ตีหนึ่งของวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรการเด็ดขาด ด้วยการออกประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ เฉพาะจุด ณ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดภาคใต้ ประกาศดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า รัฐมองไม่เห็นหัวประชาชน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs จำนวนมากก็ไม่ต่างจากเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เนื่องจากคำสั่งห้ามนั่งกินอาหารในร้านอย่างกะทันหัน อาจทำให้วัตถุดิบที่สั่งเข้ามาสต็อกไว้นั้นเน่าเสียไปโดยเปล่าประโยชน์  เพราะไม่สามารถขายได้ทัน 

เมื่อความอดทนของมนุษย์มีจำกัด และผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระอย่างเดียวดายโดยไร้การเยียวยาจากภาครัฐได้อีกต่อไป จึงเกิดแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม จากกลุ่มผู้ประกอบการ ที่เรียกร้องให้บรรดาร้านอาหารแสดงอารยะขัดขืนต่อมาตรการดังกล่าว 

เรามีสิทธิฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่?

คำถามดังกล่าว ถือเป็นคำถามที่ขัดต่อสามัญสำนึกของนักกฎหมายและนักเรียนกฎหมายอย่างรุนแรง ตำราเรียนกฎหมายส่วนใหญ่มักพร่ำสอนกันมาว่า กฎหมายเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง และคือสิ่งที่มนุษย์ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมหนึ่งๆ จำต้องปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มิฉะนั้น สังคมอาจเกิดความสับสนวุ่นวาย เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น และหากบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะต้องได้รับบทลงโทษต่อไป

ทว่าคำถามที่น่าสนใจคือ  หากเรากำลังเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมและความไม่ถูกต้องจากการใช้อำนาจของรัฐ ฝ่ายประชาชนต้องจำยอมปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง หรือก้มหัวให้กับความอยุติธรรมดังกล่าวเสมอไปหรือไม่? 

เมื่อพิจารณาถึงความหมายของสิทธิในปัจจุบัน อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ สิทธิที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย (Legal Rights) นัยของสิทธิประเภทแรกนี้ ถือว่าสิ่งที่ถูกจัดว่าเป็นสิทธิโดยถูกต้องนั้นจำเป็นต้องได้รับการรับรองโดยกฎหมายเสียก่อน และมีเพียงสิทธิตามกฎหมายเท่านั้นที่จะเป็นหลักของการอ้างอิงรวมถึงการได้รับความคุ้มครอง ส่วนสิทธิประเภทที่สอง อธิบายว่านอกเหนือจากสิทธิตามกฎหมายแล้ว มนุษย์ยังผูกพันกับกฎเกณฑ์บางอย่าง เช่น จารีต แนวปฏิบัติ คุณค่า ศีลธรรม และหลักความสมเหตุสมผลที่ไม่อิงกับบทกฎหมาย ด้วยการอ้างอิงถึงสิทธิประเภทหลังนี้เอง ย่อมนำไปสู่กการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐที่มีผลบังคับใช้อยู่ ณ ขณะนั้น

การใช้สิทธิประเภทที่สอง ปรากฏให้เห็นผ่านการกระทำที่เรียกว่า อารยะขัดขืน (civil disobedience / หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า การดื้อแพ่งต่อกฎหมาย) ของผู้อยู่ใต้การปกครอง ซึ่งหมายถึงการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยสันติวิธี เป็นการกระทำในเชิงศีลธรรม เป็นการประท้วง ต่อต้านหรือคัดค้านคำสั่งและกฎหมายของผู้มีอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม ทั้งยังเป็นลักษณะของการต่อต้านการใช้อำนาจรัฐที่ประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้อง 

การอารยะขัดขืน แม้จะถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายของรัฐ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ถือเป็นการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำตามความเชื่อหรือมโนธรรม ในฐานะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีความยุติธรรมกว่า

ข้อสังเกตคือปรากฏการณ์อารยะขัดขืนล้วนแฝงด้วยความขัดแย้ง หรือการปะทะกันระหว่างกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของรัฐ กับกฎเกณฑ์อื่นที่ประชาชนเห็นว่าถูกต้องยิ่งกว่า อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า ที่มาของความถูกต้องชอบธรรมในสังคม ไม่ได้มาจากบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น

อารยะขัดขืนกับอาชญากรรม

เบื้องต้นปฏิเสธไม่ได้ว่า การอารยะขัดขืน และการก่ออาชญากรรม ต่างเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อบทบัญญัติกฎหมายหรือคำสั่งของรัฐเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม หากพินิจถึงหลักของอารยะขัดขืนอย่างถี่ถ้วน ก็จะพบว่า อารยะขัดขืนแตกต่างจากอาชญากรรมโดยทั่วไป ดังนี้

หนึ่ง อารยะขัดขืนเป็นการกระทำบนกรอบคิด มโนสำนึก และการใช้เหตุผลว่า กฎหมายหรือคำสั่งที่ตราขึ้นนั้นปราศจากความยุติธรรม หากประชาชนต้องปฏิบัติตาม จะเป็นเหตุให้ความอยุติธรรมแพร่หลายมากขึ้น อารยะขัดขืนของประชาชนจึงเป็นการปฏิเสธพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายซึ่งบุคคลนั้นๆ เห็นว่าอยุติธรรม จึงไม่ควรปฏิบัติตามด้วยความละโลบโลภมากหรือประโยชน์ส่วนตน

สอง อารยะขัดขืนเป็นการกระทำที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายหรือนโยบายของรัฐ ให้เป็นไปในทิศทางที่เชื่อว่าถูกต้องสอดคล้องกับความยุติธรรม การฝ่าฝืนกฎหมายจึงเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวนโยบายนั้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจเป็นการระงับกฎหมายเจ้าปัญหานั้นไว้ไม่ให้มีผลบังคับ ขณะที่การก่ออาชญากรรม ผู้กระทำย่อมมิได้มีความคาดหวังว่าจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อเนื้อหาของกฎหมายแต่อย่างใด

สาม สืบเนื่องจากข้อสอง นั่นหมายความว่า อารยะขัดขืนต้องกระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ (public act) ใช้แนวทางที่ปราศจากความรุนแรง หรือสันติวิธี (non-violence) เมื่อไรก็ตามที่ปฏิบัติการต่อต้านอำนาจของตน ทำให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อ เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ย่อมทำให้การกระทำเหล่านั้นมีลักษณะเป็นอาชญากรรม

สุดท้าย หลักเกณฑ์สำคัญที่จะทำให้อารยะขัดขืนแตกต่างจากการก่ออาชญากรรมคือ ผู้กระทำอารยะขัดขืน ต้องไม่เกรงกลัวต่อการจับกุมและการถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยไม่หลบหนี เพื่อรักษาให้ระบบกฎหมายทั้งระบบยังคงมีผลอยู่ต่อไป เพราะถ้าหากว่าผู้กระทำได้กระทำความผิดกฎหมาย แต่กลับไม่เผชิญหน้า หลีกเลี่ยงความรับผิด อาจเท่ากับเป็นการทำลายระบบกฎหมาย และส่งผลลัพธ์ไม่ต่างจากอาชญากรรม

การทำงานและข้อจำกัดของอารยะขัดขืน

อารยะขัดขืน ถือเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ประชาชนนำไปใช้ตอบโต้ หรือต่อต้านอำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งในแง่ของการสื่อสารกับสังคมและการส่ง ‘สาร’ ไปยังสาธารณะ เพื่อให้รับรู้ถึงข้อเรียกร้อง ความไม่เป็นธรรมและปัญหาอื่นๆ ที่ตนหรือฝ่ายของตนเผชิญจากการกระทำของรัฐ จนนำไปสู่การก่อตั้งแนวร่วมที่กว้างขวางยิ่งขึ้น  รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่แพร่หลาย ซึ่งสร้างแรงกดดันให้ทางภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์หรือนโยบายของตนในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ดี จากหลักเกณฑ์ในข้างต้นทำให้เห็นว่า การอารยะขัดขืนเป็นกระบวนการต่อสู้ที่ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้นอย่างสูงของผู้กระทำและใช้เวลาที่ยาวนาน จนอาจฝืนธรรมชาติของมนุษย์ในหลายด้าน โดยเฉพาะการไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐที่อาศัยวิธีการสกปรกต่างๆ พยายามยั่วยุกลั่นแกล้ง ให้เกิดความรุนแรงจากฝ่ายต่อต้าน 

นอกจากนี้ อารยะขัดขืนยังมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวกฎหมายหรือนโยบายอันเป็นผลมาจากแรงกดดันภายใต้กระบวนการอารยะขัดขืนของประชาชน แต่ไม่ได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงในระดับทัศนคติ หรือความเชื่อของเหล่าผู้มีอำนาจ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบให้ตระหนักถึงชีวิตประชาชนและความอยุติธรรมแต่อย่างใด

อีกด้านหนึ่ง อารยะขัดขืนจะเป็นสิ่งที่ส่งผลลัพธ์ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้หรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองและบริบททางสังคมนั้นๆ เป็นสำคัญ  กล่าวคือหากประชาชนเห็นว่ารัฐมีการใช้อำนาจในลักษณะไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ปกครองครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยม อยู่ภายใต้โครงสร้างระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เจ้าหน้าที่รัฐพร้อมใช้อำนาจปราบปรามและใช้ความรุนแรงต่อจัดการประชาชนได้ตลอดเวลาโดยไม่มีความรับผิด การใช้วิธีการโดยสันติ อารยะขัดขืนของประชาชน เพื่อสื่อสารกับสังคมและกดดันรัฐ ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก

ขณะเดียวกัน ในรัฐที่มีระบบกฎหมาย ซึ่งถือเอากฎหมายลายลักษณ์อักษรและคำสั่งของผู้มีอำนาจเป็นที่มาของกฎหมาย การที่ประชาชนอ้างสิทธินอกเหนือจากสิทธิตามกฎหมาย ดังเช่น สิทธิตามธรรมชาติ หรือการกล่าวถึงความยุติธรรม ความเป็นธรรม ฯลฯ อาจต้องประสบกับปัญหาที่ว่า สิ่งเหล่านี้ มีเนื้อหาอย่างไรบ้าง และจะเข้าถึงเนื้อหาหรือพิสูจน์ให้เห็นถึงสิทธิต่างๆ นี้อย่างเป็นประจักษ์โดยวิธีการหรือกระบวนการลักษณะใด

อุปสรรคมีไว้ให้ฝ่าฟัน

มาตรการล็อกดาวน์โดยปราศจากการเยียวยาครั้งล่าสุดของรัฐบาล สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพ และความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในภารกิจเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่รัฐบาลกลับผลักภาระไปยังภาคประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในการต่อสู้กับนโยบายและคำสั่งล็อกดาวน์ของรัฐ 

สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การเผยแพร่แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่ตนต้องเผชิญต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่าย (network) ในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบด้วยกัน นอกจากนี้การส่ง ‘สาร’ ไปถึงสาธารณชนยังช่วยสร้างแรงกดดันให้รัฐต้องทบทวนการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว และหันไปมุ่งจัดการปัญหาผ่านมาตรการอื่นๆ เช่น การจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ การเร่งระดมฉีดวัคซีนประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การปะทะกับอำนาจรัฐและกฎหมาย ล้วนส่งผลทำให้ฝ่ายผู้เคลื่อนไหวด้วยวิธีอารยะขัดขืนอาจต้องถูกดำเนินคดี และต้องแบกรับต้นทุนเพิ่ม ด้วยเหตุนี้ การสร้างเครือข่ายจึงจำเป็นต้องดำเนินควบคุมกับการระดมทุน หรือจัดตั้งกองทุน เพื่อใช้สำหรับการรับมือกับคดีความที่เกิดขึ้นจากการต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ หรือปฏิบัติการอารยะขัดขืนในครั้งนี้

แม้ระบอบการเมืองจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการต่อต้าน แต่หากทุกคนในสังคมมีความตระหนักดีว่า ความอยุติธรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือผู้ประกอบการก็ตาม ถือเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน ย่อมเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึก ความเห็นอกเห็นใจกัน ถือเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่และการเมืองระบอบประชาธิปไตยในวันข้างหน้าได้

ท้ายสุด ตราบใดที่ประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นรัฐและความเป็นชาติ หากว่ารัฐดำเนินมาตรการต่างๆ โดยไม่เห็นหัวประชาชน ผู้ปกครองย่อมตกอยู่ในวิกฤตการณ์ความชอบธรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน

 

เอกสารอ้างอิง

จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2532). 

ยีน ชาร์ป, อำนาจและยุทธิวิธีไร้ความรุนแรง, แปลโดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสันต์ หุตะแพทย์. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2529).

ศุภชัย ศุภผล, ปรัชญาการเมืองเบื้องต้น, พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2564).

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล, นิติศาสตร์นอกคอก, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2548).

https://www.crf-usa.org/black-history-month/gandhi-and-civil-disobedience 

https://www.crf-usa.org/black-history-month/thoreau-and-civil-disobedience

https://www.facebook.com/onenews31/posts/4415887498499691

https://www.facebook.com/SanookNews/posts/4882189381826543

Tags: , , ,