กรณีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. เมืองนครสวรรค์ ซึ่งนำโดย พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ย่อมไม่ใช่แค่ภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชนผู้ต้องหาเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมภายใต้นโยบายการจัดการปัญหายาเสพติดของรัฐไทยที่ล้าหลัง และฝังรากหยั่งลึกลงในสังคมมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นเรื่องปกติ ดังที่ปรากฏตามคำบอกเล่า สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรองผู้กำกับการตำรวจสันติบาลที่ออกมาให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวมีอยู่ทั่วประเทศ แต่กรณีของผู้กำกับโจ้และพวกอาจเกิดจากการขาดประสบการณ์ ประมาท หรือชะล่าใจของผู้กระทำเท่านั้น
บทความชิ้นนี้จะพาไปสำรวจนโยบายการบริหารจัดการยาเสพติดของรัฐไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถฉกฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากคดียาเสพติดอย่างกว้างขวาง พร้อมนำเสนอหลักการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การจัดการปัญหายาเสพติดที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สงครามยาเสพติด
ความสัมพันธ์ระหว่างยาเสพติดกับสังคมไทยดำเนินมาอย่างยาวนาน กระทั่งทศวรรษ 2530 ที่เริ่มมีการผลิต ‘ยาบ้า’ หรือ ยากลุ่มแอมเฟทตามีน (Amphetamines) และขบวนการลักลอบเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย สำหรับทัศนะของผู้มีอำนาจรัฐไทย ยาบ้านั้นไม่ต่างจากเชื้อร้ายที่สร้างปัญหาทางสังคมมากมายทั้งปัญหาก่ออาชญากรรม ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ บั่นทอนความเจริญของชาติ ด้วยเหตุนี้ในทุกยุคทุกสมัยจึงปรากฏให้เห็นภาพการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันปราบปรามขบวนการยาเสพติดอย่างเข้มงวด
แต่ถึงอย่างนั้น ที่ผ่านมาปัญหายาเสพติดยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้รัฐไทยจะใช้วิธีการปราบปรามอย่างเด็ดขาดรุนแรงก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าวิธีการเหล่านั้นจะทำให้ปัญหายิ่งเลวร้ายลงมากกว่าจะเป็นการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินปฏิบัติการปราบปรามขบวนการยาเสพติดที่ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและกว้างขวาง หลังจากที่มีการประกาศสงครามยาเสพติด นโยบายการบริหารจัดการยาเสพติดขั้นเด็ดขาดที่เกิดขึ้นภายใต้สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน และเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ปี 2546
การประกาศสงครามยาเสพติดมีขึ้นโดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 29 พ.ศ. 2546 เรียกร้องให้รัฐดำเนินการปราบปรามการค้ายาอย่างรุนแรงเด็ดขาด ด้วยการใช้ “มาตรการจากเบาไปหาหนักและเด็ดขาดตามสถานการณ์” และในคำประกาศระบุว่า “หากบุคคลใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ถือเป็นบุคคลที่เป็นภัยคุกคามต่อสังคม ประเทศชาติ” ซึ่งกรณีนี้ไม่ต่างจากการออก ‘ใบอนุญาตฆ่า’ (killing license) มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาอย่างชอบธรรม โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประสิทธิของผู้ต้องหาแต่อย่างใด
สภาวะไร้หลักประกันสิทธิในช่วงประกาศสงครามยาเสพติด ส่งผลให้ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหลาย ล้วนถูกถอดเอาสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออกไปเสียหมด เป็นชีวิตเปลือยเปล่า (bare life) ที่ไร้กฎหมายห่อหุ้มปกป้องคุ้มครอง จึงเสมือนเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถกระทำการทรมาน รีดเอาทรัพย์ บังคับขู่เข็ญ ได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวความผิด ทั้งเชิงกฎหมายและเชิงศีลธรรม
ระบบการให้รางวัลและการลงโทษเจ้าหน้าที่ในสงครามยาเสพติด
ระบบการให้รางวัลและการลงโทษต่อผลปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐบนแผนการปราบปรามยาเสพติดดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่ปลุกเร้าให้การกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการบริหารที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและจังหวัดต้องทำงานให้ได้ตามเป้าหมาย ด้วยการลดจำนวนคนที่อยู่ในบัญชีดำ (blacklist) ให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากล้มเหลวฝ่ายเจ้าหน้าที่อาจถูกลงโทษ หรือหลุดพ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าหากสำเร็จก็จะได้รับรางวัลตามที่ประกาศไว้ในประกาศกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546
ยกตัวอย่างเช่น หากสามารถดำเนินคดีจับกุมผู้ครองครองเมทแอมเฟตามีน ตั้งแต่ 11 -500 เม็ด เจ้าหน้าที่รัฐจะได้รับเงินรางวัลตอบแทน กรัมละ 5,000 บาท และส่วนที่เกิน 500 เม็ด หากมีปริมาณสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 20% ขั้นไป เงินรางวัลตอบแทนจะตกอยู่ที่เม็ดละ 3 บาท ทั้งนี้รวมแล้วไม่เกิน 1,000,000 บาท
แม้ว่าระบบการให้รางวัลและการลงโทษ จะมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐตั้งใจปฏิบัติงานปราบปรามยาเสพติดอย่างเคร่งครัด และป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่รีดทรัพย์ รับสินบน หรือหาประโยชน์จากขบวนการค้ายาเสพติด ดังที่ทักษิณเคยพูดกับสื่อข่าวว่า
“การให้เงินสามบาทต่อยาบ้าหนึ่งเม็ดที่ยึดมาได้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่กลายเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย แทนที่จะไปขอเงินสินบนจากพวกเดนมนุษย์เหล่านั้น”
แต่ในความจริง ปัญหาการทุจริตในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กลับขยายวงกว้างขึ้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี เช่น การจับกุมโดยไม่มีหลักฐาน การยัดยาเพื่อทำยอดคดีของเจ้าหน้าที่ การใส่ชื่อบุคคลในบัญชีดำโดยไม่มีเหตุผล และการเรียกเอาทรัพย์สินจากผู้ที่อยู่ในบัญชีดำ เพื่อแลกกับการลบชื่อออกจากบัญชี เป็นต้น
นอกจากนี้ การที่บุคคลใดมีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีดำ ย่อมหมายความว่า บุคคลนั้นได้ตกเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการปราบปราม ขณะเดียวกันความรุนแรงไม่ว่าจะลักษณะใดก็ตาม ล้วนถือเป็นการกระทำตามนโยบายที่รัฐได้วางกรอบเอาไว้แต่แรก ตอกย้ำให้ความรุนแรงที่รัฐได้กระทำลงโดยอ้างเรื่องการปราบปรามยาเสพติดมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้นไปอีก
ผลของนโยบายประกาศสงครามยาเสพติดในช่วงสามเดือนแรก ส่งผลให้มีการวิสามัญฆาตกรรมจำนวน 2,275 รายซึ่งรัฐบาลขณะนั้นอ้างว่าเป็นการฆ่าตัดตอนกันเองของกลุ่มขบวนการค้ายา และเป็นการป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากผู้เสียชีวิตต่อสู้ขัดขวางตอนเข้าจับกุม ต่อเนื่องในเดือนตุลาคม 2546 รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยแจ้งต่อกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ว่าจำนวนผู้ที่ถูกฆาตกรรมมีอยู่ 2,593 ราย นับตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน ทำให้อัตราการฆาตกรรมในเมืองไทยอยู่ที่จำนวน 400 รายต่อเดือน และจำนวนหนึ่งยังอยู่ในฐานะเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยหรือผู้บริสุทธิ์ ซึ่งยังต้องได้รับการพิสูจน์ว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ในกระบวนการยุติธรรม
ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดดังกล่าวได้รับการตอบรับและการสนับสนุนที่ดีจากประชาชน จนรัฐบาลทักษิณ นำมาเป็นตัวเรียกคะแนนนิยมจากฐานเสียงที่เดิมมีมากอยู่แล้ว ให้เพิ่มมากขึ้น ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2546 ทักษิณ ประกาศชัยชนะอย่างเป็นทางการว่า
“แม้ยาเสพติดจะยังไม่หมดไปจากประเทศแต่เราสามารถบอกได้ว่าในตอนนี้ ยาเสพติดซึ่งเคยเป็นอันตรายใหญ่หลวงสำหรับประเทศ ไม่สามารถทำร้ายเราได้ต่อไปอีก”
จากนั้นด้วยผลพวงจากนโยบาย ความปลาบปลื้มของประชาชน ตลอดจนระบบการตรวจสอบอำนาจรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเวลาการปราบปราม ได้ถูกผลักไสสู่ความเงียบในที่สุด ทั้งยังมีการหยิบยกวาทกรรมบางอย่างที่อิงอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์และเหตุผลเชิงศีลธรรมมาเป็นเหตุผลรองรับความรุนแรง พร้อมกลบเกลื่อนให้การกระทำที่ผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมโดยปริยาย เช่น ปฏิบัติการพลังแผ่นดิน ปฏิบัติเทิดไท้องค์ราชันย์ หรือการผลิตซ้ำคำขวัญแบบราชาชาตินิยมอย่าง “รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ช่วยกันต้านยาเสพติด” และ “พลังไทย ต้านภัยยาเสพติด” เป็นต้น
แต่คำถามคือการปราบปรามขั้นรุนแรงและเด็ดขาดถึงเพียงนั้น นอกจากสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวชั่วขณะหนึ่ง แต่ทำไมปัญหายาเสพติดจึงยังไม่หมดไปในสังคมไทย
การบริหารจัดการยาเสพติดของไทยปัจจุบัน: เลี้ยงไข้ เลี้ยงความรุนแรง
ข้อมูลด้านสถิติการปราบปรามยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การลักลอบนำเข้าและการแพร่ระบาดของยาเสพติดยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ทั้งในด้านความถี่และปริมาณยาเสพติดที่ลักลอบนำเข้าต่อครั้ง ส่งผลให้มีการจับกุมคดียาเสพติดเป็นจำนวนมาก
ที่สำคัญ ข้อมูลสถิติการจับกุมคดียาเสพติดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปีงบประมาณ พ.ศ 2563 ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่มีการดำเนินคดียาเสพติดมากที่สุดเมื่อเทียบกับปริมาณคดีก่อนหน้านี้ จำนวน 324,552 คดี ผู้ต้องหา 338,560 คน โดยข้อมูลเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า มาตรการปราบปรามยาเสพติดที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่อดีตซึ่งเน้นการวิธีการที่เด็ดขาดของรัฐไทยยังคงไร้ประสิทธิภาพ เพราะความต้องการใช้ยาเสพติดยังคงมีอยู่ และระบบตลาดมืดที่ยาเสพติดหมุนเวียนอยู่ไม่ได้ถูกทำลาย เพียงแต่เกิดการปรับตัวให้อยู่ในที่ลับสายตาของอำนาจรัฐมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ปัจจุบันแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2564 กลับไม่มีความเปลี่ยนแปลงให้ต่างจากเดิมเท่าใดนัก โดยเน้นไปการมองปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติเป็นหลัก และมุ่งยึดทรัพย์ตัดวงจรเครือข่ายยาเสพติด สืบเส้นทางการเงินไปให้ถึงต้นตอ ประกอบกับระบบการให้รางวัล ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้แก้ระเบียบให้รางวัลนำจับขบวนการยาเสพติดของเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้น
ปัญหาคือเมื่อปัญหายาเสพติดถูกมองเพียงมิติด้านความมั่นคงเพียงมิติเดียว โดยปราศจากมิติปัญหาเชิงโครงสร้างด้านอื่นๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การขาดโอกาสในการเข้าถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจ และความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายการพัฒนาที่กีดกันให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ฯลฯ ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดก็ล้วนมีสถานะเสมือนศัตรูของชาติที่จำเป็นต้องถูกกำจัด และไร้หลักประกันสิทธิ จนถึงขนาดไม่หลงเหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พร้อมถูกผลักไสให้ออกจากพื้นที่ความรับผิดชอบทางศีลธรรมและทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม
ภายใต้บริบทดังกล่าวนี้ กลายเป็นเงื่อนไขให้ การรีดทรัพย์ หรือการใช้ความรุนแรงทรมานผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัย เพื่อเอาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
สุดท้าย ผลลัพธ์จากแผนดังกล่าวก็มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ผ่านมา การมุ่งใช้มาตรการปราบปราม นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐฉกฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รีดเอาทรัพย์จากผู้ต้องสงสัยดังที่ปรากฏให้เห็นตามหน้าสื่ออยู่เรื่อย ๆ เช่น กรณี ณ กองบังคับการตำรวจภูธรจันทบุรี ที่มีผู้เสียหายถูกตำรวจ ตชด. จับกุมในคดียาเสพติดและถูกรีดเงินแลกการปล่อยตัวไปจำนวน 4 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น กว่า 130,000 บาท เมื่อเดือนเมษายน 2564 หรือในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด ถูกกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดตราด อุ้มเข้าโรงแรมเพื่อรีดไถเงินจำนวน 1 แสนแลกกับการไม่ดำเนินคดี รวมถึงกรณีล่าสุดของผู้กำกับโจ้ที่ทรมานผู้ต้องหาเพื่อรีดทรัพย์จำนวน 2 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต
จาก ‘ปราบปราม’ สู่ ‘ควบคุม’ หนทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน
ไม่เพียงแต่ในไทย หลายประเทศทั่วโลกที่ใช้นโยบายมุ่งเน้นปราบปรามยาเสพติด ก็ปรากฏเหตุการณ์ความรุนแรงให้เห็นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น เม็กซิโก ฮอนดูรัส และกัวเตมาลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเม็กซิโก ภายใต้การปกครองของอดีตประธานาธิบดี เฟลิปเป กัลเดรอน (Felipe Calderón) มีการรายงานว่า ประชาชนจำนวนกว่า 70,000 คน ถูกสังหาร และสูญหายอีกกว่า 26,000 คน ระหว่างช่วงเวลาที่รัฐบาลได้ประกาศสงครามยาเสพติด เมื่อปี 2013 หรือในฮอนดูรัสมีบันทึกว่า เกิดอัตราการฆาตกรรมต่อจำนวนประชากร 100,000 คนในปี 2012 ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราการก่ออาชญากรรมที่สุดในโลก
การอธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้น งานศึกษาจำนวนหนึ่งได้อ้างถึงกรณีที่ธุรกิจยาเสพติดถูกผลักให้อยู่ในวงจรตลาดมืด โดยอาศัยความเชื่อใจระหว่างผู้มีส่วนได้เสียด้วยกัน และขาดกลไกเชิงสถาบันที่จะเป็นเครื่องมือแก้ไขความขัดแย้ง ส่งผลให้ความรุนแรงถูกนำมาใช้เพื่อจัดการปัญหาในทุกๆ ครั้ง
ภายใต้บริบทสังคมในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาการใช้ การผลิต และการแพร่ระบาดของยาเสพติดยังคงห่างไกลกับคำว่าประสบความสำเร็จ สถานการณ์ที่ผ่านมาตอกย้ำว่านโยบายมุ่งเน้นการปราบปรามนั้นไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแสวงหามาตรการจัดการปัญหายาเสพติดรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการหันไปเน้นนโยบายการควบคุมแทนที่จะเป็นการปราบปราม ซึ่งการควบคุมในที่นี้ หมายถึง การควบคุมห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของยาเสพติด ตั้งแต่การผลิต การทำให้เป็นธุรกิจควบคุม (commercialization) และการใช้ยา โดยแยกความแตกต่างจากชนิดของยา และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ยาและบุคคลที่สาม พร้อมทั้งกีดกันกลุ่มองค์กรอาชญากรรม และตัวละครผิดกฎหมายอื่น ๆ ไม่ให้เข้ามามีส่วนรวมแบ่งปันผลกำไรจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยไม่ชอบ
เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ รัฐจำเป็นต้องแบ่งแยกลักษณะของสิ่งเสพติดตามระดับความอันตราย เพราะสิ่งเสพติดแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกันในหลายมิติ เช่น ความเสี่ยง พฤติกรรมการเสพติด วิธีการรักษา รวมทั้งการอาศัยเครือข่ายทางสังคมและเงินทุนในการเข้าถึงยา เป็นต้น ที่สำคัญนโยบายบริหารจัดการปัญหายาเสพติด ควรพิจารณาบุคคลผู้เสพติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้หายจากอาการเสพติดมากกว่าเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายหรือปัญหาสังคม
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่า การควบคุมยาเสพติด ไม่ได้หมายความถึงการทำให้ยาเสพติดกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่เป็นในเรื่องของการควบคุมธุรกิจยาเสพติด เพื่อลดอำนาจเครือข่ายขององค์กรอาชญากรรม และทำลายตลาดมืด ให้กลายเป็นระบบตลาดที่อยู่ในสายตาของรัฐและสังคม ซึ่งจะช่วยให้ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับขบวนการยาเสพติดได้รับการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ระบบตลาดยาเสพติดที่มีการควบคุม จะทำให้การจัดหาและซื้อขายยาเสพติด ต้องผ่านระบบการขออนุญาตและเห็นชอบด้วยกฎหมายในพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเฉพาะเท่านั้น เช่น การใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ความบันเทิงที่จะไม่นำไปสู่การก่ออาชญากรรม ฯลฯ นอกจากนี้ มาตรการควบคุมสามารถดำเนินไปในรูปแบบที่แตกต่างกันและนำมาซึ่งการควบคุมในระดับต่างๆ อาทิ การต้องอาศัยใบสั่งยาในการจัดซื้อ การสร้างระบบที่รัฐบาลสามารถเป็นฝ่ายจัดหาและเข้าถึงยาเสพติด การสร้างช่องทางให้ผู้ประกอบการเอกชนดำเนินการขอรับใบอนุญาตจากรัฐบาลเพื่อการจัดหาและการจัดจำหน่ายโดยรัฐเป็นฝ่ายควบคุมความปลอดภัย การแยกเอาสมุนไพรพื้นบ้านออกจากการเป็นสิ่งเสพติดพร้อมสร้างกลไกควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น
นอกจากนี้ หากความแออัดและสภาพแวดล้อมอันย่ำแย่ในเรือนจำ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางกระบวนการคืนคนดีสู่สังคมที่รัฐไทยใช้เป็นกรอบการดำเนินคดีลงโทษจำคุกผู้กระทำความผิดมาตลอดหลายปี การเปลี่ยนแปลงนโยบายจัดการยาเสพติด โดยเน้นการควบคุมเป็นหลัก ลดการจับกุมลงโทษ อาจช่วยในการแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุก ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในเรือนจำ และผลักดันให้รัฐสามารถคืนคนดีสู่สังคมเป็นผลสำเร็จได้ในอีกทางหนึ่ง
อ้างอิง
Campero, J. C., et al, From Repression to Regulation: Proposals for Drug Policy Reform, (Bogota: Friedrich-Ebert-Stiftung Regional Security Cooperation Program, 2013)
https://workpointtoday.com/สอบผิดร้ายแรงตำรวจยาเส/
https://www.bbc.com/thai/thailand-39335964
https://www.komchadluek.net/news/458870
https://www.opensocietyfoundations.org/explainers/why-we-need-drug-policy-reform
แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2564, (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, 2564)
ผลการปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศ ประจำปี 2562, (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, 2563)
หลุมศพเท่าไรก็ไม่พอ: สงครามยาเสพติด เอชไอวี/เอดส์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, 8 กรกฎาคม 2547, https://www.hrw.org/sites/default/files/reports/thailand0704thwebwcover.pdf
Tags: Rule of Law, ปัญหายาเสพติด, คดียาเสพติด, นโยบายปราบปรามยาเสพติด, ตำรวจ