‘รัฐธรรมนูญ’ หมายถึง กฎหมายสูงสุดของรัฐที่คอยกำหนดลักษณะของโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบุคคลและสถาบันต่างๆ ในรัฐ กำหนดว่าใครมีสิทธิหน้าที่ทำอะไรบ้าง หรือกำหนดตำแหน่งแห่งที่ว่า ใครจะอยู่ตรงไหนภายใต้โครงสร้างเดียวกัน หรือจะพิจารณารัฐธรรมนูญอย่างที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้อย่างง่ายๆ ว่าเป็นกฎระเบียบที่กำหนดว่า ‘ใครใหญ่กว่าใคร และใหญ่ได้ในเงื่อนไขอะไร’ ซึ่งเมื่อลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรัฐไทยปัจจุบัน เป็นผลพวงจากการกระทำของกลุ่มคนที่ถือกำเนิดมาจากการรัฐประหารปี 2557 จึงส่งผลต่อตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยเหตุเกี่ยวกับที่มาของรัฐธรรมนูญและผลการบังคับใช้ที่ไม่สู้เป็นประชาธิปไตยมากนัก การเคลื่อนไหวผลักดันให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ‘ประชาชน’ จึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ในวาระ 89 ปีนับแต่ที่รัฐไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกและรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปัจจุบันก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง บทความนี้จึงถือโอกาสทำการสำรวจวิบากกรรมและการเดินทางอันทุลักทุเลของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พร้อมสะท้อนให้เห็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจำต้องตกอยู่ในชะตากรรมดังกล่าว

ทบทวนวิธีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2560

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพื้นฐานจะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลักๆ 

ขั้นตอนแรกคือการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและการเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งผู้มีสิทธิเสนอตามมาตรา 256 ได้แก่ 1. คณะรัฐมนตรี 2. ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 3. ส.ส. รวมกับ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 4. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คน

ขั้นตอนสองเป็นขั้นตอนพิจารณา หลังจากที่มีผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสภาพ การพิจารณาของรัฐสภา (ส.ส. กับ ส.ว. ประชุมร่วมกัน) จะแบ่งเป็นสามวาระ ได้แก่ วาระรับหลักการ ซึ่งต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา (375 เสียง) และในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. (84 คน) วาระที่สองเป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือ 376 เสียง แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระที่สาม และในวาระที่สาม ต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา (376 เสียง) โดยในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. (84 คน) รวมทั้งจำต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ หรือ ‘ส.ส. ฝ่ายค้าน’ เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ขั้นตอนที่สามคือขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบ หากมีการแก้ไขเรื่องที่เกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ เหล่านี้ ต้องจัดให้มีการทำประชามติก่อน ถ้าประชามติเห็นชอบ จึงจะประกาศใช้ได้

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถชี้ขาดว่าเรื่องใดแก้ได้หรือไม่ได้ เมื่อ ส.ส. บวก ส.ว. 75 คน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ผู้เสียประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้ในการยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางเรื่อง

จะเห็นว่า จากเงื่อนไขที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และการเปิดช่องให้ผู้ที่อาจเสียผลประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสองสภา โดยที่ต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 และเหตุเพราะเหล่า ส.ว. ทั้ง 250 คน ได้รับการแต่งตั้งคัดเลือกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปัจจัยข้อนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อปิดสวิซต์ ส.ว. ต้องตกอยู่ในวิบากกรรม อีกทั้งย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ออกมาโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เวลานั้น เป็นคนแต่งตั้งมากับมือ ได้นำพาสังคมไทยไปสู่ทางตัน หรือภาวะ ‘Deadlock ทางการเมือง’ อยู่ใน ณ ขณะนี้

วิบากกรรมของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เหตุการณ์ที่บ่งบอกถึงวิบากกรรมของการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ประกอบด้วยเหตุการณ์สองครั้งหลักๆ ดังนี้ เหตุการณ์แรก ในปี 2563 เกิดปรากฏการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ กรณีที่ประชาชนได้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายมากกว่า 100,732 ชื่อ เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ‘iLaw’ เป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนและผลักดันกฎหมาย

ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดย iLaw ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม อยู่ภายใต้เจตนารมณ์ที่มุ่ง ‘รื้อ’ ระบอบอำนาจของ คสช. ‘สร้าง’ หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านหลักการ 5 ยกเลิก 5 แก้ไข เริ่มตั้งแต่การปิดทาง ‘นายกฯ คนนอก’ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงแผนปฏิรูปประเทศ ตลอดจนการเรียกร้องให้เกิดระบบเลือกตั้งท้องถิ่นตามปกติสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ยกเลิกการรับรองให้การกระทำทุกอย่างของ คสช. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วน 5 แก้ไข ประกอบด้วย การแก้ไขให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. และ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน  แก้ไขกระบวนการสรรหาคนในองค์กรตรวจสอบ แก้ไขเปิดทางให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้โดยอาศัยเพียงเสียงของสองสภารวมกัน ไม่บังคับต้องทำประชามติ และสุดท้าย จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ (ย้อนดูรายละเอียดทาง 50,000 ชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ | iLaw.or.th )

แม้จะสามารถรวบรวมรายชื่อได้กว่าแสนชื่อ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 การพิจารณาลงมติของรัฐสภาในวาระแรก เพื่อรับหลักการก่อนเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณา ภาวะ deadlock ทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางหมากเอาไว้ก็ทำพิษทันที เจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนผ่านการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต้องเป็นอันตกไป เนื่องจากเสียงเห็นชอบไม่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่คนไม่กี่คนมีอำนาจเหนือกว่าประชาชนนับแสนคน

– มติเห็นชอบ จำนวน 212 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน 208 เสียง ฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 1 เสียง

– มติไม่เห็นชอบ 138 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรครัฐบาล 60 เสียง ส.ว. 78 เสียง

– มติงดออกเสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรครัฐบาล 213 เสียง ส.ว. 156 เสียง

เหตุการณ์ที่สอง ในช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้มีการประชุมวาระที่หนึ่ง เพื่อพิจารณารับหลักการ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งเป็นฉบับที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และประชาชนกว่า 135,247 เสียง นำเสนอ และมี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้ชี้แจงหลัก โดยมีประเด็นสำคัญคือ การเลิกวุฒิสภา (ส.ว.) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร

ไม่เกินกว่าความคาดหมายของประชาชน ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องถูกตีตกไป เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและองค์ประกอบต่างๆ ในที่ประชุมได้วางเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้เอาไว้อยู่แล้วตั้งแต่แรก และเป็นไปได้ยากที่ ส.ว. ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกับประชาธิปไตยและประชาชน จะยอมลงมติรับหลักการ เพื่อสละสถานะอำนาจเดิมที่มีอยู่ ทั้งนี้ การลงมติครั้งนี้มีการออกเสียงไม่รับหลักการชัดเจนมากกว่า 473 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้ ประกอบด้วย ส.ส. 249 เสียง และ ส.ว. 224 เสียง

การคัดง้างกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม และการปะทะกับสถานะดั้งเดิมของรัฐไทย

       คำถามที่น่าสนใจคือ นอกจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ยังมีเหตุปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ ที่ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญดูเป็นเรื่องยากลำบากและห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่เรื่อยๆ

ปัจจัยแรกอาจเกี่ยวโยงกับเรื่องที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยนำเสนอไว้เมื่อนานแล้ว กล่าวคือ นิธิเห็นว่ารัฐไทยและสังคมไทยถูกกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดย ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย’ ที่ดำรงอยู่เป็นวัฒนธรรมการเมือง และก่อตัวโดยอาศัยประสบการณ์ของสังคมเป็นเวลานับศตวรรษ ส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีวันถูกฉีกลงง่ายๆ อย่างกรณีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่มักขัดกับกฎเกณฑ์ในฉบับวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา จนไร้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์

ลักษณะของสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมก็มีความแตกต่างจากฉบับลายลักษณ์อักษรอย่างสิ้นเชิง และการกระทำใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสถานะความมั่นคงของสถาบันต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมได้มอบความศักดิ์สิทธิ์ และมีสถานะอยู่เหนือกฎหมาย การกระทำที่ส่งผลต่อ ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ ดังกล่าวจะถูกถือให้เป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง ทว่าในทางกลับกัน พึงสังเกตว่าแม้การรัฐประหารที่จะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางกฎหมายอย่างชัดแจ้ง หากไม่ส่งผลสะเทือนต่อความศักดิ์สิทธิ์ ก็กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และมีให้เห็นอยู่เสมอ เพราะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

การถ่วงดุลอำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไม่ได้แบ่งอำนาจเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่เป็นการคานอำนาจตามระบบกฎหมายด้วย ‘อิทธิพล’ ซึ่งเป็นอำนาจนอกกฎหมาย ขนาบข้างกับ ‘ศีลธรรม’ ดังนั้นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ต่อให้เป็นอำนาจตามกฎหมายหรือสิทธิในรัฐธรรมนูญก็ตาม อาจถูกคัดง้างโดยอิทธิพลของกองทัพ ทุน บรรษัท ฯลฯ ที่เสวยผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมมาตลอด รวมถึงอาจถูกกำกับควบคุมโดยเหตุผลทางศีลธรรมแบบหน้าไหว้หลังหลอก เพื่อพยุงรักษาความเป็นรัฐไทยแบบดั้งเดิมเอาไว้

สิ่งเลวร้ายกว่านั้นคือ ทุกวันนี้ รัฐไทย ตามรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ไม่มีอิทธิพลที่คอยคานอำนาจไว้ และอำนาจก็ไม่ได้คานอิทธิพล แต่กลับกลายเป็นว่าอิทธิพลจากกองทัพ บรรษัท ทุน ได้ควบรวมเอาอำนาจมาไว้ด้วยกันอย่างเบ็ดเสร็จผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยมีตัวแสดงแทนเป็นเหล่าวุฒิสภาทั้งหลาย และรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่สมัย คสช. การปะทะกับอำนาจรัฐ ณ ปัจจุบัน ผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงหมายถึงการปะทะทั้งอำนาจและอิทธิพลในเวลาเดียวกัน ซึ่งยากที่ผู้ไร้อำนาจและอิทธิพลอย่างประชาชนจะเข้าต่อกรได้

ปัจจัยที่สอง จะต้องพิจารณาถึงลักษณะเด่นของความขัดแย้งในสังคมไทย กล่าวคือ นานมาแล้วที่รัฐไทยต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดจากการปะทะกันระหว่างระเบียบทางสังคมแบบดั้งเดิม (status quo) กับสังคมแบบใหม่เสมอมา

ระเบียบทางสังคมแบบดั้งเดิมจะอยู่ในรูปของความสัมพันธ์ทางสังคมแบบแนวดิ่งหรือแบบชนชั้น ลดหลั่นกันตามยศถาบรรดาศักดิ์และบุญญาบารมีแต่ชาติปางก่อน ผู้อยู่บนจุดสูงสุดของโครงสร้างความสัมพันธ์ก็คือผู้มีบุญสูงสุด และควรค่าแก่การเป็นผู้ปกครอง หรือแต่งตั้งให้ใครก็ได้เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองแทน ส่วนสังคมแบบใหม่ที่เข้ามาปะทะ เป็นรูปแบบความสัมพันธ์แนวระนาบ และทุกคนมีศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย การเกิดขึ้นของรัฐต้องมาจากการถ่ายโอนอำนาจและความชอบธรรมจากล่างขึ้นบนคือ ประชาชนเป็นผู้มอบอำนาจให้แก่ผู้ปกครอง เพื่อมาปกป้องคุ้มครองประชาชนอีกที

ระเบียบทั้งสองรูปแบบเป็นคู่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจนและยากที่จะประนีประนอมได้ การปล่อยให้ระเบียบสังคมใหม่เข้ามาแทนที่ระเบียบแบบดั้งเดิมผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เท่ากับว่าผู้ที่เคยแสวงหาผลประโยชน์จากระบอบชนชั้นอาจต้องสูญเสียสถานะที่เหนือกว่า เพื่อมาอยู่ภายใต้กฎหมายในระนาบเดียวกับกลุ่มคนตนเคยกดขี่มาตลอด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นอกจากจะเข้ากันได้ดีกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังมีส่วนช่วยพยุงให้ระเบียบความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบดั้งเดิมดำรงต่อไปได้

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ‘เป็นไปได้ยาก’ ไม่ได้หมายถึง ‘เป็นไปไม่ได้’

แม้จะดูเป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่ถึงกับต้องสิ้นหวัง เพราะวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว แต่เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การต่อสู้เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ใช่เพียงการช่วงชิงการกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจขึ้นใหม่ตามกลไกของสถาบัน แต่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรม ในการช่วงชิงการนิยามความเป็นรัฐไทยเสียใหม่ ให้มาแทนที่ความเป็นรัฐไทยที่ชนชั้นนำเดิมเคยสถาปนาเอาไว้

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยและระเบียบทางสังคมแบบดั้งเดิมกำลังถูกท้าทายโดยยุคสมัยและกาลเวลาอย่างต่อเนื่อง การพยายามรักษาทั้งสองอย่างไว้ ก็ไม่ต่างจากการว่ายทวนกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกราก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประชาธิปไตยกำลังกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักในสังคม พื้นที่การต่อสู้ช่วงชิงความหมายต่อสิ่งต่างๆ และการเมืองวัฒนธรรม ก่อเกิดเป็นพื้นที่หลักของผู้คนที่เข้าไปแหวกว่าย ฟัดเหวี่ยงกับ ‘ความหมายเดิมๆ’ ที่ล้าหลัง และไม่รู้จักปรับตัว

เมื่อไม่รู้จักปรับตัว สิ่งเหล่านั้นย่อมฝืนต่อธรรมชาติความเปลี่ยนแปลง ซึ่งนานวันไปก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ และพอไม่เป็นธรรมชาติ ก็คงต้องพังทลายไปตามกาลเวลาโดยไม่อาจเลี่ยงได้

ทั้งนี้ ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะฉบับลายลักษณ์อักษรหรือฉบับวัฒนธรรม รัฐธรรมนูญที่จะถูกนำมาบังคับใช้ควรเกิดจากกระบวนการที่สะท้อนให้เห็นถึงการมี ‘สัญญาประชาคม’ (social contract) ในฐานะสัญญาสมมติที่ประชาชนยินยอมพร้อมใจกัน สละอำนาจอธิปไตยบางส่วนของตน เพื่อก่อตั้งรัฐขึ้น และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้รัฐบังคับกฎหมายปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากรัฐละเมิดสิทธิผิดหน้าที่ดังกล่าว ประชาชนย่อมมีสิทธิต่อต้านอำนาจและเรียกกลับคืนซึ่งอำนาจที่คอยมอบให้ เพื่อนำไปสู่กระบวนการสร้างสังคมการเมืองขึ้นมาใหม่

 

เอกสารอ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์, รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย, ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม รัฐ และรูปการณ์จิตสำนึก, พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563, 114-143.

มาร์ค ศักซาร์, สังคมไทยในวังวนแห่งวิกฤตเปลี่ยนผ่าน, แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์, สฤณี อาชวานันทกุล, ธร ปีติดล, ภูมิ น้ำวล และฐณฐ จินดานนท์, กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส, 2557.

https://50000con.ilaw.or.th/

https://www.prachachat.net/politics/news-803981

https://www.bangkokbiznews.com/politics/972513

https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/politics/481477/

Tags: , , ,