จากกรณี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกประกาศฉบับใหม่เรื่อง ‘การขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมการชุมนุมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ เพื่อยกเลิกประกาศฉบับเก่าเรื่อง ‘การจัดกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ วันที่ 19 ส.ค. 2563’ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 และมติสภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ 10/2551 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2551เพื่อระบุให้มีเงื่อนไขในการจัดกิจกรรมชุมนุมไว้ในประกาศ โดยมีสาระสำคัญ คือ

1. ชุมนุมโดยสันติ ปราศจากอาวุธ ไม่ใช้กำลัง และเป็นกิจกรรมที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการนำไปสู่ความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น และต้องไม่มีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่นักศึกษา นักเรียน และผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมการชุมนุม กรณีเกิดการชำรุดเสียหาย ให้ผู้ทำการยื่นขอใช้พื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบ

2. ไม่พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

3. ไม่เป็นการขัดขวางการใช้พื้นที่ของบุคคลอื่นเกินสมควร

4. ไม่ทำการบุกรุกหรือทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

5. ให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมชุมนุม

6. การแสดงออกของผู้ร่วมกิจกรรมการชุมนุม ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

7. การแสดงออกของผู้เข้าร่วมชุมนุมต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ การแสดงออกที่ขัดต่อกฎหมาย ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล

เมื่อพิจารณาเงื่อนไขดังกล่าว เราอาจไม่ทันได้สังเกตว่ามันจะมีปัญหาอย่างไร อาจจะเป็นเพราะเรามีความเคยชินกับการกระทำในลักษณะเช่นนี้โดยมหาวิทยาลัยหลายครั้ง แต่เมื่อเราลองย้อนมองดูว่าสิ่งนี้เป็นประกาศที่มีเงื่อนไขที่กำหนดโดยมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานศึกษา ซึ่งโดยปกติแล้วมีหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่สำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนางานวิชาการ การแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนนี้ย่อมต้องมาพร้อมกับการรวมกลุ่มอยู่แล้ว แต่สถานศึกษากลับออกประกาศที่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพในแสดงออกในเวลาเดียวกัน ทั้งยังมีเนื้อหาประกาศที่จำกัดการพูดถึง และแสดงความเห็นในเชิงประเด็นด้วย1

การออกประกาศของมหาวิทยาลัยฉบับนี้ มีเนื้อหาที่สามารถตีความกว้างไปจนเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย ในแง่ของการกำหนดเชิงพื้นที่และเวลา ส่งผลในเชิงกำหนดพฤติกรรมและตำแหน่งแห่งที่ของสิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และการแสดงความเห็นของนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย

เราอาจอยู่ในสังคมที่ออกกฎเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อบังคับใช้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการจัดการกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หรือเพื่อการอยู่ร่วมกัน ซึ่งอาจเรียกง่ายๆ ว่า ‘การปกครอง’ ในสังคมกันอย่างเคยชิน โดยที่ไม่ทันได้สังเกตว่าความจริงแล้ว ในสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจ คือ มีบางฝ่ายถือครองอำนาจนำในสังคม ใช้อำนาจของตนในการกำหนดกฎเกณฑ์ (โดยที่กฎเกณฑ์นั้นไม่ได้เกิดจากการตกลงร่วมกันของคนในสังคม) บังคับใช้เพื่อกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมนั้น เป็นเรื่องที่เห็นจะไม่ปกติในสังคมที่เรียกตนเองว่ามีความเชื่อและยึดถือหลักประชาธิปไตย

ในแง่ของประกาศมหาวิทยาลัยที่ประกาศใช้กับนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ผู้เขียนเองจึงเชื่อว่าความไม่ปกตินี้ทำให้หลายฝ่ายต้องออกมาตั้งคำถามต่อความชอบธรรม และบทบาทของประกาศฉบับนี้ในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะในแง่ของสังคมวิทยา มานุษยวิทยา กฎหมาย หรือการวิเคราะห์ตั้งคำถามทางวิชาการในแง่อื่นๆ ต่างกันไป หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามในแง่ของการนำประกาศดังกล่าวมาใช้ในทางปฏิบัติจริง ยิ่งตอกย้ำความไม่ปกติและผิดแปลกไปจากครรลองของสังคมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกัน เมื่อผู้เขียนพิจารณาประกาศฉบับนี้ และสิ่งที่พยายามชี้ให้เห็นถึงลักษณะของการสถาปนาตนเองเป็นกฎระเบียบควบคุมพฤติกรรม และอาจรวมไปถึงระดับความคิดความเชื่อของนักศึกษาและบุคลากรในมหาลัยแล้ว ทำให้ผู้เขียนเองก็อดไม่ได้ที่จะทดลองนำประกาศดังกล่าวมามองผ่านแนวความคิดเกี่ยวกับอำนาจและวาทกรรมของ มิแช็ล ฟูโกต์ อาจทำให้เราสามารถวิเคราะห์ประกาศของมหาวิทยาลัยฉบับนี้ได้ในฐานะเครื่องมือแห่งอำนาจได้

มองประกาศมหาวิทยาลัยผ่านแนวคิด ‘อำนาจ’ ของมิแช็ล ฟูโกต์

มิแช็ล ฟูโกต์ (Paul-Michel Foucault: 1926-1984) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญผู้หนึ่งในความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาและวิชาการในประเทศฝรั่งเศส ที่เรียกอย่างกว้างๆ ว่าโครงสร้างนิยม (Lestructuralisme) ในช่วง 3 ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 จวบจนปัจจุบัน บทบาททางวิชาการของเขาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในระดับสากลอย่างใหญ่หลวง 

ฟูโกต์ มักได้รับกล่าวถึงว่าเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญความเป็นชายขอบสังคม (la marginalité sociale) โดยจะเห็นได้จากหัวข้อเนื้อหาหนังสือหลายเล่มของเขา เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับคนจิตวิปลาส คนป่วย อาชญากร การจองจำ วิถีทางเพศ ฯลฯ โดยที่ความจริงแล้ว การศึกษาไม่ได้ต้องการเน้นไปที่ปรากฏการณ์ชายขอบโดยตรง แต่การศึกษาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การเปิดเผยกลไกการทำงานของสิ่งที่เป็นกระแสหลักของสังคม ผ่านวิธีการสาธิตให้เห็นอย่างละเอียดว่า ในสังคมสมัยใหม่ที่มักอิงอยู่กับหลักการของความเป็นเหตุเป็นผล ระเบียบวินัย และประโยชน์สุข สิ่งเหล่านี้ได้สร้างตัวตนขึ้นโดยอาศัยปฏิบัติการอื่นๆ กลบเกลื่อน และปฏิบัติการดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นปฏิบัติการเชิงอำนาจ แต่ปรากฏออกมาในรูปของการทำตามหลักวิชาเกือบทั้งสิ้น2

ดังนั้น แทนที่ ฟูโกต์ จะวิเคราะห์อำนาจที่มีความเป็นนามธรรมสูงและไม่สามารถจับต้องได้ เขาได้หันมาวิเคราะห์ในเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (Power Relations) และการใช้อำนาจ (The Exercise of Power) หรือการปฏิบัติการจริงของอำนาจแทน วิธีการของอำนาจตามแนวคิดของ ฟูโกต์ นั้น โดยเบื้องต้นแล้วต้องผ่านการควบคุมร่างกายก่อน เช่น การฝึกทหาร การสอนนักเรียนของครู หรือแม้แต่ระบบของโรงงาน เป็นต้น โดยเป็นแนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถควบคุมได้ด้วยรูปแบบของโครงสร้าง จากนั้นเมื่อมนุษย์เป็นผู้ยินยอมอยู่ภายใต้อำนาจ ถึงแม้จะรับรู้ถึงอำนาจที่มาบังคับให้ตนเองเป็นไปเช่นนั้น แต่ยินยอมให้ร่างกายที่อำนาจเข้าไปเชิดชักเป็นร่างกายที่พร้อมถูกฝึกให้ก่อเกิดผลผลิต ไม่ใช่ร่างกายที่ดำเนินไปตามกลไกที่เป็นเหตุผล 

ในฐานะของระเบียบวินัยที่ถูกสร้างตามที่ฟูโกต์เสนอไว้ ระเบียบวินัยเป็นแนวความคิดอันเกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ได้ก่อกำเนิดขึ้นเป็นเทคนิคนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพียงเพื่อเพิ่มทักษะของร่างกาย หรือเพียงเพื่อให้ร่างกายถูกควบคุมได้มากขึ้นเท่านั้น แต่เป็นเทคนิคแห่งการก่อรูปความสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ที่ประโยชน์แปรผันตามการเชื่อฟังการควบคุมของร่างกาย กล่าวคือยิ่งร่างกายเชื่อฟังการควบคุมได้มากเท่าใดก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ได้มากตามด้วย3

เมื่อพิจารณาประกาศของมหาวิทยาลัยกับเรื่องการสร้างอำนาจใหม่ผ่าน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (Power Relations) และการใช้อำนาจ (The Exercise of Power) ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นในทางที่ผู้เขียนและผู้อ่านเห็นว่าการสร้างอำนาจเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ก็ตาม การทดลองวิเคราะห์นี้อาจทำให้เห็นได้แต่เพียงกลไกในการสร้างการใช้อำนาจภายในสถานศึกษาของคณะผู้บริหารมหาลัยเท่านั้น ไม่ใช่การตีความว่าสิ่งใดผิดถูกหรือไม่ โดยเราอาจนำแนวคิดของ ฟูโกต์ มาวิเคราะห์ได้บางประเด็น เพราะลักษณะของเงื่อนไขในประกาศไม่สามารถตามแนวคิดของ ฟูโกต์ ได้ทั้งหมด

การสร้างวัฒนธรรมการขออนุญาต โดยการสร้างระบบการขออนุญาตให้ราวกับเป็นเงื่อนไขเด็ดขาดในการรวมตัวของนักศึกษา หากไม่ขออนุญาตก็ไม่สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจการของนักศึกษา หรือบุคลากรภายในบริเวณมหาลัยได้ ทั้งที่โดยปกติธรรมชาติของมนุษย์ หรือจะให้แคบไปกว่านั้น กิจกรรมภายในสถานศึกษาพึงทำได้โดยเสรีอยู่แล้ว โดยทำให้การสร้างข้อจำกัดดูมีความชอบธรรมขึ้นจากข้ออ้างเรื่องการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณมหาวิทยาลัย การสร้างวาทกรรมเรื่องหน้าที่ของการรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อกำหนดพฤติกรรมของนักศึกษาหรือบุคลากรของมหาลัยในการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะต้องคำถึงความสงบเรียบร้อยตามนิยามของมหาวิทยาลัย (ที่ไม่ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจน) ในทุกขั้นตอนของการวางแผนกิจกรรม และด้วยเหตุนี้เองเมื่อมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขเรื่องความสงบเรียบร้อยของการจัดกิจกรรมการชุมนุมขึ้น มหาลัยจึงมีความชอบธรรมในการรักษากฎเกณฑ์ดังกล่าว และพิจารณาว่าจะอนุญาตกิจกรรมหนึ่งๆ ให้เกิดขึ้นภายในมหาลัยได้หรือไม่

เราอาจวิเคราะห์ ‘การขออนุญาตเพื่อความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณมหาวิทยาลัย’ ผ่านทัศนะของ ฟูโกต์ ได้ว่า มหาวิทยาลัยพยายามทำให้นักศึกษาหรือบุคลากรให้อยู่ในฐานะที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดกิจกรรมการชุมนุมให้มีความสงบเรียบร้อยด้วยตนเองได้ จึงจำเป็นจะต้องให้มหาวิทยาลัยเข้ามากำกับควบคุมเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยของการชุมนุมด้วยระบบขออนุญาต 

ทั้งนี้ ระบบอนุญาตยังส่งเสริมให้มหาลัยสามารถใช้อำนาจขยายไปถึงการตีความกระทบต่อขีดจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออกในเชิงเนื้อหาอีกด้วย4 ทั้งที่ความโดยหลักแล้วกฎหมายให้อำนาจอธิการฯ ในการบริหารมหาวิทยาลัย ไม่ใช่รักษากฎหมายและนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ไม่มีหน้าที่ในการวินิจฉัยการกระทำผิดตามกฎหมาย5

มากไปกว่านั้น เรายังอาจเห็นการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารของมหาลัยต่อนักศึกษาและบุคลากรมหาลัย โดยการสร้างเงื่อนไขการจำกัดการใช้งานพื้นที่ในมหาวิทยาลัยโดยการกำหนดพื้นที่ในและเวลาที่จะสามารถจัดกิจกรรมการชุมนุมได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ใช้การจัดการพื้นที่และเวลาโดยการใช้พื้นที่และเวลาแบบราชการเข้ามาจำกัดควบคุมการจัดกิจกรรม6 โดยจะเห็นได้จากการทำงานเป็นเวลาแบบราชการของพนักงานมหาวิทยาลัย การขออนุญาตที่จะต้องรอเวลาเปิด-ปิดทำการตามเวลาราชการ การอ้างวันหยุดทำงานตามวันหยุดราชการของพนักงานมหาลัยบางส่วน ซึ่งจำเป็นต่อการอำนวยความสะดวกของกิจกรรมชุมนุม การเปิด-ปิดสถานที่ใช้สอยภายในมหาวิทยาลัยตามเวลาราชการ การหวงห้ามพื้นที่บางพื้นที่ในมหาลัยด้วยเหตุผลทางราชการ

ดังนั้นแล้วจะเห็นว่า การสร้างอำนาจของผู้ถือครองอำนาจนำในแต่ละสถาบันมหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างและใช้อำนาจลักษณะที่กดขี่และแข็งที่หรือมอมเมาอีกต่อไป แต่อาศัยการสร้างบรรทัดฐาน (la normalisation) ที่สร้างขึ้นเพื่อควบคุม

“ด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ ตามหลักแห่งเสรีภาพทางวิชาการ โดยยึดมั่นในสัจธรรมและคุณธรรม เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ การประยุกต์ เผยแพร่ และการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม จึงตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ และความรับผิดชอบต่อการชุมนุมภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย”

ประโยคที่กล่าวมาเป็นคำโปรยในประกาศมหาวิทยาลัยในการสร้างความตระหนักของมหาลัย ที่ราวกับว่าจะเป็นจุดประกายความชอบธรรมของมหาลัยในการสร้างระเบียบวินัย (la discipline) อุปกรณ์สำคัญของอำนาจในอันที่จะกำกับนักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยให้อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกัน

อ้างอิง

1ประชาไท,“มช. ออกกฎชุมนุมฉบับใหม่ ห้าม ‘แตะต้อง’ สถาบันกษัตริย์ ‘สมชาย’ ระบุ ขัดรัฐธรรมนูญ,” https://prachatai.com/journal/2023/07/104852

2บทวิจารณ์หนังสือ : Book Reviews ร่างกายใต้บงการปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่, Journal of Graduate MCU KhonKaen Campus Vol. 7 No. 4 October – December 2020

3ร่างกายใต้บงการปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่, Author: Michel Foucault, แปล: ทองกร โภคธรรม

4ไม่พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม (ประกาศข้อ 2)

5กฤษณ์พชร โสมณวัตร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานเสวนา “ประกาศชุมนุมขยุ้มหัวใจ” ที่จัดขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคม 66

6กนกวรรณ สมศิริวรางกูล อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานเสวนา “ประกาศชุมนุมขยุ้มหัวใจ” ที่จัดขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคม 66

Tags: , , ,