เนื่องในวาระเฉลิมฉลอง Pride Month ในเดือนมิถุนายนนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้น เพื่อตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเพศ รวมทั้งเคารพซึ่งความหลากหลายทางเพศที่สวยงามและแข็งแกร่ง เฉกเช่นธงหกสีที่ปลิวไสวให้เราได้เห็นบ่อยๆ 

แม้เทรนด์ของไพรด์ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก แต่ยังมีข้อจำกัดหนึ่งสำหรับกลุ่มเกย์หรือไบเซ็กชวลชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศสภาพเดียวกัน (Men who have sex with men: MSM) นั่นคือ ‘การบริจาคโลหิต’ ที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ไม่รู้จบ โดยเฉพาะในเมืองไทย ไม่ว่าใครที่เคยไปบริจาคเลือดคงเคยเห็นข้อความในแบบสอบถามคัดกรองก่อนที่จะบริจาคเลือด ซึ่งกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับการปฏิเสธการรับเลือดของผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ด้วยคำถามที่ว่า ‘ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ (ตอบเฉพาะชาย)’ 

เหตุผลของการปฏิเสธการรับเลือดจากกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงของโรคติดต่ออย่างเอชไอวีหรือไวรัสตับอักเสบบีมากกว่าประชากรทั่วไป ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงปฏิเสธการบริจาคเลือดของกลุ่มเพศหลากหลาย โดยเป็นข้อกำหนดที่ระบุไว้ว่า ‘ไม่รับบริจาคโลหิตอย่างถาวร’ ข้อความนี้ปรากฏบนอยู่เว็บไซต์ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย

ข้อห้ามการบริจาคเลือดของกลุ่มเกย์หรือไบเซ็กชวลนั้น เมื่อย้อนไปถึงต้นเหตุก็เนื่องมาจากความเสี่ยงจากการถ่ายเลือดจากบุคคลที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ได้อุบัติขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 หากนับดูก็เป็นเวลาผ่านไปกว่า 40 ปีแล้ว แม้ปัจจุบัน ทั้งความหลากหลายของมนุษย์ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่นำพาความเจ็บป่วยของมนุษย์ให้อันตรธานหายไป และทำให้มนุษย์มีอายุที่ยืนยาวขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต แต่หลักเกณฑ์การปฏิเสธการรับบริจาคเลือดที่เกิดจากโรคติดต่อเมื่อ 40 ปีก่อนนี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เท่าทันบริบทปัจจุบัน 

แม้ว่าหลักเกณฑ์การบริจาคเลือดจะผ่อนปรนไปแล้วบ้างในบางประเทศ เนื่องจากสถานการณ์วิฤตจากการขาดแคลนเลือด แต่เมื่อใดจะถึงวันที่การบริจาคเลือดโดยไม่มีเรื่องของเพศวิถีมาเกี่ยวข้อง จะกลายเป็นหลักการพื้นฐานที่ใช้ในทั่วโลก

สถานการณ์การขาดแคลนเลือด vs กฎระเบียบสากลที่ถูกแช่แข็งมา 40 ปี

ในสถานการณ์ปัจจุบัน คลังเลือดของสภากาชาดไทยยังคงขาดแคลนเลือดจำนวนมาก และอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องใช้เลือดเพื่อการรักษาพยาบาล ซ้ำร้าย ในสถานการณ์โควิด-19 สต็อกเลือดทุกกรุ๊ปล้วนอยู่ในจุดที่วิกฤตทั่วประเทศ 

จากข้อมูลของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย วันที่ 13 มิถุนายน 2564 พบว่า กรุ๊ปเลือดเอมีปริมาณเลือดในคลังเพียง 3,885 ยูนิต ขณะที่ความต้องการต่อเดือนอยู่ที่ 12,200 ยูนิต ในหมู่กรุ๊ปเลือดโอและบีที่มีความต้องการมากที่สุด ก็ขาดแคลนในระดับที่น่าเป็นกังวลมาก อย่างกรุ๊ปโอนั้นมีความต้องการสูงถึง 24,400 ยูนิตต่อเดือน ขณะที่โลหิตที่ได้รับมีเพียง 7,068 ยูนิตเท่านั้น ไม่ต้องพูดถึง ‘หมู่เลือดพิเศษ/หมู่เลือดหายาก’ ที่กว่าจะได้รับบริจาคมานั้นยากลำบากหลายเท่าตัว

ปัญหาการขาดแคลนเลือดสำรองเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ความต้องการเลือดมีอยู่ทุกๆ 2 วินาที คลังเลือดอยู่ในระดับอันตราย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บสะสมเลือดไว้ให้มากที่สุด ถึงแม้ว่าสภากาชาดสากลจะได้ผ่อนปรนกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริจาคเลือดในกลุ่มเพศหลากหลาย โดยกลุ่ม MSM มีการกำหนดระยะเวลาให้ ‘งด’ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการบริจาคเลือด ตั้งแต่ 3 เดือนถึง 1 ปี แล้วแต่ประเทศ หรือไม่อนุญาตเลยในบางประเทศ 

คำถามสำคัญคือ ทำไมความสามารถในการบริจาคเลือดของกลุ่มเกย์และไบเซ็กชวลจะต้องถูกจำกัดสิทธิอย่างมากมาย เพียงเพราะข้อติดขัดเรื่องกฎสากล ทั้งที่ในความเป็นจริง บุคคลทุกเพศล้วนเป็นผู้มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น

ความพยายามในยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม MSM ในการบริจาคเลือด

แม้การแพทย์ในปัจจุบันก้าวล้ำไปไกลมาก การคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แม้อยู่ในช่วงเวลาของ ‘Window period’ หรือช่วงเวลาที่ได้รับเชื้อมาแล้วแต่ยังตรวจไม่พบเชื้อ โดยความเสี่ยงจากการถ่ายเลือดเกิดขึ้นเพียง 1 ใน 2 ล้านคนเท่านั้น และแม้กาชาดสากลได้ผ่อนปรนการให้เลือดได้ในกลุ่ม MSM เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเลือด แต่ในทางปฏิบัติ การบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM ในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์สูง ก็ยังมีข้อถกเถียงและยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ 

ในสหรัฐฯ การบริจาคเลือดถูกระบุไว้ในนโยบายของสภากาชาดแห่งสหรัฐอเมริกา (American Red Cross) ว่า ความปลอดภัยของอาสาสมัครผู้บริจาคเลือดคือสิ่งสำคัญที่สุด โดยเชื่อว่าความสามารถในการบริจาคเลือดจะต้องไม่ถูกจำกัดเนื่องด้วยรสนิยมทางเพศ และสภากาชาดฯ พร้อมเข้าใจในเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศสภาพและเพศวิถี โดยสภากาชาดแห่งสหรัฐฯ ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้บริจาคเลือดโดยเฉพาะว่า ให้เว้นระยะห่างไว้ 3 เดือนก่อนบริจาคเลือด สำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น (ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงนโยบายให้ระยะเวลาการ ‘งด’ มีเพศสัมพันธ์ก่อนบริจาคเลือดสั้นขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19) สภากาชาดสหรัฐฯ กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพและพฤติกรรมของชุมชน LGBTQ+ ด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อประเมินความเสี่ยงสำหรับการบริจาคในการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM โดยปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม MSM นี้อยู่ เนื่องจากความเสี่ยงที่ว่านั้นย่อมเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน

ขณะที่ในแคนาดากำลังเป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของรัฐบาลฝ่ายเสรีนิยมเกี่ยวกับการออกกฎหมายเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติการปฏิเสธการรับบริจาคเลือด แม้ว่า จัสติน ทรูโด (Justin Trudo) นายกรัฐมนตรีแคนาดา จะเคยสัญญาไว้ตั้งแต่ปี 2020 ว่า การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบจะต้องหมดไปในเร็ววัน แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างยังคงคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 

สถานการณ์การบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM ในแคนาดา แม้ว่าจะได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตั้งแต่ปี 2019 เกี่ยวกับการลดระยะเวลาที่กลุ่ม MSM สามารถบริจาคเลือดได้หากมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป เช่นเดียวกับสหรัฐฯ แต่ในทางปฏิบัติ การบริจาคเลือดโดยกลุ่มชายเหล่านี้ยังถูกจำกัดด้วยเหตุผลมากมายอันเนื่องมาจากรสนิยมทางเพศ แม้ในงานศึกษาเก็บข้อมูลจะพบว่า จากสถิติของหน่วยงานด้านสุขภาพแห่งชาติพบการติดเชื้อเอชไอวีจากการถ่ายเลือดเพียง 1 ใน 21.4 ล้านเท่านั้น ซึ่งประเทศแคนาดายังประกาศตัวว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกในการถ่ายเลือดให้ผู้ป่วย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 คริสโตเฟอร์ คาราส (Christopher Karas) นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ได้ปักหมุดหมายสำคัญในการต่อสู้เรื่องการเลือกปฏิบัติการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM ในคดีที่คาราสได้ฟ้องร้องหน่วยงานด้านสุขภาพของแคนาดา (Health Canada) เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เนื่องจากเขาเคยถูกปฏิเสธในบริจาคเลือดถึงแม้จะมีใบรับรองว่ามีผลเลือดเป็นลบต่อเชื้อเอชไอวี โดยหน่วยงานด้านสุขภาพแห่งแคนาดาอ้างว่าไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรับบริจาคเลือด แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่โดยตรงคือ หน่วยบริการทางโลหิตแห่งแคนาดา (Canadian blood service) ในการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีการที่ปลอดภัยสำหรับการบริจาคเลือด 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว หน่วยงานด้านสุขภาพคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในการ ‘กำหนดมาตรฐานการบริจาคเลือด เช่น ขณะที่ประเทศแคนาดาได้กำหนดการลดระยะของการมีกิจกรรมทางเพศเป็นเวลา 3 เดือนก่อนบริจาคเลือดตั้งแต่ปี 2019 แต่ในทางปฏิบัติ หน่วยงานบริการสุขภาพแห่งแคนาดาได้ให้ ‘คำแนะนำ’ ว่าควรชะลอไว้ 2 ปี สำหรับการรับบริจาคเลือดจากกลุ่ม MSM ระหว่างที่รอนโยบายเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนว่าหน่วยบริการทางโลหิตแห่งแคนาดาก็ทำตาม ‘คำแนะนำ’ นั้น 

ในที่สุด หลังจากการต่อสู้มาอย่างยาวนาน 5 ปี ในเดือนมิถุนายน 2021 ศาลสหพันธรัฐแคนาดาได้ยกคำร้องที่เป็นข้อกล่าวอ้างของหน่วยงานสุขภาพของแคนาดาที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องว่า ‘ฟังไม่ขึ้น’ ก่อนยกคำร้องไป ถือเป็นความเคลื่อนไหวก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของต่อสู้เพื่อสิทธิในการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM ที่ต้องติดตามกันต่อไป 

New Normal การบริจาคเลือดของ MSM ในอังกฤษ

ที่มา: The Economist

หากมองในแผนภาพก็จะเห็นข้อมูลการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM จากนานาประเทศ แต่มีความคืบหน้าใหม่ในประเทศอังกฤษ ที่ข้อจำกัดเรื่องการเว้นระยะเวลาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการบริจาคเลือดสำหรับ MSM ไม่มีอีกต่อไปแล้ว หลังจากได้มีการผ่อนปรนการบริจาคเลือดของ MSM เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ การคัดกรองการบริจาคจะมีเพียงคำถามที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศครั้งล่าสุดหรือพฤติกรรมทางเพศเท่านั้น โดยไม่มีเรื่องของเพศวิถี (Sexual Orientation) เข้ามาเกี่ยวข้อง กลุ่ม MSM ที่ไม่มีการเปลี่ยนคู่นอนหรือผู้ที่มีความสัมพันธ์ระยะยาวสามารถบริจาคเลือดได้ง่ายขึ้น แม้คำถามเกี่ยวกับการคัดกรองเพื่อบริจาคเลือดจะมีอยู่ แต่ก็เป็นแบบคัดกรองที่ทุกคนไม่ว่าเพศวิถีใดก็จะถูกถามในชุดคำถามเดียวกัน 

และเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2021 ถือเป็นนิมิตหมายอันดีต่อการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM ในอังกฤษ โดยออสการ์และฮาเวียร์เป็นคู่รักเกย์คู่แรกของอังกฤษที่สามารถบริจาคเลือดได้ หลังจากข้อจำกัดเดิมถูกยกเลิกไป เพราะก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักรได้กำหนดระยะเวลาการมีเพศสัมพันธ์ของ MSM ก่อนบริจาคเลือดไว้ 3 เดือน ซึ่งคาดการณ์ว่ากฎดังกล่าวจะได้บังคับใช้ต่อไปในไอร์แลนด์เหนือและเวลส์ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ 

โดยออสการ์และฮาเวียร์ได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไว้ว่ารู้สึก ‘ภาคภูมิใจและตื่นเต้นมาก’ ขณะที่ชายอีกคนคือ เวย์น บราวน์ (Wayne Brown) ก็กำลังจะได้บริจาคเลือดในอีกไม่ช้าเช่นกัน เขาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “รู้สึกตื่นเต้นที่ต่อไปนี้จะสามารถบริจาคเลือดได้โดยปราศจากคำถามที่ชวนให้อึดอัดใจ” บราวน์เป็นเกย์ชาวอังกฤษที่ต้องรอนานกว่า 35 ปี กว่าจะบริจาคเลือดได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาพยายามรักษาสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารและแร่ธาตุที่สำคัญต่อการให้เลือดอย่างธาตุเหล็ก แต่ก็ถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยเหตุผลว่าเขาเป็นเกย์ และมีเพศสัมพันธ์กับชายคู่รักที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแล้วกว่า 22 ปี

ระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา นับจากครั้งแรกที่ได้มีการออกกฎเกณฑ์จำกัดการให้เลือดของคนบางกลุ่ม ซึ่งตอนนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์และวิวัฒนาการของมนุษย์เดินหน้าไปไกลมากแล้ว ความหลากหลายทางเพศหรือรสนิยมทางเพศไม่ควรเป็นเหตุผลในปฏิเสธไม่ให้บริจาคเลือด เมื่อทุกคนไม่ว่าหน้าไหนล้วนเป็นผู้มีความเสี่ยงได้ทั้งนั้น 

ความเสี่ยงที่แท้จริงนั้นมาจากพฤติกรรมของปัจเจกที่นำพาตนเองไปสู่ความเสี่ยงโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี เหตุผลเรื่องความปลอดภัยที่ยังต้องมีอยู่สำหรับการบริจาคเลือด ควรมีควบคู่ไปพร้อมกับการยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ และขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าจะได้ให้ความเปลี่ยนแปลงในเร็ววันนี้

 

อ้างอิง

https://blooddonationthai.com/?page_id=745

https://www.menshealth.com/health/a35877353/gay-men-blood-donation-eligibility/?fbclid=IwAR23b0LS1ZN28pLepmZs_Z0zpch-DMFe_uPComGvVS-5CeFWETKkGaUVzUA

https://www.ctvnews.ca/politics/trudeau-has-promised-for-years-to-end-the-blood-ban-why-hasn-t-it-happened-yet-1.5441541

Redcrossblood.org

https://www.blood.ca/en/blood/am-i-eligible/men-who-have-sex-men

https://www.cbc.ca/news/politics/blood-ban-health-canada-federal-court-1.6064676?fbclid=IwAR2udDIiek15ZpsxOaMf23wu578sryxnUGwzoLUr9Wb5SArtgXcx8ElvPWM

 https://www.bbc.com/news/av/uk-57469036

https://www.bbc.com/news/av/uk-england-oxfordshire-57441747

Tags: , , , , , , ,