บทความนี้จะสำรวจคำอธิบายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เหล่านักเรียนกฎหมายและนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในประเทศไทย จะต้องเรียนรู้และท่องจำตามแบบฉบับการเรียนรู้ในวิชากฎหมายอาญาภาคความผิด
หาก ‘ความรู้ คือ อำนาจ’ การทราบและทำความเข้าใจถึงองค์ความรู้ที่ถูกนำมาอธิบายและเผยแพร่ในแวดวงนิติศาสตร์ ย่อมสะท้อนถึงวัฒนธรรมทางกฎหมายบางประการที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย และลักษณะหน้าตาของอำนาจที่อยู่เหนือบทบัญญัติกฎหมายได้
ตำรากฎหมายอาญาที่หยิบมาสำรวจ ประกอบไปด้วยตำรากฎหมายอาญาภาคความผิดของ หยุด แสงอุทัย, คณิต ณ นคร และทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งล้วนเป็นตำรายอดนิยมที่นักเรียนต้องมีไว้เพื่ออ่านทบทวนความรู้ และเพื่อให้ตัวเองอุ่นใจ (ตำราที่ได้รับความนิยมอีกเล่มหนึ่ง คือของเกียรติจร วัจนะสวัสดิ์ แต่ไม่ได้หยิบยกมาเนื่องจากไม่ได้อธิบายความผิดมาตรา 112 ไว้อย่างชัดเจน)
มาตรา 112 ในตำราของ ‘หยุด แสงอุทัย’
ตำรากฎหมายของหยุด แสงอุทัย ถือเป็นเล่มที่มีความเก่าแก่และเป็นต้นแบบให้ตำราเล่มหลัง ๆ นำไปต่อยอดเพิ่มเติม ซึ่งคำอธิบายบทบัญญัติมาตรา 112 เริ่มต้นด้วยการแยกองค์ประกอบความผิดภายนอกให้เห็นว่าต้องมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อวัตถุแห่งการกระทำที่หมายถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และถ้าผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดว่ากระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อใคร ไม่ว่าจะประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ก็ถือได้ว่าบุคคลนั้นมีเจตนากระทำความผิด
ตามหลักการพื้นฐานของกฎหมาย หากว่าข้อเท็จจริงหรือการกระทำใดไม่เข้ากับองค์ประกอบความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติ ก็ไม่ถือว่าผู้กระทำได้กระทำความผิด
คำอธิบายคำว่า ‘หมิ่นประมาท’ ให้มีความหมายเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 326 คือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันประการจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ส่วนคำว่า ‘ดูหมิ่น’ คือการแสดงกิริยาวาจาดูถูกเหยียดหยาม
หยุด แสงอุทัย ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่าการไม่แสดงความเคารพคารวะตามที่ควร ยังไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น แต่ก็ดูเหมือนว่าคำอธิบายตรงนี้ จะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วในสถานการณ์การเมืองสมัยใหม่ และด้านคำว่า ‘แสดงความอาฆาตมาดร้าย’ นั้นหมายถึงการแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำจริงตามที่ขู่หรือไม่ก็ตาม
แม้จะมีคำอธิบายแต่ละองค์ประกอบก็ยังมีปัญหา ชวนให้สงสัยต่อว่า ตำรวจ อัยการและผู้พิพากษา ที่ต้องมารับผิดชอบคดีที่เกี่ยวเนื่องกับบทบัญญัติมาตรา 112 จะมีบรรทัดฐานการตีความและทำความเข้าใจสถานการณ์ไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เพราะถ้อยคำที่อยู่ในบทบัญญัติและคำอธิบายก็ยังคงมีความหมายที่กว้าง และอาจปรับใช้ข้อกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันจนไร้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่มีการนำบทกฎหมายนี้ มาเป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
มาตรา 112 ในตำราของ ‘คณิต ณ นคร’
คณิต ณ นคร ขึ้นชื่อว่าเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญามากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ แต่ทว่าคำอธิบายบทบัญญัติกฎหมายมาตรา 112 ของ คณิตนั้นกับคัดลอกคำอธิบายของหยุด แสงอุทัย มาทั้งหมด และไม่มีความแตกต่างกัน
การอธิบายเริ่มด้วยการแยกองค์ประกอบความผิด และให้ความหมายต่อถ้อยคำที่เป็นองค์ประกอบความผิดภายนอกของกฎหมายในลักษณะเดียวกัน เว้นแต่คำอธิบายองค์ประกอบความผิดภายในที่คณิต เน้นย้ำว่าการที่จะถือว่าผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิด ผู้กระทำต้องรู้ว่าผู้ถูกกระทำ เป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และผู้กระทำรู้หรือควรรู้ว่าการกระทำของตนนั้นเข้าข่ายการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาตร้าย
นอกเหนือจากนี้แล้ว ไม่มีการให้คำอธิบายลงลึกไปในรายละเอียด หรือแนวทางการจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างพิจารณาคดีแต่อย่างใด
มาตรา 112 ในตำราของ ‘ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ’
ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ถือเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายอาญาที่มีผู้เรียนกฎหมายใช้ตำรามากที่สุดอีกคนหนึ่ง ในการอธิบายบทบัญญัติมาตรา 112 นอกจากจะอธิบายแยกองค์ประกอบความผิดเหมือนกับสองตำราข้างต้น ทวีเกียรติยังพยายามอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า บทบัญญัติมาตรานี้ได้รวมเอาหมิ่นประมาทและดูหมิ่นไว้ด้วยกัน
การอธิบายคำว่า ‘การหมิ่นประมาท’ ยังคงอิงความหมายตามมาตรา 326 ทว่าผู้กระทำจะไม่สามารถกล่าวข้อแก้ตัวตามมาตรา 329 ได้ กล่าวคือ จะอ้างเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมไม่ได้ ซึ่งทวีเกียรติอธิบายว่าเพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่พึงเคารพสักการะ ย่อมอยู่เหนือการติชมใด ๆ ทั้งสิ้น พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันนี้เช่นกัน
สำหรับทวีเกียรติ การกระทำทั้งดูหมิ่นและหมิ่นประมาทตามบทบัญญัติมาตรานี้ ไม่ว่าจะได้กระทำต่อหน้าหรือลับหลังก็เป็นความผิดได้ทั้งสิ้น
องค์ความรู้ไม่ชัดเจน คำอธิบายแบบฉาบฉวย สู่การบังคับใช้กฎหมายที่เกินขอบเขต
คำอธิบายในตำรากฎหมายถือเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสถาบันกฎหมายที่ส่งผลต่อรูปแบบความคิด แนวทางการตีความ และลักษณะการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อสำรวจองค์ความรู้ที่ถูกนำมาไว้ในตำรา จะพบว่าการอธิบายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเพียงคำอธิบายสั้นๆ ไม่ได้มีการลงลึกไปในรายละเอียดถึงหลักการตีความหรือการบังคับใช้อย่างที่ควรจะเป็น เหมือนกับคำอธิบายบทบัญญัติกฎหมายมาตราอื่นๆ
มาตรา 112 จึงมักถูกอธิบายอย่างฉาบฉวย เพียงแต่แยกองค์ประกอบความผิดทั้งภายนอกและภายในให้เห็นเป็นส่วนๆ เพื่อให้ง่ายต่อการท่องจำของนักเรียนกฎหมาย พร้อมทั้งยังมีการสอดแทรกความคิดเห็นที่แฝงนัยทางการเมืองและอุดมการณ์ของผู้แต่งตำราเอาไว้ด้วย
เมื่อไม่ได้มีการสถาปนาองค์ความรู้ไว้ชัดเจน และไม่มีการพยายามทำให้กฎหมายต้องถูกตีความให้สอดคล้องกับคุณค่าของเสรีภาพในแสดงออก ตามบริบทพื้นฐานแห่งการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีส่วนก่อให้เกิดวัฒนธรรมทางกฎหมายที่คอยกำกับลักษณะการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ที่ไร้หลักการและเกินขอบเขต จนนำไปสู่การละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในนามของกฎหมายตลอดมา
เอกสารอ้างอิง
หยุด แสงอุทัย, หนังสือกฎหมายอาญา ภาค 2-3, บรรณาธิการโดย ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, พิมพ์ครั้งที่ 11 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556)
คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญา ภาคความผิด, พิมพ์ครั้งที่ 11. (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2559)
ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิดและลหุโทษ, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2548)
Tags: Laws, การเมืองไทย, Politics, มาตรา 112, ม.112, กฎหมายไทย, นิติศาสตร์, ประมวลอาญามาตรา112, การเมือง