจะเกิดผลอย่างไรในลำดับถัดไป สำหรับการโกหกของนักการเมือง การโกหกนั้นสัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ว่า ‘ฉันต้องเป็นผู้ชนะในเกมส์นี้’
สัญญา (ไว้ตอนหาเสียง) ไม่เป็นสัญญา ฝันร้ายของระบบการเลือกตั้ง
ช่วงหาเสียงนักการเมืองอาจพูดหรือสัญญาอะไรไว้ก็ได้ แต่จะทำหรือไม่ทำตามสัญญาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเวลาจะช่วยพิสูจน์ให้ทราบความจริง การไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เป็นการแสดงถึงว่า อะไรที่เคยพูดไว้ล้วนเป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น และแน่นอนว่าการโกหกทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ เราพบเจอกับการโกหกของนักการเมืองเป็นประจำอยู่แล้ว หลายครั้งที่มักจะมาให้ความหวังหรือขายฝันช่วงก่อนเลือกตั้ง หรือการให้ข้อมูลที่บิดเบือน ทำไม่ได้จริงแต่พูดไว้ก่อน หารู้ไม่ว่าเป็นการลดคุณค่าและความน่าเชื่อถือเวลาที่ต้องปราศรัยต่อหน้าสาธารณชน
ต่อไปนี้เมื่อนักการเมืองขี้โกหกพูดอะไรออกไป เหล่าประชาชนคงมองหน้ากันไปมาเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าให้หารครึ่งไว้ก่อน และแย่ที่สุดคือคำโกหก ทำให้เกิดการบิดเบือนเจตนาที่แท้จริงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นการบ่อนทำลายความชอบธรรมของผลการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งคือการหล่อหลอมเจตจำนงและความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมอีกด้วย2
มีงานศึกษาอย่างจริงจังอธิบายว่า การปราศรัยด้วยคำสัญญาที่เป็นเท็จนั้นทำลายความชอบธรรมของกระบวนการเลือกตั้งอย่างไร3
ประการแรก ความเท็จนั้นสามารถจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่เป็นเท็จได้ และส่งผลต่อคะแนนเลือกตั้งในท้ายที่สุด ความเท็จนั้นสามารถโน้มน้าวให้ผู้อื่นเปลี่ยนเจตนาในลงคะแนนได้ โดยการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จอาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนใจไปเลือกนักการเมืองหรือพรรคที่ตนไม่ได้ตั้งใจเลือกตั้งแต่คราวแรกได้ หากการเลือกตั้งเต็มไปคำสัญญาที่เป็นเท็จฉันใด เจตจำนงอันแท้จริงย่อมไม่ปรากฏออกมาด้วยฉันนั้น แล้วการเลือกตั้งจะมีความหมายได้อย่างไร
ประการที่สอง ข้อความอันเป็นเท็จของนักการเมืองที่เป็นผู้เล่นหลักในช่วงหาเสียงสามารถบิดเบือนผลการเลือกตั้งได้ เนื่องจากเป็นการทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเกิดการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่นักการเมืองนั้นกล่าวอ้าง เพราะการตัดสินใจใดๆ ภายใต้ความเป็นเหตุของมนุษย์จะต้องพิจารณาจากเหตุและผลที่ได้รับ เช่น นักการเมืองสัญญาไว้ว่าจะขึ้นค่าครองชีพหากพรรคการเมืองของตนได้เป็นรัฐบาล แน่นอนว่ากลุ่ม Voter ที่อยู่ในช่วงวัยทำงานย่อมมีความโน้มเอียงในการเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา
และการที่นักการเมืองได้รับสิ่งที่ตัวเองต้องการแล้ว กลับละเลยเจตจำนงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เลือกตนเอง โดยหลงลืมไปว่าเหตุผลที่คนเหล่านั้นเลือกตนเองคืออะไร เป็นการสร้างผลลัพธ์ที่ไม่ชอบธรรมในที่สุด
เสรีภาพในการแสดงออกของนักการเมือง
รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกไว้ในการที่บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยต้องไม่ถูกจำกัดเสรีภาพ ซึ่งสอดรับกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองว่า ทุกคนสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออก และนักการเมืองก็ได้ใช้เสรีภาพในข้อนี้อย่างหนักในช่วงเลือกตั้งเช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้การแสดงออกนั้นต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย กล่าวได้ว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงออกเรื่องใดๆ จำเป็นต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบด้วยเสมอ แม้ว่าหลักการสิทธิมนุษยชนจะรับรองเสรีภาพในการแสดงออกไว้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีหลักการตามสิทธิมนุษยชนข้อไหนที่อนุญาตให้แสดงออกโดยใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จได้ เพราะการให้ข้อมูลผิดๆ ไม่มีประโยชน์อะไรเลยต่อสังคม
ดังนั้น การคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจึงไม่รวมถึงการแสดงออกโดยใช้ ‘ถ้อยคำที่ไม่สุจริต’ ‘ถ้อยคำที่เป็นเท็จ’ หรือ ‘ถ้อยคำที่บิดเบือน’
ในทางการเมือง การใช้ถ้อยคำไม่สุจริตของนักการเมืองเป็นการรบกวนการใช้สิทธิเลือกตั้งโดยอิสระของปัจเจก อันเนื่องมากจากถ้อยแถลงที่ไม่สุจริตนั้น มีอิทธิพลโน้มน้าวใจคนให้เชื่อในสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นจริง จนนำมาสู่การลงคะแนนเสียงให้เนื่องจากมีความเข้าใจในแบบนั้น ดังนั้น ความชอบธรรมของการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของนักการเมือ อาจเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาทั้งหลักการของเสรีภาพในการแสดงออกและจริยธรรมของนักการเมืองในการต้องรับผิดชอบคำพูดของตนเองควบคู่กันไปด้วย
การใช้เสรีภาพในการแสดงออกของนักการเมืองอาจเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรับฟังอย่างมีวิจารณญาณ และคอยตั้งข้อสงสัยต่อถ้อยคำของนักการเมืองอยู่เสมอ Voter สามารถตั้งคำถามหรือสนทนาทางการเมืองกับนักการเมืองในสิ่งที่ตนเองเคลือบแคลงสงสัยหรือต้องการรายละเอียดได้
Voter ในฐานะผู้เล่นทางการเมืองเองก็มีเสรีภาพในการแสดงออกเช่นเดียวกัน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างความถูกต้องแท้จริงของสิ่งที่นักการเมืองสื่อสารออกมา โดยใช้กลไกที่เรียกว่า กระบวนการแก้ไขตัวเอง (Self-Correcting Process) หมายถึงคำพูดจะถูกลบล้างด้วยคำพูด เมื่อนักการเมืองใช้ถ้อยคำที่ไม่จริง บิดเบือน ไม่สุจริต ย่อมถูกถามหาความชอบธรรมในถ้อยคำนั้นได้ ข้อความนั้นอาจถูกลบล้างหรือถูกเปิดเผย ถูกแก้ไขได้ไม่ว่าจะโดยนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่ประชาชนผู้รับข้อความนั้น ซึ่งเป็นกลไกที่จะทำให้เกิดความชอบธรรมและตรวจสอบข้อมูลที่สื่อสารช่วงเลือกตั้งภายใต้การใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองได้โดยตรง และร่วมกันสร้างวิธีการสื่อสารหรือการรณรงค์ทางการเมืองที่มีคุณภาพ
การรับผิดชอบต่อคำพูด สู่การผลักดันทางกฎหมาย
เราอาจเห็นไปในสองทิศทางสำหรับการปฏิบัติตนของนักการเมืองที่ทำตามที่พูดไม่ได้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบและระดับศีลธรรมในจิตใจของนักการเมืองคนนั้นๆ ทิศทางแรก เราจะเห็นนักการเมืองที่แสดงตนขอลาออกจากหน้าที่ที่ตนปฏิบัติตามไม่ได้ หรืออีกทิศทางคือนักการเมืองที่ลอยตัวเหนือปัญหา และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อพอเป็นพิธีว่าขอโอกาสอีกครั้งและจะทำให้ดีขึ้น (สัญญาไว้อีกแล้ว)
จะเห็นได้ว่าความรับผิดชอบต่อการสื่อสารที่บิดพลิ้วของนักการเมืองยังไม่มีมาตรการบังคับใดๆ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการคิดไปอีกขั้นหนึ่ง ในเรื่องของการแสดงความรับผิดของพพรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ทำตามสัญญาไม่ได้ ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย
กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้มีการบัญญัติถึงความผิดเกี่ยวกับการหลอกลวงในตัวคุณสมบัติเท่านั้น ยังไม่มีมาตรการใดทางกฎหมายเกี่ยวกับการหลอกลวงทางนโยบายหรือให้สัญญาที่ทำไม่ได้จริง เราจะเห็นเฉพาะมาตรการที่เป็นการรณรงค์เพื่อทวงคำสัญญาอยู่เท่านั้น
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่นโยบายหาเสียงที่ทำไม่ได้จริงควรถูกแบน รวมถึงพิจารณาถึงบทลงโทษต่อพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ประกาศนโยบายขายฝันทำให้คนหลงเชื่อ มีตัวอย่างสำหรับประเทศที่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือประเทศออสเตรเลีย4 ที่มีการควบคุมสิ่งหรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อผลการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงหมายความรวมถึงการโฆษณาทางการเมืองช่วงเลือกตั้งด้วย
การโฆษณาทางการเมืองช่วงหาเสียงเลือกตั้งสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ประกอบไปด้วยเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องหรือเนื้อหาที่เป็นการหลอกลวง และเป็นบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ในการไต่สวนและพิจารณาเนื้อหาในการโฆษณาของพรรคการเมือง รวมทั้งมีมาตรการใดๆ การต่อการโฆษณาที่มีเนื้อหาไม่ถูกต้องหรือหลอกลวง โดยมีอำนาจสั่งให้ระงับการเผยแพร่โฆษณาหรือประกาศโฆษณาเพื่อแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด รวมถึงการมีโทษปรับเป็นมาตรการใช้บังคับด้วย
การผลักดันกฎหมายอาจเป็นไปในสามทางเลือกคือ
หนึ่ง การใช้กลไกของอำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎหมายจำกัดสิทธิเพื่อลดเพดานการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของนักการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการแสดงเจตจำนงของประชาชน หรือทำให้ผลการเลือกตั้งถูกบิดเบือนไป
ทางเลือกที่สองคือ การใช้กลไกของตุลาการในการตัดสินการกระทำความผิดเกี่ยวกับการหลอกลวงทางการเมือง แต่มีข้อจำกัดคือ อาจเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้อำนาจตุลาการในทางการเมือง และอาจมีปัญหาเรื่องของภาระการพิสูจน์ความไม่จริง การบิดเบือนหรือการหลอกลวงซึ่งเป็นเรื่องที่ยากต่อการพิสูจน์ในเชิงประจักษ์
และทางเลือกที่สาม ให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ปฏิบัติหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการควบคุมกระบวนการของการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใสและก่อผลลัพธ์ที่สะท้อนเจตจำนงแห่งมหาชนอย่างแท้จริงให้ได้มากที่สุด
แต่ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกไหน ทั้งหมดทั้งมวลปลายทางคือการออกแบบกระบวนการเลือกตั้งที่ต้องรัดกุม มีกลไกที่คุ้มครองการตัดสินใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถแสดงเจตจำนงที่แท้จริงได้ ไม่ถูกจูงใจจากข้อมูลที่บิดเบือนหรือจากคำสัญญาที่ทำไม่ได้จริง สงวนไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของระบบการเลือกตั้งในฐานะเครื่องมือของการทำให้ประเทศเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่อเรื่องนี้มีความสำคัญในการจะทำให้ประเทศมีระบอบประชาธิปไตยน่าเชื่อถือ ทำให้นักการเมืองเป็นที่น่าไว้วางใจและลดความแตกแยกในสังคม
1How do politicians get so comfortable with lying? One theory: practice. https://www.vox.com/2016/10/24/13358842/lying-psychology-politics
2It’s time to change election campaign law to stop politicians lying, https://www.democraticaudit.com/2019/09/04/its-time-to-change-election-campaign-law-to-stop-politicians-lying
3Jacob Rowbotton, Lies, Manipulation and Elections –– Controlling False Campaign Statements, Oxford University Press
Tags: การเลือกตั้ง, Rule of Law, False Statement Election