การเกิดขึ้น (อีกครั้ง) ของกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘คดี 112’ แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของประชาชนต่อมาตรฐานการใช้กฎหมายของผู้รักษากฎหมายเป็นอย่างมาก
และแน่นอนว่าความไม่พอใจเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งข้อครหาต่อความเป็นกลางของสถาบันตุลาการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้สถาบันตุลาการได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาคดีโดยไม่ถูกแทรกแซง และการปฏิบัติหน้าที่ ‘อย่างเป็นกลาง โดยปราศจากอคติ’ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้พิพากษาทุกคนยึดถือ
แต่ความโกรธแค้นของประชาชนต่อการไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 ในครั้งนี้ อาจเป็นตัวสะท้อนให้เห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นกลางและอคติ’ สำหรับประชาชนและผู้พิพากษานั้นอาจไม่ใช่ความเข้าใจที่ตรงกัน
บทความชิ้นนี้พยายามทำความเข้าใจว่า ‘อคติ’ สำหรับผู้พิพากษาและสถาบันตุลาการหน้าตาเป็นเช่นไร ในคดี 112 มีสิ่งใดบ้างที่ถูกพิจารณาว่าเป็นอคติ และสิ่งใดบ้างที่ไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นอคติแต่กลับนำมาซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากประชาชน
อคติสี่ประการ
การตัดสินอย่าง ‘ถูกต้องและเป็นธรรม’ เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งที่ถูกยอมรับโดยทั่วกันว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษานั้นควรมี ระบบกฎหมายจึงต้องทำให้เกิดหลักประกันว่าผู้พิพากษาจะพิจารณาตัดสินคดีอย่างเป็นไปโดยอิสระ ขณะเดียวกันผู้พิพากษาก็ต้องวางตัวให้เป็นกลางเพื่อไม่ให้ถูกเคลือบแคลงสงสัยได้
ดังนั้น แม้จะเป็นปุถุชนคนธรรมดา ซึ่งย่อมมีความรัก โลภ โกรธ และหลง แต่ผู้พิพากษาจะต้องให้ความสำคัญกับการขัดเกลาจิตใจตนเองให้ปราศจากอคติ เพื่อป้องกันการแทรกแซงที่อาจเกิดจากภายในจิตใจได้
ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 3 กำหนดไว้ว่า “ในการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาจักต้องวางตนเป็นกลางและปราศจากอคติ ทั้งพึงสำรวมตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ แต่งกายให้เรียบร้อย ใช้วาจาสุภาพ ฟังความจากคู่ความและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างตั้งใจ ให้ความเสมอภาคและมีเมตตาธรรม”
ที่เรียกว่า “ปราศจากอคติ”1 นั้น ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการอธิบายไว้ว่าหมายถึง ‘อคติสี่’ ได้แก่ ฉันทาคติ (อคติเพราะรัก) โทสาคติ (อคติเพราะโกรธ) โมหาคติ (อคติเพราะหลง) และ ภยาคติ (อคติเพราะกลัว) ซึ่งอคติทั้งสี่ประการนี้เป็นอุปสรรคสำคัญซึ่งทำให้การวินิจฉัยอรรถคดีปราศจากความเที่ยงธรรม
และในคำอธิบายฯ ยังพบการตีความคำว่าอคติให้กว้างออกไป โดย “…มิใช่มีอคติเพียงต่อตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่ความ ทนายความ หรือพยานเท่านั้น หากแต่ยังเป็นอคติต่อข้อคิดเห็น ทีท่า ความเชื่อ และประเพณีบางเรื่อง หรือต่อความผิดประเภทใดประเภทหนึ่ง2…”
ที่สำคัญ สถาบันตุลาการยังตระหนักดีว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีนั้น ไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมาธรรมดาๆ อย่างเรื่องสองบวกสี่ หรือเรื่องที่เห็นดำเห็นแดงกันง่ายๆ แต่หากเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน…”3
ถึงแม้ว่า ‘อคติ’ จะเป็นสิ่งที่สุดแสนจะนามธรรม จับต้องได้ยาก แต่คำอธิบายในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการก็พยายามที่จะให้ผู้เหล่าบรรดาผู้พิพากษาเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่าอคติซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการพิจารณาคดี
อคติเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ต่อบทบาทหน้าที่ของผู้พิพากษาอย่างแน่แท้ และอคติไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่ความคิดในด้านลบ เช่นความรู้สึกโกรธ เกลียด หรือกลัว เพียงเท่านั้น แต่ความคิดในด้านบวกก็นำมาซึ่งอคติได้เช่นกัน ดังเช่น ฉันทาคติอันหมายถึงการลำเอียงเพราะรัก นอกจากนี้ อคติไม่เกิดขึ้นเฉพาะแต่กับบุคคลเท่านั้น แต่ยังอาจเกิดกับอุดมการณ์ ความคิดความเชื่อในรูปแบบต่างๆ
ในพระปรมาภิไธย-ในนามพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ การพิจารณาคดีอย่างเป็นกลางและปราศจากอคติยังถูกกำหนดให้เป็น ‘คำสำคัญ’ ในคำปฏิญาณตน ซึ่งว่าที่ผู้พิพากษาจะต้องให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามคำปฏิญาณนี้อย่างเคร่งครัด
มาตรา 191 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปีพุทธศักราช 2560 กำหนดไว้ว่า ก่อนปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาจะต้องปฏิญาณตนต่อหน้าพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคําดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายทุกประการ”
แต่จะเห็นได้ว่าไม่เพียงคุณค่าของการ ‘พิจารณาคดีอย่างเป็นกลางและปราศจากอคติ’ เท่านั้นที่ผู้พิพากษาพึงยึดถือ การเป็น ‘ผู้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์’ ก็ถูกเน้นย้ำว่ามีความสำคัญต่อการเป็นผู้พิพากษาเช่นเดียวกัน
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ถ้อยคำที่ว่า ‘ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย’ แม้จะเป็นถ้อยคำที่เรามักคุ้นหู แต่ถ้อยคำนี้มีความหมายเช่นไร ไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัดนัก
เมื่อเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยขณะที่ยังคงธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ พระมหากษัตริย์ย่อมถูกจำกัดอำนาจลงภายใต้กติกาที่มีชื่อว่ารัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจที่เคยเป็นของพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวได้ถูกแยกออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐเป็นเพียงผู้ใช้อำนาจทั้งสามนี้แต่เพียงในนามเท่านั้น และไม่อาจมีความเกี่ยวข้องกันในทางปฏิบัติได้ ทั้งนี้ เพื่อรักษา ‘สถานะเหนือการเมือง’ และหลัก ‘King can do no wrong’ ของสถาบันกษัตริย์เอง
หากพิจารณาตามคำอธิบายเช่นนี้ การปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยจึงควรจะเป็นถ้อยคำที่มีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบยุติธรรมสมัยใหม่ ที่ผู้พิพากษาและพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันในทางปฏิบัติแต่อย่างใด และผู้พิพากษาไม่สามารถจะเป็นตัวแทนขององค์พระมหากษัตริย์ในการพิจารณาตัดสินคดีได้
อย่างไรก็ตาม สถาบันตุลาการอาจไม่ได้ยึดถือคำอธิบายของการปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยในลักษณะนี้อย่างเคร่งครัด ในหลายครั้งเราอาจเห็นได้ว่าสถาบันตุลาการพยายามจะยึดโยงตนเองเข้าหาสถาบันกษัตริย์ ผ่านการสร้างความแนบแน่นระหว่างสองสถาบัน
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันตุลาการกับสถาบันกษัตริย์ ถูกก่อร่างขึ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2500 ผ่านการสร้างกิจกรรมต่างๆ เช่น การรื้อฟื้นบทบาทกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ การกราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีร่วมงานงานสโมสรสันนิบาตบัณฑิตเนติบัณฑิตย์ การเริ่มประเพณีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สอบไล่เนติบัณฑิตย์ หรือการเขียนประวัติศาสตร์กฎหมายโดยที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นผู้มีบทบาทนำ ฯลฯ4
และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองสถาบันเช่นนี้ อาจมีส่วนที่ทำให้ความเข้าใจในเส้นแบ่งของ ‘ผู้พิพากษาเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์’ และ ‘ผู้พิพากษาเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ’ นั้นพร่ามัว
ในพระปรมาภิไธยหรือในนามพระเจ้าอยู่หัวจึงดูเหมือนจะเป็น ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ สำหรับผู้พิพากษาและสถาบันตุลาการ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเป็นผู้จงรักภักดีจะถูกทำให้สำคัญสำหรับผู้พิพากษา พอๆ กับการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติทั้งปวง
อย่างไรก็ตาม คุณค่าทั้งสองนี้ไม่เคยถูกถกเถียงอย่างจริงจัง ว่าเอาเข้าจริงแล้วหลักคุณค่าใดที่สำคัญไปกว่ากัน
ทั้งนี้ ก็เพราะว่าที่ผ่านมาผู้พิพากษาและสถาบันตุลาการสามารถดำรงคุณค่าทั้งสองประการนี้ไปพร้อมๆ กันได้เป็นอย่างดี
หรือความจงรักภักดีจะแปรเปลี่ยนเป็นฉันทาคติ
การดำรงคุณค่าทั้งสองประการไปพร้อมๆ กันอาจเริ่มยากขึ้น เมื่อเป็นการพิจารณาคดี 112 ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งถูกกล่าวหาว่า ‘ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ’ ขณะที่ตัวผู้ตัดสินข้อพิพาทเป็นบุคคลซึ่งนิยามตนเองว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
แน่นอนว่าย่อมเกิดข้อสงสัยในเบื้องต้นถึงความเป็นกลางในการพิจารณาคดี เพราะความจงรักภักดีย่อมต้องเป็นความรู้สึก ‘รัก’ และความรักก็ย่อมสามารถจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ฉันทาคติ’ ได้ตามคำอธิบายในประมวลจริยธรรมตุลาการ
แต่ข้อสงสัยถึงความไม่เป็นกลางในเบื้องต้นอาจถูกคลายลง หากผู้พิพากษาได้พิจารณาตัดสินคดีอย่างตรงไปตรงมา อธิบายได้ด้วยเหตุและผล ด้วยหลักวิชานิติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันการพิจารณาตัดสินคดีอย่างไม่ตรงตามหลักวิชานิติศาสตร์ ย่อมทำให้เกิดข้อกังขาถึงสิ่งที่เรียกว่าความถูกต้องและเป็นธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความไม่พอใจต่อการไม่ให้ประกันตัวของผู้ต้องหาคดี 112 จึงอาจเกิดจากความเคลือบแคลงสงสัยว่าความจงรักภักดีของผู้พิพากษาได้กลายร่างเป็นฉันทาคติหรือไม่
อ้างอิง
1 ภาคผนวก 7 ประมวลจริยธรรมตุลาการ ใน แสวง บุญเฉลิมวิภาส และคณะ, รวมคำบรรยาย หลักวิชาชีพนักกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ 8 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2552).
2 เรื่องเดียวกัน
3 เรื่องเดียวกัน
4 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม กฤษณ์พชร โสมณวัตร, การประกอบสร้างอำนาจตุลาการไทยในสังคมสมัยใหม่ (วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2562).
Tags: มาตรา 112, Rule of Law, หยุดยืนขัง