ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีรายได้เท่าไร ถูกความซับซ้อนของโครงสร้างทางสังคมกดทับหรือยกชู แต่ที่คูหาเลือกตั้งหนึ่งคน หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง เป็นระบบซึ่งออกแบบบนความคาดหวังที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม

นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 การเลือกตั้งครั้งแรกมีขึ้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2476 และครั้งล่าสุดปี 2554 รวมแล้วทั้งสิ้น 27 ครั้ง

ส่วนการรัฐประหารมีมาแล้ว 13 ครั้ง ครั้งล่าสุดโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งตอนนี้ ทำสถิติอยู่ในอำนาจนานจนทิ้งห่างจากการเลือกตั้งยาวนานเป็นอันดับสองรองจากสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งทำรัฐประหารครั้งที่ 2 ในนามคณะปฏิวัติ เมื่อ 20 ตุลาคม 2501

ครั้งนั้น กว่าจะเลือกตั้งอีกครั้งก็กินเวลานานถึง 10 ปี 3 เดือน 21 วัน เข้าสู่สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

โดยส่วนใหญ่ ในอดีต หลังมีการรัฐประหาร คณะทหารมักอยู่ในอำนาจอย่างเป็นทางการไม่เกิน 4 เดือน แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือไม่ก็ยังไม่ทันได้เลือกตั้ง แต่ถูกรัฐประหารซ้อน หรือทำรัฐประหารตนเองเพื่อกระชับอำนาจ

‘โรดแมป’ 3 ระยะ ปิดจ็อบภายในปีเศษ

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช. แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในรายการ ‘คสช. คืนความสุขให้คนไทย’ ใจความเกี่ยวกับเหตุผลการยึดอำนาจ การบังคับใช้กฎอัยการศึก แผนการบริหารราชการแผ่นดิน และชี้แจงถึง ‘โรดแมป’ 3 ระยะ

โรดแมประยะที่ 1 คือ ช่วงของการควบคุมอำนาจการปกครอง มุ่งสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กรอบเวลา 2-3 เดือน

โรดแมประยะที่ 2 คือ ช่วงเวลาของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จ กรอบเวลา 12 เดือน

โรดแมประยะที่ 3 คือ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2558 แล้วจัดการเลือกตั้ง

รวมระยะเวลาโรดแมปทั้งหมด หากเป็นตามแผนก็ไม่น่านานเกินกว่าหนึ่งปีเศษ คสช.ยังเสริมสร้างความเชื่อมั่นผ่านบทเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลาแต่งเนื้อร้องเพียงชั่วโมงเดียว เพื่อสื่อความหมายจากใจที่ต้องการคืนความสุขให้ประชาชน ก่อนมันจะกลายเป็นเวอร์ชันที่ไม่ว่าใครจะมีความทุกข์ มีความเศร้าเป็นธรรมชาติของชีวิตก็ต้องฟังมาตั้งแต่เมื่อ 6 มิถุนายน 2557

ตอนนี้ (พฤศจิกายน 2560) ประชาชนไทยร่วมเดินทางมาด้วยกันถึงโรดแมประยะที่สองแล้ว ผ่านด่านรัฐธรรมนูญชั่วคราว รัฐบาลแต่งตั้ง สภานิติบัญญัติและร่างรัฐธรรมนูญเลยกำหนดจากเดิมที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีเศษ ถึงกระนั้น พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวเผื่อไว้แล้วว่า กระบวนการเหล่านี้จะต้องใช้เวลามากน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าสถานการณ์เรียบร้อยปกติ ปฏิรูปสำเร็จ ปรองดอง สมานฉันท์กันทุกฝ่าย ประชาชนมีความรักความสามัคคีก็จะเริ่มดำเนินการก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3

“…ระยะที่ 3 การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ที่ทุกพวกทุกฝ่ายพอใจ กฎหมายทันสมัยในทุกด้าน กฎระเบียบ กติกาต่างๆ ได้รับการแก้ไข ได้คนดี สุจริต มีคุณธรรม มาปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรมาภิบาล…

… ผมคิดว่าคนไทยทุกคนเหมือนผม ไม่มีความสุขมาประมาณ 9 ปีแล้ว และทุกคนอยู่ในความสุขสงบมากตั้งแต่ 20 และ 22 พ.ค. 57 เป็นต้นมา คสช. ไม่ต้องการก้าวเข้าสู่อำนาจ ไม่ต้องการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ใดๆ เลย แต่ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ถ้าทหารและข้าราชการไม่ทำอะไร ใครจะมาดูแลท่าน ใครจะแก้ปัญหาให้ท่าน ในเมื่อประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์เดินต่อไปไม่ได้”

ถึงวันนี้ เวลาล่วงเลย ผ่านมา 3 ปี 5 เดือนแล้ว เฟรชชีกำลังจะกลายเป็นบัณฑิต พล.อ.ประยุทธ์ และคสช. ก็ยังอยู่ในอำนาจ พร้อมกับโรดแมปที่ยืดออก แล้วการเลือกตั้งก็ถูกเลื่อนตามไม่รู้จบ

คำ (เคย) สัญญา

“ผมก็พูดกับเขาว่าในเรื่องประชาธิปไตยแบบสากลนั้น ก็เป็นไปตามโรดแมปของผม และในปีหน้าเราก็จะประกาศวันเลือกตั้งออกมาโดยไม่มีการเลื่อนอะไรสักอย่าง พอเราประกาศการเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องมีกรรมวิธีอีก 150 วันตามกฎหมาย ประกาศเมื่อไร ก็นับไปสิ เขาก็ไม่ได้ถาม แต่ผมแสดงความเชื่อมั่นให้เขา ผมไม่ได้ปกปิดใคร ผมไม่ได้บิดเบือนดังที่ใครกล่าวอ้าง ผมก็พูดแบบนี้มาตลอด”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับสาธารณะ ภายหลังการหารือกับนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศว่า ‘จะประกาศ’ ให้มีการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ปี 2561 ถ้านับเวลาต่อไป ก็คาดหมายได้ว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในพฤศจิกายน ปี 2561

เอาเป็นว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งพูดถึงการจัดการเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้ 10 กุมภาพันธ์ 2558 พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยระหว่างเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการว่ามีแผนให้มีการจัดเลือกตั้งปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

ตามมาด้วย 28 กันยายน 2558 ในการหารือทวิภาคีกับสหประชาชาติที่ยูเอ็นเป็นกังวลว่าพื้นที่ประชาธิปไตยไทยแคบลงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศออกมาว่า คาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในกลางปี 2560

เลื่อนแล้ว

แล้วก็ไม่เป็นเช่นที่กล่าวอยู่เสมอมา ด้วยสารพัดขั้นตอนเทคนิควิธีทางกฎหมาย เปิดฉากจากการร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการชุดที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน แต่ร่างฉบับนั้นถูกคว่ำในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อ 6 กันยายน 2558

สปช. ที่เข้าไปเป็น คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบ 105 เสียง ส่วนอีก 135 เสียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร โหวตไม่เห็นชอบและงดออกเสียงอีก 7 เสียง

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ถูกเขี่ยทิ้ง จึงนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ และเป็นที่มาของสูตร 6-4-6-4 (ร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน เตรียมทำประชามติ 4 เดือน ทำกฎหมายลูก และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 6 เดือน แล้วให้ใช้เวลารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีก 4 เดือน) รวมแล้วต้องใช้เวลาประมาณ 20 เดือน เท่ากับว่าจะเลือกตั้งได้ราวเดือนกรกฎาคม ปี 2560

ถึงอย่างนั้นหลังประชามติ 7 สิงหาคม 2559 แม้ประชาชนโหวตรับรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีเหตุให้โรดแมปล่าช้า ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ขอไฟเขียวให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งได้มีอำนาจลงเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

นอกจากนี้ หลังนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนในหมวดพระมหากษัตริย์ ให้รัฐบาล คสช. นำไปปรับปรุงพร้อมกับนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ใหม่อีกครั้ง

จนในที่สุด หลังแก้ไขทุกอย่างเสร็จสิ้น รัฐธรรมนูญก็ประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นการสิ้นสุดโรดแมประยะที่สอง

ขอเวลาอีก (นาน) ไม่นาน

แต่หลายคนคงไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามกรอบเวลาของ คสช. ที่อ้างตามโรดแมปซึ่งยืดออกมาหลายครั้ง แม้ดูจริงจังแค่ไหน แต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็วเช่นที่ต้องการแสดงความจริงใจ ยังไม่นับว่า แล้วยังมีความเป็นไปได้อีกสารพัดบนขั้นตอนทางกฎหมายที่จะทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอีกเช่นเคย

ภารกิจต่อไปหลังจากนี้ คือ คณะกรรมการธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 240 วัน หรือภายในต้นเดือนธันวาคม ปี 2560

ขณะนี้ (เดือนตุลาคม ปี 2560) กรธ. เหลือการพิจารณากฎหมายลูกอีกสามฉบับ ส่วน สนช. เหลือพิจารณากฎหมายลูกอีก 5 ฉบับ

แต่หากเกิดกรณี กรธ. องค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญ พบว่ากฎหมายลูกขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ก็ให้เพิ่มเวลาไปอีก 30 วัน ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณา แล้วให้ สนช. เห็นชอบอีกครั้งภายในต้นเดือนมีนาคม ปี 2561

ถ้าทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนหลังจาก กรธ.ทำกฎหมายลูกเสร็จและ สนช. เห็นชอบแล้วนั้น ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน จากนั้นให้นำขึ้นทูลเกล้าภายใน 20 วัน และให้พระมหากษัตริย์เห็นชอบภายใน 90 วัน

แล้วนับต่อไปอีกไม่เกิน 150 วัน เดือนพฤศจิกายน ปี 2561 เราจะได้เลือกตั้งแน่นอน หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง น้ำไม่ท่วม ไฟไม่ไหม้ หรือมาตรา 44 ไม่ถูกใช้

และนั่นคงเป็นครั้งแรกที่ปฏิทินของรัฐบาลทหารตรงกับวัน เดือน ปี ของประชาชน ที่จะได้เลือกผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการประเทศตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ภาพประกอบโดย ปรางวลัย พูลทวี

อ้างอิง
https://prachatai.com/journal/2017/01/69609
https://prachatai.com/journal/2014/05/53680
https://www.ilaw.or.th/node/4387
https://ilaw.or.th/node/4195
https://www.facebook.com/iLawClub/
http://www.tlhr2014.com/th/?p=3924
http://www.bbc.com/thai/41479210
http://www.bbc.com/thai/thailand-41565241 
https://www.thairath.co.th/content/427876

 

FACT BOX:

  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกในรอบ 12 ปีที่เดินทางไปเยือนและหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเป็นผู้นำของอาเซียนคนที่ 3 ที่ได้เดินทางไปสหรัฐฯ ตามหลังผู้นำเวียดนามและมาเลเซีย
  • 15 พฤศจิกายน 2476 เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งหลังรัฐประหารเต็มไปด้วยการกลไกหรือกติกาที่รัฐบาลรัฐประหารวางไว้
  • ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่สถานการณ์การดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น รณรงค์โดยสงบต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในช่วงลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ยังคงอยู่และดำเนินต่อไป แม้การลงประชามติดังกล่าวจะผ่านไปกว่า 8 เดือนแล้วก็ตาม
Tags: , , , , ,