ผู้นำที่เคยครองอำนาจสูงสุดและยาวนานของประเทศซิมบับเว เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 95 ปี
เอมเมอร์สัน มนันกักวา (Emmerson Mnangawa) ประธานาธิบดีคนใหม่ผู้สืบทอดตำแหน่งแทน แจ้งข่าวการเสียชีวิตของโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) ผ่านทวิตเตอร์ พร้อมทั้งยกย่องอดีตผู้นำว่าเป็น ‘ต้นแบบของนักกอบกู้เอกราช’ และ ‘แพนแอฟริกัน’ ผู้ปลดปล่อยประชาชนให้ได้รับเสรีภาพ
จากนักกอบกู้เอกราชสู่การครอบครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ
ในสายตาของชาวแอฟริกันหลายคนแล้ว โรเบิร์ต มูกาเบเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม ในปี 1980 เขาเป็นคนกอบกู้เอกราชของซิมบับเวจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลงานการปกครองประเทศของเขาค่อยๆ มัวหมอง ช่วงปลายทศวรรษ 1990 มูกาเบได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการผู้เหี้ยมโหดในสายตาของโลกตะวันตก ที่นำพาประเทศดิ่งลงเห
โรเบิร์ต กาเบรียล มูกาเบ เกิดเมื่อปี 1924 ในหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนใต้ของซอลส์บรี เมืองหลวงของเซาเธิร์น โรดีเซีย ในอาณานิคมของอังกฤษยุคนั้น (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของซิมบับเว) พ่อแม่ของเขาเป็นชาวไร่และคาทอลิกที่เคร่ง มูกาเบเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกหลายแห่ง เป็นเด็กขี้อาย ชอบเก็บตัวเงียบมากกว่าสุงสิงกับใครอื่น เพื่อนสนิทของเขาคือหนังสือ
หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมฯปลาย โรเบิร์ต มูกาเบเดินทางไปศึกษาต่อที่แทนซาเนียและกานา (ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของเซาเธิร์น โรดีเซีย) ได้ปริญญาบัตรทั้งสิ้น 7 ใบตลอดช่วงเวลาในชีวิตของเขา สามใบในนั้นเขาได้ระหว่างต้องโทษคุมขัง
มูกาเบรู้จักกับแซลลี (Sally) ภรรยาคนแรกของเขาในกานา ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นเพื่อนสนิทและที่ปรึกษาทางการเมืองด้วย
กระทั่งปี 1960 เมื่อเดินทางกลับเซาเธิร์น โรดีเซีย เขาก็เริ่มเข้ากลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช เริ่มจากการต่อสู้กับอำนาจอาณานิคมอังกฤษ ต่อจากนั้นก็ห้ำหั่นกับเอียน สมิธ (Ian Smith) ผู้นำรัฐบาลผิวขาวกลุ่มน้อย ต่อต้านระบบแบ่งแยกสีผิว จนในปี 1964 มูกาเบถูกจับ และต้องโทษจำคุกนานกว่าสิบปี
เขาไม่ได้รับอนุญาตแม้จะร้องขอไปร่วมพิธีศพลูกชายที่เสียชีวิตในปี 1966 ในสายตาของคนผิวดำในซิมบับเวแล้ว ตอนนั้นมูกาเบคือวีรบุรุษของมวลชน
เมื่อพ้นโทษในปี 1975 มูกาเบออกมาเคลื่อนไหวและต่อสู้เพื่อเอกราชจากเซาเธิร์น โรดีเซียจนสำเร็จ ครั้นมีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1980 เขาก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี “ข้าพเจ้าใคร่อยากขอร้องทุกท่านอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าท่านจะเป็นคนผิวขาวหรือผิวดำ ขอให้ลืมเรื่องราวในอดีตให้สิ้น ให้อภัยซึ่งกันและกัน แล้วหันมาปรองดองกันฉันมิตร” มูกาเบกล่าวต่อสาธารณชนภายหลังขึ้นครองตำแหน่ง
ในปีต่อๆ มา เขาออกนโยบายการศึกษาฟรีและดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานสำหรับผู้มีรายได้น้อย นอกจากนั้น เขายังปฏิรูปเศรษฐกิจให้การเงินและการค้าสะพัด ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเริ่มดีขึ้น ค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรก็เพิ่มขึ้น สมเด็จพระราชินีอังกฤษทรงประดับเกียรติยศแก่เขาด้วยเหรียญอัศวิน มูกาเบกลายเป็นอาคันตุกะที่มีหน้ามีตาของโลกตะวันตกนับแต่นั้น
ระหว่างที่โลกตะวันตกกำลังได้ปลื้มเขาอยู่นั้น ผู้คนในซิมบับเวเริ่มมองเห็นอีกด้านหนึ่งของนักกอบกู้เอกราช – หลังจากมีกรณีพิพาทกับ โจชัว นโคโม (Joshua Nkomo) อดีตพันธมิตรของเขา ในปี 1982 กองทัพของมูกาเบสังหารสาวกของนโคโมไปนับพันคน สามปีถัดมามีการเจรจบสงบศึกกันทั้งสองฝ่าย มูกาเบแต่งตั้งนโคโมขึ้นเป็นรองประธานาธิบดี
ปี 1992 แซลลี-ภรรยาของมูกาเบเสียชีวิต นับแต่นั้นมา ชีวิตส่วนตัวและเส้นทางการเมืองของเขาก็เปลี่ยนไป เขาคบหาและอยู่กินกับเกรซ (Grace) อดีตเลขานุการิณีของเขาอย่างเปิดเผย หลังจากแอบมีความสัมพันธ์กันมานานปี ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1996 ทว่าเกรซเป็น ‘สตรีหมายเลขหนึ่ง’ ที่ประชาชนไม่รักใคร่เท่ากับแซลลี ประชากรชาวซิมบับเวพากันเรียกขานเธอว่า ‘Gucci Grace’ จากพฤติกรรมตระเวนทัวร์ช้อปสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลกของเธอ
ระหว่างที่ประชาชนเจ็บป่วยล้มตายด้วยอหิวาตกโรค ประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร และสภาวะเงินเฟ้อ ประธานาธิบดีและภรรยาของเขากลับมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมั่งคั่งและฟุ้งเฟ้อ เฉพาะงานฉลองครบรอบวันเกิดปีที่ 88 ของมูกาเบวันเดียว มีการทุ่มงบจัดงานร่วมหนึ่งล้านดอลลาร์ และเมื่อครบรอบวันเกิดปีที่ 91 มูกาเบยังสั่งให้ล้มช้างไปหลายตัว อีกทั้งยังจัดเลี้ยงฉลองกันในโรงแรมหรู นักการเมืองฝ่ายค้านวิจารณ์งานปาร์ตี้ครั้งนั้นว่า ‘ทุเรศ’
ปี 2000 มูกาเบสร้างแรงสะเทือนให้กับประเทศอีกครั้ง เมื่อเขายินยอมร่วมมือให้อดีตทหารผ่านศึกในสงครามกลางเมืองดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดิน บุกรุก-ยึดครองไร่นาของพลเมืองซิมบับเวผิวขาว (เชื้อสายอังกฤษ) ที่แม้จะเป็นชนกลุ่มน้อย มีสัดส่วนเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด แต่พื้นที่ทำกินราว 70 เปอร์เซ็นต์เป็นกรรมสิทธิ์ของพลเมืองผิวขาว มูกาเบกำหนดนโยบายการเมืองเร่งด่วน เพื่อเรียกคืนความสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างเกษตรกรผิวขาวและผิวดำ
“คนขาวไม่ใช่คนพื้นถิ่นแอฟริกา แอฟริกาเป็นของชนชาวแอฟริกัน และซิมบับเวเป็นของชาวซิมบับเว!” ผู้นำให้เหตุผล แต่ท้ายที่สุดแล้วพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่กลับตกเป็นของนักการเมืองและญาติสนิทมิตรสหายของมูกาเบเสียสิ้น
ไร่นาหลายแห่งประสบปัญหาขาดทุน ล่มจม เนื่องจากเจ้าของใหม่ไม่มีประสบการณ์ด้านเกษตรกรรม ตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2008 เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นในประเทศ ถึงขนาดต้องพิมพ์ธนบัตรมูลค่า ‘ล้านล้าน ซิมบับเวียนดอลลาร์’ ออกใช้ มูกาเบซัดทอดว่าเป็นความผิดของประเทศตะวันตกที่เข้าแทรกแซงทำให้เกิดวิกฤติขึ้นในซิมบับเว
เหตุเพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การฉ้อโกงเลือกตั้ง และจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน ในที่สุด สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปจึงสั่งห้ามมูกาเบเดินทางเข้าประเทศของตน รางวัลทรงเกียรติ รวมถึงปริญญาเอกกิตติมศักดิ์สองใบที่เขาเคยได้รับถูกเพิกถอน
แม้แต่ในซิมบับเวเอง ผู้นำที่ครองอำนาจมายาวนานก็ไม่เป็นที่นิยมชมชอบอีกต่อไป ปี 2008 พรรคของเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ภายใต้แรงกดดันของแอฟริกาใต้ ทำให้มูกาเบต้องจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค MDC (Movement for Democratic Change) ของมอร์แกน ชังกิราย (Morgan Tsvangirai) ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมือง แต่ความร่วมมือนั้นสิ้นสุดลงหลังการเลือกตั้งปี 2013 เมื่อมูกาเบกับพรรคของเขาชนะการเลือกตั้ง ซึ่งตัวเขาต้องเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่เจ็ด ที่มีอายุการทำงานห้าปี
บทสุดท้ายของชีวิต
ในช่วงปีท้ายๆ ของรัฐบาล มูกาเบยังแสดงอาการหวงเก้าอี้ แม้จะถูกกดดันให้สละตำแหน่ง เพื่อการนี้ เขาได้แต่งตั้งเกรซ-ภรรยาให้เป็นผู้สืบทอด เพื่ออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศจะยังคงอยู่ในครอบครัว แต่แผนการนี้กลับถูกฝ่ายกองทัพปิดประตูใส่ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2017 กองทัพซิมบับเวบุกเข้าจับกุมตัวประธานาธิบดี และยึดอำนาจการปกครองเสียเอง
สัปดาห์ต่อมา ประธานาธิบดีวัย 93 ปีต้องออกมาแถลงข่าวการก้าวลงจากตำแหน่งด้วยตัวเอง ตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ถูกส่งต่อให้กับเอมเมอร์สัน มนันกักวา เพื่อนร่วมพรรค ซึ่งสัญญากับมูกาเบว่าจะให้อิสรภาพและเงินชดเชยจำนวนหลักล้าน
โรเบิร์ต มูกาเบ ที่ส่อเค้าความป่วยไข้มานานปี เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยวัย 95 ปี หลังจากพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์มานานหลายเดือน
อ้างอิง:
- https://www.spiegel.de/politik/ausland/robert-mugabe-der-diktator-ist-tot-aber-die-diktatur-geht-weiter-a-1285609.html
- https://www.focus.de/politik/ausland/ex-diktator-in-simbabwe-robert-mugabe-stirbt-mit-95-jahren_id_11113098.html
- Heidi Holland, Dinner with Mugabe: The Untold Story of a Freedom Fighter Who Became a Tyrant, Penguin Books (2009)
ที่มาภาพปก: REUTERS/Denis Balibouse
ที่มาภาพในบทความ: REUTERS/Howard Burditt HB, REUTERS/Philimon Bulawayo
Tags: ซิมบับเว, โรเบิร์ต มูกาเบ, Robert Mugabe